แลไปข้างหน้า
กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.60
ตอน
ทำไมปัญญาชนไทยไม่ต่อต้านรัฐประหาร 19 ก.ย. 49
หมู่นี้พบกันบ่อยนะคะ
เพราะว่าสถานการณ์เข้าสู่จุดที่เราจำเป็นต้องมีทั้งการรำลึกเหตุการณ์ในอดีต
หรือจะเรียกว่าเหลียวหลังก็ได้ เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบันและมองไปอนาคต
ดังที่ดิฉันได้คุยมาในรอบที่แล้วว่า
คิดดูให้ดีแล้วก็เท่ากับว่าความพยายามในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หรือการปฏิวัติประชาธิปไตย หรืออภิวัฒน์ประชาธิปไตยนั้น จริง ๆ
แล้วยังไม่ได้บรรลุเลย เพราะมีความพยายามในการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า
มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะก้าวหน้า ปี 2489
ก็ถูกจัดการโดยรัฐประหาร 2490 และหลังจากมีการต่อสู้ของประชาชน รัฐธรรมนูญในปี
2517 ซึ่งดูดีเหมือนกันก็ถูกจัดการโดยรัฐประหารปี 2519
ต่อมาจนกระทั่งการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปี 2535 จึงได้รัฐธรรมนูญ 2540
แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มาถูกจัดการใน 19 กันยายน 2549
คำถามก็คือว่า
ทำไมปัญญาชนไทย โดยเฉพาะปัญญาชนชั้นนำไทย ไม่ต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เลยกระทั่งมาถึง 2557
อันนี้ก็เป็นคำถามที่คนรุ่นหลัง
คนเสื้อแดง รวมทั้งกลุ่มคนต่าง ๆ นักการเมืองต่าง ๆ ก็ตั้งข้อสงสัย
เพราะดูเหมือนว่าในอดีต ขบวนการ 14ตุลา หรือ 6ตุลา เป็นขบวนการที่นำโดยปัญญาชน
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 14ตุลา ได้รับความร่วมมือจากคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น
จะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม นักเรียนอาชีวะ นักเรียนมัธยม ประถมด้วยซ้ำ
มาร่วมร่วมกันเป็นพลังยิ่งใหญ่เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร
แต่พอมาถึงปี
2549 ทำไมเงียบงันไปหมด! กลับมีคำพูดที่เป็นการแสดงว่า นอกจากไม่ต่อต้านแล้วยังสนับสนุน
ก็คือคำพูดที่ว่า “รัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจัดการกับระบอบทักษิณ”
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนหลายอย่าง
แต่ดิฉันก็จะเป็นการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่ตัวดิฉันเองได้พบดังที่ได้เล่ามาแล้วว่า
เราไม่คิดว่าจะมีรัฐประหารปี 2535 แต่ว่ารัฐประหารปี 2549
นั้นเป็นเรื่องที่น่าสงสัย
เพราะว่าขบวนการซึ่งเราได้พูดไปแล้วว่าขบวนการฝ่ายจารีตนิยมที่ก่อตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐ
มันได้สำแดงให้เห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยรัฐธรรมนูญ 2540
ไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มอนุรักษ์นิยมชนชั้นนำเป็นจำนวนมาก แล้วก็เกิดการก่อม็อบขึ้น
แล้วในการก่อม็อบอันนั้นชัดเจน
เช่น แสดงออกถึงการที่ว่าถวายคืนพระราชอำนาจ ให้มีนายกฯ จากมาตรา 7
จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็บอกว่าทำไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น
