วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ไขปมคำสั่ง ศาล ชี้ 6ศพ'วัดปทุมฯ' ถูก'กระสุนปืน จนท.-ไม่มีชายชุดดำ' เปิดคำสั่งศาลอาญา "กรุงเทพใต้" ชี้ คดี 6 ศพ วัดปทุมฯ แสดงเหตุผล เหตุใด จึงระบุว่ามี ปชช. 6 ราย เสียชีวิตจากทหาร ขณะมือผู้ตาย ไม่พบเขม่าดินปืน ไม่เชื่อว่า มีการตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมฯจริง และไม่มีชุดดำ

 


ไขปมคำสั่ง ศาล ชี้ 6ศพ'วัดปทุมฯ' ถูก'กระสุนปืน จนท.-ไม่มีชายชุดดำ'


เปิดคำสั่งศาลอาญา "กรุงเทพใต้" ชี้ คดี 6 ศพ วัดปทุมฯ แสดงเหตุผล เหตุใด จึงระบุว่ามี ปชช. 6 ราย เสียชีวิตจากทหาร ขณะมือผู้ตาย ไม่พบเขม่าดินปืน ไม่เชื่อว่า มีการตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมฯจริง และไม่มีชุดดำ


เมื่อวันที่ (6 ส.ค.) เวลา 09.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555  ที่อัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนการตายของ นายสุวรรณ ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6 ศาลได้ประกาศไต่สวนตามระเบียบแล้ว นับแต่ญาติของผู้ตายได้ยื่นคำร้องขออนุญาต ซักถามและขอนำพยานนำสืบ สรุปคำสั่ง ศาลมีคำสั่งว่า ผู้ตายทั้ง 6 เสียชีวิตเนื่องมาจาก ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืน ยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.


รวมไปถึงข้อสรุปของศาลที่ว่า ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิต การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดจริง และกรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณดังกล่าว ดังนี้


ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้อง และญาติของผู้ร้องโดยตลอดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ เป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้มีการจัดชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องและได้มีการขยายบริเวณการชุมนุม ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปถึงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4 เพื่อเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และให้มีการเลือกตั้งใหม่


โดยวันที่ 7 เมษายน 2553 นายกฯ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง จังหวัดปทุมธานี อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดนครปฐม อำเภอพุทธมณฑล และ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง ทั้งยังออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ และมีข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นผู้ช่วย และยังแต่งตั้งนายสุเทพ เป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการ และหัวหน้าผู้รับผิดชอบ


ปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ตายทั้ง 6 คือใคร ได้ความจากนายจ้างของผู้ตายทั้ง 6 ได้มีการนำสืบจากเอกสารใบมรณบัตร ประกอบกับการไต่สวน คดีจึงฟังได้ว่า ผู้ตายที่ 6 ชื่อนายสุวรรณ ศรีรักษา ผู้ตายที่2 ชื่อนายอัฒชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 ชื่อนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 ชื่อนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 ชื่อนางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 6 อ นายอัครเดช ขันแก้ว


ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ผู้ตายทั้ง 6 ตายที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เหตุการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำร้ายผู้ตายเท่าที่จะทราบได้ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรค 5


สำหรับผู้ตายที่ 1, 3 ,4 ,5 ,6 ได้ความจากพยานหลายปาก รวมทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญหลายปากเห็นว่า แม้ผู้ร้องและญาติของผู้ตายที่ 1,3 ถึงที่ 6 จะไม่ประจักษ์พยานในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ที่ 6 ถูกกระสุนจากอาวุธจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน และผู้ร้องมีพยานทุกปากซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยัน ถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ได้อย่างสอดคล้องต้องกัน เริ่มตั้งแต่จุดตำแหน่งของพยานแต่ละคน ที่เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้ง ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นมาบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ กระทั่งจุดตำแหน่งของผู้ตายที่ 1 และผู้ตายที่ 3 ถูกยิง


โดยเฉพาะพยานปากสำคัญ นายธวัช แสงทน และนายศักดิ์ชาย แซ่ลี้ ที่เข้าไปช่วยนำศพผู้ตายที่ 1 และ 2 ตามลำดับ เข้ามาปฐมพยาบาลในเต็นท์ตามแผนที่เกิดเหตุในเอกสาร ส่วนพยาน ปากนางสาวนัฏธิดา และผู้ตายที่ 3 ได้ช่วยกันปฐมพยาบาล ผู้ตายที่ 2 ก่อนถึงแก่ความตายภายในเต็นท์พยาบาล โดยจุดตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิง ตามที่พยานทุกปากยืนยันสอดคล้องกับรายงานผลการตรวจที่เกิดเหตุของ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. พบคราบเลือดบนพื้นปูนซีเมนต์ด้านหลังสหกรณ์และบนพื้นใกล้ประตูทางออก จากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 4 กับคราบโลหิตบนฟูกนอนสีชมพู และคราบโลหิตติดอยู่ที่โทรโข่งบนโต๊ะสีขาว ภายในเต็นท์ผ้าใบสีขาว จากการตรวจพิสูจน์พบว่า คราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 6 กับคราบโลหิตบนพื้นใกล้โต๊ะสีขาว ภายในเต็นท์ จากการตรวจพิสูจน์พบว่าคราบโลหิตดังกล่าวเป็นของผู้ตายที่ 3


นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกไปตรวจที่เกิดเหตุคือวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 พบคราบโลหิตมนุษย์บริเวณถนนทางออกด้านหน้าวัด จำนวน 2 จุด แต่ละจุดห่างจากกำแพงแนววัด 5.3 และ 6.7 เมตรตามลำดับ และห่างจากแนวอาคารสหกรณ์ประมาณ 5.2 และ 3.2 เมตรตามลำดับ กับพื้นที่เกิดเหตุด้านหลังสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกด้านหน้าวัดจำนวน 1 จุด ห่างจากแนวรั้วกำแพงประมาณ 8 เมตร กับบริเวณพื้นขั้นบันไดคอนกรีตทางขึ้นสหกรณ์ใกล้ประตูทางออกหน้าวัดอีก 1 จุด ห่างจากแนวกำแพงหน้าวัดประมาณ 8 เมตร จุดตำแหน่งเหล่าตรงกับถ้อยคำของพยานผู้ร้อง ที่ยืนยันว่า ผู้ตายถูกยิง ด้วยผลการตรวจคราบโลหิตของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วเชื่อว่า ผู้ร้อง พยานผู้ร้องทั้ง 6 ปาก เห็นเหตุการณ์ในขณะที่ผู้ตายที่ 1,3 ถึงผู้ตายที่ 6 ถูกยิงจริง ส่วนทิศทางของวิถีกระสุนปืนที่ยิงผู้ตายที่ 1, 3 ถึงผู้ตายที่ 6 นั้น ได้ความจากพยานปาก พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความว่า พยานเป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าพิสูจน์ศพ ผู้ตายที่ 3 ถึงที่ 6 เพื่อทำการหาสาเหตุการตาย ผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่า


ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลฉีกขาดเป็นรูปทรงกลม บริเวณต้นแขนซ้าย 2 แห่ง ขนาด 1x2.5 ซม. และขนาด 0.8x0.5 ซม. บาดแผลทะลุผิวหนังบริเวณทรวงอกด้านซ้าย ขนาด 3.2x1 ซม. สาเหตุการตาย เกิดจากบาดแผลกระสุนปืน ทำลายปอด หัวใจ และตับ พบเศษทองแดงในเสื้อ เศษตะกั่วเล็กๆ ในปอดและหัวใจ ทิศทางมาทางซ้ายไปขวา หน้าไปหลัง บนลงล่าง


ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขนขวาด้านนอก รูปลี ขนาด 0.6x5 ซม. ต่ำจากบ่า 17 ซม. บาดแผลต้นแขนขวาด้านใน และบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านขวา ขนาด 3.5x2.5 ซม. ต่ำจากบ่า 21 ซม. บาดแผลถลอกบริเวณกว้างหน้าท้องด้านขวา โหนกแก้มขวา ใต้คางขวา ริมฝีปากซ้าย สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ พบเศษทองแดง 2 ชิ้นบริเวณขั้วลิ้นลำไส้ ทิศทางขวาไปซ้าย หน้าไปหลัง บนลงล่าง


ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณก้นด้านขวา 2 แห่งทะลุถึงกัน ขนาด 0.8x0.5 ซม.  และ 0.9x0.7 ซม. บาดแผลทะลุบริเวณก้นด้านซ้ายขนาด 0.8x0.4 ซม. บาดแผลผิวหนังทะลุหลังด้านซ้ายส่วนล่าง 2 แห่ง 0.7x 1.2 ซม. บาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณต้นแขน ขวาด้านนอก ขนาด 1x0.5 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณไหล่ขวา 4.5x3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณใบหน้าด้านขวาขนาด 5.3 ซม. บาดแผลฉีกขาดบริเวณโคนนิ้วชี้ซ้าย สาเหตุการตายเกิดจากเลือดออกใต้เยื้อหุ้มสมองชั้นนอก เนื้อสมองช้ำ จากการถูกแรงกระแทกเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก ถูกยิง 2 นัด


และได้ความจากพยานปากแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.นพ.ปกรณ์ วะศินรัตน์ ที่พิสูจน์ศพ ผู้ตายที่ 1 และ 5 พบว่า


ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดรูปวงรี ขนาด .7x.5 ซม. บริเวณไหล่ซ้ายด้านหน้า บาดแผลฉีกขาดรูปวงกลมขนาด .5 ซม. บริเวณสะโพกด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดขอบไม่เรียบใกล้กับรูทวารหนักขนาด 1.7x0.5 ซม. บาดแผลฉีกขาดขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณต้นขาซ้ายด้านนอก บาดแผลฉีกขาดขนาด 0.8x0.5 ซม. บริเวณขาหนีบด้านซ้าย บาดแผลฉีกขาดรูปขนาด ขนาด 4.3 ซม. บริเวณโคนอวัยวะเพศ และบาดแผลฉีกขาดรูปวงรีบริเวณโคนข้อเท้าขวาด้านในและด้านนอก และหลังเท้า สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก พบเศษโลหะคล้ายหัวกระสุนปืนทองแดงบริเวณกล้ามเนื้อชายโครงด้านขวา ทิศทางซ้ายไปขวา บนลงล่าง หลังไปหน้าเล็กน้อย


ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลฉีกขาด ขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณหลังด้านขวา บาดแผลฉีกขาดรูปวงรีขนาด 0.7x0.5 ซม. บริเวณสีข้างด้านขวา สาเหตุการตายเกิดจากบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมองและบริเวณศีรษะ ตรงฐานกระดูกด้านซ้ายมีรูแตก ทะลุสมองฉีกขาดเล็กน้อยและสมองใหญ่ซีกซ้ายมีเลือดออกเป็นแผล พบชิ้นส่วนโลหะคล้ายลูกกระสุนปืนลูกทองแดง ในกะโหลกศีรษะด้านขวา ทิศทางจากล่างขึ้นบน หลังไปหน้า


ประเด็นเกี่ยวกับวิถีกระสุนนี้ ได้ความจากพยานปาก พ.ต.ท.สุรนาท วงศ์พรหมชัย กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 21-29 พ.ค.53 พยานได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ในวัดปทุมวนาราม พร้อมทั้งบริเวณด้านหน้าวัด พบรอยลักษณะคล้ายถูกยิงด้วยลูกกระสุนปืนบริเวณพื้นถนนทางออกและทางเข้าหน้าวัดจำนวนมาก


พ.ต.ท.ธีรนันท์ นคินทร์พงษ์ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจอาวุธและกระสุนปืน กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกความโดยสรุปว่า ได้ตรวจรอยกระเทาะที่พื้นถนนดังกล่าว เชื่อว่า รอยทั้งหมดถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จากด้านหน้าไปด้านหลัง จากขวาไปซ้าย ทำมุมกดลง ส่วนรอยถูกยิงที่บริเวณอาคารมูลนิธิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร เชื่อว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด จำนวน 2 นัด โดยยิงจากภายนอกเข้าสู่ภายในวัด จากด้านหน้าไปด้านหลัง


จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุทั้งภายในวัดและบริเวณด้านนอกจนถึงบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่าภายในวัด มีร่องรอยกระสุนปืน 23 รอย ร่องรอยกระสุนปืน บริเวณประตูทางออกวัด จำนวน 10 รอย ประตูทางเข้า 2 รอย บริเวณแผ่นป้ายโฆษณา 3 รอย ทั้งนี้ 15 รอยนั้น เกิดจากแนววิถีกระสุนที่ยิงมาจากบนลงล่าง  พยานยืนยันว่า น่าจะยิงลงมาจากบริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้นที่ 1 หรือ ชั้นที่ 2 ด้านหน้าวัด


เมื่อพิจารณาจากผลการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายของแพทย์ รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับได้ความว่า ด้านหลังของรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรงข้ามกับวัดนั้น มีอาคารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพียงอาคารเดียว และอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าดังกล่าวประมาณ 100 เมตรเศษ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีบุคคลใดใช้อาวุธปืนยิงจากอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มายังที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ เนื่องจากหากยิงมาจากอาคารดังกล่าว วิถีกระสุนจะต้องผ่านรถไฟฟ้าบีทีเอส จึงเชื่อว่า ทิศทางของแนววิถีกระสุนที่ยิงผู้ตายที่ 1 ผู้ตายที่ 3-6 ยิงมาจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ ส่วนผู้ตายที่ 5-6 แม้แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์จะลงความเห็นว่า บาดแผลของผู้ตายที่ 5 มาจากทิศทางล่างขึ้นบน หลังไปหน้าบาดแผลของผู้ตายที่  6 ไม่สามารถระบุถึงทิศทางกระสุนปืนที่ยิงได้ก็ตาม เนื่องจากทางเข้าของกระสุนรวมถึงตำแหน่งพบตะกั่วในร่างกายสั้นมากก็ตาม


แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในขณะที่ผู้ตายที่ 5 และ 6 ถูกยิงนั้น ผู้ตายที่ 5 และ 6 กำลังคุกเข่า ก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าเข้าไปในวัด จึงเป็นเหตุให้ดูเสมือนหนึ่งว่าทิศทางวิถีกระสุนที่ยิงมายังผู้ตายที่ 5 และ 6 นั้น ยิงมาจากล่างขึ้นบน และหลังไปหน้า


ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า บุคคลใดที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯ ประเด็นนี้ได้ความจากพยานปาก   ส.ต.ท.อดุลย์ พรหมนอก เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด.ต.สุชาติ ขอมปวน เจ้าพนักงานตำรวจสังกัดกลุ่มงานบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยี สารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด.ต.อานนท์ ใจก้อนแก้ว เจ้าพนักงานตำรวจ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 31 พิษณุโลก เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานได้รับคำสั่งปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยปราบจลาจล กองกำลังสนับสนุน


ขณะนั้น เวลา 17.30 น. พยานทั้งสามอยู่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้นที่ 12 อาคาร 19 ในส่วนดาดฟ้า พยานทั้งสามเห็นเหตุเกิดเพลิงไหม้ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ บริเวณหน้าวัดปทุมฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานได้ใช้กล้องถ่ายรูปบริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้น 1 และชั้น 2 บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน้าวัดปทุมฯ เห็นเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งต่อมาใช้อาวุธปืนเล็งไปภายในวัด ในลักษณะเตรียมยิง โดยไม่มีเหตุการณ์ต่อสู้กับบุคคลใดๆ จากนั้น พยานทั้งสามได้ยินเสียงปืนดังตรงจุดที่เจ้าพนักงานอยู่บนรางรถไฟฟ้า และไม่มีท่าทีหลบกระสุน


