วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563

มายด์ ภัสราวลี : ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไข...เขียนใหม่เท่านั้น


อยากจะส่งเสียงไปให้ถึงรัฐสภาเหมือนกันว่า ช่วยเอาอำนาจของ ส.ว. ตรงนี้ออกไป แล้วเปิดทางให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตัวเองในการออกแบบเครื่องมือในการบริหารประเทศของพวกเราเสียที

ยูดีดีนิวส์ : เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 63 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ไม่แก้ไข...เขียนใหม่เท่านั้น" ที่ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมเวทีเสวนาและเป็นตัวแทนจากกลุ่มมหานครฯ คือ "มายด์" ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ซึ่งได้แสดงทัศนะต่อรัฐธรรมนูญ 60 ไว้อย่างน่าสนใจ มีรายละเอียดดังนี้

"มายด์" เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ขณะนี้ทำไมทุกคนถึงอยากมีรัฐธรรมนูญใหม่? ทำไมหลายคนออกมาตั้งคำถามถึงรัฐธรรมนูญ 60 ว่าจริง ๆ แล้วรัฐธรรมนูญ 60 ให้อำนาจกับเรามากน้อยแค่ไหน?

เริ่มจากที่มาของรัฐธรรมนูญ 60 คือเริ่มจากคณะรัฐประหาร คสช.นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกอำนาจเดิมของประชาชนและได้รวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง และตั้งกลุ่มคนมาเป็นคณะกรรมการเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ชุดแรกนำโดยคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญชุดแรกถูกคว่ำไป โดยต่อมาคุณบวรศักดิ์ได้ให้เหตุผลว่า “พวกเขาอยากอยู่ยาว”

คำว่า “พวกเขาอยากอยู่ยาว” เป็นที่น่าสงสัยว่าในเมื่อ คสช. ได้ก่อการรัฐประหารด้วยเหตุผลที่เข้ามาบอกว่าอยากจะคืนความสุขให้กับประชาชน เข้ามาขจัดปัญหาความขัดแย้งในสังคมเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน แต่ทำไมพวกเขาอยากอยู่ยาว อันนี้น่าคิด! มายด์กล่าว

การที่พวกเขาบอกว่าอยากอยู่ยาว มันเป็นเพราะว่าเขาไม่อยากคืนอำนาจให้กับประชาชนหรือเปล่า?  นี่เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถาม

ตอนแรก ๆ หลายคนอาจจะมองว่า คสช. เข้ามาเป็นฮีโร่ในการทำให้สังคมสงบมากขึ้น แต่ด้วยการทำงานต่อมามันไม่ใช่เลย มันเป็นการรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง รวมถึงรัฐธรรมนูญ 60 ที่ถูกออกแบบโดยกลุ่มคนที่เขาเลือกมา ก็เป็นการกำหนดอำนาจไว้อย่างชัดเจนว่าอำนาจพวกเขาจะต้องมีมากสูงสุด ไม่ใช่ประชาชน

ย้อนกลับมาหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดคุณบวรศักดิ์ถูกคว่ำไป คสช. ก็ตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้นมาซึ่งนำโดยคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นเหมือนพ่อมดที่สามารถเสกอำนาจให้กับใครก็ได้ เป็นคนที่มีความถนัดในการออกแบบรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดอำนาจโดยเฉพาะเจาะจง คุณมีชัยได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญ 60 และได้ให้ฉายาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ซึ่งมันดูขัด ๆ เพราะว่าถ้าเราดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 60 มันค่อนข้างที่จะเอื้อประโยชน์ให้เขาดูเหมือนโกงมากกว่าอีก อันนี้ก็ต้องพูดกันตามตรง

หลังจากนั้นได้มีการทำประชามติ พูดกันตามความเป็นจริงในบรรยากาศ ณ ตอนนั้น เป็นบรรยากาศที่คสช.ยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ การรณรงค์ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ได้ถูกกดทับ ประชาชนถูกปิดตา ปิดปาก ปิดเสียง ปิดการรับรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นมันจะส่งผลกับเรายังไงบ้างในอนาคต เพราะการจำกัดการเข้าถึงของรัฐบาลคสช.ในยุคนั้น โดยมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ออกมารณรงค์ ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 60 ออกมาประชาสัมพันธ์ให้คนหลาย ๆ คนได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันจะมีผลกับพวกเรายังไง? พวกเขาเหล่านั้นกลับถูกดำเนินคดี ก่อนวันทำประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวน 195 คนเป็นอย่างน้อย

มันจึงเกิดการตั้งคำถามว่า ในเมื่อบ้านเราเป็นระบอบประชาธิปไตย ทำไมคนที่แค่ออกมาพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มันกำลังจะเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศมันมีผลต่อประชาชนในอนาคตยังไง ทำไมพวกเขาถึงต้องถูกดำเนินคดี ทำไมพวกเขาถึงไม่มีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์เครื่องมือของพวกเขาได้ มันน่าสงสัยมาก ๆ ตรงที่ว่า อย่างนี้อำนาจของประชาชนอยู่ตรงไหน?

มันเป็นข้อครหาที่ประชาชนหลายคนก็ยังตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า ในเมื่อตอนนั้นมันถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น แล้วรัฐธรรมนูญ 60 มันจะเป็นประชาธิปไตยได้ยังไง?

เมื่อมีการทำประชามติเมื่อ 7 ส.ค. ก็มีประชาชนส่วนใหญ่ก็ออกมาโหวตรับร่างฯ ประมาณ 15 ล้านเสียง ซึ่งเราก็ยอมรับได้เพราะว่ามันเป็นเสียงของประชาชน แต่ในมุมมองของมาย์ มองว่าประชาชนที่โหวตรับ ณ ตอนนั้นส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะพวกเขาเองก็คงอยากได้ประชาธิปไตยไว ๆ เหมือนกัน คงอยากได้รัฐธรรมนูญที่มันเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศในแบบประชาธิปไตยเหมือนกัน และพวกเขาก็มีความหวังว่าเมื่อเราได้รัฐธรรมนูญ 60 มาแล้ว พวกเขาจะสามารถอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้

แต่หลังจากผ่านการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นมา เราได้เห็นชัดหลายอย่างถึงอำนาจที่มันถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า อำนาจส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชน แต่กลับไปตกที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมคือการที่มีอยู่ของวุฒิสภา 250 คน ถ้าเราไปดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญจริง ๆ เราจะเห็นการกำหนดอำนาจที่เกินกว่าขอบเขตของพวกเขา

วุฒิสภา 250 คนชุดนี้ไม่ได้มาจากประชาชน คณะรัฐประหารเป็นคนแต่งตั้งเขามา ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือกเขาเลย แต่อำนาจที่พวกเขามีมันกลับเกินไปกว่าขอบเขตที่พวกเขาควรจะได้มี ซึ่งถามว่าอย่างนี้มันชอบธรรมกับประชาชนดีแล้วหรือ? อันนี้เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนเลยว่าอำนาจมันไม่ได้อยู่ที่ประชาชน

อีกทั้งพฤติการณ์ของส.ว.ชุดนี้ มีค่อนข้างไปในทางเป็นเครื่องมือในการดำรงอยู่ของคณะรัฐประหาร เป็นการดำรงอยู่เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการของคณะรัฐประหาร คสช. สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือพวกเขายกมือเลือกนายกฯ กันอย่างไม่แตกแถวเลย มันตลกดีเหมือนกันเพราะว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนที่ก่อการรัฐประหาร ตลกที่ว่าทำไมเขายังสนับสนุนให้คนที่เข้ามายึดอำนาจประชาชนยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งมายด์มองว่ามันทำให้ความชอบธรรมในการมีอยู่ของวุฒิสภาลดลงไปด้วย

จริง ๆ มายด์มองว่าในสภาวะปัจจุบัน วุฒิสภาที่ทำตัวเหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้ ส.ส. ไม่น่าจะมีความจำเป็นอีกต่อไปด้วยซ้ำ วุฒิสภาที่กินเงินเดือนจากภาษีของเราปีละหลาย ๆ ล้าน ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปด้วยซ้ำ

นี่คือสิ่งสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 60 นี้มันอยู่ตรงไหน? รัฐธรรมนูญ 60 ควรจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับประชาชนได้มากกว่านี้มั้ย สรุปก็คือในเมื่อรัฐธรรมนูญ 60 มันออกมาแล้ว สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้คือเราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญใหม่ คือการที่เราต้องเอาอำนาจของ ส.ว. ออกไปเสียก่อน

เราต้องเอาอำนาจที่เกินขอบเขตของวุฒิสภาออกไป!
เราต้องเอาเสี้ยนหนามที่กำลังขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยของเราออกไป!
การมีอยู่ของวุฒิสภาตอนนี้มันน่าอดสูเกินไปแล้วค่ะ

อยากจะส่งเสียงไปให้ถึงรัฐสภาเหมือนกันว่า ช่วยเอาอำนาจของ ส.ว. ตรงนี้ออกไป แล้วเปิดทางให้ประชาชนได้ใช้อำนาจของตัวเองในการออกแบบเครื่องมือในการบริหารประเทศของพวกเราเสียที