“จาตุรนต์”
โพสต์ X แสดงความเสียใจ #ก้าวไกล ถูกยุบ ชี้
กฎหมายการยุบพรรค ต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักนิติธรรม
วันที่
7 สิงหาคม 2567
จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ สั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค
10 ปี นั้น นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ได้โพสต์ X ความว่า
ขอแสดงความเสียใจต่อกรรมการบริหาร
สส.
สมาชิกและประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลทุกท่านที่พรรคก้าวไกลถูกยุบและคณะกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาถึง
10 ปี
ขอให้กำลังใจทุกท่านในการที่จะทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ
นอกจากเสียใจแล้ว
ที่น่าห่วงใยอย่างมากก็คือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการทำหน้าที่ของระบบรัฐสภา
หลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ
ผมแสดงความเห็นมาตลอดว่าระบบกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคเป็นปัญหาทำให้พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่สามารถเป็นเครื่องมือของประชาชนในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนการเพิกถอนสิทธิ์ในการสมัครรับเลือกตั้งและการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นการขัดต่อหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ผมก็ยังยืนยันความเห็นนี้เช่นเดิม
การจะยุบพรรคการเมือง
ถ้าจะมีก็น่ามีเหตุผลเพียงประการเดียวคือพรรคการเมืองนั้นมีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ
แต่การดำเนินการด้วยกระบวนการทางรัฐสภาย่อมไม่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ
เนื่องจากมีระบบกลไกตามรัฐธรรมนูญป้องกันไว้อยู่แล้ว ดังนั้นมาถึงวันนี้
น่าจะต้องย้ำว่าการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองต้องเป็นการกระทำที่อาศัยกำลังความรุนแรงเช่นการทำรัฐประหารหรือการสร้างเงื่อนไขและชักชวนให้เกิดการรัฐประหาร
หรือการใช้กำลังความรุนแรงเข้ายึดอำนาจเป็นต้น
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนเนื่องจากอาศัยข้อเท็จจริงและหลักเหตุผลรวมทั้งข้อกฎหมายเช่นเดียวกันกับคำวินิจฉัยที่
3/2567 นั่นเอง
เมื่อวินิจฉัยไว้ว่า
"พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์
การกระทำเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ดังนั้นจึงยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
ผมเคยแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยครั้งก่อนไว้แล้ว
ขอย้ำและเพิ่มเติมว่าที่จะเป็นปัญหาต่อการทำหน้าที่ของระบบรัฐสภา
ความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมก็คือการกระทำหลักและการกระทำประกอบเกือบทั้งหมดที่ถือว่าเป็นปัญหานั้นไม่อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญได้
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
การแก้กฎหมายและออกกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภา
การเสนอแก้ไขกฎหมายเป็นการกระทำโดยอาศัยกระบวนการทางรัฐสภา
มิได้ใช้กำลังความรุนแรง จึงไม่อาจเป็นการล้มล้างการปกครองไปได้ . การเสนอกฎหมาย
พิจารณาหรือลงมติแก้ไขกฎหมายย่อมไม่อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
และหากร่างกฎหมายนั้นมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญก็มีระบบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้กฎหมายนั้นตกไปโดยผู้เสนอหรือลงมติกฎหมายนั้นไม่ว่าในทางเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไม่มีความผิดใดๆ
ดังที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้กำหนดให้เอกสิทธิ์สมาชิกรัฐสภาในการทำหน้าที่ในสภาไว้
การถือว่าการเสนอกฎหมายอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือขัดรัฐธรรมนูญมีความผิดและมีโทษร้ายแรงย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและไม่อยู่ใต้อาณัติใดๆของสมาชิกรัฐสภาและรัฐสภาโดยรวม
การถือว่าการเสนอกฎหมายอาจเป็นความผิดร้ายแรงจึงกระทบต่อการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชนชาวไทยกระทบต่อรากฐานความเป็นประชาธิปไตยของประเทศโดยตรง
ส่วนการกำหนดนโยบายและการหาเสียงมีกกต.และกฎหมายกำกับอยู่
ถ้าผิดระเบียบกกต.ก็ห้าม ถ้าผิดกฎหมายก็ดำเนินคดี
ซึ่งไม่พึงเอาเรื่องนี้ไปรวมกับเรื่องอื่นที่ไม่อาจผิดกฎหมายได้แล้วทำให้กลายเป็นขัดรัฐธรรมนูญ
การล้มล้างการปกครองฯหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองฯก็คือขัดรัฐธรรมนูญ
ส่วนการประกันตัวผู้ต้องหาหรือการตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยเสียเองในคดีใดๆของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดีหรือของบุคคลอื่นใดก็ดี
เป็นสิทธิและได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญโดยถือว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์หากถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา
จำเลยและผู้ประกัน ส่งผลเสียหายต่อการยึดหลักนิติธรรมได้
โดยสรุป
ระบบกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคควรต้องมีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักนิติธรรม
และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับองค์อิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำเป็นจะต้องมีขึ้นให้ได้ครับ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #จาตุรนต์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #ยุบพรรคก้าวไกล