ยูดีดีนิวส์ : 9 มิ.ย. 63 จากเพจเฟสบุ๊ค อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้ทำเฟสบุ๊คไลฟ์เมื่อวานนี้ ซึ่ง อ.ธิดา กล่าวว่าเป็นเรื่องร้อนที่ต้องออกมาแสดงความเห็นในทันที โดยประเด็นที่จะพูดในวันนี้คือ
ภาวะที่ประชาชนไทยและสหรัฐฯ "หายใจไม่ออก"
อ.ธิดา กล่าวว่า ในกรณีของสหรัฐฯ นั้นเขาบอกว่า "I can't breathe" และถ้าตามข่าวของเราก็คือ ภาวะที่คุณวันเฉลิมก็พูดว่า "ผมหายใจไม่ออก" ดังนั้นดิฉันก็ถือเอาว่าคำพูดสุดท้ายที่เราได้ยินของผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ ส่วนคุณวันเฉลิมอาจจะยังไม่เสียชีวิตก็ได้ แต่สมมุติว่าถ้ามีอันเป็นไป ก็เป็นคำพูดสุดท้ายเหมือนกัน และมันตรงกัน
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราน่าจะศึกษา และดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของประชาชนสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับปฏิกิริยาของประชาชนไทยต่อการที่มีการอุ้มหายไป แต่ในของสหรัฐฯ นั้นเสียชีวิตทันที และในการเสียชีวิตนั้นดิฉันดูในภาพ ผู้ที่ใช้เข่ากระแทกคอนั้นดูเวลาด้วย ที่ทราบมาคือ 8 นาที 45 วินาธี ดิฉันได้คุยกับคุณหมอสลักธรรม ซึ่งคุณหมอสลักธรรมบอกว่าถ้ากดในตำแหน่งนั้นที่จริง 5 นาทีก็มีโอกาสและเป็นไปได้สูงในการเสียชีวิต
ถ้าเทียบของสหรัฐฯ ก็คือ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่จงใจที่จะให้ผู้ถูกกระทำนไม่สามารถลุกขึ้นมาตอบโต้ได้จนอาจจะถึงแก่ชีวิต และไม่รู้ว่าถูกอบรมมาเช่นนี้...หรือเปล่า?
ภาพเจ้าหน้าที่รัฐขนะใช้เขากดไปที่คอ จอร์จ ฟลอยด์ |
ส่วนกรณีของคุณ "วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์" ซึ่งไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เราก็ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร? แต่ว่าตามกระแสข่าวก็คือถูกควบคุมตัว แล้วก็บอกว่า "หายใจไม่ออก" จริงหรือเปล่า? ดิฉันไม่ทราบนะ เพราะทุกวันนี้ก็ต้องแจ้งกันไว้ก่อนว่าเป็นข่าวที่พูดกันมา สรุปว่าคุณวันเฉลิมเสียชีวิตหรือเปล่าก็ไม่รู้
ภาพพาหนะที่ผู้ก่อเหตุใช้ในการอุ้มตัว "วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์" ผุ้ลี้ภัยชาวไทยในกัมพูชา |
ดิฉันคิดว่าอย่าให้การสูญเสีย (ถือว่าสูญเสียในระดับหนึ่ง) ของผู้ที่ถูกอุ้มหรือถูกทำร้ายถึงชีวิตหายไปเฉย ๆ ประชาชนไทย ไม่ว่าคุณจะมีความคิดอย่างไรก็ตาม คุณควรจะมองสองกรณีนี้ แล้วก็มีความคิดของตัวเองอย่างไร แน่นอน...อาจจะมีคนไปถล่มทัวร์ลงของดาราบางท่านที่เป็นตัวแทนของ UNHCR
แต่ดิฉันว่าปัญหาของสหรัฐฯ ตอนนี้ที่ผู้เสียชีวิตบอกว่า "I can't breathe" รวมทั้งปัญหาคุณวันเฉลิม เป็นปัญหาที่สมควรแก่การศึกษา และไม่ใช่แค่ศึกษาเฉย ๆ ผู้ที่แสดงปฏิกิริยาของสหรัฐฯ นั้น เขาก็ไม่มานั่งรอใครศึกษาหรอก
คือประชาชนสหรัฐฯ หรือประชาชนไทยต่างก็แสดงบทบาทไป แต่ดิฉันในฐานะพยายามที่จะเผยแพร่ข่าวผ่านทางยูดีดีนิวส์ ผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์ ก็ถือเป็นภารกิจในฐานะที่เป็นนักวิชาการอิสระที่สนใจการขับเคลื่อนทางการเมือง นี่จึงเป็นเรื่องที่พิเศษมาก ซึ่งจะละเลยไปไม่ได้ พร้อมทั้งต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองด้วย
