ยูดีดีนิวส์ : วันเสาร์ที่ 13 มิ.ย. 63 เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (อาคารด้านหลัง) ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ มีการจัดงานเวทีเสวนาวิชาการ "อุ้มหาย...แล้วไง?" เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนทางแนวความคิดเห็นกรณีเกิดกระแสข่าวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นแอดมินเพจ "กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ ๆ" ได้ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 3 คน อุ้มหายตัวไปจากหน้าที่พักในประเทศกัมพูชา และก่อนหน้าก็มีบุคคลที่มีความขัดแย้งหรือเห็นต่างถูกอุ้มหายไปในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และทำไมคนไทยจึงควรให้ความสนใจเรื่องนี้
กิจกรรมเสวนาฯ จัดโดยคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) โดยมีวิทยากรและบุคคลจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วมเสวนา อาทิ
น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวชื่อดัง
นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกร นักเขียน นักทำสารคดี
นายพชร ธรรมมล (ฟลุค เดอะสตาร์) นักร้อง นักแสดง
น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และหลานสาวของ "เตียง ศิริขันธ์" อดีตหัวหน้าเสรีไทยสายอีสานผู้ถูกอุ้มฆ่า
ดำเนินรายการโดย นงส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ วิทยากรอิสระและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีสื่อมวลชนและประชาชนผู้รักประชาธิปไตยสนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 80 คน
น.ส.ณัฏฐา หรือโบว์ กล่าวว่า ในการเสวนาครั้งนี้มีบุคคลจากหลายวงกร ทั้งจากวงการสื่อ นักศึกษา และวงการบันเทิง เข้าร่วมพูดคุยกันในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก ซึ่งนายวันเฉลิมเป็นผู้ลี้ภัยคนที่ 9 รายล่าสุดที่ถูกอุ้มหายไปในช่วงหลังปี 57 และก่อนหน้ามี 2 รายที่อาจพูดได้ว่าถูกอุ้มฆ่า เพราะมีผู้พบศพ
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล : พิธีกร นักเขียน นักทำสารคดี
กล่าวว่า ตอนรู้ข่าวครั้งแรกก็ใจหายมาก เพราะมีความรู้จักวันเฉลิมเป็นการส่วนตัว ถึงแม้ไม่สนิกกันแต่ก็เคยเห็นหน้าเห็นตากันอยู่ ซึ่งก่อนหน้าพอรู้ว่ามีคนหายไปก็รู้สึกว่ามีอารมณ์โกรธและรู้สึกว่าทำกันอย่างนี้ได้อย่างไร แต่พอรู้ว่าเป็นคนใกล้ตัวถูกอุ้มหายไปก็รู้สึกใจหายมาก และรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม
ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมและสารคดี ก็อยากออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า มันไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งจะเป็นกระบอกเสียงในการกระพือต่อ เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็มีคนหาย แล้วเรื่องก็เงียบ จึงอยากมีส่วนร่วมทางสังคมในการเป็นกระบอกเสียง เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เงียบหายอีก ท่าทีของทางรัฐบาลไม่ใส่ใจกับคนไทยคนหนึ่งที่หายตัวไปในประเทศกัมพูชา แม้มีกระแสข่าวและภาพปรากฏออกมาทางสื่อว่าถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มลักพาตัวนายวันเฉลิมหายไปจากหน้าที่พักต่อหน้าผู้คนมากมายก็ตาม
ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวขอให้ทุกคนมองเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องของมนุษยธรรม ซึ่งผู้มีอำนาจหรือผู้เกี่ยวข้องต้องรีบเข้าให้การช่วยเหลือ เพราะนายวันเฉลิมก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง อย่ามองว่าเพียงแค่เขาคิดต่างหรืออยู่ฝ่ายไหนฝ่ายหนึ่ง
อีกทั้งปัญหาการสูญหายของกลุ่มบุคคลหลายคนก่อนหน้าภายในประเทศ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมเอาไว้ชัดเจน ทั้งที่ประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมในอนุสัญญาระหว่างประเทศมาแล้ว