ประเด็นนี้ พยาน พ.ท.นิมิตร วีระพงษ์  จ.ส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทด ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.ญ.สาวตรี สีนวล ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำ เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาทั้ง 8 รายได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้ไปประจำบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ระวังคุ้มกันเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 รักษาพระองค์ ประจำบริเวณพื้นถนนพระรามที่ 1 พ.ท.นิมิตร เป็นหัวหน้าชุดใช้อาวุธปืน M16A4 เป็นอาวุธประจำกาย ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา ใช้อาวุธปืน M16A2 พ.ท.นิมิตร กับผู้ใต้บังคับบัญชาอีกหนึ่งนาย ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้นที่ 2 ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชา ประกอบด้วย  จ.ส.อ.สมยศ  ส.อ.เดชาธร  ส.อ.ภัทรนนท์  ส.อ.สุนทร ส.อ.เกรียงศักดิ์  ส.อ.ชัยวิชิต  ส.อ.วิทูรย์  ประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าหน้าสนามกีฬาแห่งชาติถึงหน้าวัดปทุมวนารามด้วย


กระทั่งเมื่อเวลา 15.00 น. พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 บริเวณแยกปทุมวัน มุ่งหน้าสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม ขณะนั้นมีชาย 2 คนใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าพนักงานชุดของพยานโดยแจ้งว่า ทั้งสองคนยืนตรงแยกเฉลิมเผ่า ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่รถ 6 ล้อ ที่จอดอยู่ที่แยกเฉลิมเผ่าและบริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า  เกาะกลางถนนพระรามที่ 1 ขณะนั้น เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกรมทหารราบที่ 31 กองพันที่ 2 ประจำการอยู่ที่แยกปทุมวัน ถ.พระราม 1 ได้เคลื่อนกำลังพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยของพยานบนพื้นถนนพระรามที่ 1 ในลักษณะพร้อมกัน


จนกระทั่งเวลา 18.00 น. พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้เคลื่อนกำลังจากสถานีรถไฟฟ้าสยามเรื่อยไปจน บริเวณลานรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ ผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานจำนวน 7 นาย ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุม จ.ส.อ.สมยศ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอส ตรงเกาะกลางถนนพระราม 1 จำนวน 4-5 นัด และบริเวณกำแพงด้านนอกวัดปทุม 1 นัด โดยอ้างว่า เห็นชายชุดดำ บริเวณดังกล่าว ส.อ.เกรียงศักดิ์ ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณที่สังเกตเห็นชายชุดดำยืนอยู่ จำนวน 14 นัด ส.อ.ชัยวิชิต ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงขึ้นฟ้าจำนวน 4 นัด ส.อ.วิทูรย์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณตอม่อเสารถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ 4-5 นัดและบริเวณท้ายรถยนต์ซึ่งจอดที่บริเวณลานจอดรถของวัด 1-2 นัด พร้อมทั้งตะโกนให้ออกมาจากใต้รถและถอดเสื้อ ส.อ.ภัทรนนท์ได้ใช้อาวุธปืน ยิงที่บริเวณกำแพงด้านนอกของวัด ส.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัด 4 นัด


ส.อ.ภัทรนนท์ ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่กำแพงด้านนอกของวัด ส.อ.เกรียงศักดิ์ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณพื้นถนนหน้าวัดจำนวน 4 นัด นอกจากนี้เมื่อพิจารณาภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นว่าบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนารามไม่มีบุคคลใดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี โดยมี พ.ท.นิมิตรกับผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น เชื่อว่าพ.ท.นิมิตร วีระพงษ์ ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าชั้นที่สอง โดยมีส.อ.สมยศ ร่มจำปา ส.อ.เดชาธร มาขุนทด ส.อ.ภัทรนนท์ มีแสง ส.อ.สุนทร จันทร์งาม ส.อ.เกรียงศักดิ์ สีบุ ส.อ.ชัยวิชิต สิทธิวงษา ส.อ.วิทูรย์ อินทำ ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่งตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ สถานีรถไฟฟ้าสยาม แยกเฉลิมเผ่าจนถึงหน้าวัดปทุมวนาราม รวมทั้งสะพานลอยทางเดินสกายวอล์กด้านล่างตั้งแต่รถไฟฟ้าบีทีเอสสยามเรื่อยมา จนถึงหน้าวัดปทุมวนารามเท่านั้น


และเมื่อพิจารณาประกอบกับของกลางที่ได้มาจากการผ่าพิสูจน์ศพผู้ตายที่ 1 ผู้ตายที่ 3-5 ของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ศพ โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผลการตรวจพิสูจน์พบว่าวัตถุของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนโดยเป็นเศษรองกระสุน ปืนเล็กกลหุ้มทองแดง ขนาด.223 หรือ 5.56 มม. เศษกระสุนปืนเล็กกลทองแดงหุ้มเหล็กและตะกั่วขนาด.223 หรือ 5.56 มม. สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตผู้อื่นและวัตถุได้