เริ่มจากเรื่องของครอบครัววันเฉลิมซึ่งออกมาแถลงการณ์เสียใจที่คุณวันเฉลิมถูกบังคับให้สูญหายในประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นการใช้ภาษาที่สามารถนำส่งสหประชาชาติได้เลย เพราะใช้ศัพท์เช่น ถูกบังคับให้สูญหาย (Enforced Disappearance)
อ.ธิดากล่าวว่า นี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่คุณสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ออกแถลงการณ์เมื่อ 7 มิ.ย. 63 ในฐานะครอบครัว และที่ดิฉันทราบก็มีแถลงการณ์ของกลุ่มต่าง ๆ มากมาย เอาเป็นว่าดิฉันแสดงทัศนะจำนวนหนึ่งก่อน เพราะในเรื่องนี้ดิฉันไม่แน่ใจว่าการพูดเฟสบุ๊คไลฟ์จะพูดได้ทั้งหมด
ทั้งกรณีของสหรัฐฯ คือ "จอร์จ ฟลอยด์" ก็น่าสนใจ แล้วในกรณีประเทศไทยที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการรุนแรงนั้นก็มีมากมาย เฉพาะอุ้มหรือเฉพาะการทำให้บาดเจ็บล้มตายอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผยมีมากมายควบคู่กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องการเมือง อาจจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นเรื่องของป่าไม้ อาจจะเป็นเรื่องของเหมือง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ว่าก็ถูกบังคับให้สูญหายเหมือนกัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและเป็นไปได้ว่าดิฉันอาจจะต้องพูดสองรอบ
อ.ธิดา กล่าวต่อไปว่า การมีแถลงการณ์ของกลุ่มต่าง ๆ ออกมา ดิฉันก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าเมื่อมันเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ มันเป็นเชิงเปรียบเทียบ
ในสหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ทั้งในเมือง ทั้งที่ในรัฐที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น และในทุกมณรัฐ ไม่ใช่แต่ในสหรัฐฯ แต่มันไปทั่วโลก จึงน่าสนใจมากว่าทำไมการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ จึงสร้างกระแสปฏิกิริยาของประชาชนทั่วโลกได้ใหญ่โตขนาดนี้
แล้วในประเทศไทย การที่เจ้าหน้าที่รัฐทำความรุนแรงแก่ประชาชน ซึ่งอาจจะเห็นต่างทางการเมือง เห็นต่างในปัญหาสังคมหรือเศรษฐกิจ ก็มีการใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกัน ในประเด็นเหล่านี้ก็น่าสนใจว่าสังคมไทยมองเช่นไร? ซึ่งแน่นอนว่า 2 เรื่องนี้มีทั้งส่วนเหมือนและมีทั้งส่วนที่ต่าง
ส่วนที่เหมือนคือเจ้าหน้าที่รัฐทำความรุนแรงกับประชาชน มันเป็นการแสดงออกของการใช้อำนาจการปกครองกดขี่ ในปัญหาการกดขี่นั้นถ้าพูดโดยหลักการ คือ
1) การใช้อำนาจของผู้ปกครองกระทำต่อผู้ถูกปกครอง เป็นการสั่งผ่านหรือใช้กฏหมาย หรือคำสั่ง ระเบียบ ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.ก.ต่าง ๆ แล้วก็บอกว่าเข้าไปตรงไหนก้ได้ จะไปอุ้มใครก็ได้ เพราะนี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ อาจจะอ้างกฏอัยการศึก อ้างพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อะไรต่าง ๆ
