ก้าวไกล จ่อยื่นฟ้องปปช. เอาผิด 5 รมต. หลังอภิปราย โรม ย้ำชัด หลักฐานการค้ามนุษย์ชัดเจน รัฐต้องชี้แจงต่อประชาชน "อย่าใช้ความเงียบกลบความจริง"
วันนี้
(23 ก.พ. 65) ที่อาคารรัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต1 , นายวาโย
อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล ร่วมกันเเถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นหลักฐานต่อคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเเบบไม่ลงมติ
ตามมาตรา 152 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นายณัฐวุฒิ
กล่าวว่า ปกติการอภิปรายทั่วไปของรัฐบาลตามมาตรา 152 นั้น หลัก ๆคือซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อรัฐบาล เเต่ในช่วงสถานการณ์เตรียมข้อมูลอภิปรายในช่วง
2 เดือนที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลพบว่ามีหลักฐานที่สามารถเอาผิดรัฐบาลได้ อย่างกรณีของ
นายรังสิมันต์ โรม ในประเด็นค้ามนุษย์ ที่พรรคก้าวไกลจะดำเนินการต่ออย่างแน่นอน
เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการเมือง และในประเด็นการระบาดของโรคอหิวาต์ในสุกรของนายปดิพัทธ์
สันติภาดา ที่ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งในประเด็นของนายจิรัฏฐ์
ทองสุวรรณ เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านการเอี่ยวทุจริต
และเอื้อผลประโยชน์ของบุคคลในครม. และประเด็นสุดท้าย คือ
ประเด็นน้ำมันรั่วในทะเลภาคตะวันออก ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว
นายปดิพัทธ์
กล่าวว่า จากกรณีที่ตนได้อภิปรายการระบาดของ ASF หลักฐานที่มีอยู่สามารถยื่นเอาผิดต่อ
ป.ป.ช. ได้ เนื่องจากมีการปกปิดข้อเท็จจริงต่อการทุจริตที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อพี่น้องประชาชน
เรื่องนี้จะต้องเข้าสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของกมธ.ป.ป.ช. สภาผู้เเทนราษฎรด้วยอีกหนึ่งช่องทาง
ซึ่งจำเป็นที่จะต้องซักฟอกและซักถามอีกหลายประเด็น การปกปิดข้อมูลในช่วง 3
ปีที่ผ่านมามีข้าราชการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง
ซึ่งอาจจะต้องฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีการทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์
ซึ่งสุดท้ายความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลต่อ supply chain ทั้งหมดในอุตสาหกรรมในสุกร
มีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาท
โดยพรรคจะรวบรวมภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อฟ้องร้องค่าเสียหายกรณีนี้ต่อไปด้วย
ด้าน
นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า จากกรณีที่ตนได้อภิปรายถึงการทุจริตของสถานีกลางบางซื่อ
ถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและนายอนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เป็นเรื่องระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้ค้างชำระค่าก่อสร้างกับผู้รับเหมาและได้ยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายวงเงินในการก่อสร้างเกือบ
3 ปีเเล้ว ซึ่งนายศักดิ์สยาม ยังไม่ได้ดำเนินการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ครม.
จนมีการใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนกลาง และสุดท้ายผู้รับเหมาได้ฟ้องร้องจำนวน
7,200 ล้านบาท จากเอกสารคำฟ้องพบว่า ผู้รับเหมาคือบริษัท ชิโนไทย และยูนิค
ได้ใช้ข้ออ้างว่ารัฐบาลนำสถานีกลางบางซื่อไปใช้ประโยชน์เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนแล้ว
ถือว่าได้รับงานจากผู้รับเหมาเรียบร้อย และนำไปใช้งานแล้ว
แต่กลับยังค้างจ่ายค่าก่อสร้าง จึงเรียกร้องค่าเสียหาย 7,200 ล้านบาท
ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
เพราะนายอนุทินเกี่ยวข้องกับบริษัทชิโนไทย ซึ่งเป็นผู้ฟ้องรัฐบาล
ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่เราจะนำเรื่องนี้ยื่นต่อ ป.ป.ช. ต่อไป
ต่อมา
นายรังสิมันต์ โรม กล่าวว่า
จากกรณีการค้ามนุษย์ และการลี้ภัยของพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์