อันนี้แสดงให้เห็นว่าม็อบที่ก่อตัวหรือความคิดที่แพร่กระจายในเวลานั้นเป็นความคิดจารีตนิยมอนุรักษ์นิยมแท้
ๆ ซึ่งคนที่มีจุดยืนและมีทัศนะที่ถูกต้องจะมองเห็น ดังนั้น
ปัญญาชนกลุ่มแรกก็จะถอนตัวออกมาจากม็อบสนธิลิ้มตั้งแต่พอมีการบอกว่าจะเอานายกฯ
พระราชทาน กระทั่ง อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
หรือคนในสมาพันธ์ประชาธิปไตยซึ่งจำนวนหนึ่งเคยเข้าไปร่วมกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ตาม
พอเจออันนี้เข้าปัญญาชนส่วนหนึ่งก็ระลึกได้แล้วก็ถอยกรูดออกมา
ไม่สามารถจะยืนอยู่กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมได้ แต่สำหรับ อ.ธิดา
ตั้งแต่ต้นแล้วก็มองเห็นแล้วว่ากำลังมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น
ทีนี้
อ.ธิดา มาเล่าเลยก็แล้วกันว่า เมื่อเกิดรัฐประหาร แน่นอนเมื่อกี้ที่เราพูดนั้นก็คือปัญญาชนชนชั้นกลางไปสนับสนุนเพราะมีความเกลียดชังสิ่งที่เรียกว่า
“ระบอบทักษิณ” ถือว่าระบอบทักษิณเป็นระบอบเผด็จการ ถ้าคุณไปอ่านที่ อ.ธิดา
แชร์ของคุณวาดระวี
นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่คุณวาดระวีเอาข้อมูลมาแสดงให้เห็นว่าปัญญาชนในระดับนำ
ในระดับนักวิชาการ ชี้ให้เห็นว่าระบอบทักษิณมีความเลวร้ายอย่างไร ซึ่งขออภัย
ไม่ว่าจะเป็น อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์, อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ซึ่งดิฉันคิดว่าปัจจุบันนี้ท่านไม่ได้คิดเหมือนเดิมแล้วนะ
เพราะว่าเวลาเปลี่ยนความคิดก็เปลี่ยนความเข้าใจก็เปลี่ยน
แต่ว่าในเวลานั้นมองว่าระบอบทักษิณเป็นระบอบเผด็จการที่ร้ายกาจ
ก็ไปยกเอาเรื่องของที่กรือเซะ ตากใบ หรือจะเป็นที่การปราบปรามยาเสพติด ขออภัย!
ถ้าคุณเข้าใจคำว่ารัฐซ้อนรัฐ ถ้าคุณเข้าใจสิ่งที่คุณเรียกว่า Deep state จริง ๆ จะพบว่ารัฐที่แท้จริงไม่ใช่รัฐบาลในเวลานั้น ตัวดิฉันเองไม่ได้คิดว่าตัวคุณทักษิณทำถูกหมดนะ
มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหลายอย่างและเป็นเรื่องสำคัญ ๆ ด้วย
แต่ว่าเราจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
และเราพยายามจะให้ข้อมูลที่ตรงความจริงทั้งหมด
เพราะสำหรับผู้ที่มีจุดยืนของผู้ที่ถูกกดขี่ “ความจริง” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
และเป็นอาวุธสำคัญที่สุดในการต่อสู้ เพราะฉะนั้นดิฉันก็จะใช้อาวุธชิ้นนี้ก็คือ
“ความเป็นจริง”
ถ้าคุณรู้เรื่อง
Deep
state ถ้าคุณเข้าใจว่ารัฐจริงไม่ใช่รัฐที่มาจากการเลือกตั้ง
ถามว่าการสั่งการต่าง ๆ และการทำเหล่านี้มันอยู่ในมือของรัฐบาลหรือเปล่า
หรืออยู่ในความคิดหรือเปล่า
หรือมีการปฏิบัติการทางทหารบางอย่างซึ่งรัฐบาลก็ยังไม่รู้ หรือรัฐบาลสั่งห้ามไป
ไม่ต้องใครหรอก ขนาด “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหม
ห้ามไม่ให้ยิงเข้าไปในกรือเซะ ถามว่าห้ามได้มั้ย ห้ามไม่ได้! เพราะพวกคุณไม่ใช่ตัวรัฐจริง ขนาด “บิ๊กจิ๋ว” นะ หรือต่อให้เป็นคุณทักษิณนะ
นโยบายโอเคเป็นนโยบาย ถ้าผมพอใจจะทำ ถ้ามันไปกันได้กับรัฐตัวจริงก็ทำ
ถ้าไปกันไม่ได้ก็ไม่ทำ สั่งไม่ได้ และถ้ามันค้านกันมาก ๆ ก็จะยึดอำนาจให้ดู!
