วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2567

กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ชงส่งเสริมพรรคการเมืองเข้มแข็ง- ยึดโยงกับประชาชน พรรคการเมืองต้อง “เกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก” ย้ำต้องทบทวนเงื่อนไขยุบพรรคให้สอดคล้องหลักสากล

 


กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ชงส่งเสริมพรรคการเมืองเข้มแข็ง- ยึดโยงกับประชาชน พรรคการเมืองต้อง “เกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก” ย้ำต้องทบทวนเงื่อนไขยุบพรรคให้สอดคล้องหลักสากล

 

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระรับทราบรายงานที่ศึกษาและจัดทำโดยคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่อง ข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ได้อภิปรายหลักการและเหตุผลของรายงานดังกล่าว

 

โดยพริษฐ์ เริ่มการอภิปรายโดยระบุว่าพรรคการเมืองเปรียบเสมือนผู้เล่นในตลาดการเมืองที่มีผู้บริโภคคือประชาชนซึ่งเลือกซื้อสินค้าหรือนโยบายของพรรคต่างๆ ผ่านการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง หากอยากให้ตลาดดังกล่าวเป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ เป็นตลาดที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพสูงที่สุดให้กับผู้บริโภค ตลาดนั้นต้องเป็นตลาดที่ไม่ผูกขาด แต่มีการแข่งขันสูงระหว่างผู้เล่นที่หลากหลาย มีความยึดโยงและเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค ผู้ชนะชนะด้วย know-how ไม่ใช่ know-who ด้วยนวัตกรรมทางนโยบายที่ดี ไม่ใช่ด้วย connection กับผู้มีอิทธิพลในระบอบอุปถัมภ์ ต้องเป็นตลาดที่ผู้เล่นจะหายไปต่อเมื่อสินค้าขายไม่ออก ไม่ใช่เพราะถูกกีดกันจากตลาดโดยการฮั้วกันระหว่างคู่แข่งกับหน่วยงานกำกับดูแล

 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ จึงได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งได้มาเป็นข้อเสนอในรายงานฉบับนี้ รวมถึงร่างแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยอยู่ภายใต้กรอบของการทำให้พรรคการเมือง “เกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก”

 

1) “เกิดง่าย” รายงานนี้มีข้อเสนออยู่หลายประการเพื่อให้ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองตรงกันสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นได้ง่าย ข้อเสนอคือให้

1.1. ลดอุปสรรคและเงื่อนไขที่กีดกันการจัดตั้งพรรคใหม่ เช่น เงื่อนไขจำนวนผู้ร่วมจัดตั้งที่ 500 คน, ต้องใช้ทุนประเดิม 1 ล้านบาท และเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่มากเกินจำเป็นและจัดส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ทั้งหมด

1.2. แก้ไขกติกาเพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองมีความหลากหลายได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนเชิงประเด็น หรือพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนเฉพาะบางพื้นที่หรือภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันทำได้ยาก เพราะกฎหมายกำหนดว่าทุกพรรคต้องมีสาขาในทุกภาคทั่วประเทศภายใน 1 ปี

1.3. สนับสนุนให้พรรคการเมืองสามารถขยายฐานสมาชิกได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เช่น การปรับคุณสมบัติสมาชิกพรรคให้เปิดกว้างขึ้น, ลดเอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครสมาชิก, รองรับการสมัครสมาชิกออนไลน์ และหยุดบังคับพรรคการเมืองให้คิดค่าสมาชิก

 

2) “อยู่ได้” รายงานนี้มีข้อเสนอเพื่อให้พรรคการเมืองดำรงอยู่ได้จากการสนับสนุนของประชาชนในวงกว้าง จึงเสนอให้

2.1. ปรับกติกา ให้พรรคการเมืองระดมทุนจากประชาชนและผู้บริจาครายย่อยได้ง่ายขึ้น เช่น การอำนวยความสะดวกในการรับบริจาคออนไลน์ รวมถึงการออกใบเสร็จและหลักฐานการรับเงิน ให้กับการระดมทุนผ่านการขายสินค้าออนไลน์ได้ เป็นต้น

2.2. ปรับกติกาให้พรรคการเมืองระดมทุนจากทุนใหญ่หรือผู้บริจาครายใหญ่ที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ยากขึ้น เช่น การป้องกันเงินบริจาคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การป้องกันการครอบงำพรรคการเมืองโดยทุนใหญ่ที่ใช้วิธีกระจายเงินบริจาค ไปตามบริษัทย่อยต่างๆ ในเครือ

