วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ศาลอนุญาตฝากขัง “ตะวัน” ต่ออีก 7 วัน หลังอัยการยื่นฝากขังครั้งที่ 8 อ้างเหตุตำรวจพึ่งส่งสำนวน และไต่สวนประกันตัว 26 พ.ค.นี้ ให้ “พิธา”เสนอพฤติการณ์พิเศษ ตั้งผู้กำกับดูแลไม่ให้ทำผิดเงื่อนไขหากได้ปล่อยตัว

 


ศาลอนุญาตฝากขัง “ตะวัน” ต่ออีก 7 วัน หลังอัยการยื่นฝากขังครั้งที่ 8 อ้างเหตุตำรวจพึ่งส่งสำนวน และไต่สวนประกันตัว 26 พ.ค.นี้ ให้ “พิธา”เสนอพฤติการณ์พิเศษ ตั้งผู้กำกับดูแลไม่ให้ทำผิดเงื่อนไขหากได้ปล่อยตัว


คืบหน้ากรณีทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 8  เเละที่นายพิธายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว “ตะวัน” หรือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นั้น


เวลา 14.20 น. ศาลอาญาอ่านคำสั่งว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนคำร้องและข้อคัดค้านของผู้ต้องหาแล้ว ได้ความจากพนักงานอัยการผู้ร้องว่า ผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65  เวลาประมาณ 13.00 น.


ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะพิจารณาสั่งฟ้องได้ทัน ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งตามหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการของทางสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน และได้ส่งสํานวนให้ทางคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วในวันเดียวกันหลังจากได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน แต่ยังไม่ได้รับสำนวนกลับคืนมา


ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลในครั้งนี้อีก 7 วันและผู้ร้องยืนยันว่าผู้ร้องเองและคณะกรรมการฯ สามารถดำเนินการพิจารณาสั่งคดีได้แล้วเสร็จภายในกำหนดนี้


ผู้ต้องหาคัดค้านว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน  หรือก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หากไม่ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลก็ไม่ได้เป็นเหตุที่ จะทำให้ผู้ร้องไม่สามารถที่จะพิจารณาสั่งคดีได้ ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขัง


ศาลเห็นว่าเมื่อผู้ร้องเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65  เวลาประมาณ 13.00 น. ทำให้ผู้ร้องไม่อาจพิจารณาสั่งคดีได้ทัน และคดีนี้ก่อนฟ้องคดี ผู้ร้องต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการฯ พิจารณาก่อน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นเพื่อการฟ้องคดี ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะขังผู้ต้องหานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87หรือ มาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 66 บัญญัติว่าเหตุที่จะออกหมายจับได้ มีดังต่อไปนี้


1. เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ดังนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้ อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 เมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี  จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66(1) กรณีการฝากขังของผู้ร้องจึงไม่จำต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุภยันตรายอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71ประกอบมาตรา 26


2. ตามที่ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเห็นควรอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 8 นี้ เป็นเวลา 7 วัน นับ แต่วันที่ 23-29 พ.ค. 65 แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106


โดยในส่วนคำสั่งประกันตัว ศาลอาญา มีคำสั่งว่า ให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันพฤหัสบดีที่ 26 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. และให้ผู้ร้องเสนอพฤติการณ์พิเศษที่เป็นเหตุให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เช่น ผู้ร้องจะเป็นผู้กำกับดูแลพฤติการณ์ของผู้ต้องหาอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้อีก และหากผู้ต้องหาผิดเงื่อนไขผู้ร้องจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ผู้ต้องหาและทนายผู้ต้องหาเสนอเงื่อนไขให้ศาลพิจารณาประกอบในการปล่อยชั่วคราวก่อนหรือในวันนัด แจ้งพนักงานสอบสวนหากจะคัดค้านให้ยื่นคำคัดค้านก่อนหรือในวันนัด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับก่อนหน้านี้สำหรับการฝากขังครั้งที่ 7 ศาลเคยอนุญาตฝากขังเป็นเวลา 5 วันซึ่งวันนี้ที่ศาลอนุญาตฝากขังอีก 7 วันก็จะครบอำนาจการคุมตัวตามกฎหมายที่ควบคุมได้ในชั้นฝากขัง 84 วัน หากพนักงานอัยการยังไม่สามารถยื่นฟ้อง น.ส.ทานตะวันได้ ก็จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาทันที


#ตะวัน #มาตรา112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์