วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2567

iLaw ยื่นกมธ.เวนิซแห่งคณะมนตรียุโรป ทบทวนร่วมประชุมกับศาลรัฐธรรมนูญไทย จนกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปที่มาให้เป็นอิสระ

 


iLaw ยื่นกมธ.เวนิซแห่งคณะมนตรียุโรป ทบทวนร่วมประชุมกับศาลรัฐธรรมนูญไทย จนกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปที่มาให้เป็นอิสระ


วันที่ 5 สิงหาคม 2567 iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า ilaw ส่งหนังสือถึงคณะกรรมาธิการเวนิซแห่งคณะมนตรียุโรป (The Venice Commission of the Council of Europe) ขอให้ทบทวนการเข้าร่วมการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (The Association of Asian Constitutional Courts and Equivalent Institutions: AACC) เดือนกันยายน 2567 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยยังมีปัญหาด้านความชอบธรรมในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนและที่มาซึ่งปราศจากความเป็นกลางทางการเมือง


ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยได้เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชียในเดือนกันยายน 2567 โดยเชิญหน่วยงานอื่นๆ นอกเอเชียเข้าร่วมการประชุมด้วย รวมทั้งคณะกรรมาธิการเวนิซ ทั้งที่บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญเรื่อยมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2562 เป็นองค์กรที่มีบทบาททางการเมืองเพื่อพิทักษ์ระบอบของการรัฐประหาร ทั้งการยุบพรรคไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้งปี 2561 เพียงหนึ่งเดือน การยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 และกำลังจะตัดสินกรณีของพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 


ศาลรัฐธรรมนูญยังเคยออกคำสั่งตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนักการเมืองที่ต่อต้านคณะรัฐประหารหลายกรณี ในทางตรงกันข้ามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมากให้คุณแก่คณะรัฐประหาร เช่น คำวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคสช. ในขณะที่จัดการเลือกตั้ง หรือคำวินิจฉัยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้เกินเวลาแปดปีติดต่อกันซึ่งขัดกับเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญนี้เอง


จากบทบาทที่ผ่านมาทำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทบาทและสถานะเป็นองค์กรตุลาการที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐอย่างเกินขอบเขต แต่เป็นองค์กรทางการเมืองที่ปราศจากความเป็นกลาง เป็นมรดกของคณะรัฐประหารที่ทำหน้าที่รักษาระบอบและฐานอำนาจของคณะรัฐประหารให้คงอยู่ต่อไปแม้มีการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น การเข้าร่วมประชุมร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญจึงอาจขัดต่อภารกิจของคณะกรรมาธิการเวนิซแห่งคณะมนตรียุโรปที่ต้องการจะส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม


iLaw จึงขอให้คณะกรรมการเวนิซทบทวนการเข้าร่วมประชุมกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น และในโอกาสต่อๆ ไป จนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอันเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงและอิทธิพลของคณะรัฐประหาร


ข้อมูล : ilaw 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #แก้รัฐธรรมนูญใหม่ #ปฏิรูปองค์กรอิสระ