วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567

พรรคประชาชน ยื่นร่างแก้ไขระเบียบราชการกลาโหม คืนอำนาจฝ่ายพลเรือนเหนือกองทัพ ด้านสภาให้ ครม.ไปศึกษาต่อ 60 วัน เพื่อความรอบคอบ

 


พรรคประชาชน ยื่นร่างแก้ไขระเบียบราชการกลาโหม คืนอำนาจฝ่ายพลเรือนเหนือกองทัพ ด้านสภาให้ ครม.ไปศึกษาต่อ 60 วัน เพื่อความรอบคอบ


วันที่ 28 สิงหาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ซึ่งนำเสนอโดย ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคประชาชน ที่ได้อภิปรายหลักการและเหตุผลของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว


โดยธนเดช ระบุว่าในอดีตทหารและกองทัพมีอำนาจทางการเมืองผ่านโครงสร้างรัฐที่จัดวางอำนาจของกองทัพให้อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือนในหลายกระบวนการตัดสินใจ เช่น อำนาจของสภากลาโหมในการกำหนดนโยบายและพิจารณางบประมาณทางการทหาร อำนาจของคณะกรรมการแต่งตั้งนายพล ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการทหารในอัตราส่วนที่ไม่สมดุลต่อการบริหารราชการ และไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน


ในสภาพแวดล้อมที่โลกกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง การทหาร หน่วยงานที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือกองทัพและการทหาร ให้สอดคล้องและโอบรับกับอำนาจการเมืองในปัจจุบันที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ร่างฯ ฉบับนี้จึงมุ่งเน้นในการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมให้มีความทันสมัย โปร่งใส และสอดคล้องกับการบริหารภายใต้หลักประชาธิปไตย 


ธนเดชอภิปรายต่อไป ว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่การแก้ไขในหมวดที่ 5 ที่เดิมทีใน พ.ร.บ. ฉบับ 2551 เขียนไว้ว่าอำนาจของสภากลาโหมอยู่ในสัดส่วนของคณะผู้บริหาร ซึ่งร่างดังกล่าวจะแก้ไขหมวดที่ 5 ให้สภากลาโหมกลับไปมีบทบาทเป็นเพียงคณะที่ปรึกษา ซึ่งการปรับเปลี่ยนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องแปลก บทบาทสภากลาโหมในฐานะที่ปรึกษาเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต และกลับมาประยุกต์ใช้และปรับปรุงตามมิติการเมืองให้เป็นคณะผู้บริหารในห้วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา


นอกจากนี้ บทบาทของสมาชิกสภากลาโหมในปัจจุบัน ได้ขยายขอบเขตอำนาจเกินกว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดเข้าไปนั่งในตำแหน่งแล้วจะเข้าไปดำเนินการหรือบริหารราชการได้ เพราะทุกอย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะดำเนินการได้ ไม่ว่าจะด้านกฎหมาย งบประมาณ หรือใดๆ ล้วนแล้วต้องผ่านมติของสภากลาโหม


เดิมตามมาตรา 42 ของ พ.ร.บ. ฉบับ 2551 กำหนดให้มีสมาชิกสภากลาโหมทั้งสิ้น 24 นาย ร่างฯ ที่ตนเสนอนี้จะแก้ไขให้ลดสัดส่วนของสมาชิกสภากลาโหมเหลือ 12 นาย แบ่งเป็น (1) สมาชิกโดยตำแหน่งสัดส่วนข้าราชการทหาร 5 คน ฝ่ายการเมือง 2 คนคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ (2) แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีอีก 5 คน 


ธนเดชกล่าวต่อไป ว่าหากย้อนไปเมื่อครั้งการเลือกตั้งใหญ่ หลายพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันว่าต้องปฏิรูปกองทัพ บ้างก็ใช้คำว่าต้องพัฒนาร่วมกัน การแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นกุญแจดอกแรกของการแก้ไขปัญหากองทัพ นั่นคือการจัดระเบียบราชการการบริหารภายในกองทัพให้กลับมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ให้อำนาจการบริหารทั้งหมดกลับมาอยู่ภายใต้รัฐมนตรีที่มีความรับผิดรับชอบและมาจากประชาชน