นี่มันจะอยู่ในประมาณนี้
แต่คำถามก็คือปัญญาชนไทยขณะนั้นไปมองเอาว่าคุณทักษิณคือระบอบเผด็จการ
อ้างว่า “เผด็จการทางรัฐสภา” ซึ่งในทัศนะของดิฉัน
คนที่คุมเสียงส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นระบอบเผด็จการไม่ได้ ต้องดูทุกองคาพยพ
เอาล่ะถ้าพูดอย่างนี้เดี๋ยวจะไม่เป็นรูปธรรมเท่าไหร่
ดิฉันจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วง 19 กันยายน 2549
เมื่อมีการทำรัฐประหารไปแล้วคุณจะเห็นภาพมีการเอาดอกไม้ไปให้ทหาร
แน่นอนนายสนธิ ลิ้มทองกุล มีอิทธิพลมาก
มีบางคนเวลาที่ดิฉันพูดในคลับเฮ้าส์ไปมองว่าดิฉันไปมองว่า สนธิลิ้ม
มีอิทธิพลมากและไม่ได้มองเห็นจารีตนิยมเก่า อันนั้นแปลว่าไม่ได้ตามเรื่องของดิฉัน
ต้องรู้เลยนะว่าดิฉันพูดมายาวนานแล้วในเรื่องของเครือข่ายรัฐซ้อนรัฐ
รัฐจริงคือรัฐ
จารีตอำนาจนิยม
รัฐที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐที่เป็นตัวแสดง ถ้าไม่พอใจเขาก็ถล่มโรงทิ้ง
กระทืบโรงทิ้ง แล้วก็เขียนพล็อตใหม่ สร้างโรงใหม่ สร้างฉากใหม่ ถามว่าตัวละครคือ
สนธิลิ้ม มีความสามารถพอสมควร
ทีนี้ปัญญาชนไทย
ในบรรดาเรื่องของสังคม หลายคนอาจจะบอกว่านี่เป็นทัศนะของลัทธิมาร์กซ์ก็คือ
ในสังคมมันมีพื้นฐานเศรษฐกิจและมีโครงสร้างชั้นบน โครงสร้างชั้นบนก็คืออุดมการณ์
วัฒนธรรม การศึกษา ของสังคมไทยนั้นยังถูกครอบงำไปด้วยจารีตนิยมและอนุรักษ์นิยม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา
จะเป็นแนวคิดหรือแม้กระทั่งศาสนา แต่ในพื้นฐานเศรษฐกิจนั้นเป็นทุนนิยมโลกาภิวัตน์
ดังนั้น ก็จะมีความขัดแย้งกันระหว่างทุนนิยมโลกาภิวัตน์ส่วนหนึ่งกับลักษณะจารีต
ไม่ต้องอะไรที่เราดูง่าย
ๆ ตอนนี้ กรณีเรื่องของ “ลิซ่า” ก็มีการเถียงกันว่าเอารัดเกล้ามา
จะเอามาทำให้มันเสียหาย หรือว่าตั้งแต่นักร้องรุ่นก่อน ๆ จนกระทั่งมีคนบอกว่า
“ชฎา” มันอยู่ในผงชูรสก็มี อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
คือโครงสร้างและโครงครอบของสังคมไทยเป็นจารีต เอาล่ะ เอาทฤษฎีตรงนี้ออกไปก่อน
เราเล่าเรื่องว่า
19กันยา
มีคนส่วนหนึ่ง เราเห็นภาพที่ สนธิลิ้ม ไปพบ สนธิบัง
แล้วจากนั้นไม่นานรัฐประหารก็เกิดขึ้น โดย สนธิบัง
อ้างว่าจะมีการเผชิญหน้าประจันหน้ากัน แล้วเมื่อมีคนเข้าไปถาม เสธ.หนั่น (พล.ต.สนั่น
ขจรประศาสน์) ก็ถามตรง ๆ ในที่ประชุม สนธิบัง ก็บอกประมาณว่า “ตนตายก็บอกไม่ได้”
นี่คือคำพูดและวิธีคิดของ
ถ้าพูดตามชนชั้นนะ ก็คือคุณไม่มีทัศนะของประชาชน คือพูดความจริงไม่ได้
ตั้งคำถามว่าทำไมถึงพูดความจริงไม่ได้? เอาเป็นว่าปัญญาชน ชนชั้นกลาง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจ เอ็นจีโอ นักวิชาการภาคเศรษฐกิจ เช่น TDRI
ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่าง ๆ พากันถล่มสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” หมด
ดังนั้น
หลังจากทำรัฐประหาร ปรากฏว่ามีคนจำนวนหนึ่งเอาดอกไม้ไปให้
ด้วยปัญหาที่ได้มีการปลุกระดมมาอย่างต่อเนื่องว่าได้ขจัดความเลวร้าย
เพราะว่าปัญญาชนชั้นนำหลายคนในที่ประชุม ดิฉันไปนั่งฟังตอนนั้น ตอนนั้นยังไม่มี
นปก. นปช. เขาบอกว่ามันเป็นสิ่งจำเป็น เป็นวิธีเดียวที่จะกำจัด
ประมาณว่าคุณทักษิณเป็นเผด็จการทรราชให้ได้ ก็คือต้องใช้การทำรัฐประหาร
ต้องใช้การยึดอำนาจ และต้องใช้อำนาจตุลาการ ต้องใช้อำนาจทางกฎหมาย องค์กรอิสระ
แล้วก็มายึดทรัพย์ ยุบพรรค ทำจนสิ้นสุดกระบวนการทั้งหมด อันนี้เป็นความคิด
ทีนี้มาถามทางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร
ดิฉันขอพูดเลยว่ากลุ่มแรก ๆ ที่เป็นปัญญาชนที่เป็นเยาวชนคือ “กลุ่ม 19
กันยาต่อต้านรัฐประหาร” กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเยาวชน กำลังเรียนหนังสืออยู่ก็มี
กำลังเรียนปริญญาโทก็มี เท่าที่ดิฉันจำได้ เช่น อุเชนทร์ เชียงเสน
ก็ดูเหมือนจะอยู่ตรงนี้ด้วย แล้วก็มีกลุ่มที่มาจากสนนท. อะไรต่าง ๆ หลายคน
คือกลุ่มเหล่านี้
เด็กเขาก็มีจุดยืน เยาวชนในเวลานั้น (ตอนนี้ไม่ใช่เยาวชนแล้ว) ต่อต้านรัฐประหาร
ดิฉันก็พยายามจะไปคุยด้วยบางคน บางส่วนเขาก็บอกว่าเขาก็พยายามไปชวนนะ ชวนอาจารย์
จะให้ดิฉันพูดถึงมั้ย ก็ได้ อย่างเช่น อ.นิธิ หรืออาจารย์อื่น ๆ มันก็ไม่ได้ผล
แล้วคุณธนาธรเพิ่งพูดเองเท่าที่ดิฉันได้ยินว่า เขาก็พยายามจะมาร่วม สุดท้าย “กลุ่ม
19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร” นี้ก็สลายไป ก็เหลือเยาวชน 2-3 คน
ที่ยังมาทำงานกับอดีตพรรคไทยรักไทยอยู่บ้าง แล้วก็ล่มไป
ก็มีกลุ่มของสมบัติ
บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตย,
กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ40 ของ อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย, กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ, กลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตย,
กลุ่มอิสระและกลุ่มอื่น ๆ เพราะฉะนั้นเวทีก็มีเวที
“19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร” มีเวที “กลุ่มคนวันเสาร์ฯ” ซึ่งกลุ่มคนวันเสาร์ฯ มักจะเป็นคนทำงาน
และก็จะมาทุกวันเสาร์ จึงตั้งชื่อว่า “กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ”
ก็คือสนามหลวง แต่การทำรัฐประหารตอนนั้นต้องถือว่ายังดีนะที่อนุญาตให้มีกลุ่มพวกนี้ออกมาพูดได้
เนื่องจากได้ผ่านระบอบประชาธิปไตยมานาน
ยังขัดเขินในการที่จะไปจัดการแบบที่ทุกวันนี้จัดการนะ ยังไงรุ่นพี่ สนธิบัง
ก็ยังดีกว่ารุ่นปัจจุบันนะ ประยุทธ์ ฟังเอาไว้!