ประเด็นนี้ได้ความจากพ.ต.ท.ไพชยนต์ สุขเกษม สังกัดกองสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนได้เบิกความว่า อาวุธปืนเอ็ม 16 ทุกรูปแบบ อาทิ เอ็ม16 เอ1-เอ4 และเอ็ม4 จะต้องใช้กระสุนปืนขนาด.223 หรือ 5.6 มม. เศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตามภาพถ่ายนั้นเป็นเศษรองกระสุนปืนและเศษของ กระสุนปืนเอ็ม 16 เอ1-เอ4 เป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูงและเป็นอาวุธประจำ กายของเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ อาทิเช่น เจ้าพนักงานทหาร เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น


เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่า เมื่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันชุดจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ด้านหน้าวัดปทุมวนารามได้ใช้ประจำกายคืออาวุธปืนเอ็ม16 เอ2และเอ4 แม้หลังเกิดเหตุกรมสอบสวนคดีพิเศษจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 4 กระบอก และพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันจะส่งอาวุธปืนเล็กกลจำนวน 8 กระบอก ให้กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. ทำการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืน ผลจากการตรวจพิสูจน์พบว่าเศษรองกระสุนและลูกกระสุนไม่ได้ใช้ยิงมาจากอาวุธ ปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอกก็ตาม ปรากฏว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวันได้จัดส่งอาวุธปืนเล็กกลดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลัก ฐานกลาง สตช. เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2553 และ 14 มี.ค. 2554 ซึ่งเป็นวันหลังจากเกิดเหตุเป็นระยะเวลานาน


ในประเด็นนี้ ได้ความจาก พ.ต.อ.พิภพ และพ.ต.ท.ไพชยนต์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืนสงครามยืนยันว่า อาวุธปืนเล็กกลนี้สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนได้ อาทิ ลำกล้อง ลูกเลื่อน เครื่องลั่นไก หากมีการถอดชิ้นส่วนดังกล่าวก่อนส่งไปตรวจพิสูจน์ก็ไม่สามารถตรวจเปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนและลูกกระสุนปืน ทั้งนี้ ตามระเบียบการทำความสะอาดก่อนจะทำการเก็บทำความสะอาดอาวุธปืนที่ใช้  หลังจากการยิงอาวุธปืนที่ใช้หลังจากยิงทุกครั้งไม่ว่าจากการฝึกยิงหรือยิงในราชการอื่นใดจะต้องทำความสะอาดอาวุธปืนดังกล่าวทุกครั้ง การทำความสะอาดแต่ละครั้งย่อมทำให้ร่องรอยพยานหลักฐานอาวุธปืนกระบอกนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ไม่สามารถทำการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนเล็กกลทั้ง 12 กระบอก เปรียบเทียบกับเศษรองกระสุนปืนและลูกกระสุนปืนตรงกับความเป็นจริงได้


และเมื่อพิจารณาจากจุดตำแหน่งเจ้าพนักงานซึ่งเป็นหน่วยทหารนี้ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่ประตูทางออกด้านในวัด บริเวณเต็นท์ด้านในวัด บริเวณกุฏิพระภายในวัดและกำแพงรั้วด้านนอกวัดบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับแนว วิถีกระสุน  ซึ่งผู้ตายที่  1 ผู้ตายที่ 3-6 ถูกอาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย ส่วนจ.ส.อ.สมยศ  ส.อ.เกรียงศักดิ์ ส.อ.ชัยวิชิต ส.อ.วิทูรย์ ส.อ.ภัทรนนท์ เบิกความว่ามีชาย 4 คนสวมชุดดำ ถืออาวุธปืนยาวบริเวณเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสด้านหน้าวัดปทุมฯ ยิงมายังเจ้าพนักงาน และมีชายสวมเสื้อสีขาวกางเกงลายพรางสวมหมวกไหมพรมถืออาวุธเอ็ม 16 หลบอยู่ข้างกุฏิวัดภายในวัด พร้อมเล็งมายังเจ้าพนักงานบนรางรถไฟฟ้าดังกล่าว จึงเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศมาทำข่าวและบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ภาพถ่ายของชายชุดดำหรือบุคคลดังกล่าวมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่า มีเจ้าพนักงานได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจากการยิงต่อสู้


นอกจากนี้ยังได้ความจากปาก ส.อ.สุนทร จันทร์งาม และส.อ.เดชาธร มาขุนทด เจ้าพนักงานทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ เบิกความว่าในวันที่เกิดเหตุประจำการอยู่ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่หนึ่ง หน้าวัดปทุม ได้ตอบทนายญาติผู้ตายที่ 1,4 ว่า ขณะที่พยานปฏิบัติหน้าที่ที่บริเวณดังกล่าวไม่มีภัยคุกคามเกิดขึ้นภายในวัดปทุมฯ พยานจึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิง แสดงให้เห็นว่าถ้อยคำของเจ้าพนักงานทหารขัดแย้งกันเองทั้งที่ประจำการอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ข้อกล่าวหานี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะเชื่อถือได้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น


