ยูดีดีนิวส์ : 19 มิ.ย. 63 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ กล่าวในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์ว่า วันนี้จำเป็นต้องพูดหลังจากที่ท่านนายกฯ ออกมาพูดเมื่อวานนี้ ซึ่งดูเหมือนดี ท่านพูดถึงเรื่อง New Normal ของท่าน ประเด็นที่พูดวันนี้ก็คือ
วิถีใหม่เพื่อประชาชน "ที่เป็นไปไม่ได้" สำหรับ นายกฯ ประยุทธ์
อ.ธิดากลา่วว่าคำว่า New Normal ถูกนำมาใช้ก็เป็นเรื่องปกติใหม่ในวงการธุรกิจหรือในวิถีชีวิตของประชาชน เป็นวิถีใหม่ในสถานการณ์ใหม่
ท่านก็อยากจะมี New Normal น่าสนใจในสิ่งที่ท่านพูด ดิฉันต้องบอกว่า New Normal มันสำหรับท่าน แต่มันไม่ใช่เพื่อประชาชน...หรือเปล่า?
เพราะว่าถ้าเป็น New Normal สำหรับรัฐบาลเพื่อประชาชนแล้ว มันเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งดิฉันจะบอกต่อไปว่า ท่านพูดดูเหมือนดี แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ ทำไม่ได้ และไม่มีวันทำได้ด้วย
เพราะว่านี่เป็น New Normal สำหรับผู้สืบทอดอำนาจจากการทำรัฐประหาร เพื่อที่จะให้อำนาจนั้นได้รับการยอมรับและอยู่ในสังคมนี้ได้ต่างหาก
แต่มันไม่ใช่ New Normal สำหรับรัฐบาลของประชาชนที่มาจากประชาชนและทำเพื่อประชาชน เพื่อความเจริญรุ่งเรือง มันมีการตัดหัวตัดหาง ให้ฟังดูเหมือนดี
ดิฉันก็ไม่ใช่ติเรือทั้งโกลน ท่านพูดประหนึ่งว่าชัยชนะของ COVID ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลกนั้น ท่านมองว่าเป็นความพร้อมใจของคนไทยทุกฝ่ายที่ร่วมมือ แล้วก็มีคนเก่งเยอะ
ดิฉันอยากจะถามว่าท่านเพิ่งรู้หรือ?
คนไทยนั้นเขามีเหตุผลนะ เนื่องจากปัญหา COVID มันเป็นภัยต่อประเทศ ต่อประชาชน และทั้งโลก ดังนั้นสิ่งที่เขาไม่พอใจรัฐบาล ไม่พอใจนโยบาย ไม่พอใจรัฐมนตรีหรืออะไร เก็บเอาไว้ก่อน เขาก็ให้ความร่วมมือเพื่อมาช่วยเหลือกัน ทุกส่วนพร้อมเพรียงกันหมด
ท่านทำเคอร์ฟิว ท่านประกาศ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" แม้เขาจะรู้สึกว่ามันไม่มีความจำเป็นเพราะเพียง "พ.ร.บ.โรคติดต่อ" ก็พอแล้ว แต่ประชาชนก็กล้ำกลืน จะออกมาประท้วงอะไรก็เลิกทั้งนั้นและให้ความร่วมมือ
การที่เราสามารถต้าน COVID ได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ได้รับการยอมรับนั้น มาจากความร่วมมือของประชาชน แต่เราลงทุนสุงเกินไป เพราะความผิดพลาดของรัฐบาลที่ไม่มีการจัดการที่ดี ปล่อยให้ COVID เข้ามาด้วยความเขลาและการจัดการที่ไม่ถูกต้อง จนกระทั่งระบาด แล้วต้องใช้ทรัพยากรจนประเทศต้องเสียหายมากมาย
อันนั้นท่านไม่พูดเลยนะ! แต่ยังดีที่เพิ่งมามองเห็นว่าประชาชนให้ความร่วมมือ แล้วก็มีคนเก่งเยอะ
ที่ท่านบอกว่าท่านจะทำ New Normal โดยบอกว่า
หนึ่ง "ผนึกทุกภาคส่วนร่วมวางอนาคตประเทศไทย"
สอง "ประเมินผลงานภาครัฐ โดยผุ้ส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง"
สาม "การทำงานเชิงรุก"
ทั้งหมดนี้อาจจะเป็น New Normal ของท่าน
แต่ไม่ใช่ New Normal ของประชาชน