นอกจากสภากลาโหมแล้ว ที่มองข้ามไม่ได้คือการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ตามมาตรา 25 ใน พ.ร.บ. ฉบับ 2551 ที่การแต่งตั้งนายทหารระดับสูงชั้นนายพลจะเกิดจากคณะกรรมการของแต่ละเหล่าทัพ พิจารณาเป็นลำดับ ส่งมาที่กระทรวงกลาโหม จากนั้นกระทรวงกลาโหมจะแต่งตั้งคณะกรรมการในลักษณะซุปเปอร์บอร์ดขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมด รวมถึงเสมียน ทำให้รัฐมนตรีผู้มีความรับผิดรับชอบไม่มีอำนาจอะไรเลยในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล สุดท้ายหลายคนเข้าไปแปรสภาพกลายเป็นโฆษกหรือตรายาง วันนี้ร่างฯ ฉบับนี้กำลังจะแปรสภาพและคืนการบริหารราชการกระทรวงกลาโหมให้กลับไปอยู่ในรูปแบบที่ควรจะเป็นตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอีกคำรบหนึ่ง


อีกประเด็นที่จะต้องมีการแก้ไขคือการจัดซื้อจัดจ้างและความโปร่งใส ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตที่ผ่านมากองทัพถูกตั้งคำถามจากประชาชน ทั้งในความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้งบประมาณที่ไม่มีขีดจำกัด การซื้อของที่แพงเกินราคา ไม่มีความจำเป็น ไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ วันนี้ตนจึงเสนอแก้ไขในมาตรา 30 ให้การจัดซื้อจัดจ้างคำนึงถึงการประหยัด ความจำเป็น และความต้องการ


ธนเดชอภิปรายต่อไป ว่าหากท่านใดได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันนี้ ท่านนึกภาพตัวเองได้เลยว่าท่านจะไม่ต่างจากตรายางหรือโฆษก เพราะท่านจะถูกครอบไว้ด้วยสภากลาโหมและซุปเปอร์บอร์ด ส่งผลให้การดำเนินการใดๆ ไม่ว่านโยบายท่านจะหาเสียงมาดีแค่ไหน หากไม่ผ่านมติสภากลาโหมแล้วท่านก็ทำไม่ได้อย่างแน่นอน 


“เพื่อนนายทหาร ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านอย่าได้เกรงกลัวการเปลี่ยนแปลง อย่าได้เกรงกลัวที่อำนาจจะกลับมาสู่ครรลองประชาธิปไตยอีครั้งหนึ่ง เพราะหากเราปล่อยให้การใช้อำนาจเป็นในลักษณะนี้ต่อไป รัฐบาลปัจจุบัน ในอนาคต หรือหน่วยงานของท่านก็จะเสื่อมถอยลงทุกห้วงวินาที การแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่เป็นเพียงแค่การปรับปรุงโครงสร้างภายในของกองทัพ แต่จะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในการปฏิรูปกองทัพไทยในระยะยาว การสร้างกองทัพที่ทันสมัย โปร่งใส เป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้” ธนเดชกล่าว


อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปรายอย่างกว้างขวาง คณะรัฐมนตรีได้ขอนำร่างฯ ไปพิจารณาศึกษาเป็นเวลา 60 วัน โดย สุทิน คลังแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อภิปรายชี้แจงว่าการนำร่างฯ กลับไปดูให้รอบคอบไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่ใช่การปฏิเสธการปฏิรูป ร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่มีต้นทางมาจากกระทรวงกลาโหมก็ไม่ต่างไปจากร่างฯ ที่พรรคประชาชนยื่นมา คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสภากลาโหม และยังมีการบัญญัติไว้เพื่อสกัดกั้นยับยั้งการใช้อำนาจของกองทัพมาทำการรัฐประหารด้วย กฎหมายฉบับนี้ไม่มีใครขัดข้อง รวมทั้งกระทรวงกลาโหมก็ยินดีเสนอเข้ามาประกบ ที่รับไปครั้งนี้เป็นการรับไปศึกษาประกอบกัน เพื่อให้มีกฎหมายประกบที่รอบคอบ อาจใช้เวลาสักระยะหนึ่ง แต่สภาก็จะได้มีความรอบคอบด้วย


ทั้งนี้ ผลการลงมติของสภาได้เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีนำร่างฯ ดังกล่าวไปพิจารณาศึกษาเป็นเวลา 60 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ปฏิรูปกองทัพ #ระเบียบกลาโหม