วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

ความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ยื้อเวลาต่อไป เมื่อ "สุดโต่ง" มาเจอกับ "สุดโต่ง" รัฐบาลต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต้องเป็นผู้เสนอเอง!


ความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ยื้อเวลาต่อไป เมื่อ "สุดโต่ง" มาเจอกับ "สุดโต่ง" รัฐบาลต้องรับผิดชอบ รัฐบาลต้องเป็นผู้เสนอเอง!


ยูดีดีนิวส์ : 25 ก.ย. 63 วันนี้ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และ นพ.เหวง โตจิราการ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว กรณีการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่สอง สุดท้ายมีการเสนอให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้เวลา 1 เดือนนั้น โดย อ.ธิดา ให้ความเห็นว่า


สิ่งที่เกิดขึ้นไม่น่าแปลกใจ เพราะว่ามันเป็นดังที่อาจารย์เคยบอกไว้แล้วว่า ในสังคมไทยนั้นความพยายามที่ยังไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชนยังดำรงอยู่ ความคิดของคนในสองส่วนนี้มันยังอยู่ แล้ววุฒิสมาชิกเป็นตัวแทนของความคิดที่ยังไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนชัดเจน


เขาไม่ได้คำนึงว่าเขามาจากไหน? เขาอ้างความชอบธรรมว่ามาตามรัฐธรรมนูญ 


รัฐธรรมนูญมาจากไหน? มาจากการทำรัฐประหาร เขาก็ว่าชอบ


ดังที่เราได้พูดไปเมื่อวานแล้วว่าอ้างการทำประชามติ ซึ่งเป็นประชามติที่มีอำนาจปืน อำนาจรัฐ ควบคุมคนอยู่ แล้วคนก็อยากได้เลือกตั้งอย่างรวดเร็ว มันเป็นเพียงอีกครั้งหนึ่งที่ยืนยันว่าสภาพสังคมไทยยังดำรงอยู่อยางนี้ น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง


อย่างไรก็ตามอาจารย์ก็ยังชมเชยเยาวชนว่า ก็ไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้น แล้วก็อนุญาตให้ออกมาได้ ไม่มีการปิดกั้น อันนี้ก็สบายใจอย่างหนึ่งว่าเด็ก ๆ เขาก็มีความคิด มีวุฒิภาวะ แน่นอนผู้ใหญ่หลายคนก็เป็นห่วง นักต่อสู้รุ่นเก่าก็เป็นห่วง แต่สิ่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ว่าข้อเรียกร้องเขาจะถูกใจ ไม่ถูกใจ จะมากเกินไปในความคิดของแต่ละคนก็ตาม มันก็ยังมีเวลาที่แต่ละฝ่ายกลับไปคิดแล้ววางแผนว่าจะทำอย่างไร ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี


วุฒิสมาชิกเป็นเหมือนคนที่เข้ามาอยู่ในสภานิติบัญญัติที่เป็นความคิดจารีตนิยมอำนาจนิยมสุดโต่ง ในทัศนะอาจารย์ คุณจะเห็นการพูดที่ชัดเจน จึงอยากจะให้สังคมมาช่วยกันคิดว่า สุดโต่ง กับ สุดโต่ง ถ้าเจอกันปัญหามันต้องเกิดขึ้นแน่นอน ทำอย่างไรคนที่ไม่สุดโต่งจะหาทางออกให้กับประเทศให้ได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ  รัฐบาลควรจะเป็นผู้เสนอเองทั้งหมด


กรณีซีกรัฐบาลพยายามเล่นเกมยื้อเวลา เท่าที่อาจารย์ดูนะ แน่นอนความไม่อยากจะเปลี่ยนแปลง ไม่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กว่าเขาจะทำรัฐธรรมนูญนี้ได้ ทำรัฐประหารแล้วก็ลำบากมากว่างั้นเถอะ เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้กับวุฒิสมาชิกที่จะยอมให้แก้รัฐธรรมนูญง่าย ๆ นะ เป็นไปไม่ได้ เหตุการณ์เมื่อวานก็เป็นทริกที่มันเกิดขึ้น


แน่นอน...เขาคิดว่าเขายื้อเวลาได้ส่วนหนึ่ง อาจจะมองด้านบวกของฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม แต่ขณะเดียวกันมันได้บ่มเพาะความรู้ ความคิดของประชาชนมากขึ้น ๆ เป็นลำดับ


ในทัศนะอาจารย์ 14 ต.ค. 63 จะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า 14 ต.ค. 16 แน่นอน ถ้าเหตุการณ์มันยังเป็นเช่นนี้ เพราะมันมีทั้งคนรุ่นเก่า มีทั้งคนรุ่นปัจจุบัน และคนรุ่นในอนาคตเข้าไปด้วย


ประชาชนที่จะมาในวันที่ 14 ต.ค. (ตามที่เขานัดกันนะ) อาจารย์คิดว่ามีเวลาเตรียมตัวและปักใจแน่นอน อย่างเมื่อวานนี้เขานัดแป๊ปเดียว คนยังมาเยอะเลย 


นับจากวันนี้ไปก็เตรียมคิดได้แล้วว่าเมื่อเวทีสภาไม่ได้ผล ปรากฏการณ์ท้องถนนมันก็จะรุนแรงเกิดขึ้น ว่ากันอีกที 14 ต.ค. ปีนี้คงยิ่งใหญ่พอควร เผลอ ๆ ก็น้อง ๆ หรือทัดเทียมกับ 14 ต.ค. 16 ก็เตรียมรับกันก็แล้วกัน


ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญท้ายที่สุดเดินไปถึงทางตัน ควรมีกลไกไหนจะพาเดินไปถึงเป้าหมาย


อ.ธิดา กล่าวว่า ถ้าเขาทำให้เวทีสภาไม่ได้ผล นั่นก็คือตีตก เขาคุยกัน 1 เดือนโดยที่ฝ่ายค้านไม่มี แล้วก็ตีตก ทั้งร่างประชาชน ทั้งร่างของพรรคการเมือง เมื่อเป็นอย่างนั้นก็แปลว่าเวทีรัฐสภาจบ สิ่งที่เกิดขึ้นเราก็จะเห็นเวทีบนท้องถนนนอกรัฐสภา และอาจจะมีเวทีนอกรัฐสภาอีกแบบหนึ่ง หลายคนก็อาจจะมองว่าถ้าควบคุมไม่ได้ ก็กลับไปสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเก่า คือรัฐประหารอีกก็ได้


คำถามว่าสังคมไทยจะหาทางออกในเวทีรัฐสภาได้หรือไม่?  ถ้าบนเวทีรัฐสภา รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบ ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ซึ่งยังไม่มีอะไรเลย สสร. ก็แฟร์ซิ คุณอยากจะเข้ามาคุณก็สมัคร ประชาชนเขาก็เลือกได้เหมือน สสร.ใ นอดีต มันไม่ใช่ว่าใครจะวางตัวเอาไว้ได้ว่าคนนี้เป็นคนร่าง 


ถ้าแฟร์ เปิดให้เลือก สสร. ทั่วประเทศ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม คุณเสรี, คุณวันชัย ลงไปสมัครเลย อาจารย์เชื่อว่าเขาอาจจะได้ เพราะว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมจำนวนหนึ่งก็เลือกเขา แล้วไปใช้เวที สสร. ในการที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพแล้วเปลี่ยนมาตรา 256 ให้ได้ ประเทศชาติยังมีอนาคตว่ามันจะก้าวไปได้ตามลำดับ แต่ถ้ามันไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่นี้นะ แล้วแนวโน้มมันก็ต้องลงไปสู่เวทีประชาชนนอกรัฐสภา แล้วก็อาจจะมีการไม่ยอมอีก เพราะฉะนั้นวงจรอุบาทว์ก็จะเกิดขึ้น ดูแล้วความหวังดี ๆ ไม่ค่อยมีเลยค่ะ


จากนั้น นพ.เหวง โตจิราการ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมประเมินว่าเป็นการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง คือแทนที่จะช่วยกันถอนฟืนออกจากไฟ แทนที่จะช่วยกันให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบลง เมื่อวานนี้กลับกลายเป็นการเพิ่มอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองให้สูงขึ้นอีก ถ้าใครติดตามการอภิปรายก็จะเห็นชัดเจนว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และถ้าให้มีการโหวตเมื่อวานนี้ผมเชื่อว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะโหวตคว่ำ ไม่มีทางที่จะมี 84 เสียงที่มาสนับสนุน เมื่อเป็นอย่างนี้คุณก็โหวตไปเลยซิครับ


คือถ้าเมื่อวานนี้โหวตคว่ำทั้งหมด การประชุมสภาสมัยหน้าฝ่ายค้านก็มีโอกาสที่จะเสนอญัตติใหม่  หรือไม่ก็นำเอาญัตติของ iLaw เข้ามาสู่การพิจารณา แต่การที่คุณบอกว่าตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษา 1 เดือน มันไม่สามารถทำให้พวกคุณเปลี่ยนใจได้หรอก เพราะเป็นการยืนยันแล้วว่าพวกคุณไม่เอาด้วย เมื่อวานนี้เป็นการเล่นกลยุทธ์ทางการเมือง ถ้าพูดกันตรง ๆ คนไทยทุกคนมีสติปัญญาและมีสมอง เมื่อวานที่เห็นชัดก็คือความไม่จริงใจของ ส.ว. และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะจริง ๆ แล้ว ส.ว. เขาเหลือบมอง ถ้าคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณอะไรบางประการ ผมว่า ส.ว. เขาก็คงสนองตอบต่อความต้องการของนายกฯ เพราะว่า ส.ว. มาจากการลากตั้งของหัวหน้า คสช. เมื่อวานนี้แสดงความไม่จริงใจอย่างชัดเจน


สำหรับผมก็มีคำพูดอันหนึ่งในสภา ดูเหมือนจะเป็น ส.ส. พรรคก้าวไกล เขาพูดแล้วว่า “เป็นการหลอกต้มประชาชนกลางสภา” คำถามที่จะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น ผมคิดว่าอยากจะเตือนรัฐบาลและ ส.ว. ช่วยกรุณารั้งบังเหียนม้าริมชะโงกเหว คือว่าถ้าเป็นไปได้ในการเปิดสภาสมัยหน้าให้พวกคุณโหวตรับรองให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ แล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน เพราะว่าในนั้นเขาเขียนไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าถ้ารับรองในการแก้ 256 ต้องไปผ่านประชามติเสียก่อน


เพราะฉะนั้นคุณเรียกร้องให้มีการทำประชามติ นี่เป็นหนทางเดียว แต่ผมดูแล้วมันริบหรี่ หรือแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้


ผมเป็นห่วงมากว่าอนาคตของการเมืองไทยเดินหน้าไปสู่ความขัดแย้ง เดินหน้าไปสู่วิกฤตที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้ง ส.ว. ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นครับ นพ.เหวง กล่าวในที่สุด.