2) เป็นการกดขี่ทางชนชั้น ซึ่งผนวกเอาไว้ท้้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม นั่นก็คือเป็นสังคมที่มีชนชั้น มีชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง (กลางบน-กลางล่าง) และมวลชนพื้นฐาน นี่คือการเมืองการปกครองสมัยใหม่ แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณหรือเป็นระบอบอย่างอื่นก็จะมีทาส มีไพร่ อะไรต่าง ๆ
กรณีของสหรัฐฯ ก็มีประวัติศาสตร์ของทาส ซึ่งถูกนำเข้ามาเพื่อใช้แรงงานอยู่ภาคใต้ แน่นอนว่ามีปัญหาผิว (ผิวดำ) ซึ่งมีการต่อสู้มายาวนาน แต่ก็มีปัญหาทางชนชั้นด้วย เป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงาน เป็นทาส หรือมิฉะนั้นก็เป็นผู้ใช้แรงงานที่มีพันธสัญญา
เมื่อการเมืองการปกครองมาเป็นสมัยใหม่ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พัฒนาการทางการเมืองการปกครองถือว่าคนเท่ากัน แต่ในรูปการจิตสำนึกของประชาชนในสังคมที่มีชนชั้นอยู่ก็มองเห็นคนไม่เท่ากัน ฉะนั้นชนชั้นมีทั้งที่ถูกกฎหมายตามระบอบเก่าและระบอบใหม่ แต่ในระบอบประชาธิปไตยต้องถือว่าคนเท่ากัน แต่รูปการจิตสำนึกของคนนั้นมันยังมีชนชั้นอยู่ โดยฐานะเศรษฐกิจมันก็ดำรงอยู่ และโดยฐานะทางประวัติศาสตร์และสังคมมันก็ยังดำรงอยู่ นั่นจึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
แต่ในสหรัฐฯ จากอดีตมันเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง
เขาแก้ปัญหาจนเกิดสงครามกลางเมือง
ในประเทศไทย การฆ่าหรืออุ้มหาย แม้กระทั่งในรัฐที่ถือว่าสมัยใหม่แล้วก็ตาม เมื่อการเมืองการปกครองที่กฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย และในความเป็นจริงนั้นคนไม่เท่ากัน ปัญหาของผู้ที่ถูกกระทำ ในฐานะผู้ปกครอง นั่นหมายความว่าจะต้องเป็นอาชญากรรมที่กระทำคุกคามต่อความมั่นคงของชนชั้นนำของผู้ปกครอง...ใข่หรือไม่?
นี่คือสิ่งที่แตกต่าง
คือเขาอุ้มหรือเขาจัดการคนดำในปัจจุบันนั้น ในจิตสำนึกทางชนชั้นและความคิดที่ว่าเป็นอาชญากร เป็นภัย แต่ไม่ใช่ภัยต่อความมั่นคง เป็นเรื่องของรูปการจิตสำนึกทางชนชั้นที่มองว่าคนเหล่านี้โอกาสเป็นอาชญากรสูง พร้อมกันนั้นเขาเหล่านั้นอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ
แต่ในบ้านเราตามข่าวที่อุ้มล้วนเป็นปัญหาทางการเมืองทั้งสิ้น มันจึงแสดงถึงความอนารยยิ่งว่าในสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ในปัจจุบันนี้มันกลายเป็นเรื่องซึ่งแม้จะมีประวัติศาสตร์มายาวนานก็จริง แต่มันเป็นเรื่องที่รัฐกระทำต่อผู้ถูกปกครองอย่างไม่ถูกต้อง อย่างมีอคติ และเป็นเรื่องที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
ความจริงปัญหาของการเหยียดผิวในสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่รูปแบบการจัดการหลายอย่างแสดงถึงทัศนคติทางจิตสำนึกทางชนชั้นด้วยเหมือนกัน
ความต่างของเราคือเป็นปัญหาการเมือง เป็นปัญหาความมั่นคงของชนชั้นนำ ผู้เชื่อมั่นควรจะไม่เชื่อมั่น เพราะเหตุว่าตัวเองไม่ได้มาในระบอบที่ถูกต้อง (ลอยมา) มีอะไรก็หวั่นไหวมาก
ดิฉันอยากจะถามว่า ... วันเฉลิม เด็กหนุ่มคนหนึ่ง ดิฉันไม่รู้ว่าเขาเป็นแอดมินเพจ "กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ" จริงหรือเปล่า?