2.3. ลดเงื่อนไขที่ไปเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านธุรการของพรรคการเมืองโดยไม่จำเป็น เช่น เงื่อนไขว่าการประชุมใหญ่ของพรรคหรือการแจ้ง กกต. ในการปรับข้อบังคับ หรือการเปลี่ยนที่ตั้งสาขาจะทำผ่านออนไลน์ไม่ได้

2.4. ลดเงื่อนไขที่จะไปจำกัดความคล่องตัวในการใช้จ่าย - ในส่วนของเงินที่ประชาชนอุดหนุนให้พรรคการเมืองผ่านระบบภาษี ข้อเสนอคือให้ส่งไปที่พรรคโดยตรงเหมือนกับเงินบริจาค แทนที่จะต้องส่งไปผ่านกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต. ที่ไปกำหนดเงื่อนไขว่าพรรคใช้กับอะไรได้หรือไม่ได้ ในส่วนของเงินอุดหนุนที่กองทุนของ กกต. สมทบให้กับพรรคการเมืองเพิ่มเติม เสนอให้ กกต. ผ่อนปรนข้อจำกัดที่ กกต. วางไว้ว่าพรรคใช้กับอะไรได้หรือไม่ได้ ซึ่งตอนนี้มีหลายกิจกรรมของพรรคที่ถูกตีความว่าใช้เงินจากกองทุน กกต. ไม่ได้ เช่น การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการสำรวจความเห็นประชาชน

 

3) “ตายยาก” ตลอด 17 ปี ที่ผ่านมามีพรรคการเมืองที่มีตัวแทนในสภาถูกยุบรวมกันถึง 5 พรรค ซึ่งล้วนไม่ได้เกิดขึ้นจากการยุบโดยปากกาของประชาชนที่หยุดให้การสนับสนุน แต่เกิดขึ้นจากการยุบโดยปากกาของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าพรรคกระทำผิดกฎหมาย แน่นอนว่าหากมีการกระทำผิดจริงที่ถูกพิสูจน์โดยองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางก็สมควรที่จะต้องมีการลงโทษ แต่โทษนั้นก็ควรจะต้องบังคับใช้กับผู้กระทำผิดอย่างจำกัดวงและได้สัดส่วนกับฐานความผิด รายงานนี้จึงมีข้อเสนออยู่หลายประการ เพื่อทำให้โทษต่างๆ สำหรับพรรคการเมืองมีความเหมาะสม สมดุล และได้สัดส่วน มากขึ้น

3.1. ปรับมาตรการ เช่น ข้อกำหนดว่าต้องมีสมาชิกพรรคกี่คนหรือสาขาพรรคกี่สาขาภายในกี่ปี หรือข้อกำหนดเรื่องการทำไพรมารี่โหวต ซึ่งปัจจุบันมีสภาพบังคับทางกฎหมายที่ทำให้พรรคต้องสิ้นสภาพหากไม่ทำตาม มาเป็นมาตรการที่ไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่อาศัยการส่งเสริมผ่านแรงจูงใจทางการเงิน ว่าหากพรรคไหนยิ่งทำได้เยอะก็จะมีโอกาสได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเยอะขึ้นตามมา

3.2. ทบทวนเงื่อนไขเรื่องการยุบพรรคให้สอดคล้องกับหลักสากล และเป็นมาตรการสุดท้ายสำหรับเฉพาะกรณีร้ายแรงเท่านั้น หากมีการทุจริตหรือการกระทำผิดก็ให้เปลี่ยนจากการลงโทษผ่านการยุบพรรคมาเป็นการลงโทษกรรมการบริหารรายคณะหรือรายบุคคล หากเป็นข้อหาเรื่องการล้มล้างการปกครอง ก็ให้เป็นการยุบพรรคเฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองกระทำความผิดร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองเท่านั้น

3.3. ยกเลิกการมีอยู่ของบทลงโทษเพิกถอนสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตย

 

พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าทั้งหมดนี้ เป็นภาพรวมของข้อเสนอในรายงานของ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแม้พรรคการเมืองต่างๆ ย่อมมีความเห็นที่ต่างกันเรื่องนโยบายในการบริหารประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่เหนือความต่างนั้นคือจุดยืนและความมุ่งมั่นที่ทุกพรรคมีร่วมกันในการทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคมีความยึดโยงกับประชาชน และถูกกำกับโดยกติกาที่เสรี เป็นธรรม ทันสมัย และเป็นสากล

 

ในส่วนของ ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนรายงานดังกล่าว โดยระบุว่าตนอภิปรายรายงานฉบับนี้ในฐานะ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งจากวันนี้ไปอีก 7 วันจะเป็นวันวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล ดังนั้นการอภิปรายสนับสนุนรายงานฉบับนี้ ก็เพื่อเป็นการยืนยันว่าพรรคการเมืองอันเป็นสถาบันที่เกิดจากเจตจำนงของประชาชนต้องเกิดขึ้นง่าย ดำรงอยู่ได้ และต้องสิ้นสุดยาก

