วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567

พรรคประชาชน ไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญฟันเศรษฐาพ้นนายกฯ ย้ำเรื่องจริยธรรมควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง-ประชาชนผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้ศาล-องค์กรอิสระผูกขาดตีความ ชี้เป็นสัญญาณทุกฝ่ายต้องเร่งทำรัฐธรรมนูญ-ทบทวนอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระใหม่


พรรคประชาชน ไม่เห็นด้วยศาลรัฐธรรมนูญฟันเศรษฐาพ้นนายกฯ ย้ำเรื่องจริยธรรมควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง-ประชาชนผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้ศาล-องค์กรอิสระผูกขาดตีความ ชี้เป็นสัญญาณทุกฝ่ายต้องเร่งทำรัฐธรรมนูญ-ทบทวนอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระใหม่


วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งในวันนี้ โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้แถลง


พริษฐ์ระบุว่าพรรคประชาชนขอแสดงความกังวลและความไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ในวันนี้ ที่เศรษฐา ทวีสิน ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญ แม้พรรคประชาชนยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต แต่จริยธรรมเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน 


ดังนั้น ตราบใดที่การกระทำนั้นไม่ได้เป็นการทุจริตอย่างโจ่งแจ้งตามที่มีบทลงโทษตามกฎหมายครอบคลุมไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องของจริยธรรมจึงควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระผูกขาดการตีความมาตรฐานจริยธรรมตามดุลพินิจของตนเอง จนเสี่ยงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังเช่นกรณีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในวันนี้


พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าพรรคประชาชนมีความเชื่อว่าเหตุการณ์ในวันนี้ จะทำให้สังคมทุกฝ่ายเห็นชัดขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงการกำหนดให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางการเมือง โดย สส.พรรคประชาชน จะเดินหน้าทำงานต่อในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์กับประชาชนต่อไป


จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีคำวินิจฉัยในวันนี้ เทียบกับคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งพริษฐ์ระบุว่าเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์แม้จะเป็นคนละกรณี แต่ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถามมากขึ้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะทำอย่างไรให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจหน้าที่ที่เหมาะสม ให้มีกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระที่มีความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงการมีกติกาในการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป โดยหวังว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมาจากการร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #เศรษฐาพ้นนายก #พรรคประชาชน