ก้าวไกลชวนผู้ใช้แรงงาน - ตัวแทนสหภาพแรงงานร่วมทำความเข้าใจ “ร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน” ฉบับก้าวไกล ปลดล็อกคนทํางานทุกรูปแบบตั้งสหภาพได้ทันที หวังนายกฯ เซ็นรับรองเข้าสภาฯ โดยเร็ว
วันที่ 4 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเมเปิ้ล เขตบางนา กรุงเทพฯ เครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล นำโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ, สุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ, และจรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี เขต 8 จัดกิจกรรมให้ความรู้ ทำความเข้าใจ และระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบวิธีการรณรงค์ “ร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน” ฉบับพรรคก้าวไกล โดยมีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานและตัวแทนสหภาพจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม
เซียกล่าวถึงภาพรวมการทำงานของเครือข่ายผู้ใช้แรงงานว่า ในช่วงที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานไปแล้ว 4 ฉบับ คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เสนอโดย เซีย จำปาทอง ซึ่งถูกสภาฯ ปัดตกไปแล้วตั้งแต่วาระที่หนึ่ง 2. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มแรงงานฉบับลาคลอด 180 วัน เสนอโดยวรรณวิภา ไม้สน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในชั้นกรรมาธิการ 3. ร่าง พ.ร.บ.บำนาญถ้วนหน้า ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน จึงอยู่ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามรับรอง และ 4. ร่างกฎหมายที่เป็นไฮไลท์ของกิจกรรมวันนี้ คือร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน ซึ่งเพิ่งปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และเนื่องจากได้รับการวินิจฉัยเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน จึงอยู่ระหว่างรอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามรับรองเช่นกัน
เซียกล่าวต่อไปว่า ที่มาของร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงานฉบับพรรคก้าวไกลนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2518 ซึ่งเป็นยุคที่มีการเรียกร้องทางการเมืองและความตื่นตัวในเรื่องสิทธิแรงงาน “พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์” ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยอนุญาตให้มีการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานโดยทั่วไป แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 มีการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อลดทอนอำนาจของผู้ใช้แรงงาน โดยแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานภาคเอกชน ออกกฎหมายให้แรงงานรัฐวิสาหกิจใช้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 และยังระบุข้อจำกัดอีกจำนวนมากที่ทำให้สหภาพแรงงานไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้เข้มแข็งอย่างเช่นในอดีต แรงงานหลายคนถูกบีบให้ลาออกหลังจากที่มีการรวมกลุ่ม หลายคนต้องทนอยู่กับสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ โดยไม่กล้ารวมกลุ่มเรียกร้องสวัสดิการที่เป็นธรรมจากผู้จ้าง
ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เดิม โดยมีสาระสำคัญคือ 1. คนทํางานทุกคน ทุกรูปแบบงาน สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ 2. ตั้งสหภาพแรงงานได้ทันที โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร 3. เพิ่มการคุ้มครองสหภาพแรงงานจากการถูกฟ้องปิดปาก และ 4. ผู้จ้างจะเลิกจ้างแรงงาน ด้วยเหตุเพราะเตรียมจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือเตรียมนัดชุมนุมเพื่อเจรจาต่อรองกับผู้จ้างไม่ได้
เซียกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงานฉบับนี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างได้ ก็ด้วยการต่อสู้และการระดมความคิดเห็นจากขบวนการแรงงานและตัวแทนสหภาพแรงงานทั่วประเทศมาอย่างยาวนาน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเกิดขึ้นจากความต้องการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาให้ครอบคลุมแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ สอดคล้องกับบริบททางสังคมและอาชีพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงเชื่อว่าจะพิทักษ์สิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานทั่วประเทศได้แน่นอน ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานและประชาชนช่วยกันส่งเสียงสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งลงนามเพื่อนำมาอภิปรายถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
เซียยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับแรงงานเหมาช่วงของบริษัทไทยออยล์ ที่ชุมนุมประท้วงอยู่ด้านหน้าบริษัทในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพราะไม่ได้รับค่าจ้างมาหลายเดือนแล้ว โดยตนได้เดินทางไปรับฟังปัญหาของพี่น้องแรงงาน พบว่าแรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานที่ถูกจ้างเหมาช่วงกันมาเป็นทอดๆ มากกว่า 2 ขั้น ทำให้แรงงานของบริษัทไม่สามารถรวมกลุ่มกันต่อรองกับผู้จ้างได้ เนื่องจากกลไกของการจ้างงานที่ซับซ้อน ซึ่งหากมีกฎหมายสหภาพแรงงานก็จะทำให้แรงงานทุกรูปแบบสามารถรวมกลุ่มกันต่อรองกับผู้จ้างได้ง่ายขึ้น
หลังจากการบรรยายให้ความรู้และทำความเข้าใจแล้ว เครือข่ายผู้ใช้แรงงานและตัวแทนสหภาพจากทั่วประเทศได้ระดมความคิดเห็นกันว่าจะนำสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเผยแพร่และรณรงค์ทางความคิดต่อในพื้นที่ของตนอย่างไรบ้าง เพื่อร่วมกันผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงานเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #พรบสหภาพแรงงาน