ยูดีดีนิวส์ : 1 มิ.ย. 63 วันนี้ Facebook Live กับ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ มาพบกับท่านผู้ชมอีกครั้งในประเด็น "สังคมและการเมืองไทย หลัง COVID19" หรือจะว่าไปก็คือ New Normal ของสังคมไทยและการเมืองไทย แต่เราจะพูดในระยะอันใกล้
อ.ธิดากล่าวเริ่มต้นว่า วันสองวันนี้พวกเราก็คงเห็นบรรยากาศของเวทีรัฐสภาที่มีการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา เราก็จะเห็นว่าพละกำลังของฝ่ายรัฐบาลซึ่งสืบทอดอำนาจมานั้น สามารถระดมเสียงให้กลายเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งดูประหนึ่งว่าการสืบทอดอำนาจของคสช.นั้นจะราบรื่น นั่นก็หมายความว่า สังคมไทยหลัง COVID
ก็จะมีรัฐบาลแบบนี้
มีรัฐสภาแบบนี้
ยังมีวุฒิสมาชิกแบบนี้
ไปอีกนานเท่าไร...ไม่รู้ แต่ก็ยังจะมีอยู่!!!
ดังนั้นต้นทุนของประเทศไทยหลัง COVID จึงเป็นต้นทุนที่มีทุนติดลบ นั่นก็คือมีรัฐบาลเดิมที่มีการทำรัฐประหาร แล้วก็มีรัฐสภาซึ่งเสียงฝ่ายค้านที่ควรจะชนะ แต่กลายเป็นเสียงข้างน้อย และกลเม็ดทุกอย่างในการที่จะทำให้ได้คะแนนจนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลได้เสียงข้างมาก มันจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม...ไม่รู้
แต่หมายความว่า "มันใช้การได้" ที่ทำให้รัฐบาลมีรัฐสภา (ซึ่งตัวเองมีเสียงข้างมาก) แล้วก็มีวุฒิสมาชิก ไม่ว่าจะวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งหรือว่าทดลอง 50 คน (ที่มาจากการเลือกเป็นกลุ่มคนก็ตาม) เสียงเป็นเอกภาพหมด
ประหนึ่งว่าสังคมไทยและการเมืองไทยก็จะมีรัฐบาลแบบนี้หลัง COVID ไปอีกพักใหญ่เลย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปทางด้านบวกหรือด้านลบ (ด้านใดก็ตาม) อันนี้หมายความว่าในเวทีรัฐสภาและในฐานะของรัฐบาล
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ดูเหมือนกับว่าเสถียรภาพของฝ่ายรัฐประหาร ฝ่ายสืบทอดอำนาจ จะมีอยู่ระดับหนึ่ง เอาล่ะ...เวทีรัฐสภาเราเห็นภาพแล้ว เขามีเสียงข้างมาก ชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ไม่รู้ แต่ก็เป็นเสียงข้างมาก สามารถที่จะอยู่ได้ไปพักใหญ่
ทีนี้ถ้าเรามามองความเป็นจริง รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ส่วนหนึ่งมันก็ต้องอยู่ที่ปัญหาของประเทศและประชาชนว่าเขารับไหวหรือไม่ไหว
บางทีมันก็เกิดขึ้นมาฉับพลันนะ เหมือนอย่างในสหรัฐฯ ที่เกิดปัญหา สิ่งที่มันสะสมไว้นานก็คือ "ปัญหาการเหยียดผิว" มันก็เกิดซ้ำและดูว่าเป็นความรุนแรง เป็นความรุนแรงผสมระหว่างปัญหาการเหยียดผิวและปัญหาเศรษฐกิจ
ของเรามีปัญหาการเมือง ก็คือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มันดำรงอยู่ มันไม่หาย และมันมีแต่จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องมาพิจารณาก็คือแล้วปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร?
