วันนี้ที่เราจะคุยก็คือ
“การขับเคลื่อนของเยาวชนและประชาชนเพื่อยุติอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย”
เป็นที่น่าสนใจว่าเมื่อวันที่
19 และ 20 ก.ย. 63 ดิฉันจะไม่พูดก่อนหน้านี้นะคะ จะเป็นวันที่ 10 และ 16 ส.ค.
ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนภายใต้การนำของเยาวชน 2 กลุ่ม
แต่มันจะร้อยเรียงเป็นเหมือนเพลงเดียวกัน มีจังหวะช้า จังหวะเร็ว
ก็คือกลุ่มของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ซึ่งจัดที่รังสิตในวันที่ 10 ส.ค. แล้วก็มาจัดในวันที่ 19 และ 20 ก.ย.
อาจจะเป็นท่วงทำนองเพลงเป็นเพลงลักษณะเหมือนเพลงมาร์ช
หรือว่าเป็นเพลงจังหวะเร็วอะไรประมาณนั้น
ส่วนการขับเคลื่อนของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและประชาชนปลดแอก
ซึ่งมีการขับเคลื่อนรอบที่ผ่านมาในวันที่ 16 ส.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
แล้วก็กำลังจะมีนัด ถ้าดูตามปฏิทินของเขา
อย่างวันนี้ก็เป็นการขับเคลื่อนมันก็เป็นเพลงเดียวกัน ก็คือสิ่งที่เขาเรียกร้อง 3
ข้อ ยุติการคุกคาม, เขียนรัฐธรรมนูญใหม่, ยุบสภา
บนเงื่อนไขที่ไม่เอาการทำรัฐประหาร, ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ แล้วก็ 1 ความฝัน
ซึ่งมีข้อเรียกร้อง 10 ประการ
แต่ดังที่ดิฉันได้บอกแล้วว่า
1 ความฝัน มันก็คือเปรียบเสมือนเขาบอกเป้าหมายระยะยาว เป็นเหมือนแนวคิดระยะยาว
ไม่มีการยื่นคำขาด และ 1 ความฝันกับข้อเรียกร้อง 10 ประการ
อาจจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่วุฒิภาวะของผู้นำ (รุ้ง)
ซึ่งดูว่ามีวุฒิภาวะดีพอ มีความยับยั้งชั่งใจ
ไม่กระโจนเข้าใส่เหตุการณ์ที่ท้าทายมากจนเกินไปเมื่อเห็นประชาชนมามากพอ
ตรงนี้ก็น่าชื่นชมในวันที่ 19-20 แม้จะมีคนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับ 10 ข้อ
แต่ดังที่ดิฉันได้เรียนว่า นี่เป็นความฝัน! และนี่มันเป็นเป้าหมายระยะยาว และเขาก็ไม่ได้ยื่นโนติสว่าคุณต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้
สองวันนี้ แต่เป็นการนำปัญหาขึ้นมาเป็นที่ถกเถียง แน่นอน!
อาจจะมีภาษาพูดที่อาจจะท้าทาย หรือกระทั่งเป็นเหตุให้มีการจะไปฟ้องร้องต่อไป
แต่เรื่องปัญหานี้ก็เป็นการท้าทายสังคมไทยว่าสังคมไทยจะมองปัญหาความฝันของเขาอย่างไร?
อันนี้ก็คือเหตุการณ์วันที่
19 – 20 ก.ย. ก็เป็นการขับเคลื่อนไปสู่แนวคิดแบบเดียวกัน ก็คือยุติอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย
เพราะดิฉันมองข้อเรียกร้องของเขาทั้งหมดยังอยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
ดิฉันก็มีข้อสังเกตตรงนี้นะ ว่านปช. นโยบายของเราข้อหนึ่งก็คือเป้าหมายการต่อสู้ของเราเพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ก่อนหน้านั้นมีคนโวยวายมาก
คำว่า “มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ต่อว่านปช.ที่ผ่านมาในอดีตมาก
ดิฉันจำเป็นต้องเปรียบเทียบบ้างเพื่อที่จะให้เข้าใจบริบทพัฒนาการของการต่อสู้ของประชาชนว่ามันมีพัฒนาการอย่างไร?
คำว่า
“มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ถูกเติมมาในช่วงหลังรัฐประหาร 2490 มันไม่ได้มีจาก
2475 เป็นการช่วงชิงของฝ่ายจารีตนิยม
แต่ในที่สุดฝ่ายเสรีประชาธิปไตยบอกว่าไม่เป็นไร ยังคงใช้คำพูดที่ว่า
“มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ได้
แต่ว่าน้อง
ๆ เขาเติมคำว่า “ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งมันก็อยู่ในกรอบแบบเดียวกับที่ 2475
ประสงค์ แต่ว่าถ้านโยบายของนปช.ก็คือ
“ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง”
เราไม่พูดรัฐธรรมนูญสักคำนะ พูดตรง ๆ ว่าเราไม่ไว้ใจรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญฉบับบ้าบอคอแตกอะไรก็ไม่รู้ ถ้าระบบทั้งหลายต้องไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่บ้าบอคอแตกก็ต้องมาสู้กันแบบนี้ทุกที
แล้วสู้กันยังไม่ทันได้แก้ เขาก็ฉีกใหม่ทุกที!
นี่เป็นเรื่องที่อธิบายให้เข้าใจว่า
มันไม่ใช่ว่าคนในอดีตเขาไม่ได้ต่อสู้ แต่อาจจะมีการใช้ศัพท์แสงหรืออะไรซึ่งคนบางส่วนยังเข้าใจไปไม่ถึง
เพราะฉะนั้น “ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง”
ในทัศนะดิฉันถือว่ามันไปได้มากกว่าภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ แต่ไม่เป็นไร
อันนี้ก็เป็นการขยับทีละก้าว ก็คือ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ”
ดิฉันมองว่าวิถีของเป้าหมายนี้เป็นวิถีทางประวัติศาสตร์
ดังนั้นก็เข้าใจได้ว่าถ้ามันเดินไปข้างหน้าก็ต้องสนับสนุน
ถือว่าอยู่ในเส้นทางเดียวกัน ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมการต่อสู้ในวันที่ 10,
16 ส.ค. ที่ผ่านมา ประชาชนที่เป็นเสื้อแดงค่อย ๆ ปรากฏตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะว่าจริง ๆ แล้วเป้าหมายเหมือนกัน วิธีการก็เหมือนกัน (สันติวิธี)
แล้วก็ควบคู่กับการต่อสู้ในรัฐสภาและนอกรัฐสภา นี่เหมือนกัน! ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคนเสื้อแดงถึงมาร่วมมากมาย
เพราะว่าแนวทางการขับเคลื่อนของเยาวชนและประชาชนในยุคนี้เพื่อยุติอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยมันเหมือนกันกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา
ซึ่งฝ่ายจารีตนิยมกลับไม่ได้ใช้ปัญญามองพอ
พยายามจะด้อยค่าการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมาว่าเป็นพวก “ควายแดง” ต่อสู้เพื่อคน ๆ
เดียว ต่อสู้เพื่อพรรค ๆ เดียว กระทั่งพวกกันเองก็ยังใช้คำพูดแบบนี้
ซึ่งดิฉันเตือนกันอีกทีว่า รองโฆษกพรรคก้าวไกล (รู้สึกตอนนี้จะเป็นโฆษกแล้ว)
ถ้าคุณไม่แก้ไขความคิดนี้ คุณจะเจอปัญหาแน่ เพราะว่าคนเสื้อแดงเขามีเกียรติยศ
ศักดิ์ศรี แล้วก็ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมไม่มีแกนนำนปช. แล้วเขามา! เขาต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่ก้าวหน้า
เขาไม่ได้ยึดติดกับบุคคล เขาไม่ได้ยึดติดกับพรรคด้วย ถ้าเวลาเลือกตั้งเขาเลือกพรรค
แต่ในเวลาต่อสู้ เขาเลือกเป้าหมายและเนื้อหา
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ประชาชนซึ่งพูดตรง
ๆ ว่าเป็นคนเสื้อแดง ที่ผ่านมาจะเป็น นปช.
หรือกลุ่มอิสระก็ตาม ด้วยเป้าหมายข้อนี้
ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นประเด็นที่เราตั้งวันนี้มันเป็นการบอกไปในตัวว่า เหตุใดประชาชนจึงสนับสนุนการนำของเยาวชนมากขึ้นเรื่อย
ๆ
เขาไม่ได้ยึดติดกับบุคคล
เขายินดีตามลูกหลาน ขอให้ไปในเป้าหมาย เส้นทางและวิธีการที่เขาเห็นด้วย
แล้วมันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีแกนนำไปโผล่หน้า
เพราะว่าเขาเอาเนื้อหา เอาเป้าหมาย มากกว่าบุคคล
คนอาจจะตายไป คุณดูบ้านสี่เสา
ถ้าถามว่าเป็นกำลังฝ่ายจารีตนิยมตัวเองอาจจะตายไป
แต่ว่าแนวคิดและเครือข่ายก็ยังดำรงอยู่
หรือคุณทักษิณอยู่ต่างประเทศนานแล้ว
ในความเป็นจริง โดยอิทธิพลก็จะลดลง
ถ้าคุณคิดว่าจะเป็นอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนอาจจะลดลง
แต่ว่าเครือข่ายฝ่ายประชาธิปไตยนั้น มันได้ถักทอกันอย่างแน่นแฟ้น แม้ นปช.
ไม่ได้มีการขับเคลื่อนของนปช.นานแล้วก็ตาม แต่ถามว่าคนเสื้อแดง,
คนที่เดินในฐานะนปช. ผู้ประสานงาน ผู้ปฏิบัติงาน มวลชนที่ผ่านการขับเคลื่อนของนปช.
เราผ่านโรงเรียนการเมือง ถามว่าคนเหล่านี้เขาไปอยู่ที่ไหน
เนื้อหามันอยู่ในสมองของเขา ดังนั้นเขาก็คือผู้นำเองได้
เป็นผู้นำมวลชนโดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีแกนนำ ไม่ต้องเห็นหน้าคุณณัฐวุฒิก็ได้
ตอนนี้คุณณัฐวุฒิยังอยู่ในเรือนจำ
ไม่มีเหตุผลที่ว่าถ้าไม่มีณัฐวุฒิแล้วคนเสื้อแดงจะไม่มา
ดิฉันว่าหลายคนเข้าใจผิดนะ ปัญญาชนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิด คิดว่าไม่มีคุณทักษิณ
คนก็จะไม่ต่อสู้ คิดว่าถ้าจะไม่มีแกนนำเดิม
จะเป็นสามเกลอหรือเป็นองค์กรเรียกโดยนปช. ประชาชนจะไม่ต่อสู้ เข้าใจผิด!!!
สิบกว่าปีที่เราต่อสู้กันมามันหล่อหลอมหัวใจ
คุณเอาไมค์ไปจ่อปากคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุม แล้วคุณลองไปฟังดูซิ
พูดเก่งกว่าปัญญาชนทั้งนั้นเลย พูดง่าย ๆ ว่าขึ้นเวทีได้ทั้งหมด
แล้วเยาวชนของเราก็สุดยอด เพราะการต่อสู้ของคนรุ่นก่อน
เมื่อเขาได้ไปศึกษามันได้ช่วยหล่อหลอม เด็ก ๆ 14-15 ก็สุดยอด
ดังนั้นขณะนี้ในทัศนะอาจารย์นะ
ประชาชนไทยนับจากเด็ก 10 กว่าขวบไปจนถึงคนแก่
มีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีอยู่ในระดับที่สูงมาก
แต่ทราบมั้ยว่าพวกที่ตามเขาช้าหน่อยก็คือคนชั้นกลางและปัญญาชนในรุ่นประมาณหลัง
14 ตุลา 16 ชนชั้นกลางกับปัญญาชนที่ไปเคลิ้มกับแกนนำพันธมิตร ทั้งฝ่ายซ้าย
ฝ่ายกลางอะไรก็ไปร่วมขบวนพันธมิตรหมด รวมทั้งเอ็นจีโอด้วย กลับยังไม่ทัน
แต่ตอนนี้กลับมาเป็นจำนวนมาก
ดิฉันยินดีที่ประเทศไทยมาถึงจุดนี้...มาได้ยังไง? เด็ก 15 ปี พูดการเปลี่ยนแปลงประเทศเก่งมาก เด็กบางคนเป็นเด็กนักเรียนอินเตอร์