ตอนนั้นที่สนามหลวงมีเวที
19 กันยา, มีเวทีกลุ่มคนวันเสาร์ซึ่งเป็นคนทำงานนัดกันทุกวันเสาร์
กลุ่มคนทำงานเหล่านี้อาจจะเป็นผู้ใหญ่กว่ากลุ่ม 19 กันยาต่อต้านเผด็จการ ซึ่งกลุ่ม
19กันยาฯ ตอนหลังก็หายไป กลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตยซึ่งอยู่มาตั้งแต่ปี 2535
ไม่ได้ตั้งเวที แต่จะไปขึ้นทั้ง 2 เวที จะเป็นคุณหมอสันต์ หัตถีรัตน์, ครูประทีป
อึ้งทรงธรรม, คุณหมอเหวง โตจิราการ ส่วน อ.ธิดา ไม่ขึ้นเวที ก็จะเดินไปเดินมา
คนก็ไม่ได้มากมายสักเท่าไร เพราะวันแรก ๆ เลย
คนจำนวนหนึ่งก็ยังได้รับอิทธิพลของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่กล่อมคน
แล้วก็มีอย่างคุณดารณี
เชิงชาญศิลปกุล (ดา ตอปิโด) เธอก็มาคนเดียว ก็จะมีกลุ่มอิสระต่าง ๆ ขึ้นเวที
จากนั้นถึงเกิดเป็นกลุ่มสนามหลวง เป็นกลุ่มนปก. แล้วก็พัฒนามาเป็น นปช. อ.ธิดา
ก็ไปร่วมจัดตั้งกลุ่มสตรีประชาธิปไตย เพราะเห็นผู้หญิงที่มาสนามหลวงเยอะ
อาจารย์ก็ไม่อยากให้เป็นแบบแฟนคลับอย่างเดียว อยากให้เขามีบทบาททางการเมืองด้วย
จากนั้นกลุ่มสตรีประชาธิปไตยก็ถูกดึงไปเป็น “กลุ่มสันติวิธี” ของคุณหมอเหวงด้วย
ก็ลดบทบาทลง แล้วก็มีกลุ่มย่อยต่าง ๆ มากมาย
สนามหลวงก็ยังเป็นพื้นที่ที่ให้มีการพูดได้ พูดง่าย ๆ ว่ารัฐประหารตอนปี 2549
ยังเปิดโอกาสให้คนที่มีความเห็นต่างได้มีการพูด
แม้กระทั่งการแสดงความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ
จึงทำให้เราเกิดกลุ่มแนวร่วมจนกระทั่งมาเป็น นปก.รุ่นแรก
และก่อนที่จะมาถึงยุคของคุณวีระ เราก็มีประธานเป็นท่านอดีตผู้พิพากษา (อ.มานิตย์
จิตต์จันทร์กลับ) และรวมทั้งความพยายามจะจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาในชื่อต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคุณสมยศ กลุ่มคนวันเสาร์ฯ กลุ่มสมาพันธ์ฯ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง
กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ก็รวมตัวกันหลวม ๆ แต่เมื่อพอมีกลุ่มของคุณวีระ, จตุพร,
ณัฐวุฒิ เข้ามา บทบาทของกลุ่มนี้ก็จะชัดเจนขึ้น
ความเป็นนปก.ก็จะมีดาวเด่นเป็นสามเกลอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลังจากเลือกตั้งแล้ว
ก็มีโอกาสไปออกช่อง 11 ก็เป็นความโด่งดังถึงที่สุด เพราะฉะนั้น นปก.