ปัญหาเศรษฐกิจไทยนั้นเป็นเศรษฐกิจที่เรียกว่าเป็นทุนนิยมที่ล้าหลัง เป็นทุนนิยมที่ทุพพลภาพมาช้านานแล้ว เราก็ยังไม่มีเวลาที่จะเจาะเฉพาะ แต่ว่าทุนนิยมของไทยนั้นเป็นทุนนิยมที่ภาคการผลิตของเราไม่แข็งแรงเลย ทั้งองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่จะทำให้เทคโนโลยีด้านการผลิตสูงขึ้น
แล้วในภาคการผลิตของเรานั้น เรานำเข้าวัตถุดิบมาหมด ถ้าการผลิตของเราลดลง การนำเข้าก็ลดลง คือมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบสูงมาก ต้องอาศัยวัตถุดิบนำเข้าเพราะบางครั้งเราเป็นสายพานตรงกลาง
ภาคการผลิตของเรานั้นเทคโนโลยีไม่ว่าอุตสาหกรรมหรือการเกษตรนั้นสู้ประเทศอื่นไม่ได้ทั้งสิ้น เมื่อภาคการผลิตของเราโดยเฉพาะอุตสาหกรรมนั้นมีส่วนในการส่งออกตั้ง 70% แล้วในสภาพหลัง COVID อุตสาหกรรมยิ่งลำบาก ยิ่งตกหนัก ภาคอุตสาหกรรม
ภาคส่งออก ภาคเกษตรนั้นมีโอกาสจะพัฒนาถ้าทำได้ดี
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันเป็นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจไทย อันนี้เราพูดภาคใหญ่นะคะ ภาคพาณิชย์ ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม มันจะลำบาก ตกต่ำ กันหมดเลยหลัง COVID แล้วสิ่งที่มันดำรงอยู่เดิมก็คือ "ความเหลื่อมล้ำ" มันก็จะยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้น คนจนก็จะมากขึ้น คนว่างงานก็จะมากขึ้น
โดยภาพรวมสถานการณ์หลัง COVID มันจะหนักหน่วง และโดยเฉพาะเราไปพึ่งภาคบริการมาก คือภาคการท่องเที่ยวมาก คนที่อยู่ในภาคบริการก็มาก หล่อเลี้ยงประเทศด้วยภาคบริการจำนวนมาก ดังนั้นตอบได้เลยว่าเศรษฐกิจหลัง COVID มันจะค่อนข้างพินาศ พังพินาศสันตะโรเลยหรืออะไรประมาณนั้น ทั้งอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิต
แล้วภาคการผลิตของเรา การเกษตรที่ควรจะ น่าจะสนับสนุนให้ได้ดี เราก็จะเจอภัยแล้วสลับกับน้ำท่วม สลับกับปัญหาของระบบข้าราชการไทย ซึ่งมีปัญหาเรื่องของการโกงกิน หรือการที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน เหล่านี้ทั้งหมด...ดิฉันมองไม่เห็นเลยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจมันจะดีขึ้น!!!
ดังนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจมันจะเป็นตัวกำหนดใหญ่ว่าประเทศไทยข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
แน่นอน!!! การเมืองมันมีปัญหาติดลบอยู่แล้ว แต่เศรษฐกิจที่มันติดลบแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ภาคการเงินของเราจะไม่พังแบบเดียวกับ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ของเราธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นภาคที่จะมาค้ำจุนภาคการเงินของเอกชน เหมือนที่ ส.ส. ทั้งหลายวิจารณ์ไป ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไปอุ้ม โดยที่จะต้องเอาเงินไปบริหารหุ้นกู้ที่กำลังจะหมดอายุ แล้วมันเป็นหุ้นกู้ของบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง
แต่ประชาชนทั่วไป เงินที่เยียวยา มันไม่พอ มันไม่ถึงมือ มันไม่ทั่วถึง และมันไม่แก้ปัญหา
คนจน คนว่างงาน แม้กระทั่ง SME และพวกกลุ่มอาชีพอิสระทั้งหลายโดยทั่วไปก็จะยากลำบากทั้งหมด
ดังนั้น สถานการณ์ก็คือเมื่อปัญหาเศรษฐกิจมาผสมกับปัญหาการเมือง กล่าวคือ รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากประชาชน ลอยมาด้วยพาหนะรถถังและผู้ถืออาวุธ (ประมาณนั้น) เมื่อผนวกกับความไร้ความสามารถและผลกระทบจาก COVID คือจริง ๆ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจมันล้มเหลวมาตั้งแต่ 5-6 ปี เพราะคุณไม่ได้เริ่มต้นในการแก้โครงสร้างของสาเหตุของความยากจนของคนไทย
แล้วก็ใช้วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ "แจกเงิน" หวังว่าจะไม่ให้กระทบราคาสินค้า ไม่ต้องการให้กลุ่มทุนใหญ่เดือดร้อน กลุ่มทุนใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากการ "แจกเงิน" ด้วย เพราะฉะนั้นแนวคิดเสรีนิยมใหม่มันก็ยิ่งทำให้คนยากจน ช่องว่างคนจนคนรวยยิ่งมากขึ้น
ดังนั้น สถานการณ์นี้ดิฉันจะมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วง กับปัญหาที่การเมืองที่มันไม่ชอบธรรม มันก็จะผนึกกำลังรวมด้วยกัน จะทำให้เกิดกระแสของความไม่พึงพอใจของประชาชน ที่ต้องการการแก้ปัญหาให้ได้สัมฤทธิ์ผลด้วยมือของเขาเอง นั้นก็คือ ควรจะเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน เพื่อที่ประชาชนจะได้ตรวจสอบ แล้วก็เอาออกได้ ไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ แล้วก็เป็นรัฐบาลที่กดหรือข่มขุ่ประชาชนอยู่ตลอดเวลา
สองอย่างนี้ ปัญหาการเมืองที่ไม่ชอบธรรม ผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจที่มันเกิดขึ้นจาก COVID ผนวกกับความไม่สามารถในการแก้ปัญหาของรัฐบาล และแม้กระทั่งรัฐสภา (เพราะเสียงข้างมากเป็นเสียงของรัฐบาล) มันก็จะเกิดปัญหาที่พูดตรง ๆ ว่า ประชาชนก็จะมีโอกาสทนไม่ได้สูง!!!