เขาอธิบายเหตุผลได้เสร็จเลยว่าทำไมเขาถึงมาทำ ก็ทำไมเขาต้องไปต่อสู้เรื่องคนผิวดำในต่างประเทศ
ในเมื่อประเทศไทย “ผิว” แบบเดียวกันแต่ถูกกดขี่ข่มเหง
แล้วจะทำตัวเป็นคนระดับนานาชาติไปสู้ในเรื่องการกดขี่ (ในต่างประเทศ) ซึ่งรอบที่แล้วที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่แพร่หลายทั่วโลก
เลยทำให้เด็กหันมามองประเทศไทย นี่เป็นจุดดีมากในทัศนะของอ.ธิดานะคะ
มีแต่ปัญญาชน
ชนชั้นกลาง รุ่นหลัง 14 ตุลา ระวังตกรถนะ มาไม่ทันนะ
ดิฉันเห็นรีบวิ่งกลับมาเป็นแถวเลย คนที่เคยเป็นแกนนำพันธมิตรก็กลับมาเยอะแยะเลย
กลับมาสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนเที่ยวนี้
เขาอาจจะเป็นประเภทคนที่เรียกว่ายึดติดกับบุคคลก็ได้ ถ้าจะบอกว่าระบอบทักษิณมานำ
ไม่ใช่! จะบอกว่านปช.มานำ ไม่ใช่! งั้นโอเค! ผมสนับสนุน (อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้)
แต่ทั้งหมดนี้มันแสดงให้เห็นว่าปัญญาของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่
ถ้าพูดอย่างนี้ จะเรียกว่าดีกว่าคนรุ่น 20, 30 กว่าปีที่แล้วได้หรือเปล่า?
อาจารย์ธิดาบอกว่าได้...เยาวชนรุ่นนี้เก่งกว่า
แล้วถ้าเรามามองว่าการขับเคลื่อนนี้
ในขณะที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเน้นไปที่ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และ
10 ข้อ แต่ปรากฎว่าถ้าเราดูให้ดี ถ้ามันเป็นเพลงบรรเลง
ถ้ามันเป็นเพลงมันเหมือนเพลงคลาสสิก บางครั้งก็มีลำธาร
บางครั้งก็หมายถึงมีสัตว์กู่ก้อง หรือบางทีมีเสียงนกร้อง แต่มันเป็นเพลงเดียวกัน
ก็คือส่วนหนึ่งพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เท่าที่ดิฉันดูแผนก็มี
วันที่
22 ก.ย. iLaw อันนี้เป็นการขับเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญ
วันที่
23 ก.ย. ไป กองทัพบก, กระทรวงกลาโหม, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ,
กองบัญชาการกองทัพไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
วันที่
24 ก.ย. ไปรัฐสภา เพื่อไปผลักดัน
มันจึงเพลงเดียวกัน
ก็คือ ข้อเรียกร้องที่สำคัญที่บอกแล้วว่า “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่”
แล้วให้ภาคประชาชนล่าชื่อ ที่สำคัญคือเนื้อหา ดิฉันอยากจะบอกว่าเนื้อหาเรียกได้ว่าเหมือนกันกับที่นปช.ได้ทำมาแล้วทั้งสิ้น
ตอนนั้นใช้รายชื่อ 7 หมื่นกว่าคน ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ น่าเสียใจที่สุด
รัฐสภา พรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุน (เป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่นปช.สนับสนุน)
ไม่เอาด้วยกับร่างของประชาชน แต่เป็นร่างของพรรคเอง