 

รายงานดังกล่าวที่เสนอว่ามาตรา 92 ภายใต้บังคับมาตรา 93 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ควรต้องมีการแก้ไข ให้เมื่อพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองก่อน ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการปกป้องเจตจำนงของประชาชนที่ส่งมอบผ่านพรรคการเมือง เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคสุดท้ายที่จะถูกยุบ และนี่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองทุกพรรค

 

ภคมนอภิปรายต่อไป ว่าวงจรการเมืองไทยมีฉากทัศน์ไม่กี่ฉากสลับกันไป เมื่อมีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนแต่ไปขัดกับผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจ ก็มักลงเอยด้วยการถูกใช้อำนาจนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร การใช้องค์กรอิสระเข้าแทรกแซง ไปถึงการยุบพรรคการเมือง นำอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนไปทำลายอำนาจจากประชาชน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็อ้างมาตลอดว่าเป็นประชาธิปไตย แต่โดยข้อเท็จจริงไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่ไหนบนโลกที่ไล่ยุบพรรคการเมืองเป็นว่าเล่น บิดเบือนหลักการของกฎหมาย หลักการประชาธิปไตย หลักการนิติรัฐ โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของประชาชน

 

พรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้อย่างไร ถ้าพรรคการเมืองยังถูกยุบได้แบบพร่ำเพรื่อจนกลายเป็นความเคยชินว่าทำได้เป็นปกติ ดังที่ปรากฏในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ที่แนวทางการนำเสนอส่วนใหญ่มักสรุปว่าท้ายที่สุดพรรคการเมืองจะถูกยุบ นี่ไม่ใช่ความผิดของสื่อมวลชน แต่เป็นเพราะบริบทการเมืองไทยที่การยุบพรรคเกิดขึ้นบ่อยจนขนาดที่สื่อและสังคมสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าโดยไม่มีใครสนใจข้อกฎหมายอีกต่อไป เมื่อไหร่ที่จะมีการพิพากษาคดีของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจ ทุกคนก็เชื่อไปก่อนแล้วว่าผลจะออกมาเป็นโทษสำหรับพรรคการเมืองนั้นๆ สุดท้ายแทนที่สื่อและสังคมจะวิเคราะห์ไปถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมาย ก็เลยกลายเป็นการวิเคราะห์คดีในฐานะยุทธศาสตร์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ว่าจะชี้ไปในทิศทางไหนแทน

 

ภคมนกล่าวต่อไป ว่ารายงานฉบับนี้จึงสรุปไว้ว่า การยุบพรรคการเมืองควรจะเป็นเครื่องมือในการปกป้องประชาธิปไตย จากการขึ้นสู่อำนาจของเผด็จการและระบอบการปกครองอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเท่านั้น และเป็นกรณีที่จำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วระบอบอื่นจะเข้ายึดครองและเปลี่ยนระบอบการปกครองให้ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ ในฐานะมาตรการสุดท้าย ไม่ใช่มาตรการแรกเพื่อการแทรกแซงขององค์กรอิสระ

 

ประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาไม่ถึง 20 ปี มีการยุบพรรคการเมืองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 พรรค เป็นการยืนยันว่าระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเปราะบางแค่ไหน การยุบพรรคกลายเป็นเครื่องมือที่คนขี้ขลาดแต่อยากมีอำนาจใช้เข้าสู่อำนาจโดยไม่ต้องแข่งขันอะไรเลย

 

สุดท้ายนี้ ดิฉันขอตั้งคำถามว่าในประเทศที่การยุบพรรคการเมืองที่มาจากฉันทามติคนเป็นล้านๆ เสียงทำไมทำได้โดยง่ายจากความคิดเห็นของคนแค่ไม่กี่คน แบบนี้เรายังเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากอีกหรือไม่ ดิฉันเชื่อว่าวิญญูชนที่มีสามัญสำนึกตอบคำถามนี้ได้ไม่ยาก” ภคมนกล่าว

 

ด้าน พงศธร ศรเพชรนรินทร์ สส.ระยอง เขต 3 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น การให้พรรคการเมืองดำรงอยู่ได้ และการให้พรรคการเมืองสิ้นสุดลงตามเจตจำนงของประชาชน คือหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่คณะอนุฯ และหลายพรรคการเมืองเห็นไปในทางตรงกันเป็นส่วนใหญ่ จึงขอเชิญชวน สส. ทุกพรรค ร่วมรับรองรายงานฉบับนี้และผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระถัดไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธพัฒนาการเมือง