“ชัชชาติ”
ย้ำ! ปัญหาโรงขยะสายไหม
ย้ำการบริหารสัญญาส่วนที่เหลือต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อวันที่
28 มิ.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม เขตสายไหม
ว่า
ปกติศูนย์แห่งนี้จะมีขยะเข้ามากำจัดประมาณ 2,000
ตันต่อวัน การกำจัดจะแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนำไปฝังกลบที่กำแพงแสน 1,000 ตัน สัญญาจะหมดปี 2568
ปัญหาที่พบคือมีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลิ่นและเสียง
เนื่องจากต้องมีการใช้รถแบคโฮเกลี่ยขยะในช่วงเวลากลางคืน ทำให้มีเสียงรบกวนประชาชน
จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานเรื่องกลิ่นและเสียง
ในอนาคตหลังปี
68 เมื่อหมดสัญญา มีแนวคิดที่จะทำเตาเผาขยะขนาด 1,000
ตัน แต่ต้องพิจารณาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นและให้ประชาชนมีส่วนร่วม
แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถทำเตาเผาที่สะอาดไร้มลพิษได้ แต่ต้องมั่นใจในคุณภาพและราคาที่เหมาะสม
เนื่องจากการทำสัญญาแต่ละครั้ง ๆ ละ 20 ปี อาจก่อหนี้ผูกพันจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องทางเข้าออก พื้นที่เป็นของ กทม.
แต่ทางเข้าออกเป็นของเอกชน
ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงผิวถนนให้ดีขึ้นหรือขยายเส้นทางได้
ซึ่งเป็นข้อเตือนใจว่าในอนาคตหากจะลงทุนโครงการใหญ่มูลค่าร้อยล้านหรือพันล้าน
ควรจะมีทางเข้าออกที่ถูกต้องด้วย
และส่วนที่
2 อีก 1,000 ตัน จะนำไปกำจัดที่อำเภอห้วยกระเจา
จังหวัดกาญจนบุรี โดยจะมีการแยกไปรีไซเคิล เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงปูนซีเมนต์ (RDF)
ที่เหลืออีกประมาณ 20% จะนำไปฝังกลบ
ส่วนนี้มีสัญญา 20 ปี เริ่มต้นในปี 2565 จะหมดสัญญา 2585
ส่วนปัญหาที่พบคือเมื่อ
10 ที่แล้ว กทม. ได้มีการลงทุนเครื่องบีบอัดขยะ(compacter) คือการอัดขยะลงในตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งลงทุนไปประมาณ 700 กว่าล้าน มีอุปกรณ์บีบอัด(compact) 4 เครื่อง
ตู้คอนเทนเนอร์ 60 ตู้ หัวรถลาก 6 หัว
และอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ค่อยได้ใช้มาก หากพิจารณาจุดประสงค์ในครั้งแรกเริ่มถือว่าดี
อุปกรณ์ compacter จะอัดขยะให้มีปริมาตรน้อยลง ไม่มีขยะปลิว
น้ำขยะไม่รั่วระหว่างทาง แต่ในการใช้งานจริงตู้คอนเทนเนอร์มีน้ำหนักมาก
ทำให้ขนส่งขยะได้น้อยลง ต้นทุนในการขนส่งเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะค่าน้ำมันในการขนตู้ไปกลับ ดังนั้นในทางปฏิบัติอาจจะใช้ได้ไม่เหมาะสม
คงต้องพิจารณาอีกครั้งว่าความคุ้มค่าเป็นอย่างไร
ต้องดูว่าในอนาคตจะใช้งานต่อหรือไม่อย่างไร
หากใช้งานต่อแล้วทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอาจจะพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่
หรือจะปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างไร
นอกจากนี้ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความสามารถในการเก็บขยะในพื้นที่เขตสายไหม
เนื่องจากมีประชากรย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น ทำให้ขยะในเขตสายไหมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
โดยให้รถเก็บขยะวิ่งเก็บอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์
ไม่ให้มีขยะตกค้าง
“ปัญหาการจัดการขยะของกรุงเทพมหานครในภาพรวม หลาย ๆ สัญญาได้ทำไปแล้ว 20
ปี ทั้งเตาเผาขยะที่โรงกำจัดขยะหนองแขม และโรงกำจัดขยะอ่อนนุช
รวมทั้งสัญญาที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหมแห่งนี้ ขยะเกินกว่าครึ่งของ กทม. มีสัญญาผูกพันกำหนดค่าใช้จ่ายไว้แล้ว
หน้าที่ของผู้บริหารชุดใหม่ต้องมองไปในอนาคตและพยายามทำสิ่งที่เหลือให้ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งดูว่าสิ่งที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้ดีที่สุดมากแค่ไหน อดีตผ่านไปแล้ว
เราคงทำให้ดีที่สุดในการบริหารสัญญาที่เซ็นไปแล้ว แต่อนาคตต้องทำให้ดีและรอบคอบ”
#ชัชชาติสิทธิพันธุ์ #ผู้ว่าฯกทม