วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

กลุ่ม24 มิถุนาฯพร้อมมวลชน บุกสภาฯ ร้องกมธ.พัฒนาการเมืองฯ สอบปมไม่ให้ประกันตัว"บุ้ง-ใบปอ" และทะลุแก๊ส ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ตำรวจสภาสั่งห้ามป้ายยกเลิก112เข้าสภา ด้าน"ณัฐชา"เผย 6 ก.ค. กมธ.จะไปขอคำชี้แจงกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์

 


กลุ่ม24 มิถุนาฯพร้อมมวลชน บุกสภาฯ ร้องกมธ.พัฒนาการเมืองฯ สอบปมไม่ให้ประกันตัว"บุ้ง-ใบปอ" และทะลุแก๊ส ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ตำรวจสภาสั่งห้ามป้ายยกเลิก112เข้าสภา ด้าน"ณัฐชา"เผย 6 ก.ค. กมธ.จะไปขอคำชี้แจงกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ 


วันนี้ (30 มิ.ย. 65) เวลา 14.00 น. ที่อาคารรัฐสภา กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมด้วย นายเจษฎา ศรีปลั่ง สมาชิกกลุ่ม เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ผนึกกำลังมวลชนอิสระ ยื่นหนังสือร้องเรียนนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบศาลคุมขัง "ใบปอ" ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และ "บุ้ง" เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง และสมาชิกทะลุแก๊ส ว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และขอให้มีการแก้ไข ป.วิอาญา 108/1 ตัดดุลยพินิจศาลสั่งคุมขังและไม่ให้ประกันตัวสู้คดี พร้อมทั้งตรวจสอบเรือนจำว่ามีการทรมานนักโทษการเมืองหรือไม่


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศก่อนที่กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี พร้อมมวลชน พร้อมด้วยมวลชน จะไปถึงยังจุดยื่นหนังสืออาคารรัฐสภานั้น ตำรวจรัฐสภาได้ทำการตรวจยึดป้ายข้อความจำนวนกว่า 10 ป้าย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ยกเลิก 112 ) โดยสั่งห้าม ทางกลุ่มฯ นำเข้าไปในเขตอาคารรัฐสภา เป็นเหตุให้ นายณัฐชา เข้าสอบถามข้อเท็จจริงกับตำรวจรายนั้น ว่าใครเป็นผู้ออกคำสั่งห้าม มีระเบียบข้อบังคับ และใช้หลักเกณฑ์ใด ในการพิจารณาว่าป้ายประเภทใดเข้ามาในพื้นที่สภาไม่ได้


นายณัฐชา ได้กล่าวถึงประเด็นการสั่งห้ามนำป้ายเข้าบริเวณพื้นที่สภา ก่อนที่จะเชิญกลุ่มฯ ที่จะมายื่นและร้องกมธ. ได้พูดคุย โดยระบุว่า ไม่ว่าจะประชาชนคนใดจะมีความเห็นอย่างไร ก็ต้องแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองได้ในพื้นที่อาคารรัฐสภาตามหลักประชาธิปไตย แต่วันนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าอับอายที่สุดตลอดเวลาที่ผมเป็น ส.ส. คือประชาชนไม่สามารถนำความคิดเห็นตนเองมายื่นต่อ ส.ส. ตัวแทนประชาชนที่นี่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่สภาฯ อ้างระเบียบกฎเกณฑ์ ที่ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าผิดหลักกฎหมายใด 


ความคิดของประชาชนไม่ได้เข้าทำเนียบหรือศาลก็ไม่ว่า แต่ไม่ได้เข้าสภาฯ ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเป็นที่ปลอดภัยที่สุดท้ายที่ควรพูดคุยได้นี่ สุดท้ายมันทลายลงไปแล้ว


นายณัฐชา จึงได้ขอเรียกร้องไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงเรียกร้องไปยังผู้อำนวยการสำนักฯ และเจ้าหน้าที่ผู้ยึดป้ายไป ถึงกรณีดังกล่าวว่า จะต้องมีผู้รับผิดชอบและให้คำตอบถึงข้อระเบียบได้ อันเป็นเหตุของการกีดกั้นความคิดของประชาชนในพื้นที่อาคารรัฐสภา 


