คณะรณรงค์ยกเลิก112 (ครย.) รวมพลอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคลื่อนคาร์ม็อบมุ่งศาลอาญา เรียกร้อง 3 ข้อ ปล่อย 11 ผู้ต้องขังทางการเมือง ก่อนเคลื่อนขบวนไปผูกริบบิ้นดำหน้าเรือนจำ
วันนี้ (20 พ.ค.65) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งแมคโดนัลด์ คณะราษฎรยกเลิก 112 หรือ ครย.112 นำโดย นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมด้วยนายเจษฎา ศรีปลั่ง หรือเจมส์ เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี นัดรวมพล "คาร์ม็อบ" "ส่งเสียงถึงศาลสงสารถึงเพื่อน" โดยมีกลุ่มทะลุฟ้า นำรถเครื่องเสียงมาช่วย
13.20 น. ก่อนเคลื่อนขบวน นายสมยศได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การทำกิจกรรม ก่อนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศาลอาญา เพื่อยื่นหนังสือ
นายสมยศระบุว่า วันนี้เป็นการรวมตัวของคณะราษฎรที่จะต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 เนื่องจากมาตรานี้เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ป่าเถื่อน ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนต่ออำนาจรัฐและการปกครองของประเทศนี้ เราจึงเห็นว่าในการใช้กฎหมาย 112 นั้น ไปเพื่อทำลายประชาธิปไตย เพื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนไทย
ทั้งนี้นายสมยศได้กล่าวย้ำอีกว่า การกระทำของตะวันและทุกคนที่ถูกจับกุมคุมขังทั้ง 11 คนในขณะนี้ เป็นเพียงผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่เป็นอันตรายอื่นใด ที่ถูกกล่าวหานั้นยังไม่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิด การที่อ้างว่าไม่ปล่อยตัวเพราะเกรงว่าจะไปกระทำความผิด หรือก่ออันตรายประการอื่นนั้น ไม่มีน้ำหนัก หรือเหตุผลเพียงพอในการยอมรับได้ คดีนี้ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าผิด การทำโพลไม่สามารถไปก่ออันตรายประการอื่นได้ อย่างเช่นการชิงวิ่งราว
ที่สำคัญ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้มาเป็นนายประกันรับรองในคดีนี้ เพื่อให้มีการปล่อยตัวทานตะวัน และขณะนี้นายพิธาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ย่อมเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นหลักประกันเพียงพอที่ศาลจะต้องปล่อยนักโทษการเมืองเหล่านี้ทุกคน
ซึ่งวานนี้มีการรำลึกคนเสื้อแดง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีส่วนในการสั่งการ เป็นอาชญากรลอยนวล แต่คนที่เป็นราษฎรแสดงความคิดเห็นปกติ ห่วงใยประเทศชาติกลับถูกคุมขัง
“จึงขอเรียกร้องผู้พิพากษาทุกท่าน เราไปวันนี้เพื่อรักษาเกียรติยศของผู้พิพากษาให้เป็นที่น่าเชื่อถือและศรัทธาของสังคมต่อไป หวังว่าจะทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมจริง นายสมยศกล่าว
ทั้งนี้ในขบวนได้มีการนำธงสีขาว ระบุข้อความอาทิ "ปล่อยเพื่อนเรา", "ยกเลิก112", "ปล่อยนักโทษทางการเมือง" รวมถึงมีภาพ ผู้ต้องขังทางการเมืองทั้ง 11 ราย ติดไว้ที่รถ มอเตอร์ไซค์, ข้างรถยนต์ รวมถึงติดที่ป้ายทะเบียนรถ เป็นต้น
จากนั้น 13.30 น. ครย.112 ได้ เคลื่อนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเคลื่อนผ่านสะพานปิ่นเกล้า ถนนจรัญสนิทวงศ์ สะพานพระราม 7 แยกประชานุกูล เข้าถนนรัชดาภิเษก ก่อนหยุดรถหน้าศาลอาญา และส่งตัวแทนยื่นหนังสือต่อศาลอาญา โดยจะมีการส่งตัวแทน เพื่อมอบหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา เรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมืองทั้ง 11 คน
กระทั่ง 15.00 น. ขบวนคาร์ม็อบ ครย.112 เคลื่อนมาถึงหน้าศาลอาญา โดยผู้ร่วมขบวนร่วมบีบแตรดังสนั่นก่อนตะโกนว่า "ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ" อีกทั้งยังนำป้ายผ้าขนาดใหญ่ ระบุข้อความ "ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก 112" แขวนไว้บริเวณสะพานลอยหน้าศาลอาญา พร้อมโปรยกระดาษเชิงสัญลักษณ์ ข้อความอาทิ "ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยนักโทษการเมือง", ภาพ 11 นักโทษทางการเมือง, แถลงการณ์ ครย.112 รวมถึงข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม ปี 2553, เหตุการณ์สงกรานต์เลือดปี 2552
