แลไปข้างหน้า กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.58
ตอน ว่าด้วยกองเชียร์พรรคการเมือง...คิดถึงวันข้างหน้าไหม?
วันนี้จะพูดถึงเรื่องของเวทีรัฐสภาบ้างค่ะ
เพราะว่าที่แล้วมาโดยทั่วไปเราจะคุยกันในเรื่องของการต่อสู้ประชาชน
ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะมี 19กันยา เราก็จะได้พูดหลังจากนั้นอีก
แต่ดิฉันอยากจะคุยเรื่องเวทีรัฐสภาก็คือ
หลังจากที่เราพบว่าเวทีรัฐสภานั้นก็คือผ่านความไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
แล้วก็เกิดปัญหาบางประการในพรรคพปชร. ซึ่งเป็นพรรค 3ป
เรื่องนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ดิฉันจะไม่ไปวิเคราะห์ว่าเขาแตกแยกกันจริงหรือเปล่า? พรรคพปชร. จะเป็นอย่างไร?
ดิฉันจะไม่ไปพูดถึง เพราะยังไงเขาก็เป็นพรรคของ 3ป อยู่นั่นเอง
แต่ดิฉันอยากจะมาตั้งข้อสังเกตว่า
ในช่วงนี้มันมีวิวาทะของกองเชียร์พรรคฝ่ายค้าน จะเป็นติ่งส้ม ติ่งแดง
กองเชียร์เพื่อไทย กองเชียร์คุณทักษิณ คุณโทนี่ กับกองเชียร์ก้าวไกล ก้าวหน้า
แล้วก็ประหนึ่ง “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” พูดกันรุนแรงมาก
ดิฉันก็อยากจะพูดในลักษณะว่า เรื่องของว่าด้วยกองเชียร์พรรคการเมือง..คิดถึงวันข้างหน้าบ้างไหม?
เพราะว่าเท่าที่ดูแล้วเหมือน
“ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” เลย มีการถล่มกันในข้อด้อย
ซึ่งแม้กระทั่งวันก่อนดิฉันไปออกคลับเฮ้าส์ก็ยังมีการพูดกันถึงเรื่องก้าวหน้า/ไม่ก้าวหน้า
ซึ่งดิฉันก็ได้บอกไปว่าคนที่ก้าวหน้าจริงเขาจะไม่ดูถูกดูหมิ่นในฝั่งประชาชนว่าคนอื่นไม่ก้าวหน้า
อันนั้นก็พูดจริง คือคนก้าวหน้าจริงจะไม่ว่าคนอื่นว่าไม่ก้าวหน้า
แต่ดิฉันก็เข้าใจว่า
ฝั่งที่ถูกดูถูกดูแคลนว่าไม่ก้าวหน้าก็จะโกรธและโมโหฝ่ายที่มาดูหมิ่นดูแคลน
ดิฉันดูแล้วมันก็จะมากเกินไปหรือเปล่า
จนกระทั่งจะมากระทบกับเรื่องราวของประชาชนในการต่อสู้
ดิฉันอยากจะให้เบื้องต้นก็คือแยกก่อน กองเชียร์ของพรรคการเมืองนะ กับเรื่องของการต่อสู้ของประชาชน
พรรคการเมืองเป็นการต่อสู้ในเวทีรัฐสภา
ซึ่งเป็นสิ่งที่มันจะต้องเกิดแล้วคู่ขนานไปกับการต่อสู้นอกรัฐสภา
ทีนี้ในเรื่องของพัฒนาการพรรคการเมือง
แม้นวันเวลาจะผ่านมา
แต่ดิฉันดูแล้วพรรคการเมืองทั้งหลายที่มีพัฒนามาจนถึงตอนนี้ก็ประมาณตีกลับ
ย้อนหลัง เหมือนกับในอดีต คือมีพรรคเล็กพรรคน้อย มีการแจกกล้วย แจกซองหน้าห้องน้ำ
แล้วก็มีการยื่นเงื่อนไขต่อรอง มันก็เหมือนในอดีตก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540
ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ
40 ก็มีพรรคการเมืองพรรคเล็กพรรคน้อย เมื่อมีการแก้ไขเป็นรัฐธรรมนูญ 2550
จนกระทั่งมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 เราก็กลับมีพรรคการเมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ
และพรรคการเมืองขนาดกลางจำนวนมาก
และในที่สุดก็ต้องมีรัฐบาลที่มีความร่วมมือของพรรคการเมือง
เมื่อมาดูสถานการณ์จริงในปัจจุบัน
ในฝ่ายประชาชนก็ยังมีการแบ่งฝักฝ่าย อาจจะไม่ใช้สีเหลือง/แดง
แต่ใช้คำว่าสลิ่มหรืออะไรก็ตามแต่ คนที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม
กองเชียร์อนุรักษ์นิยม อำนาจนิยมก็มีอยู่ อย่าง “ยูดีดีนิวส์” เวลาทำ Facebook Live เราก็จะพบว่ามีความคิดของแต่ละฝ่ายก็เข้ามาโจมตีกัน
ในหมู่ประชาชนนั้นยังมีการแบ่งฝักฝ่ายอย่างชัดเจน
แล้วอำนาจรัฐปัจจุบันเราก็เห็นชัดว่าเป็นอำนาจรัฐที่มาจากความต่อเนื่องของการทำรัฐประหารตั้งแต่
2549 มาจนกระทั่ง 2557 แล้วมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม
จึงลงหลักปักฐานในองค์กรต่าง ๆ อย่างแน่นหนา องค์กรภาครัฐ องค์กรอิสระ
แม้กระทั่งกองทัพ ข้าราชการ ตุลาการ ตำรวจ เขาลงหลักปักฐานเอาไว้อย่างแน่นหนามาก
มากระทั่งที่บัดนี้เพิ่งมีเลขาสภาความมั่นคงใหม่ แน่นอน! ก็ต้องเป็นฝักฝ่ายของจารีตนิยม
อำนาจนิยม เหมือนเดิม
ในหมู่พรรคการเมือง
ถ้าเราเห็นรัฐบาลนี้ ไม่ว่าเขาจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันบ้าง จะเป็นพรรคเล็ก
พรรคใหญ่ หรืออะไรก็ตาม แต่ในที่สุดเราก็เห็นแล้วว่า
รัฐบาลนี้อยู่กันมาได้ยาวนานพอสมควร ก็คือสามารถที่จะ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
ได้ระดับหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ก็อ้างเหตุผลว่าเข้ามาเพื่อจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แก้ไขในจุดเดียว ก็คือให้ได้บัตรสองใบ ก็ถือว่าได้ทำแล้ว อะไรประมาณนั้น
ได้รับปากกับประชาชนแล้ว
แต่ยังไงก็ตาม
ท่านผู้ชมเชื่อมั้ยคะว่าถ้ามีการเลือกตั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบัตรสองใบ
บัตรใบเดียวอะไรก็ตาม แต่การแยกฝักฝ่ายพรรคการเมืองก็ยังต้องแยกเป็นสองฝ่ายอยู่เช่นนี้
แล้วถามว่าพรรคการเมืองไทยในปัจจุบันนั้น
พรรคเล็ก พรรคน้อย หรือพรรคใหญ่ก็ตาม
ก็จะบอกว่าเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้แสดงอุดมการณ์ชัดเจน
แต่เราอาจจะมองได้ว่าในกลุ่มพรรคการเมืองนั้น แนวคิดอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยมคือยินดีสนับสนุนรัฐประหาร
แล้วก็เป็นแนวอนุรักษ์นิยมก็ยังจะรวมตัว จะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านอะไรก็ตาม