ที่ลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามในสังคมอย่างใกล้ชิด
โดยมีทั้งหมด 3 ประเด็นหลัก
ประเด็นเเรก
เราจะทลายขบวนการค้ามนุษย์ได้อย่างไร และประเด็นต่อมา
เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ที่เหลืออยู่ยังมีใครอีกบ้าง มีหน่วยงานรัฐที่ต้องรับผิดชอบหลายหน่วย
ต้องไม่ลืมว่ามีใครที่รู้เห็นต่อขบวนการนี้ กองทัพเรือภาค 3
ดูแลชายแดนบริเวณดังกล่าว แต่ทหารเรือกลับถูกดำเนินคดี แค่ 1 คนเท่านั้น
ยังมีทหารเรืออีกจำนวนมากที่ตนเชื่อว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
หรือในประเด็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูเเลเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งพบว่าตำรวจที่เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีน้อยมาก
นี่ยังไม่นับถึงฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องกับหลายจังหวัด ซึ่งพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย น่าจะรู้เห็นต่อกรณีนี้เป็นอย่างดี
ความคืบหน้าตรงนี้ยังไม่มี
ประเด็นสุดท้าย
ปัจจัยที่นำไปสู้การลี้ภัยของพลตำรวจตรี ปวีณ ทั้งกรณีการย้ายตำแหน่งที่ให้ไปอยู่ที่
3 จังหวัดชายแดน และการบีบบังคับต่าง ๆ ที่ตามมา โดยจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย
การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้เเสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และให้รัฐบาลได้ชี้แจงต่อสังคม
เพราะจากวันศุกร์จนถึงวันนี้กว่า100 ชั่วโมงแล้ว ตนยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลเลย
ไม่ว่าจะเป็นจากปากพลเอกอนุพงษ์
ที่จากการปรากฏต่อสื่อมวลชนหลังจากที่ตนอภิปรายมีสีหน้าที่ไม่สู้ดีนัก
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ท้องเสีย ไม่ชี้แจงและไม่ตอบคำถามต่อสื่อมวลชนว่าเหตุใดใช้
ก.ตร. ในการย้ายพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ทั้ง ๆ ที่พลตำรวจตรี ปวีณ
ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ
ที่ทำให้พลตำรวจตรี ปวีณ ต้องตัดสินใจลาออกจากข้าราชการตำรวจ
ที่เป็นอาชีพที่เขารัก และอีกหลายคนรวมถึงพลเอกประยุทธ์ , กองทัพเรือ
ยังไม่ชี้แจงต่อกรณีนี้อย่างชัดเจน เราอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้เเทนราษฎรที่มีหน้าที่ซักถามรัฐบาล
สิ่งที่เราเห็น คือไม่ตอบอะไรเลย
และหวังว่าความเงียบจะทำให้ทุกสิ่งที่เราทำถูกกลบหายไป ซึ่งพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า
ท่านไม่สามารถนำความเงียบ ความกลบฝัง ความจริงได้ต่อไป
“ประเด็นการค้ามนุษย์
เป็นประเด็นเเหลมคมทางการเมืองสูงมาก ที่เกี่ยวข้องกับการลี้ภัยและลาออกของพลตำรวจตรี
ปวีณ พงศ์สิรินทร์ โดยพยานหลักฐานที่ดีที่สุด คือ พลตำรวจตรี ปวีณ
ที่ลี้ภัยในออสเตรเลีย การที่เราให้มาชี้แจงในกมธ.กฎหมาย จะเป็นช่องทางที่ดีที่สุด
เพราะตั้งเเต่มีการอภิปรายเรื่องนี้
ยังไม่มีกมธ.ไหนในสภา ที่ติดตามและพร้อมที่จะตรวจสอบต่อ
เพราะยังมีข้อกังขาต่อสังคมในหลายประเด็น ในกมธ.กฎหมาย เรายังมีผู้อาวุโสหลายคน
หลายพรรคการเมือง และประเด็นการค้ามนุษย์ ตนคิดว่าเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญ
เพื่อนำไปสู่การยื่นหลักฐานฟ้องต่อ ป.ป.ช. ต่อไป “ รังสิมันต์ กล่าว
ขณะที่
นายวาโย อัศวรุ่งเรือง กล่าวถึงกรณีที่ตนได้อภิปรายนายวราวุธ ศิลปอาชา
ที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันในท้องทะเลภาคตะวันออก
ปล่อยให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว ในส่วนประเด็นนี้ ของตนและน.ส.เบญจา
แสงจันทร์ ทีมงานพรรคก้าวไกล จะยื่นหลักฐานเอาผิดนายวราวุธ ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในฐานะผู้รับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น
ต่อคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเแห่งชาติต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
พรรคก้าวไกลเตรียมจะยื่นฟ้องรัฐมนตรี
ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. จำนวน 5 คน คือ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าพร้อมยื่นฟ้องในสัปดาห์หน้า
#ก้าวไกล #UDDnews #ยูดีดีนิวส์