วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ชัชชาติ" พบ "ทูตอังกฤษ" สานต่อความร่วมมือพัฒนาด้านผังเมืองและการขนส่ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

 


"ชัชชาติ" พบ "ทูตอังกฤษ" สานต่อความร่วมมือพัฒนาด้านผังเมืองและการขนส่ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

 

วันนี้ (8 มิ.ย. 65) ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย อาคาร เอไอเอ สาทร ทาวเวอร์ เขตสาทร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าพบ H.E. Mr.Mark Gooding OBE เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อหารือโครงการความร่วมมือ Global Future Cities ระหว่างกรุงเทพมหานครและรัฐบาลสหราชอาณาจักร  โดยมี นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ นายอาสา สุขขัง ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ ผู้แทนสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ร่วมเข้าพบและให้ข้อมูล

 

กรุงเทพมหานครเป็น 1 ใน 19 เมืองที่มีรายได้ระดับปานกลางที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือ Global Future Cities (GFC) สนับสนุนโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อให้การสนับสนุนทางเทคนิคและวิชาการในด้านการขนส่ง การวางผังเมือง และการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยมีโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) เป็นผู้กำหนดรายละเอียดการดำเนินการและประเมินความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา การดำเนินการในช่วงแรก คือ การกำหนดยุทธศาสตร์และการฝึกอบรม และช่วงที่สองในปี พ.ศ. 2562-2565 คือการดำเนินการตามแผนการดำเนินโครงการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการฯ และคณะทำงาน เพื่อดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการความร่วมมือฯ ทั้ง 3 กิจกรรม มีรายละเอียดดังนี้

 

1. กิจกรรมศูนย์กลางบูรณาการข้อมูล (Integrated Data Hub: IDH) เพื่อสร้างฐานข้อมูลกลางที่เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานในสังกัด กทม. สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียด แม่นยำ และตามเวลาได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และสนับสนุนกระบวนการวางแผนและวิเคราะห์นโยบายของ กทม. การดำเนินกิจกรรมแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 บริษัทที่ปรึกษาได้วิเคราะห์ลักษณะการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานระดับสำนักของ กทม. ทั้ง 16 สำนัก และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูล โดยได้จัดทำกรอบการทำงานของศูนย์ข้อมูลแบบบูรณาการ (IDH Framework) และแผนงานศูนย์ข้อมูลแบบบูรณาการ (IDH Roadmap) รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ กทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำแผนไปปรับใช้ตามกระบวนการของสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล

 

2. กิจกรรมระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการน้ำท่วม (Decision-Support System for Flood Management: DSS) เพื่อพัฒนาศักยภาพในการป้องกัน บรรเทา และรับมือกับน้ำท่วมในเชิงรุก โดยการดำเนินการจัดตั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการน้ำท่วม

 

3. กิจกรรมแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนบริเวณคลองบางหลวงและสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า (Transit-oriented Development Plan for Klong Bang Luang and Bang Wa BTS Station: TODP) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้การขนส่งสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางหลากหลายรูปแบบ ทั้งรถ ราง เรือ พร้อมทั้งเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ส่งเสริมการวางผังเมืองที่คำนึงถึงพื้นที่ โดยเชื่อมต่อการขนส่งกับการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และเศรษฐกิจ บริษัทที่ปรึกษาได้ร่างแผนการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีการขนส่งมวลชน (TOD) สำหรับเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบต่าง ๆ จำนวน 3 แนวทาง ได้แก่

- การพัฒนาเชิงอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage)

- การพัฒนาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Health and Wellness)

- การพัฒนาด้าน ความรู้ นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของชุมชน(Community, Collaboration, knowledge, and Innovation)

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และสถานศึกษา เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่ไปพัฒนาแผน TOD ฉบับสุดท้าย เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปดำเนินการในพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบางหว้าและคลองบางหลวงต่อไป

 

#สิ่งแวดล้อมดี #ชัชชาติสิทธิพันธุ์  #ผู้ว่ากรุงเทพ

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์