แต่นี่ก็คือการรวมตัวกัน
และปัจจุบันฝ่ายค้าน
ซึ่งว่าไปฝ่ายค้านก็จะเป็นพรรคเรียกว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม พูดง่าย ๆ ว่าไม่มีพรรคฝ่ายซ้าย
มีพรรคฝ่ายจะเรียกว่าขวาก็ได้ อำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม ซีกหนึ่ง
อีกพวกหนึ่งไม่พูดว่าอะไร แต่ว่ายินดีผสมพันธุ์กับอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม
แล้วจะให้หมายความว่าอะไร? ไม่แสดงอุดมการณ์อะไรชัดเจน
อุดมการณ์ก็คือว่าใครเป็นรัฐบาลก็จะร่วมด้วย
ส่วนอีกส่วนหนึ่ง
ที่ชัดก็คือไม่เอาเผด็จการ และไม่น่าจะยอมผสมพันธุ์กับพรรคที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ
พรรคที่สนับสนุนรัฐประหาร พูดง่าย ๆ ว่าคุณจะเอา “ประชาธิปัตย์” ผสมกับ “เพื่อไทย”
ถามว่าจะเป็นไปได้มั้ย เป็นไปไม่ได้! ดังนั้น
ประชาธิปัตย์จึงมีข้อผิดพลาดหลายอย่างจนกระทั่งนำมาสู่การล่มสลาย
คือตอนเลือกตั้งบอกว่าจะไม่รวมกับเผด็จการ แต่ตัวเองนั้นฐานของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมด้วย
ดังนั้นก็หันไปสนับสนุน พปชร. หรือไปสนับสนุนภูมิใจไทยเสียเป็นจำนวนมาก
อันนี้ก็เป็นเรื่องของฝ่ายอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม
แต่ดิฉันอยากจะชี้ว่า
พรรคการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน มันจะเห็นความเป็นขวา
หรือความเป็นอำนาจนิยมจารีตนิยมชัดเจน อย่างไรเสียเขาก็ต้องรวมตัวกัน
“ประชาธิปัตย์” ก็ต้องร่วมมือกับ “พปชร.” ไม่ว่า “พปชร.” อาจจะแตก
มีพรรคใหม่อีกก็ตาม พรรคใหม่ที่แตกจาก “พปชร.” ก็จะอยู่ฝั่งเดียวกันอีกเหมือนกัน
แล้วที่เป็นรัฐบาลอยู่ปัจจุบันก็มีแนวโน้มว่าจะอยู่ฝั่งเดียวกันอีกเหมือนกัน
ดังนั้นหมายความว่า
การเมืองในเวทีรัฐสภานั้นมันได้แบ่งออกเป็นสองข้าง สองซีก อย่างชัดเจนแล้ว
ก็คือพรรครัฐบาลปัจจุบัน กับพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน
พรรคฝ่ายค้านปัจจุบันอันได้แก่
พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกยุบพรรคมาแล้ว แล้วก็พรรคประชาชาติ
หลายพรรคอาจจะยังคลุมเครือ
พรรคเสรีรวมไทยก็น่าจะยังยืนอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตยอยู่
อันนี้ดิฉันคิดอย่างนั้นนะ แล้วก็อาจจะมีพรรคใหม่เช่น ไทยสร้างไทย
พรรคเสมอภาคของคุณลดาวัลย์ หรือพรรคเส้นทางใหม่ แนวทางใหม่
อะไรอย่างนี้ถ้ามันมีเกิดขึ้นจริง ก็จะอยู่ พูดง่าย ๆ ว่ามีการเลือกข้าง
แต่ว่าในข้างเดียวกัน
จริง ๆ ก็เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ไม่ใช่ฝ่ายซ้ายด้วย