ด้วยเหตุที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แต่เป็นเพียงระบอบการเมืองการปกครอง ไม่ใช่แต่เป็นเพียงเป้าหมายของระบอบที่มีรัฐสภา มีการแบ่งอำนาจ แต่คำว่า "ระบอบประชาธิปไตย" ยังมีวิธีการด้วย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเป้าหมายของระบอบ
วิธีการที่พูด "เห็นหัว" ประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ประชาชนประเมินผลงานภาครัฐ มันคือวิธีการประชาธิปไตยของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ที่ท่านพูดว่า "ผมก็มาจากการเลือกตั้ง" แต่เป็นที่เข้าใจกันว่าท่านมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยความสง่างามหรือเปล่า? ด้วย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ด้วยการใช้อำนาจรัฐ ด้วยการที่แปรคะแนนจาก 7 หมื่นให้มาเป็น 3 หมื่นก็สามารถเป็น ส.ส. ได้
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่ในระบอบประชาธิปไตย ท่านบอกว่าจะใช้วิธีการเหล่านี้ ท่านเพิ่งรู้หรือว่าประชาชนก็มีคนเก่ง ที่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะว่ารัฐราชการรวมศูนย์ให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นใหญ่ พอไปฟังภาคเอกชน...เขาก็เก่ง คุณลองฟังประชาชน ลองฟังชาวบ้านดูซิ! เขาเก่ง เก่งว่าเทคโนแครตที่มารับใช้ท่านด้วย
แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นวิธีการประชาธิปไตยของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ดิฉันพูดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
แต่ที่ท่านคิดจะทำ ท่านทำเพื่อที่ว่าท่านจะขยับออกจากรัฐข้าราชการรวมศูนย์เสียหน่อย ให้ประชาชนเข้ามาประเมินหรือฟังเสียงประชาชน แต่รัฐข้าราชการรวมศูนย์ยังเป็นผู้ปฏิบัติ แล้วท่านก็ยังเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร
ท่านอาจจะบอกว่าเป็น New Normal
แต่ดิฉันอยากจะบอกว่า นี่คือ New Normal ของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีการใช้อำนาจนิยมเป็นสำคัญ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
สิ่งที่จะพิสูจน์ให้เห็นก็คือการที่ท่านคุมกำเนิดการปกครองส่วนท้องถิ่น วันก่อนรองนายกฯ พูดว่าไม่มีเงินสำหรับจัดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น เอาเงินไปช่วย COVID หมด พอมาอีกวัน กกต. บอกว่าเขายังมีเงิน 800 ล้าน และเมื่อถูกโจมตีมากขึ้นก็บอกว่ามีเงินแล้ว
พูดได้อย่างไร? คือคนอายุปูนนี้ ทำงานมาก็มาก ในทัศนะดิฉัน...มันต้องรักศักดิ์ศรีนะ คำพูดนั้นสำคัญ สามารถสร้างหรือทำลายก็ได้ แล้วในความเป็นจริงท่านก็บอกว่าปลายปีนี้อาจจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น
นี่ไง! นี่คือไม่ใช่ระบอบที่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่เป็นท่านที่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่
ดังนั้นจึงป่วยการที่ท่านพูดถึง New Normal ของท่าน แต่มันไม่ New สำหรับคนอื่น มันเป็น Old Normal เพราะด้านหลักของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่มีแต่การเลือกตั้งใหญ่
การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโครงสร้างสำคัญที่ต้องการให้อำนาจประชาชนแสดงออกทั้งในท้องถิ่นและในระดับชาติ ท่านมายึดอำนาจการเมืองระดับชาติ แล้วท่าน "ฟรีซ" การเมืองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ตั้งแต่ตำบล เทศบาล ไปจนกระทั่งถึงจังหวัด
ในไทม์ไลน์ตั้งแต่ยึดอำนาจปี 2557 องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นไทยทั้งหมด 7,852 แห่ง ถูก "ฟรีซ" หมด ประกอบด้วย
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง
- เทศบาลนคร 30 แห่ง
- เทศบาลเมือง 187 แห่ง
- เทศบาลตำบล 2,237 แห่ง
- องคืการบริหารส่วนตำบล 5,320 แห่ง
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานครและพัทยา
ทั้งหมดนี้ไม่มีการเลือกตั้งเลย แล้วไทม์ไลน์เป็นลำดับ 6 ปี มีแต่ลดอำนาจ มีแต่ถอดถอน ที่เห็นได้ชัดก็คือ18 ต.ค. 59 ใช้มาตรา 44 ปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แทนมาจนกระทั่งบัดนี้
เมื่อตอนปี 57 การเลือกตั้งท้องถิ่น 255 แห่งที่ครบวาระ ปรากฏว่าก็ใช้อำนาจศาลอุทธรณ์เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น พอถัดมาอีก 7 วัน ก็ถอนสิทธิ์ของผู้บริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคดีความ
ที่สำคัญคือ ให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นไปก่อนจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
กรุงเทพฯ พัทยา ก็ถูกใช้วิธีการสรรหาผู้บริหารท้องถิ่นใหม่ แล้วก็มีการเปลี่ยนผู้ที่เข้ามาทำงาน ซึ่งดิฉันจำได้ว่ามีการเอาข้าราชการเข้ามาทำงานแทน สุดท้ายไปไม่รอด ก็เลยต้องไปเอาคนเก่าให้มารักษาการแทน ขณะนี้รักษาการปาเข้าไปจะ 9 ปีแล้ว (บางคนก็ 9 ปี บางคนก็ 6 ปี บางคนอยู่บนเตียงลุกมาไม่ได้)
แต่ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ ตั้งรอง ผอ.รมน.จังหวัดฝ่ายทหาร 77 จังหวัด ที่เรียกว่า "ผู้ว่าทหาร" คือเข้ามาทำงานส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น นอกจากเป็น "รัฐจารีต" นอกจากเป็น "รัฐข้าราชการรวมศูนย์" ยังมี "รัฐทหาร" เข้ามาควบคุม "รัฐจารีต" นี้อีกทีด้วย
คือตั้งแต่ทำรัฐประหาร 2557 มา ฝ่าย กอ.รมน.ในพื้นที่และฝ่ายกองทัพในพื้นที่สนธิกำลังในการควบคุมประชาชนทั่วทั้งประเทศ
นี่คือความพยายาม!!! ก่อนหน้านี้เราใช้คำว่า "รัฐซ้อนรัฐ" คือมีรัฐที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็มีรัฐข้าราชการ (เป็นรัฐของระบอบอำมาตย์) สามารถสั่งการโดยไม่ต้องนำพารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสั่งอย่างไร
ในบางยุคสมัยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร กองทัพสามารถข้ามไปสู่ประเทศอื่นได้โดยที่นายกฯ ไม่รู้เรื่อง คำว่า "รัฐซ้อนรัฐ" ดิฉันใช้นานมาแล้วก่อนที่มีการทำรัฐประหารยุคหลัง ๆ คือรัฐไทยที่มาจากการเลือกตั้งจะมีรัฐอำมาตย์ควบคุมอยู่ตลอด แล้วพยายามเขียนรัฐธรรมนูญ (50 หรือ 60) เพื่อที่จะทำให้รัฐราชการและรัฐอำมาตย์นั้น คานอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ และตอนหลังไม่ใช่แค่ "คานอำนาจ" แต่เหนือกว่าโดยมา "ควบคุม" เลย