ก็เติบโตเต็มที่
ถ้าถามว่าทำไมปัญญาชนไม่ร่วม
อาจารย์อยากจะบอกเป็นรูปธรรมเห็นชัดก็คือ เห็นชัดจากกลุ่ม 19 กันยาฯ เยาวชนออกมา
แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นปัญญาชนของเยาวชนนั้นไม่เอาด้วย เยาวชนก็เลยต้องหายไป
มาเทียบกับยุคนี้
เยาวชนที่ออกมาเขามีความหนักแน่น มีความมุ่งมั่น
มีความแข็งแกร่งทางจุดยืนและวิชาการสูง
จนกระทั่งทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่หรือปัญญาชนรุ่นแก่กว่า ในความคิดของดิฉันนะ
ได้มาทบทวนตัวเอง แล้วก็มีปัญญาชนจำนวนมากที่หันมา ดังนั้น ในช่วงนี้ไม่ใช่ช่วง
2557 ด้วยซ้ำ ช่วง 2562-2563
การเคลื่อนไหวของปัญญาชนรุ่นหลังจึงสามารถดึงปัญญาชนรุ่นเก่ามาจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะให้มาร่วมส่วนและร่วมขบวน
ถ้าสีไม่เป็นแดงได้ก็เป็นเหลืองออกมาอมส้ม
เป็นส้ม ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหา ตัวดิฉันเองก็ยอมรับได้ และเราเคยบอกมาเสมอว่า
คนเสื้อแดงรอปัญญาชนมาตั้งนานแล้ว ว่าเมื่อไหร่จะมาร่วมขบวน
แต่ปรากฏว่าเรารอปัญญาชนรุ่นเก่า จากปี 2549 มาจนปี 2557 ก็ยังไม่มา ขนาดปี 2553
เราถูกฆ่ากันมากมายก็ยังไม่มา มีบางท่าน
บางคณะที่เป็นนักวิชาการเพื่อค้นหาความเป็นจริง แต่ก็ยังรังเกียจประมาณว่าคนเสื้อแดงเป็นควายแดงประมาณนั้น
คือมองไม่เห็นในด้านของประชาชนที่อยู่ชั้นล่างแล้วถูกกดขี่
แล้วเขาต้องการที่จะให้อำนาจคืนมาเป็นของประชาชน
ต้องการรัฐบาลที่ได้มาจากมือของเขา ไม่ใช่มาด้วยปืนแล้วจับมายัดเยียด แล้วมองไม่เห็นหัวประชาชน
เพราะฉะนั้น
ที่ว่าปัญญาชนไม่ร่วมเพราะว่าตั้งแต่ปัญญาชนรัฐวิสาหกิจ สมศักดิ์ โกศัยสุข
หัวหน้าใหญ่ ซึ่งเคยร่วมกันสนิทสนมกันมากกับอาจารย์และอยู่ในสมาพันธ์ประชาธิปไตย
เขาก็คิดว่าเขาเป็นคนก้าวหน้าและมีความคิดไปในทางที่กรรมกรต้องเป็นชนชั้นนำ
แต่ต้องมาติดบ่วงปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก็ถือว่าคุณทักษิณเป็นปฏิปักษ์
เอ็นจีโอก็ถือว่าคุณทักษิณเป็นปฏิปักษ์
ปัญญาชนที่อยู่ในสื่อหรือนักวิชาการสื่อก็ถือว่าคุณทักษิณเป็นปฏิปักษ์
ค่ายสื่อทั้ง ๆ ที่เป็นค่ายประมูลหรือค่ายที่ไม่ประมูลก็ตาม แล้วยิ่งพอมีค่าย iTV
เขามา แล้วดูโดดเด่น ซึ่ง iTV ตามที่อาจารย์รู้ก็คือคุณทักษิณไม่ได้เริ่มต้น
แต่มันเริ่มต้นจากธนาคารไทยพาณิชย์กับคุณอานันท์ ปันยารชุน ต้องการให้มีสื่ออิสระ
แล้วกลายเป็นว่าคุณทักษิณต้องเข้ามาซื้อ
คือเอ็นจีโอก็ไม่มีที่ยืน
อย่างคุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็เคยคุ้นเคยกันสนิทสนมกัน เขาบอกกับอาจารย์ตรง ๆ ว่าคุณทักษิณทำให้เอ็นจีโอไม่มีที่ยืน
คือไม่ต้องมาเป็นคนกล่างระหว่างประชาชนกับรัฐบาล
รัฐบาลและพรรคการเมืองจะลงสู่ประชาชนเอง และอาจจะเป็นคำพูดที่ด้อยค่าเอ็นจีโอ
เอ็นจีโอก็รับไม่ได้ สื่อก็รับไม่ได้
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์อย่าง TDRI
ก็เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่สมาทานเสรีนิยมใหม่