แต่ว่าในรายละเอียดของแต่ละพรรคมันก็แตกต่างกัน “เพื่อไทย”
เขาเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในยุค “ไทยรักไทย” การพูดแบบเดิม การทำแบบเดิม
ก็อาจจะหวังความสำเร็จแบบที่เคยสำเร็จมาแล้วในอดีตก็ได้
ส่วนพรรค
“ก้าวไกล”
ก็อาจจะมีตลาดใหม่ของคนรุ่นใหม่ซึ่งไม่ได้เลือกโหวตไทยรักไทยมาตั้งแต่ในยุคก่อน
แล้วก็อาจจะมีคนที่เปลี่ยน ไม่ชอบ “เพื่อไทย” ไม่ชอบ “ไทยรักไทย”
หรือแม้กระทั่งสลิ่มจำนวนหนึ่งก็ได้ ก็ทราบมาว่าในพรรค “ก้าวไกล” หรือที่มาจาก
“อนาคตใหม่” ก็มีคนที่เคยไปอยู่ฝ่ายขวา ฝ่ายสลิ่ม เข้ามาสมัครเยอะแยะ
แล้วคนเปลี่ยนใจก็มีได้ข่าวว่าอย่าง “ลูกนัท” อาจจะไปอยู่ที่ “ก้าวไกล”
หรืออาจจะมีคนอื่นอีกเป็นต้น
ดังนั้น
“ก้าวไกล” ก็มีตลาด มีความนิยมของตัวเองก็ไม่น่าจะน้อย “เพื่อไทย”
ก็มีความนิยมของคนฐานราก ของคนยากคนจน มวลชนพื้นฐาน หรือคนที่เป็นคนชั้นกลางล่าง
คนส่วนล่างของสังคมที่เคยมีความสบายใจ มีความสุขกับตอนที่
“พรรคไทยรักไทยและคุณทักษิณ” เป็นนายกฯ นี่ก็เป็นแฟนคลับเก่าแก่
ซึ่งก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก หมายความว่าจะเป็นคนจนในชนบท คนจนในเมือง
ส่วนพรรค
“ก้าวไกล” ก็อาจจะมีตลาดเป็นคนชั้นกลางบน หรือกระทั่งคนชั้นกลางล่าง
แล้วก็คนรุ่นใหม่ ซึ่งพูดง่าย ๆ ว่ามันก็อาจจะเป็นตลาดคนละตลาดกัน
ดิฉันก็มองมาถึงกองเชียร์พรรค “เพื่อไทย” กับกองเชียร์ของ “ก้าวไกล”
หรือต่อไปอาจจะมีกองเชียร์ของ “ไทยสร้างไทย” หรือสมมุติว่าถ้าคุณจาตุรนต์ ฉายแสง
มีพรรคขึ้นมาอีก หรือมีคนอื่น ๆ คุณลดาวัลย์ หรือว่าเสรีรวมไทย
หรือใครจะไปรู้ว่ามีคนอื่น ๆ คนใหม่ขึ้นมาอีกก็ได้
ต่างฝ่ายต่างต้องหาแฟนคลับของตัวเอง แล้วก็รู้ว่าตลาดของตัวเองอยู่ที่ไหน
อย่างคุณชูวิทย์
ตอนช่วงนั้นแกไม่มีส.ส.เขตเลย แต่แกก็มีแฟนคลับของแกในกรุงเทพฯ
แกก็สามารถมีส.ส.บัญชีรายชื่อตามแบบบัตรสองใบได้มาตั้งหลายคน
เพราะฉะนั้นต่างคนต่างก็มีตลาด หรือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ก็มีตลาด
แต่ว่าดิฉันอยากจะให้แง่คิด
ไม่บังอาจจะไปแนะนำนะ เป็นแง่คิดเท่านั้นว่า กลุ่มพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม
ที่สนับสนุนฝั่งนี้ ดูรัฐบาลชุดนี้เป็นตัวอย่าง
เขาก็ต้องพยายามชนะเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้วฟอร์มเป็นรัฐบาลให้ได้ ซึ่งอาจจะทำได้
หรืออาจจะทำไม่ได้
ในส่วน
“เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” อย่างไรเสียก็ต้องอยู่ฝั่งเดียวกัน พูดง่าย ๆ
ว่ามันมีแม่น้ำสายใหญ่ที่แบ่งเป็นสองฟาก แต่ละฟาก