จากนั้นครย.112 ได้เดินเท้าไปยังหน้าประตู 8 ศาลอาญารัชดาเพื่อยื่นหนังสือ ส่งถึง ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง 11 ราย
ต่อมานายณัชปกร นามเมือง หรือฐา ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เป็นตัวแทน คณะราษฎรยกเลิก 112 กล่าวถึงข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่
1. ศาลต้องคุ้มครอง และคืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ถูกกล่าวหา ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรค 2 คดีอาญา ให้สันนิษฐานก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
2. การไม่ให้ประกันตัว หรือถอนประกัน โดยอ้างเหตุผลว่า อาจก่อให้เกิดความเสียหายประการอื่น เป็นเหตุที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การก่อเหตุอันตราย ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ให้จำเลยได้รับการประกันตัว
3. การไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างเหตุผลหลบหนี ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เช่น คดีของนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายสมบัติ ทองย้อย ที่ไม่ทีประวัติหลบหนี ทั้งนี้ในคำร้องขอประกันตัวมีการระบุเงื่อนไข ให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เพื่อป้องกันการหลบหนี แต่ศาลไม่พิจารณา และใช้มาตรการคุมขังเป็นมาตรการหลัก
คณะราษฎรยกเลิก 112 ขอเรียกร้องให้อธิบดีศาลอาญา และผู้พิพากษาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักยุติธรรม รัฐธรรมนูญไทย และสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของสถาบันตุลาการ และกระบวนการยุติธรรมไทย
ขณะที่เพื่อนของ เก็ท โมกหลวงริมน้ำ กล่าว ด้วยเสียงสะอื้นว่า ตนตัดสินใจว่าต้องออกมาสู้เพื่อคนใกล้ตัว ดีใจที่คนอื่นยังโบกสะบัดธงรูปพวกเขาอยู่ ยังมีคนสู้อยู่ตามอุดมการณ์ของเขาที่ตั้งมั่น
“เก็ทเป็นนักศึกษาแพทย์ ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่ได้เป็นบุคลากรทางการแพทย์เต็มตัว แต่การเป็นบุคลากรทางการแพทย์คือความฝันของเขา เขาจะได้สอบใบประกอบวิชาชีพในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่การที่เขาถูกคุมขังอยู่ เป็นการที่เขาต้องละทิ้งความฝันของเขาไป หวังว่าศาลจะมีความเมตตาแก่นักโทษทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการตัดสิน แต่ต้องถูกจองจำอย่างนี้ ขอให้เมตตาและปล่อยทุกคนออกมา” เพื่อนของเก็ทกล่าว
จากนั้น เพื่อนของ"เก็ท" เป็นตัวแทนยื่นหนังสือผ่านตัวแทนศาลอาญา ส่งถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ก่อนที่ผู้ร่วมกิจกรรมหันหน้าไปทางศาลอาญา แล้วชู 3 นิ้ว พร้อมตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา คืนสิทธิประกันตัว ยกเลิก 112” ติดต่อกัน 3 ครั้ง
อย่างไรก็ตามมีการอัพเดทข้อมูลโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า
15.50 คำสั่งประกันตะวัน โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. #พิธา ศาลสั่งนัดไต่สวนวันที่ 26 พ.ค. 65 และให้เสนอพฤติการณ์พิเศษ เช่น ตั้งผู้กำกับดูแลตะวันไม่ให้ทำผิดเงื่อนไขหากได้ปล่อยตัว
ด้านประกันเก็ท ศาลยกคำร้อง ให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
กระทั่งเวลา 16.05 น. ขบวนเคลื่อนถึงหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน พร้อมบีบแตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสียงถึงเพื่อนในเรือนจำ
โดยผู้ร่วมกิจกรรมผูกโบว์สีดำที่รั้วลวดหนามที่เจ้าหน้าที่นำมาวางกั้นไว้ด้านหน้าประตูเรือนจำ เพื่อเป็นการ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ถึงความอยุติธรรมและความมืดดำ จากนั้นได้ประกาศยุติกิจกรรมในเวลา 16.40 น.
#ม็อบ20พฤษภา65 #UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ครย112