แต่ดิฉันบอกได้ว่า ชื่อเพจนี้ เป็นชื่อที่ประชดประเทศ มีลักษณะขบขัน คนที่มีจิตใจโหดร้าย หรือคนที่เหี้ยมโหด ถ้าจะทำเพจเขาไม่ตั้งชื่ออย่างนี้หรอก การแสดงออกที่เปิดเผยตรงไปตรงมาของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ดิฉันมองไม่เห็นว่าเขาจะสามารถทำอาชญากรรมต่อรัฐได้ มันไม่มีอะไรที่น่าจะชวนให้คิดว่าเขาเป็นอันตรายถึงขั้นนั้นเลย
ดิฉันเคยเห็นเพจนี้บ้าง ยังบอกว่า..โอโห..คนตั้งชื่อนี่ตั้งแบบกวนมาก ดิฉันบอกตรง ๆ ว่าดิฉันก็อายุมากแล้วนะคะ ดิฉันก็พอมีประสบการณ์ในการดูบุคลิกคน ดิฉันเห็นหน้าตาวันเฉลิม ดูแล้วเป็นคนซื่อ ๆ ตรง ๆ (ไม่ต้องอ่านที่ญาติเขาเขียน) น่าจะเป็นคนที่จิตใจอ่อนโยน มีอารมณ์ขัน ถ้าไม่มีอารมณ์ขันตั้งชื่ออย่างนี้ไม่ได้หรอก
แต่ดิฉันไม่เข้าใจทำไมพวกคุณ...ไม่มีอารมณ์ขันเหมือนเขา
"กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ" มันเป็นอารมณ์ขันจริง ๆ
แต่คนที่ไปอุ้มเขา...ไม่มีอารมณ์ขันเลย
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า ดิฉันคิดว่าถ้าเขาต่อสู้อยู่ในประเทศ...เขาก็ไม่มีอะไรผิด แต่อาจจะเป็นเพราะเขาจริงใจ ตรงไปตรงมา พูดตรง ๆ ว่าไม่อยากอยู่ในประเทศนี้ เพราะว่าเขาเป็นคนตรงไปตรงมา ซึ่งไปพูดจาหรือทำอะไร คนอื่นอาจจะเดือดร้อนก็ได้ นี่ดิฉันคาดเดาเอานะ ดังนั้นก็ไปให้มันพ้น ๆ
แต่ยุคนี้เป็นยุคไอทีซึ่งบางครั้งก็มีความคิดเห็นมาได้ แล้วตามที่ทราบเขาก็กำลังทำธุรกิจ แล้วเขาก็ลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้ง แค่เด็กหนุ่มลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้ง แล้วพยายามอยู่ให้ไกล ไม่อยากจะเป็นที่กวนบาทาใคร...แล้วไปอุ้มเขาทำไม?....ไปอุ้มเขาทำไม? ดิฉันไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวเลย แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นแอดมินเพจนั้นหรือเปล่า แต่ดิฉันดูแค่ชื่อก็หัวเราะ ว่ามันตั้งชื่อกวนดี
ดิฉันไม่ต้องมีคำแถลง แต่ดิฉันอยากจะถามว่า...แล้วไปอุ้มเขาทำไม?
คุณเสียมากกว่าได้ ขนาดดาราที่เป็นทูต UNHCR ก็ถูกถล่มซะเละ
คือคุณไปทำกับเด็กอย่างนี้ได้อย่างไร เขาเป็นเด็กหนุ่ม ไม่มีประวัติของนักการเมือง ไปอยู่ตัวคนเดียว อาจจะมีคำพูดจากล้ำเกินหรือเปล่า...ดิฉันไม่รู้...แต่คุณจะใส่ใจสัตว์โลกทุกชนิดที่ส่งเสียงไม่ได้นะ
สัตว์โลกทุกชนิดมันมีชนิดของมัน มันมีอารมณ์ และมันมีเวลาซึ่งมันส่งเสียงแตกต่างกัน คุณจะฟังเสียงทุกอย่างแล้วแปลไปตามที่คุณคิดไม่ได้ เราอยู่ในสังคม เราต้องอดทน แม้ในขบวนการต่อสู้ที่ดิฉันอยู่ ดิฉันก็ต้องอดทนอย่างยิ่ง ท่านก็คงทราบว่ามีบางส่วนที่เขาคิดว่าเราทำไมไม่ทำแบบที่เขาต้องการให้ทำ ก็ก่นด่าเสียไม่มีดี หรือเพื่อนฝูงในขบวนก็เหมือนกัน แม้กระทั่งทางศัตรู บอกตรง ๆ มาเรียกดิฉัน "นางนกแสก" ดิฉันยังไม่เข้าใจเลยว่ามันเป็นได้อย่างไร เป็นตรงไหน ถ้าใครเป็นคนเริ่มต้นเรียก ช่วยอธิบายหน่อย นี่ยกตัวอย่างเป็นต้น
ดิฉันถือว่าดิฉันได้ทำหน้าที่พลเมืองดี คือไม่ได้คำนึงถึงตัวเอง ไม่ได้คำนึงถึงกลุ่ม แต่คำนึงถึงประเทศและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน เราต้องรู้ว่านี่เสียงนก นี่เสียงอึ่งอ่าง หรือนี่เสียงจิ้งหรีด เสียงสิงโต คุณต้องแยกแยะ ไม่ใช่ว่ามันส่งเสียงที่น่ารำคาญ คุณต้องจัดการ
คุณจะฆ่าคนทั้งหมด คุณจะฆ่าสัตว์ทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้!!!
