วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2567

“รอมฎอน” เตือนความจำอีก 64 วันหมดอายุความคดีตากใบ ลุ้นคำสั่งศาลพรุ่งนี้ชี้มูล - ประทับรับฟ้องหรือไม่ หวังรัฐบาลใหม่มีทิศทางชัดเจน - คืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย

 


รอมฎอน” เตือนความจำอีก 64 วันหมดอายุความคดีตากใบ ลุ้นคำสั่งศาลพรุ่งนี้ชี้มูล - ประทับรับฟ้องหรือไม่ หวังรัฐบาลใหม่มีทิศทางชัดเจน - คืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย


วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวการเข้าร่วมสังเกตการณ์การอ่านคำสั่งไต่สวนมูลฟ้องในคดีตากใบ ที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีการอ่านคำสั่งในวันที่ 23 สิงหาคม 2567 นี้


รอมฎอนระบุว่าวันนี้อายุความคดีอาญากรณีตากใบเหลือเวลาอีก 64 วัน โดยคดีดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่ผู้เสียหาย 48 รายเป็นโจทก์ฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยมีจำเลยในคดีดังกล่าวรวม 9 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง


ผลของคำสั่งในวันพรุ่งนี้ จะกำหนดทิศทางของการอำนวยความยุติธรรมในคดีตากใบ ภายใต้กรอบเวลาว่าอีก 2 เดือนอายุความจะขาดลง หากศาลเห็นว่ามีมูลและประทับรับฟ้อง ศาลต้องนำส่งหมายเรียกให้จำเลยตามที่ศาลเห็นว่ามีมูลให้มาเบิกตัวต่อศาลก่อนวันที่ 25 ตุลาคม จึงเป็นอันเริ่มต้นกระบวนการในชั้นศาลได้ แต่หากศาลมีคำพิพากษาไม่รับฟ้อง ก็ต้องติดตามว่าฝ่ายผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือไม่ แต่ก็จะทำให้กระบวนการในการพิจารณาทอดยาวออกไปอีก


รอมฎอนกล่าวต่อไป ว่าที่จริงแล้วยังมีการดำเนินคดีคู่ขนานกันไปอีกคดีหนึ่ง นั่นคือคดีที่ดำเนินการโดยพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก โดยมีที่มาจากการทักท้วงโดยคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ว่าการดำเนินคดีอาญาไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว ทำให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพร้อมตั้งสำนวนคดีขึ้นมาเมื่อต้นปี 2567


โดยความคืบหน้าเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด โดยมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้ต้องหาจำนวน 8 คน และล่าสุดเท่าที่ตรวจสอบ ได้มีการส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่อัยการร้องขอไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าอัยการจะมีความเห็นต่อคดีนี้อย่างไร


ทั้งนี้ หลังมีการส่งสำนวนให้อัยการไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตได้ขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดว่าการดำเนินคดีมีความล่าช้าและไม่เป็นธรรม พร้อมขอให้อัยการสูงสุดมีการเร่งรัดคดี แต่เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา อัยการสูงสุดกลับมีหนังสือส่งกลับมาว่าทางอัยการสูงสุดได้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมแล้ว เห็นควรให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรมโดยไม่มีการระบุเหตุผลหรือคำอธิบายใด ๆ


รอมฎอนกล่าวต่อไป ว่าจากการร่วมวงเสวนาที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา มีหนึ่งในประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาถามผู้เสียหาย ว่าทำไมถึงได้ตัดสินใจมาฟ้องคดีในช่วงคดีกำลังจะหมดอายุความลง ซึ่งหนึ่งในญาติของผู้เสียชีวิตมีการระบุว่าพวกเขายังอยากได้ความยุติธรรม แม้จะได้รับการเยียวยาจากทั้งการไกล่เกลี่ยในชั้นศาลและรัฐบาลแล้ว แต่การได้ความยุติธรรมหรือการฟ้องคดีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่มีความรู้ อำนาจ หรือโอกาส และยังถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐจนรู้สึกกลัว ที่ผ่านมาทำได้แค่จัดงานรำลึก แต่เมื่อปีล่าสุดจึงเริ่มมีการหารือและตกลงกันว่ารอไม่ได้แล้ว และจะขอฟ้องดำเนินคดีเอง


คดีตากใบเป็นปมปัญหาสำคัญของความขัดแย้งในชายแดนใต้ เพราะวางอยู่บนสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ถ้าสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยไม่อาจอำนวยความยุติธรรมได้ก็ยากที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนได้ ที่สำคัญความยุติธรรมในคดีตากใบยังเกี่ยวข้องกับอนาคตกระบวนการสันติภาพ ที่ต้องการพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นใจต่อสถาบันต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยด้วย


รอมฎอนกล่าวต่อไป ว่าปมปัญหาตากใบเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ความรุนแรง และกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเดิมตนตั้งใจจะตั้งกระทู้ถามอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แต่เสียดายที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน แต่ตนก็เชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะมาช้าหรือเร็วก็ต้องเตรียมคำตอบสำคัญเกี่ยวกับคดีตากใบไว้


คดีตากใบเกิดขึ้นภายใต้การบริหารของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เคยกล่าวคำขอโทษและขออภัย แม้จะถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ แต่ตนก็ยังคาดหวังว่าคณะรัฐมนตรีใหม่น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้


ผมคาดหวังว่าภายใต้รัฐบาลแพทองธารจะมีความชัดเจน ความมุ่งมั่น และเจตจำนงที่ชัดเจน รัฐบาลต้องชี้ทิศทางว่าจะไปทางไหน ถ้าหากปราศจากทิศทางเช่นนี้การแก้ไขปัญหาก็จะอยู่ภายใต้ระบบราชการปกติ ที่มีวิธีคิดและมุมมองต่อปัญหาที่แตกต่างหลากหลายและขัดแย้งกันเอง รัฐบาลใหม่น่าจะดำเนินการได้มากกว่าการนั่งรอเฉยๆ ปมปัญหาสำคัญคือความยุติธรรมและข้อเท็จจริง ว่าผู้เสียชีวิตตายเพราะอะไร ตายโดยใคร และใครต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่คำสั่งชันสูตรพลิกศพ ว่าผู้เสียชีวิตบนรถเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ คำตอบแต่นั้นไม่เพียงพอ ถ้าทิศทางคือการแก้ปัญหาและสร้างสันติภาพ ปมเหล่านี้ควรได้รับการคลี่คลาย ใส่ใจ และแสดงความชัดเจน” รอมฎอน กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #คดีตากใบ