ตนมองว่าในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนมีชื่อเสียง ดารา หรือประชาชน จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่สร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้ ไม่เพียงแต่สามารถแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองเพียงเท่านี้ ก็สามารถแสดงออกทางความคิดเห็นต่าง ๆ ทางสังคมไทย
พชร ธรรมมล หรือ ฟลุค เดอะสตาร์ : นักร้อง นักแสดง
กล่าวว่า ตนในฐานะดารานักร้องนักแสดง ก็สามารถออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ โดยที่ไม่ถูกจำกัดว่าจะเป็นดารา หรือประชาชน ทุกคนมีสิทธิเสรีเท่าเทียมกัน
ในส่วนที่มีการออกมาเปิดเผยจากกระทรวงการต่างประเทศว่า วันเฉลิมไม่ถือเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะไม่มีสถานะรับรองนั้น ตนมองว่าการลี้ภัยขึ้นอยู่กับปัจจัยของเหตุผลว่าเหตุใด ผมว่าหลายคนควรกลับมามองปัจจัยในสิ่งที่ทำให้อีกหลายคนต้องลี้ภัยทางการเมืองว่า เพราะเหตุผลใด? ไม่ว่าจะเป็นการทำผิดกฎหมายในเวลานั้น ต้องมองด้วยว่ากฎหมายใครเป็นคนเขียน มันถูกต้องด้วยหรือไม่? ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ต้องมองย้อนกลับไปในจุดนี้ด้วย
ผู้ที่เดือดร้อนต้องลี้ภัยส่วนใหญ่อาจรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต จึงขอลี้ภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัย แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มผู้ลี้ภัยต้องถูกอำนาจมืดตามราวีไม่จบไม่สิ้น
ซึ่งในจุดนี้ก็ทำให้ผู้คนไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็น ตนอยากให้คนในสังคมออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น ให้มีส่วนร่วมทางสังคม และสนใจด้านการเมืองเพิ่มขึ้น อย่าปิดกั้นตัวเอง เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน อยากให้พูดออกมากันเลยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทางสิทธิเสรีภาพ ทำไมเราต้องมานั่งพูดกันว่าการอุ้มฆ่าคือสิ่งที่เลวร้าย
เราเกิดมา เรามีชีวิต ทุกคนรู้ว่าการฆ่าชีวิตคือสิ่งที่เลวร้าย ชั่วช้าอยู่แล้ว ทุกวันนี้ความเจริญมีมากแล้ว ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องการอุ้มฆ่ากันอีก!
สุดท้ายอยากจะฝากไปถึงบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีส่วนในเหตุการณ์อุ้มฆ่าหรืออุ้มหาย ซึ่งสิ่งที่คุณทำหรือสิ่งที่คุณใช้ มันเป็นวิธีการที่เลวทรามมาก ถ้าเขายังมีจิตสำนึกอยู่ อยากให้เขามีความเมตตา ขอให้ใช้วิธีที่มีคุณธรรม หรือใช้วิธีที่ไม่รุนแรง เพราะถ้าวันหนึ่งคนทุกคนกว่า 60 ล้านคนออกมาแสดงความคิดเห็นส่วนตัว คุณก็คงไม่สามารถออกมาทำร้ายหรือฆ่าพวกเราได้หมดทุกคน ขอให้เคสวันเฉลิมเป็นเคสสุดท้ายที่พวกเราต้องเจอ ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ นายพชรกล่าว
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย : ผู้สื่อข่าวแถวหน้า
ในส่วนตัวมองว่าการอุ้มหายหรืออุ้มฆ่าถือเป็นอาชญากรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้น และไม่ควรต้องมีใครขอลี้ภัยหนีออกจากประเทศของตัวเอง เพียงเพราะแสดงออกทางความคิดที่เห็นต่างทางการเมือง โดยเมื่อแสดงออกแล้วต้องตกอยู่ในสภาวะที่ถูกคุกคาม รู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย ทั้งที่อยู่ในประเทศของตัวเอง