พอเป็นเสรีนิยมใหม่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไปกันไม่ได้กับนโยบายเศรษฐกิจแบบวางแผนและแทรกแซงการตลาดได้
อย่างนี้เป็นต้น ประกอบกับโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายสาธารณสุขด้วย เพราะตอนนั้น 30 บาทรักษาทุกโรค
แพทย์จำนวนหนึ่งก็รับไม่ได้เพราะทำให้แพทย์ทำงานหนักและเขาก็มีความเกรงกลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้น
เพราะว่าจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
ปัญญาชนฝ่ายขวา
แน่นอน ความนิยมของคุณทักษิณอันนี้เป็นอันตราย สามารถมีเสียงในรัฐสภาในรอบสอง
ในการเลือกตั้งปี 2548 ออกมามีเสียงได้เป็น 300 กว่าเสียง
นี่เป็นสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรับไม่ได้
ปัญญาชนอนุรักษ์นิยมซึ่งอยู่ในระบบราชการทั้งทหารและพลเรือน
คนเหล่านี้จะได้ดิบได้ดีต่อเมื่อเป็นรัฐเผด็จการทหาร เขาก็จะใช้คนในรัฐราชการ
แต่ถ้าเป็นระบอบพรรคการเมืองที่ขึ้นมามีอำนาจ ข้าราชการก็จะเป็นลูกจ๊อก
เพราะฉะนั้นข้าราชการโดยทั่วไปชอบเผด็จการทหารมากกว่า
นี่ไม่ได้พูดถึงเรื่องแนวคิดด้วยซ้ำนะ
ปัญญาชนฝ่ายซ้ายก็เหมือนกัน
ฝ่ายซ้ายก็ไม่เอา ก็ไปวิเคราะห์สังคมว่านี่เป็นทุนนิยม คุณทักษิณคือทุนนิยมสามานย์
ศัตรูของประชาชนก็คือทุนนิยมสามานย์ ไปวิเคราะห์แบบนั้น โดยไม่ได้คิดว่าสังคมไทยดังที่ดิฉันบอกว่ารากฐานเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมก็จริง
แต่โครงสร้างชั้นบนของสังคมเป็นจารีต ส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจและทั้งสังคม
พยายามทำให้ระบอบพรรคการเมืองยังเป็นระบอบจารีต
และพยายามทำให้เศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจที่ยังขึ้นต่อได้กับสังคมจารีตเป็นต้น
ดังนั้น
ปัญญาชนที่เข้าไปอยู่จุดต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็ล้วนไม่พอใจสิ่งที่เรียกว่า
“ระบอบทักษิณ” ทั้งสิ้น ในทัศนะของดิฉันสรุปคือ
ประการแรก
จุดยืนของปัญญาชนนั้นอยู่ที่ผลประโยชน์ของตัวเอง ชนชั้นตัวเอง
ไม่ได้อยู่ที่จุดยืนของผลประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชนแท้จริง ถ้าจุดยืนคุณแม่น
คุณจะไม่เป็นอย่างนี้
ประการที่สอง
ข้อมูล ไม่มีข้อมูลมากพอ
เสพแต่ข้อมูลในด้านร้ายของพรรคการเมืองหรือระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีการเลือกตั้งแล้วมีพรรคการเมืองขึ้นมาได้เสียงข้างมาก
โดยเฉพาะคุณทักษิณ เพราะฉะนั้นข้อมูลไม่เพียงพอ ถูกกรอกหูด้านเดียว
ถูกกรอกหูด้วยเฮดสปีด ถูกกรอกหูด้วยข้อมูลเป็นเท็จ
เอาความเชื่อมาอยู่เหนือความจริง
ประการสุดท้ายก็คือ
นักวิชาการที่เป็นนักทฤษฎีโดยเฉพาะฝ่ายซ้ายไม่มีทฤษฎีจริง
ดังนั้น จึงเป็นข้อสรุปว่า คนที่โลเล คนที่จุดยืนไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ นี่คือปัญญาชนชนชั้นกลางไทยในอดีตค่ะ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์