แล้วในเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐธรรมนูญ 60 ยังเปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ เช่นในมาตรา 252 ระบุว่า
"ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้"
นี่ไง!! มันไม่ใช่รัฐอำมาตย์หรือรัฐข้าราชการ "ซ้อน" รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มันมี "รัฐทหาร" เข้ามาคุมรัฐอำมาตย์อีกทีหนึ่ง ก็เป็น
รัฐทหาร + รัฐอำมาตย์ แล้วก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
แต่พอดีรัฐบาลนี้ก็มาจากการเลือกตั้ง มีนายกฯ ที่มาจากการทำรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ
เราลองคิดดูก็แล้วกัน มันยิ่งกว่าขนมชั้นเสียอีก คือรัฐของประชาชน (รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) ก็เป็นชั้นเดียวเล็ก ๆ แล้วก็มีอีก 3 ชั้นกดทับและควบคุมอยู่ ถ้าเมื่อไรที่รัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้งไม่ปฏิบัติตามรัฐข้าราชการ-รัฐอำมาตย์-รัฐทหาร ที่มาคุม ก็ต้องมีอันเป็นไป
ดังนั้น ในทัศนะของอาจารย์ วงจรอุบาทว์มันจึงเกิดขึ้นพร้อมกับสิ่งที่เรียกว่า "วิถีเก่า" ที่ปกครองประเทศที่รุนแรงขึ้นทุกที
สิ่งที่นายกฯ ออกมาพูด พยามยามจะให้มี New Normal กำลังคิด ๆ อยู่ จะให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนมาประเมิน ให้คนเก่งภาคเอกชน ภาครัฐบาล เข้ามาทำ
ดิฉันมองแล้วมันก็คือวิธีการ (พูดง่าย ๆ ไม่ต้องมาโกรธกัน ดิฉันก็อาบน้ำร้อนมาเยอะเหมือนกัน เห็นมามาก) นี่เป็นวิธีคิดที่รู้สึกว่า เออ...มันก็ดีนะ ที่เอาคนอื่นเข้ามา แล้วไปฟัง แล้วมีคนเก่ง ๆ เยอะ แล้วประชาชนก็ร่วมมือ แล้วต้องการให้ประชาชนร่วมมือต่อ เพื่ออะไร? เพื่อตัวเองจะได้อยู่ต่อใช่ไหม? เพราะคนตัดสินคือคุณ
คุณต้องการจะรักษาอำนาจที่มีอยู่ (ที่ได้มาจากการทำรัฐประหาร) รักษาอำนาจของรัฐข้าราชการ รักษาอำนาจของรัฐระบอบอำมาตย์และอำนาจนิยมให้ดำรงอยู่...ใช่หรือเปล่า? เพียงแต่ว่าให้ฟังประชาชนบ้าง ให้คนเก่ง ๆ เข้ามาร่วมบ้าง แต่ในเนื้อแท้มันถอยหลังยิ่งไปกว่าหลายสิบปีมาแล้ว (นี่เรากำลังพูดถึง 24 มิถุนา ก็จะครบ 88 ปี) ถอยหลังไปก่อนหน้าที่มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง...หรือเปล่า?
ดูเหมือนประเทศทันสมัยขึ้น แต่วิธีคิดและวิธีทำงานยังเป็นวิถีเก่า ไม่ใช่วิถีใหม่
วิถีใหม่ ก็ต้องถามว่า วิถีใหม่เพื่อใคร? ถ้าวิถีใหม่เพื่ออำนาจแบบเก่า..ไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น และดิฉันบอกได้เลยว่าไม่สำเร็จ มันเป็นไปไม่ได้
ท่านไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แล้วท่านคิดว่าท่านฟังเสียงประชาชน เอาประชาชนเข้ามาประเมินตามที่ท่านคิดว่าเป็นวิถีใหม่ แต่คนตัดสินใจว่าอะไรดี อะไรชั่ว ไม่ใช่ประชาชน แค่นี้มันก็จบแล้ว
"จริง ๆ มันต้องให้ประชาชนตัดสินใจ เมื่อประชาชนตัดสินใจนั่นคือระบอบประชาธิปไตยที่มีวิธีการประชาธิปไตย แล้วให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ซึ่งเทคโนโลยีก้าวรุกไปทุกวัน อย่างนั้นมันถึงจะเป็น New Normal เพื่อประชาชน แต่นี่อาจจะเป็น New Normal ของเผด็จการแบบเก่านะคะ ดิฉันขอสรุป" อ.ธิดากล่าวในที่สุด