การขอลี้ภัยทางการเมือง แม้จะไม่ได้สถานะรับรองจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งในด้านของสิทธิมนุษยชนย้ำว่า ไม่ควรมีใครต้องลี้ภัยหรือถูกอุ้มหาย เพราะหากเขาทำผิดจริง ก็ควรมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ในส่วนการนำเสนอข่าวซึ่งตนเองในฐานะนักข่าว ก็ควรที่จะต้องนำเสนอในเรื่องนี้ หาข้อเท็จจริงโดยการที่ตตได้โทรประสานกับเพื่อนนักข่าวที่ประเทศกัมพูชา ให้เขาลงพื้นที่ขอรายละเอียด หลักฐาน ภาพ หรือข้อมูลการอุ้มหายของนายวันเฉลิมจากพยานแวดล้อมที่เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ โดยมีการยืนยันว่าเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง มีผู้เห็นกลุ่มชายฉกรรจ์อุ้มฉุดชายผู้หนึ่งขึ้นรถไปจริง เพราะถือเป็นเรื่องของจรรยาบรรณสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอข้อเท็จจริง แต่ตนยอมรับว่าในบางครั้งมีข้อจำกัดในการนำเสนอข่าว ซึ่งในปัจจุบันได้มีการนำเสนอข่าวทางออนไลน์ ก็จะนำเสนอข้อมูลภาพข่าวได้มากขึ้น ไม่ถูกจำกัด
สำหรับท่าทีของภาครัฐในเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าการมีสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ปัญหาของประชาชนถูกหยิบยกเข้ามาพูดในสภาฯ กันมากขึ้น ทำให้เห็นบทบาททางภาคการเมืองและรัฐมากขึ้น และการพูดถึงในสาธารณะก็ทำให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้มีอำนาจ โดยการนำเรื่องนี้เข้าสู่กรรมาธิการของสภาฯ จึงทำให้ภาครัฐมีการตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว จากที่เห็นมีขั้นตอนที่เกิดขึ้นทางการทูต และมีขั้นตอนต่าง ๆ ในการประสานงานกัน ไม่ใช่เพิกเฉยอย่างในอดีตที่ผ่านมา
น.ส.ฐปณีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือหลังจากนายวันเฉลิมถูกอุ้มหาย ก็จะมข่าวดิสเครดิตถูกปล่อยออกมา ทั้งเรื่องของประเด็นการปลูกกัญชา มันเป็นกระบวนการทำให้เหยื่อที่ถูกอุ้มเป็นคนด้อยค่า โดยมุ่งเน้นเป้าหมายทำให้สังคมมองและลืมคนเหล่านี้ ทำให้เขาหายไปทั้งตัวตนและความเป็นคนทางสังคม ชี้ให้สังคมรู้จักเขาในมุมมองที่ด้อยค่าและถูกลืมไปในที่สุด
น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ : ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย
กล่าวว่า โดยส่วนตัวนิยามของ "ผู้ลี้ภัย" ไม่ใช่มาจากภัยสงครามที่มีความอดอยากอย่างเดียว แม้แต่วันเฉลิมเองก็ได้ผลกระทบจากภาครัฐ เราก็มองว่าวันเฉลิมก็คือผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง และอีกหลายคนที่เป็นคนไทยที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบัน ก็ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยโดยปริยาย ต้องหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศทางยุโรป
เราคิดว่าการที่รัฐนิยมบุคคลหรือกลุ่มคนไปในทางแบบนั้น เราก็คิดว่ามันไม่เป็นธรรม หรือยุติธรรมกับผู้ลี้ภัย เพราะตัวรัฐเองก็เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการลี้ภัยนี้ขึ้นเอง
จุฑาทิพย์กล่าวต่อว่า ตนขอชี้แจงถึงกิจกรรมการผูกโบว์สีขาว คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ว่าเราต้องการความเป็นธรรมทางสังคม เราต้องการติดแฮชแท็ก #Saveวันเฉลิม เราต้องการปลดล็อค ต้องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ไม่ใช่กิจกรรมเลือกฝ่ายหรือเลือกข้างทางการเมือง!
แต่มันคือ "กระบอกเสียง" พยายามเรียกร้องความยุติธรรมแทนนายวันเฉลิม ให้คนในสังคมได้รับทราบ ได้มีส่วนร่วม และไม่เห็นด้วยในกระบวนการที่ใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์อุ้มหายไปดังกล่าว ซึ่งมันก็เป็นสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรี
เรื่องนี้ยอมรับว่าในมุมมองของนักศึกษาด้วยกันรู้สึกโกรธ เพราะในอดีตที่ผ่านมามันเกิดขึ้นมาแล้ว หลายคนที่ถูกอุ้มหายไป ตนมองว่าการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมมักถูกสกัดกั้นจากผู้มีอำนาจในด้านต่าง ๆ เสมอ ซึ่งท่าทีของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไม่เหมาะสมเท่าที่ควรจะเป็น เหมือนมองว่าผู้ลี้ภัยไม่ใช่คนไทย ซึ่งไม่ใช่สปิริตในการแสดงออกของผู้นำประเทศ น.ส.จุฑาทพิย์กล่าว