ร่างของนปช.เหมือนกับร่างที่ขณะนี้ทุกคนเห็นด้วย
ก็คือ สสร. มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็น แก้ทุกหมวด แบบเดียวกันเลย
แต่น่าเสียใจที่เนื้อหาของเราถูกปฏิเสธ
และในที่สุดความขัดแย้งก็มาถึงการเลือกว่าจะเอา ส.ว. แบบไหน
ก็กลายเป็นแก้ทีละประเด็น แล้วในที่สุดก็นำมาสู่ปัญหาการทำรัฐประหาร
(อันนี้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 50)
เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่า
การขับเคลื่อนทั้งหมด มันก็แบบเดียวกันกับสิ่งที่ประวัติศาสตร์ 2475 ได้ทำมา
แล้วก็หยิบเอาความก้าวหน้าของแต่ละยุค แต่ละสมัย และบทเรียน
เพื่อที่จะเป็นบทเรียนของการขับเคลื่อนในยุคปัจจุบัน เรานอกจากจะให้กำลังใจ
เราก็จะบอกเล่าประสบการณ์ว่า วิถีทางรัฐสภาบางครั้งไม่เป็นไปตามเสียงเรียกร้องของประชาชน
หรือดูแคลนการต่อสู้ของประชาชน ด้อยค่าการต่อสู้ของภาคประชาชน
แล้วการแก้ไขหรือการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยวิถีทางรัฐสภาไม่เคยประสบผลสำเร็จ
ได้ครั้งเดียวก็คือ 89 ซึ่งต่อมาถูกรัฐประหารในปี 90 ทันที
เพราะฉะนั้น
ลำพังวิถีทางรัฐสภา ถ้าไม่มีการต่อสู้ประชาชนเราจะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า นั่นคือ
เราได้ 17 จากการต่อสู้ 16, เราได้ 40 จากการต่อสู้ ชัยชนะของปี 35 แต่ว่าเมื่อเราได้เป็นรัฐบาลหลังปี
53 (ได้เป็นรัฐบาลในปี 54) แต่เราแก้ไม่ได้ ไม่สำเร็จ
ดิฉันก็ให้กำลังใจว่า
ใน 3 เรื่องนี้ “ประชาชนปลดแอก” เลือกจับเอาประเด็นของ สสร.
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้เป็นเพลงเดียวกันหมดสำหรับเยาวชนหลายกลุ่ม
ประชาชนนั้นโดยเฉพาะคนที่ผ่านการต่อสู้มาแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา, 6 ตุลา,
พฤษภา 35 และโดยเฉพาะคนเสื้อแดง ดูเหมือนว่านาทีนี้ “ขานรับ” การตัดสินใจและการนำของกลุ่มเยาวชนทั้งสามกลุ่ม
อาจจะในระดับที่แตกต่างกัน บางคนยอมรับเฉพาะ 3 ข้อเรียกร้อง ไม่ยอมรับ 10
ข้อของธรรมศาสตร์ แต่ว่าโดยภาพรวมก็เห็นด้วย
เพราะฉะนั้น
ดิฉันก็อยากให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนในสิ่งที่ก้าวหน้า
ให้บทเรียนที่ทำให้มีความระมัดระวัง แต่ยังมีความกล้าหาญ ซึ่งขณะนี้ทำได้ดี
ขอเอาใจช่วย และประชาชนก็คงจะมาร่วม หวังว่าวันที่ 24 ไปกดดันรัฐสภา
ขอให้ประสบผลสำเร็จ
และอยากจะบอกคนในรัฐสภาด้วยว่า พวกคุณ ถ้าคุณไม่แก้ไขให้วิถีทางรัฐสภาได้ผล ประชาชนจะทิ้งพวกคุณทั้งหมด และอย่ามาอาศัยการต่อสู้ประชาชนเป็นบันไดเพียงเพื่อเป็นผลประโยชน์ พอตัวเองเข้าไปอยู่ในรัฐสภาแล้วถีบหัวประชาชนทิ้ง อย่างทำอย่างนี้!!! เพราะต่อไปนี้เยาวชนกลุ่มนี้ไม่ให้อภัยพวกคุณแน่นอน ประชาชนจะลงโทษคุณแน่นอน!!!