ตอนหาเสียงก็อาจจะมีกระทบกระทั่งกัน แต่ถ้าเราใช้วิธีคิดของทุนนิยม ของ “การตลาด”
ว่ามีตลาดของใครของมัน เพราะฉะนั้นใครชอบพรรคไหนก็ไปเลือกพรรคนั้น
แน่นอน! อาจจะมีคำพูดว่าถ้าเลือกทางยุทธศาสตร์เพื่อที่จะได้พรรคใหญ่แล้วได้เป็นรัฐบาล
อันนี้ก็พูดได้ แต่ว่าในทางความเป็นจริงนั้นมันก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชน
เพราะบัตรสองใบ ถ้าเขาอยากจะให้พรรค “เพื่อไทย” เป็นรัฐบาล
เขาก็อาจจะเลือกบัญชีรายชื่อพรรค “เพื่อไทย” ให้มากสักหน่อยก็ได้ หรือไปเลือก
ส.ส.เขต “เพื่อไทย” และส.ส.บัญชีรายชื่อของ “ก้าวไกล” ให้มากก็ได้
เพราะฉะนั้นมันมีอะไรที่จะเกิดขึ้นได้หลายอย่าง
แต่ที่ดิฉันจะพูดก็คือ
อยากให้มองเห็นอนาคตว่า มันมีแม่น้ำสายใหญ่ และมันอยู่กันคนละฟาก
การก้าวมาข้ามกันมันเป็นลักษณะบุคคลได้ บุคคลที่เคยเป็นสลิ่มอาจจะเปลี่ยนมาเป็นเสรีนิยมได้
จากจารีตนิยมมาเป็นเสรีนิยม คือถ้าเขาไม่สุดขั้ว ถ้าเป็นพวกสุดขั้วก็อาจจะมายาก
แต่ว่าถ้าในฐานะพรรคการเมืองเท่าที่ดูมันก็ยังอยู่คนละฟากกันอยู่
ดังนั้นต้องคิดถึงวันข้างหน้า
และที่ดิฉันอยากจะฝากเอาไว้อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่า
ใครอยากได้นโยบายแบบไหน นำเสนอนโยบาย แล้วเลือกพรรคที่นโยบายและการบริหารมากกว่า
“บุคคล” เพราะว่าถ้าฝากไว้ที่บุคคลอาจจะมีปัญหาก็ได้ พรรคการเมืองก็ต้องพัฒนา
พรรค
“ไทยรักไทย” เคยเชิดชูบุคคล แล้วก็ได้คะแนนเสียงมาก
ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่ามาตอนนี้อย่างเดียวจะพอมั้ย? ยกตัวอย่างเช่น คุณทักษิณ
หรือว่ามีหัวหน้าพรรคที่เยี่ยม ๆ
จะพอมั้ย?
ในทัศนะของดิฉัน
การนำเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของคน
และการบริหารงานพรรคที่ฟังเสียงประชาชน เข้าถึงประชาชนได้
น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม
เพราะอย่างไรเสียพรรคเหล่านี้ก็ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม
แต่ว่าการนำเสนอเศรษฐกิจที่ลดความเหลื่อมล้ำ
การนำเสนอลักษณะที่มีรัฐสวัสดิการก็ยังทำได้โดยที่อาจจะไม่ต้องเป็นฝ่ายซ้าย
แต่การที่อาจจะมีบางคนเสนอว่าคุณจะทำมั้ยในประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ในประเด็นยกเลิก 112 ในประเด็นที่ต้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
อันนี้ก็เป็นคำถามที่ท้าทาย ซึ่งพรรคการเมืองก็มีสิทธิ์จะตอบได้ว่าจะทำแค่ไหน
หรือไม่ทำ เพราะอะไร แล้วประชาชนก็เลือกตามนั้น
แล้วการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ต้องดูการบริหาร
ดิฉันก็ยังชอบที่คุณจิราพร
สินธุไพร พูดเหมือนกันว่าพรรค “พปชร.”