แม้พยานปากเอก นายอภิสิทธิ์ แสงแก้ว จะเบิกความว่า พยานได้ถูกว่าจ้าง ให้มาทำบั้งไฟในบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ขณะเกิดเหตุ ได้หลบอยู่ภายในวัดปทุมวนาราม เห็นปากกระบอกปืนโผล่ ออกมาจากกุฏิภายในวัดและยิงไปยังเจ้าพนักงานทหาร ซึ่งประจำการอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัด โดยมีการยิงตอบโต้ซึ่งกันและกัน ปรากฏว่าพยานปากนี้ คำถามญาติผู้ตายที่ 1, 3, 4 ว่า ก่อนที่เจ้าพนักงานทหารจะนำตัวไปให้พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ทำการสอบปากคำ พยานถูกเจ้าพนักงานพาไปที่ค่ายทหาร และรับเงินเจ้าพนักงานทหารเป็นค่าใช้จ่าย กรณีนี้ถือได้ว่า เจ้าพนักงานทหารเป็นผู้นำพยานไปให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำ มิใช่เป็นความสมัครใจของพยาน ทั้งที่เจ้าพนักงานที่ถูกกล่าวหาก่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการให้เงินพยานปากนี้ ก็มีลักษณะเพื่อที่จะจูงใจ ดังนั้น ถ้อยคำของพยานปาก นี้จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟัง


ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานนำสืบว่ามีชายชุดดำถืออาวุธปืนยาวอยู่ภายในวัดปทุมฯ แล้วใช้อาวุธปืนยิงมายังเจ้าพนักงานจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบด้วยประจักษ์พยาน พยานแวดล้อมกรณี ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวน ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว เชื่อว่าผู้ตายที่ 1, 3-6 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนของอาวุธปืนความเร็วสูงขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสชั้นที่ 1 หน้าวัดปทุมวนาราม


ส่วนผู้ตายที่ 2 ได้ความจากพยานยืนยันทำนองเดียวกันว่าพยานได้เข้าไปร่วมชุมนุมตั้งแต่มี.ค. 2553 – 19 พ.ค. 2553 เวลา 13.00 น. แกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุม ได้มีการสั่งให้ผู้ชุมนุมเดินทางไปสนามกีฬาแห่งชาติเพื่อขึ้นรถโดยสารประจำทางกลับภูมิลำเนา โดยให้เด็กและคนชราเข้าไปพักในวัดปทุมวนาราม ในขณะนั้นพยานทั้งสามได้เห็นผู้ตายที่ 2 ได้ถูกอาวุธปืนยิง โดยทิศทางกระสุนมาจากบริเวณ ถ.พระราม 1 ทางด้านห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน


แล้วศาลก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้นผู้ร้องและญาติผู้ตายที่ 2 จะไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงด้วยกระสุนปืนจากผู้ใด แต่ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน รวมทั้งประจักษ์พยานยืนยันถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการตายของผู้ตายที่ 2 อย่างละเอียดทุกขั้นตอนได้อย่างสอดคล้องต้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่จุดที่พยานแต่ละคนเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งได้ยินเสียงปืนจากทิศทางแยกเฉลิมเผ่า บน ถ.พระราม 1 หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กระทั่งถึงตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง โดยพยานทุกปากได้เข้าไปช่วยนำผู้ตายที่ 2 เข้าปฐมพยาบาลภายในเต็นท์ โดยเฉพาะพยานปาก น.ส.ณัฎฐธิดา ผู้ตายที่ 3 และผู้ตายที่ 6 ช่วยกันปฐมพยาบาลด้วยการปั๊มหัวใจให้กับผู้ตายที่ 2 ก่อนสิ้นใจตายในเต็นท์พยาบาล


ประกอบกับได้ความจากพยาน ร.ท.พิษณุ ทัดแก้ว เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารจากสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหาราบที่ 31 รักษาพระองค์ เบิกความว่า 19 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารสังกัด กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ นำโดย พ.ท.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้เคลื่อนกำลังประมาณ 500 นาย จากแยกปทุมวัน เพื่อกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์โดยมาตาม ถ.พระราม 1 ทั้งฝั่งซ้ายและขวา พยานได้ใช้ปืนเล็กยาวทาโวร์ เป็นอาวุธปืนประจำกายพร้อมด้วยกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.


จนกระทั่งเวลา 17.30 น. ของวันดังกล่าวขณะที่พยานประจำตำแหน่งอยู่เห็นชาย 2 คน ยืนอยู่ที่บริเวณขอบปูนกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า บุคคลดังกล่าวได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาที่พยาน พยานจึงได้ใช้อาวุธปืนต่อสู้กับชายคนดังกล่าวจำนวน 10 นัด กระสุนปืนถูกที่ขอบปูนกั้น


เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ ร.ท.พิษณุกับ พลฯ สมรักษ์ ส.อ.โสพล  ธีระวัฒน์ พลฯ ไกรสร เชื้อวัฒน์ ประจำการอยู่กับตำแหน่งที่ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง และแนวกระสุนที่ ร.ท.พิษณุ ยิงไปที่บริเวณขอบกั้นเสาตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่า แล้วจะเห็นได้ว่า จุดที่ ร.ท.พิษณุ กับพวกอีกสามนาย ประจำการอยู่บน ถ.พระราม 1 นั้น เป็นฝั่งเดียวกับผู้ตายที่ 2 ถูกยิง และแนววิถีกระสุนที่ ร.ท.พิษณุ ยิงไปก็อยู่ในแนวระนาบกับแนววิถีกระสุนปืนซึ่ง ผู้ตายที่ 2 ถูกยิง  ซึ่งแนววิถีกระสุนนี้จากผลการตรวจศพของผู้ตายที่ 2 ตามรายงานการตรวจศพของแพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ ว่ามีบาดแผลผิวหนังทะลุบริเวณทรวงอกด้านซ้ายส่วนบนเกิดจากกระสุนปืน ทิศทางหลังไปหน้า แนวตรง แนวระดับ โดยเฉพาะพื้นที่ ถ.พระราม 1 นั้นทั้งด้านซ้ายและด้านขวาตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติจนถึงหน้าห้างสรรพสินค้า สยามพารากอนไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดนอกจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหารหน่วยนี้ ประจำการและเข้าไปควบคุมพื้นที่ ถ.พระราม 1 ไว้ทั้งหมดแล้ว


ประกอบกับได้ความจาก น.ส.ผุสดี งามขำ พยานญาติผู้ตายที่ 2 ร่วมเบิกความสนับสนุนว่า ได้เข้ารวมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.- 19 พ.ค. 2553 ณ เวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศจนถึงเวทีแยกราชประสงค์ จนกระทั่งถึงเวลา 13.00 น. ของวันที่ 19 พ.ค.2553 กลุ่ม นปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์และได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมไปขึ้นรถ โดยสารประจำทางที่สนามกีฬาแห่งชาติเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่วนหนึ่งให้เข้าไปพักที่วัดปทุมวนารามซึ่งได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน พยานยังคงนั่งอยู่ที่หน้าเวทีและเดินรอบเวทีปราศรัย รวมทั้งเส้นทางของ ถ.พระราม 1 ขณะนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. เศษ พยานได้เห็นเจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่ทั้ง 4 ด้านล้อมรอบแยกราชประสงค์ไว้หมดแล้ว โดยเฉพาะบริเวณถ.พระราม 1 หน้าวัดปทุมวนารามเจ้าพนักงานได้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งหมดเช่นเดียวกัน


ส่วน ร.ท.พิษณุ เบิกความว่าเห็นชายสองคนอยู่บริเวณขอบปูนกั้นของตอม่อรถไฟฟ้าบีทีเอสแยกเฉลิมเผ่าได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงมาจุดที่พยานประจำการนั้นเห็นว่าขณะเกิดเป็นเวลากลางวันและมีผู้สื่อข่าว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าไปทำข่าวเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่บันทึกภาพถ่ายของชายคนดังกล่าวมาแสดงซึ่งเป็นข้อพิรุธและสงสัย อีกทั้งถ้อยคำของ ร.ท.พิษณุ  ยังขัดแย้งกับเจ้าพนังงานทหารในหน่วยเดียวกันและประจำจุดเดียวกันและไม่ไกลกัน ตามแผนที่ในแผนผังประกอบการพิจารณา (หมาย ร.97) โดยเฉพาะ ส.อ.สมพงษ์ จินดาวัตน์ ซึ่งประจำการอยู่ใกล้กับ ร.ท.พิษณุ ตามปรากฏในแผนผังประกอบการพิจารณา กล่าวเบิกความว่าไม่มีบุคคลใดเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณดังกล่าวแล้วไม่มีปลายกระบอกปืนพาดกับขอบตอม่อรถไฟฟ้า BTS ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.100 พยานทั้ง 3 จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงไปที่บริเวณดังกล่าว หากชาย 2 คนบริเวณดังกล่าวใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้กับ ร.ท.พิษณุ ทัสแก้ว เจ้าพนักงานนายอื่นที่บริเวณดังกล่าวคงไม่ปล่อยให้ ร.ท.พิษณุ ใช้อาวุธปืนเพียงลำพังเพียงคนเดียวนานถึง 40 นาที


ด้วยพยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติของผู้ตาย ประกอบกับประจักษ์พยายาน พยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องการตาย เชื่อว่า ผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกกระสุนปืนความเร็วสูงขนาด .223 ของเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ ที่ประจำการอยู่ถนนพระรามที่ 1 หน้าห้างสรรพสินค้าพารากอน

สำหรับการตรวจหาคราบเขม่าดินปืนของมือผู้ตายทั้ง 6 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับการตรวจของกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ความจาก พ.ต.ท.วัชรัศมิ์ เฉลิมสุขสันต์ เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.53 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประสานมายังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้มาดูสถานที่เกิดเหตุภายในวัดปทุมฯ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กับเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ได้เดินทางไปยังวัดปทุมฯ ขณะไปถึงเวลา 08.00 น. เศษ พบศพทั้ง 6 ศพ นอนเรียงอยู่ใกล้ศาลา แต่ละศพมีเสื่อคลุม


พยานตรวจสถานที่เกิดเหตุ คราบโลหิต รวมทั้งตรวจมือของผู้ตายทั้ง 6 เพื่อหาอนุภาคที่มาจากการยิงปืน ซึ่งผลการตรวจนั้นไม่พบอนุภาคที่มาจากการยิงปืนทั้ง 6 ศพ ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรายงานการตรวจพิสูจน์เอกสาร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานราชการหน่วยแรกที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุ ตรวจสภาพศพทั้ง 6 ศพ รวมทั้งจัดเก็บหลักฐานการตรวจเม่าดินปืนบริเวณมือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ก่อนหน่วยงานอื่น โดยแสดงถึงวิธีการ จัดเก็บหลักฐานคราบเขม่าดินปืนดังกล่าวตามหลักการวิทยาศาสตร์ไว้อย่างละเอียด ดังนั้น ผลของการตรวจเขม่าดินปืนที่มือของผู้ตายทั้ง 6 ศพ ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ด้วยหลักฐานจึงเชื่อว่ามือทั้ง 2 ข้างของผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีเขม่าดินปืน แสดงว่าผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน


สำหรับ อาวุธปืน กระสุนปืน และปลอกกระสุนปืน ลูกระเบิดชนิดต่างๆ ที่ตรวจยึด เห็นว่าหลังจากการตรวจยึดอาวุธปืนขอกางดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์หรือกองพิสูจน์หลักฐานกลางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตวรจหาลายนิ้วมือแฝงและสายพันธุกรรมดีเอ็นเอ ในการสืบหาคนร้ายที่ครอบครองของกลางดังกล่าว แม้กระทั่งปัจจุบันก็ไม่พบว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวกับของกลาง อีกทั้งของกลางดังกล่าวก็ไม่ได้ตรวจยึดในวันเกิดเหตุ คือวันที่ 19 พ.ค.53 ทันที ขณะนั้นเจ้าพนักงานทหารได้ควบคุมพื้นที่ด้านภายในวัดปทุมฯ และถนนพระรามที่ 1 ไว้หมดแล้ว ก่อนที่เจ้าหน้าที่กลุ่มงานกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ อีกทั้งการตรวจยึดของกลางก็ตรวจยึดหลังจากเกิดเหตุแล้วเป็นเวลาหลายเดือน การตรวจยึดของกลางดังกล่าวนั้นจึงมีข้อพิรุธ


ประกอบกับได้ความจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศอฉ. และ พ.ต.อ. ปรีชา เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.53 ศอฉ. ได้มีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.53 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ออกประกาศ ศอฉ. ห้ามใช้เส้นทางเข้าหรือออกเส้นทางที่กำหนดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป ในวันดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งระงับการให้บริการเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และในวันดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ได้ออกคำสั่งให้งดบริการรถไฟฟ้าสถานีราชดำริ สยาม ชิดลม รวมทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินในสถานีสีลม สถานีลุมพินี ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.53 เป็นต้นไป


นอกจากนี้ วันที่ 13 พ.ค.53 กองบังคับการตำรวจนครบาล ได้ออกคำสั่งกำหนดจุด 13 จุด โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.53 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จภารกิจ เจ้าหน้าที่หน่วยประจำหลักพกปืนพกประจำกาย การตั้งด่านดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ต้องการจัดการคนเข้าและออกในพื้นที่ดังกล่าว โดยห้ามไม่ให้บุคคลนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบ แสดงให้เห็นว่า การตั้งด่านเข้มแข็งของเจ้าพนักงานในพื้นที่ดังกล่าวย่อม เป็นการยากที่บุคคลใดจะนำอาวุธเข้าไปในพื้นที่วัดปทุมฯ และพื้นที่ถนนพระราม 1 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ควบคุมได้เว้นแต่จะได้ รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานซึ่งเป็นทหาร จากพยานหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจค้นอาวุธของกลาง ภายในวัดปทุมและพื้นที่บนถนนพระรามที่ 1


จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายที่ 1 คือนายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 2 คือนายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 3 คือนายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 4 คือนายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 5 คือ น.ส.กมนเกด อัคฮาด  ผู้ตายที่ 6 คือนายอัครเดช ขันแก้ว ถึงแก่ความตายภายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลากลางวัน เหตุและพฤติการณ์การตาย สืบเนื่องมาจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 1 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุปอดและหัวใจ เสียโลหิตปริมาณมาก ผู้ตายที่ 2 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ผู้ตายที่ 3 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด หัวใจ ตับ ผู้ตายที่ 4 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายปอด ตับ ผู้ตายที่ 5 มีบาดแผลกระสุนปืนทำลายสมอง ผู้ตายที่ 6 มีบาดแผลกระสุนปืนทะลุเข้าไปในช่องปาก โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการอ่านคำสั่ง ศาลกล่าวสรุปประเด็นให้ผู้ที่เข้าร่วมฟังด้วยว่า 1. เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานทหาร 2. ผู้ตายทั้ง 6 ไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อน 3. การตรวจยึดอาวุธในวัดปทุมวนาราม ไม่น่าเชื่อว่า มีการตรวจยึดจริง และ 4. กรณีชายชุดดำ ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำ อยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150.


ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

https://www.thairath.co.th/news/politic/362085


#12ปีพฤษภา53 #คนเสื้อแดง

#ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์