แล้วเมื่อหันมาดูเครือข่ายของประชาชนในปัจจุบัน
ดิฉันมองว่าการเมืองไทยซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 เคยออกแบบให้มี 2 พรรคใหญ่ รัฐธรรมนูญ 60 แก้ปัญหา (ของเขาเอง) เพราะพรรคการเมืองของเขาไม่สามารถจะมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ จนในที่สุดกอบโจทย์ก็คือต้องมีการแก้รัฐะรรมนูญออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 60
ทำให้พรรคใหญ่ 2 พรรคเดิม ลดลงไป เกิดพรรคใหม่ขึ้นมา รวม ๆ แล้วพรรคใหญ่สองปีกก็จะไม่มี แต่จะเป็นพรรคขนาดกลางผนึกกำลังกับพรรคเล็กเป็นสองปีก
รัฐธรรมนูญ 60 นั้น เจตนาที่จัดการกับพรรคเพื่อไทยโดยตรง แต่ว่าพรรคที่มีผลทันทีมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถูกแทนที่ด้วยพรรคอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมที่ดูดีกว่า ก็คือ พรรค พปชร. ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีทางเลือก ก็ต้องมาร่วมกันกับ พปชร. เพราะว่าอย่างไรก็ตามเขาก็บอกแล้วว่าเขาไม่สามารถร่วมกันกับพรรคเพื่อไทยได้ เพราะนี่เป็นคู่ปฏิปักษ์แต่ไหนแต่ไร แล้วตัวเองก็แพ้มาตลอด
ดังนั้น การเมืองไทยในฝ่ายพรรคการเมือง มันก็จะยังเป็นสองปีก แต่ก็เป็นปีกที่ยินดีร่วมมือกับผู้ยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจ กับปีกที่ไม่เอารัฐประหาร ไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจ หลายพรรค แต่ก็ยังเป็นสองปีก แล้วก็ออกมาเป็นลักษณะเครือข่ายมากขึ้น
ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ถ้ารัฐธรรมนูญ 60 ยังไม่ได้แก้ มันก็จะมีลักษณะอย่างนี้ ก็คือ ไม่สามารถเกิดพรรคใหญ่ ไม่สามารถที่จะพรรคที่มีคนที่มาจากบัญชีรายชื่อร่วมกันกับส.ส.เขต แบบที่พรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทยในอดีต)ได้รับชัยชนะมาโดยตลอด
แต่ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาก็คิดไม่ถึงว่า ยังไงมันก็ต้องเป็นสองปีก แต่เป็นปีกลักษณะเครือข่าย ดังนั้นยังไงมันก็เหมือนเดิม และในทัศนะดิฉัน มันแข็งแรงกว่าเดิมด้วย ดีกว่าเดิมด้วย ดีกว่าเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียว ฝ่ายประชาธิปไตยออกมาเป็นเครือข่าย พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องปรับปรุง ก็ต้องแก้ไข และแข่งขันกันเองด้วย ประชาชนก็มีทางเลือกมากขึ้น
เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 60 ที่เขียนไม่ได้แก้ปัญหาสองปีกได้ พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ใช่พรรคใหญ่ หรือไทยรักไทยไม่ใช่พรรคใหญ่ แต่ปีกประชาธิปไตยก็ยังเป็นปีกใหญ่อยู่นั่นเอง
ดังนั้น "เวทีรัฐสภา" อย่าผิดหวัง
ใน "เวทีประชาชน" นปช. ก็เช่นกัน ก็ไม่ใช่องค์กรใหญ่องค์กรเดียว มันก็จะต้องเป็นองค์กรหนึ่ง แล้วก็มีองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ในทิศทางเดียวกัน นี่คือความจำเป็นต้องปรับตัว
แล้วถามว่าจะต้องทำอะไรกันบ้าง?