สมองมีไว้ให้คิด
ตามีเอาไว้ดู
หูเอาไว้ฟัง
แต่มันต้องมีสติด้วย
สรุปว่าที่ไปทำนี่ ดิฉัน "เสีย" มากกว่า "ได้"
แล้วในกรณีนี้เขาเป็นเด็กหนุ่ม!
ดังนั้น ถ้าคุณเห็นเยาวชนมาเปล่งเสียงเรียกร้องแทน คุณไปโกรธเยาวชนอีกก็ไม่ถูกนะ เพราะว่าเขามีความรู้สึกว่านี่เป็นคนรุ่นใกล้กัน เขาเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกเหมือนกัน เพราะว่าพวกเขากันเองพูดจากันก็ผิดหู แต่ถ้าผิดหูแล้วจะต้องมาชกต่อยกันตลอดมันก็ไม่ไหวนะ
ทุกวันนี้สังคมไทย ดิฉันดูข่าวแต่ละวันแล้วรู้สึกเศร้าใจมาก คือขาดความอดทนกันมาก แต่นั้นเป็นประชาชน
แต่คนที่เป็นรัฐ เป็นผู้ปกครอง แล้วคุณมาแบบนี้ด้วย ถ้าคุณไม่มีความอดทนต่อการส่งเสียงของประชาชนเลย คุณอยู่ในฐานะเป็นการกดขี่แบบหนึ่งคือกดขี่ในฐานะผู้ปกครอง ในสหรัฐฯ มันเป็นการกดขี่ทางเหยียดผิว มีการกดขี่ทางเพศ กดขี่ทางชาติพันธุ์ แต่ที่สำคัญคือการกดขี่ทางชนชั้น, ผลประโยชน์และอำนาจการปกครอง
คุณกลัวอำนาจการปกครองจะมีปัญหาหรือ?
การที่คุณไปจัดการคนทั้งหมดนี่แหละจะทำให้อำนาจการปกครองของคุณมีปัญหา
ไม่ใช่คุณคิดว่าคุณไปเก็บเขาเรียบ แล้วจะได้ไม่มีปัญหา
ดิฉันเคยเห็นการพยายามจะ "เก็บเรียบ" ก่อน 6 ตุลา 19 แล้วดิฉันก็ยังมีภาพ 6 ตุลา ซึ่งดิฉันอยากจะเอาไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Strange Fruit (ผลไม้ประหลาด) ที่มีภาพเอาคนไปผูกคออยู่บนต้นไม้จนกระทั่งเป็นแรงบันดาลใจของเพลงที่มีนักร้องเอามาร้องแล้วก็มีบทกวี
แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเหมือนกันก็คือเอาคนที่ถูกกระทำไปแขวนไว้บนต้นไม้ ในสหรัฐฯ เอาคนผิวดำไปแขวน ภาพ 6 ตุลาที่มีคนถูกแขวนอยู่บนต้นมะขามมีคนมามุงดู แล้วก็ยิ้ม นี่คือประเทศไทย นั่นคือสหรัฐฯ
แต่ตอนนี้มันไม่ใช่การแขวนบนต้นไม้ มันมีการกระทำอย่างอื่น
ดิฉันก็ขอฝากเอาไว้ว่า รัฐไทยที่กระทำต่อประชาชนเยี่ยงนี้ ผู้ใช้อำนาจ ผู้มีอำนาจ คิดผิด!!!
อาจไม่มีคนออกมามากเหมือน "จอร์จ ฟลอยด์" ดิฉันไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยนี่คือสิ่งที่สะสมในใจ คนรุ่นเก่านั้นอดทนมามากแล้ว แต่มันจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ว่า อำนาจที่จัดการกับประชาชนอย่างไม่ถูกต้อง...เป็นอย่างไร
นี่เป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจว่าการกดขี่ทางชนชั้น การกดขี่ด้วยอำนาจการปกครอง...เป็นอย่างไร? อ.ธิดากล่าวในที่สุด