จะไปโฆษณาหาเสียงยังไงเพราะที่เคยโฆษณาเอาไว้ก็ไม่ได้ทำสักอย่าง
แต่เขาไปทำอย่างอื่นแทน ซึ่งก็ดีไม่ดีคนอาจจะชอบก็ได้
ก็มีการแจกเงินเต็มที่อะไรประมาณนี้ แต่ที่หาเสียงเอาไว้ไม่ได้ทำเลยสักอย่าง
ดังนั้น
การนำเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
การบริหารงานที่ดีที่สามารถรับฟังเสียงประชาชน การที่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมันจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะตัดสินพรรคการเมือง
ก็คือ ทั้งการบริหาร ทั้งนโยบาย ว่าสามารถตอบสนองประชาชนกลุ่มไหนได้บ้าง
แล้วก็เป็นเรื่องที่ถ้าพรรคเขาตัดสินใจแบบไหน
ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องไปโกรธ ถ้าไม่ชอบก็ไปเลือกพรรคอื่น
ดิฉันก็คิดแบบนั้นนะ
แต่ว่าอย่าลืมนะว่ามันมีแม่น้ำสายใหญ่ที่แบ่งคนเป็นสองฝ่าย
ให้คิดถึงวันข้างหน้า มันไม่ใช่เปลี่ยน
แทนที่จะเป็นพรรคพันธมิตรแล้วจะกลายเป็นศัตรู
แล้วจะกลายเป็นเรื่องดูหมิ่นเหยียดหยามกัน ดิฉันว่าไม่ใช่นะ ดังที่ดิฉันเคยพูดว่าจริง
ๆ เราจะวัดความก้าวหน้าหรือความเป็นเสรีนิยมนั้น
มันจะต้องเปิดโอกาสให้คนคิดแตกต่างกันได้ เพราะว่าสีทุกอย่างยังมีเฉดไม่เหมือนกัน
มันไม่ใช่ดำกับขาว มันมีทั้งสีแดงจัดไปจนถึงแดงอ่อน ๆ
ดิฉันอยากจะบอกให้นะว่าสมัยหลัง
14 ตุลา พรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แกเคยบอกว่า
ตอนนั้นกระแสซ้ายเฟื่องฟู “ประชาธิปัตย์จะเป็นสังคมนิยมอ่อน ๆ”
ดูซิก็ยังพูดอย่างนั้นได้เลย แต่ถามว่าเขาพูดได้ แต่คนเชื่อมั้ย?
และหลังจากนั้นทำได้ตามนั้นมั้ย?
การตัดสินเรื่องนโยบาย
เรื่องการบริหาร และคำมั่นสัญญาที่จะทำไว้กับประชาชน
จึงเป็นเรื่องสำคัญและไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องประณามหยามเหยียด ถ้าให้คำแนะนำได้
แต่ถ้าพรรคเขายืนยันที่เขาจะทำตามแบบที่เขาเชื่อว่ามันได้ผลกับพรรคเขา
ก็เป็นเรื่องของพรรคเขา ฉะนั้น กองเชียร์ ถ้าคิดว่าไม่ตรง
จะไปเชียร์พรรคอื่นที่สอดคล้องกันก็ได้
แต่ยังไงก็ต้องคิดถึงวันข้างหน้าว่ามันต้องเป็นพรรคพันธมิตรกัน อย่าให้ถึงกับ
“ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” นั่นก็คือ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
นี่ดิฉันให้เป็นแง่คิดนะ ก็คือยังไงก็ตาม ดิฉันก็ยังเชื่อว่าก็ยังมีการทะเลาะกันอยู่นั่นแหละ แต่ให้คิดถึงวันข้างหน้าด้วยค่ะ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์