ต่อมา กลุ่ม24 มิถุนาฯ พร้อมมวลชน ได้เข้ามายืนเรียงแถวพร้อมกัน โดยมวลชนได้ชูป้ายขัอความที่ผ่านการตรวจจากตำรวจสภาเข้ามาได้ 


จากนั้น นายอัครวินท์ สมบูรณ์ หรือ วิน กล่าวว่า การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคน อาจขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการที่ว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จึงขอเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวแก่นักโทษทางการเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข 


ขณะที่อาทิตยา พรพรหม หรือ ซัน ได้กล่าวว่า การอดอาหารประท้วงของทั้ง 2 คน ทำให้สภาวะสุขภาพอยู่ในขั้นวิกฤต แต่ทางราชทัณฑ์กลับไม่ให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม พร้อมได้กล่าวถึงกรณีกลุ่มทะลุแก๊ส ที่พยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำ เนื่องจากความเครียดที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว โดยเฉพาะ กรณีของ "พลพล" ทะลุแก๊ส ซึ่งถูกกล่าวหากรณีวางเพลิงรถตำรวจที่แยกดินแดง ซึ่งอาทิตยากล่าวต่อไปว่า ความจริงมีหลักฐานปรากฎว่า พลพล ไม่ได้อยู่บริเวณนั้นเลย เมื่อรถตำรวจถูกเพลิงไหม้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำมาเปิดเผยกัน 


จากนั้น นายเจษฎา ได้ยกตัวอย่างกรณีของนายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่า และมีการหลบหนีคดี ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุมตัวได้และศาลอาญาให้ประกันตัว แต่ในกรณีของกลุ่มทะลุแก๊ส หรือน.ส.ณัฐนิช และน.ส.เนติพร กลุ่มทะลุวัง ที่มีการมารายงานตัวทุกครั้ง และไม่เคยหลบหนี ฉะนั้นจึงขอเรียกร้องไปยังกมธ.ว่า ทำไม นายสุนทรถึงได้รับการประกันตัว และขอเรียกร้องให้ทุกคนคืนสิทธิการประกันตัว ตนไม่อยากเห็นใครแม้จะเป็นฝ่ายตรงข้าม ต้องไปอยู่ในเรือนจำ ในฐานะผู้ที่ยังไม่ถูกพิพากษา


ทั้งนี้นายเจษฎา ยังได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เพื่อป้องกันไม่ให้ศาลใช้ดุลยพินิจอนุมัติประกันตัวอย่างเลือกปฏิบัติ เห็นได้จากกรณีศาลให้ประกันตัว สุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่า รวมถึง กรณี ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผู้ต้องหาคดีกระทำอนาจาร แต่ยังได้รับการประกันตัว


จากนั้นนายณัฐชา ได้รับมอบหนังสือจากตัวแทนกลุ่มฯ และกล่าวว่า ทางกมธ.จะรับเรื่องไปพิจารณา และในวันที่ 6 ก.ค. กมธ.จะเดินทางไปที่กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ เพื่อสอบถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังพยายามฆ่าตัวตายในเรือนจำ ซึ่งยังไม่ได้รับการชี้แจงจากรมราชทัณฑ์


ต่อมา นายสมยศ ได้กล่าวปิดท้ายว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นสถานที่ซึ่งฆ่าผู้ต้องขังมาแล้วหลายคน ดังเช่น อำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง ผู้ต้องหาคดี 112 จากการส่ง SMS สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง และ พล.ท.มนัส คงแป้น ที่ล้วนเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลปิด บริหารงานไม่โปร่งใส ขาดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตนจึงเรียกร้องในความโปร่งใสของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ด้วย


ทั้งนี้เมื่อยื่นหนังสือและพูดคุยแล้วเสร็จ ทางกลุ่มฯ ได้เดินออกนอกพื้นที่อาคารรัฐสภาและนำป้ายข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 ที่ตำรวจสภาสั่งห้ามนำเข้าไปบริเวณอาคารรัฐสภา มาถือถ่ายรูปเป็นที่ระลึก 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน