“จาตุรนต์”
เผยเหตุยุบ “ไทยรักไทย” ชี้ พรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ไม่ควรให้ยุบพรรคการเมืองได้ง่าย
เมื่อวานนี้
(1 สิงหาคม 2567) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ
ร่วมอภิปรายรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง
ข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน
ว่าโดยหลักการแล้วบุคคลควรมีสิทธิและเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีประชาธิปไตย
แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
ขาดความยึดโยงประชาชน และสุดท้ายไม่ควรตัดสินยุบพรรคการเมืองได้โดยง่ายเกินไป
นายจาตุรนต์
กล่าวว่า ในอดีตนั้น ผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้มีพรรคการเมือง หากมีเขาก็จะทำให้พรรคการเมืองหายไป
แต่ภายหลังก็ใช้วิธีการยุติบทบาทพรรคการเมืองแทนไม่ให้มีบทบาทใด ๆ
การยุบพรรคหรือยุติบทบาทอาจทำให้รู้สึกขัดต่อสายตาชาวโลก
จึงได้มีพัฒนาการอย่างเช่นหลังรัฐประหารปี 57 ก็กำหนดให้การตั้งพรรคการเมือง
ตั้งได้ยาก มีขนาดเล็ก เป็นสมาชิกก็เป็นอยากเพราะต้องสมัครจ่ายเงิน
หากไม่ต่อสมาชิกก็ทำให้ขาดสมาชิกภาพ ทำให้พรรคใหญ่ที่เคยมีสมาชิกนับสิบล้านคน
เหลือแค่หมื่นกว่าคน พรรคการเมืองก็ไม่อยากมีสมาชิกพรรคมากเพราะมีข้อยุ่งยากทางกฎหมาย
ดำรงอยู่ก็ลำบาก รวมทั้งการสนับสนุนพรรคการเมืองก็ทำได้ลำบาก เปิดเผยได้จำกัด
นี่คือการทำให้พรรคการเมืองไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน
การยุบพรรคที่จะอภิปรายนี้
ไม่เกี่ยวกับประเด็นการยุบพรรคใด ๆ ในอีกไม่กี่วัน
จะพูดถึงแค่การยุบพรรคการเมืองในอดีตที่เคยมีคือการยุบพรรคไทยรักไทย
เพราะเขาเห็นว่าพรรคไทยรักไทยสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้จริง
แก้ปัญหาประเทศตามความต้องการของประชาชน แต่ขัดใจผู้ไม่ชอบประชาธิปไตย นำไปสู่การยุบพรรค
โดยใช้หลักฐานระโยงระยางไปโดยไม่ได้มีเหตุผลจนนำไปสู่การยุบพรรค
คนที่ถูกอ้างว่ากระทำผิดขึ้นศาลพิสูจน์ภายหลังว่าไม่ได้กระทำความผิด
แต่การยุบพรรคถูกยุบไปแล้วโดยตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ศาล
ส่วนอีกประเด็นคือ
ความไม่ได้สัดส่วนระหว่างโทษกับความผิด เช่น
แค่กล่าวหาว่ากรรมการบริหารพรรคละเลยไม่ติดตามดูแล ปล่อยสมาชิกพรรคไปซื้อเสียงแค่ 20,000 บาท
ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ ท้ายที่สุด
มีการดำเนินคดีอาญาการซื้อเสียงแต่ท้ายสุด
ข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ได้ซื้อเสียงแต่เขาไปซื้อของแล้วชำระหนี้ตามกฎหมาย
แต่พรรคถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า
การยุบพรรคที่ทำตามกันมา ทำโดยคณะบุคคล หรือศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น
การแก้ไขที่เกี่ยวกับการก่อตั้ง กิจกรรม การหาทุนรายได้
การรับการสนับสนุนจากภาครัฐและประชาชน ไปจนถึงการสิ้นสุดพรรคการเมือง
การไม่ควรให้ยุบพรรคการเมืองได้ง่าย
จึงเป็นรายงานที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย
จะช่วยแก้ไขให้ระบบกฎหมายของประเทศ เป็นระบบกฎหมายที่ส่งผลการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ไม่ใช่ขัดขวางการปกครองระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง
ไม่ใช่อ่อนแอทำอะไรไม่ได้และเป็นประโยชน์น้อยกว่าที่ควรเป็น