แน่นอน!!! ทิศทางทางการเมืองฝ่ายประชาชน
การแก้รัฐธรรมนูญ หนึ่ง
การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฉพาะหน้านี้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะผลักดันอย่างไร
การแก้ไขกฎหมายและพระราชบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย นี่คือทางการเมือง
แล้วในทางเศรษฐกิจก็จะต้องออกมาเรียกร้อง แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะยาว การเมืองคือเสรีประชาธิปไตย เศรษฐกิจระยะยาว ระบบสวัสดิการก็จะถูกเรียกร้อง ประชาชนก็อาจจะออกมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การแก้ปัญหาช่องว่าง การจับทุจริต จำนวนเงิน 1.9 ล้านล้าน มันก็จะเป็นเหยื่อโอชะของฝ่ายที่อยากได้
แต่ขณะเดียวกันมันก็จะเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับประชาชน ในการที่จะตรวจสอบ ในการที่จะฟ้องร้องว่า นี่หรือคนดี? นี่หรือสิ่งที่เรียกว่าการปกครองด้วยคนดี? ข้าราชการและแม้กระทั่งพรรคการเมืองที่บอกว่าตัวเองมาจากข้าราชการและคนดีนั้น มันดีจริงหรือเปล่า?
ก็คือนอกจากแก้ปัญหากฎหมาย เรียกร้องทางปัญหาเศรษฐกิจ มันก็ไปถึงการขับไล่รัฐบาล คสช.
ดิฉันก็คิดว่าการเมืองหลัง COVID มันไม่ได้โสภาโสภีเลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน มันจะลำบากยากจนกันหมด แต่ในวิกฤตนี้ก็เป็นโอกาสที่ฝ่ายประชาชนและพรรคการเมืองจะได้ปรับตัว เพื่อจะทำให้วิกฤตนี้เป็นโอกาสที่จะสามารถผนึกกำลังกันก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยดี ดิฉันหวังอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น กลุ่มองค์กรประชาชน กลุ่มประชาชน ก็อาจจะมีแกนนำที่อิสระมากขึ้น บ้างก็เรียกร้องทางเศรษฐกิจ บ้างก็เรียกร้องปัญหาการโกง การฉ้อฉลในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละจังหวัด บ้างก็แก้ปัญหาในเรื่องของการที่ถูกเอาเปรียบ เช่น การไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือการทำพื้นที่อุตสาหกรรมแล้วเกิดปัญหาในพื้นที่
พูดง่าย ๆ ว่า "เอ็นจีโอ" ทั้งหลายก็ควรจะตาสว่างเสียที ให้รู้ด้วยว่าการเมืองที่ก้าวหน้าจึงจะทำให้สังคมและประชาชนก้าวไปข้างหน้าได้ คุณจะแก้ปัญหาประชาชนโดยการเมืองล้าหลัง คุณหวังอำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม มันเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น "NGO" ต้องผนึกกำลังแล้วตาสว่างเสียทีถ้าคุณเป็น "NGO" ด้วยอุดมการณ์จริง ๆ อย่าปล่อยให้มายาคติ อคติที่คิดว่าอะไรก็คือทักษิณ ๆ คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นพวกทักษิณ มายาคติเหล่านี้สำหรับปัญญาชนและ NGO ทำลายประเทศไทยมามากแล้ว
ต่อไปนี้ขอให้เข้าสู่ยุคใหม่เสียทีที่ประชาชนทุกฝายสามัคคีกันเพื่อสร้างความเป็นธรรม แก้ปัญหาความยากจนและทุกข์เข็ญของประชาชน ดิฉันไม่ได้มองว่าวิกฤตครั้งนี้จะเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับทุกกรณี ในวิกฤตก็มีโอกาส ในเรื่องร้ายก็มีเรื่องดี
"เราลดเรื่องร้าย ขยายเรื่องดีกันดีกว่า" อ.ธิดากล่าวในที่สุด