วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ “สุธินี” จำเลยคดี ม.112 กรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี ไปเรียนภาษาหลังสอบได้ทุนรัฐบาลเยอรมันเดียวกับ “เดียร์ รวิสรา”

 



ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ "ฟ้า สุธินี" จำเลยคดี ม.112 กรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ไปเรียนภาษาหลังสอบได้ทุนรัฐบาลเยอรมัน


วานนี้ (25 พ.ค. 65) เวลา 14.20 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ “ฟ้า” สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 21 ปี หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้านภาษาเยอรมัน


ในคดีนี้ อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 64 และศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขประการหนึ่ง คือ “ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล” ต่อมา สุธินีได้รับทุนการศึกษา เพื่อไปศึกษาแลกเปลี่ยนภาษาเยอรมัน ยังประเทศเยอรมนี เธอจึงได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขออนุญาตเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 65 “ฟ้า สุธินี” ได้ทุนแลกเปลี่ยน 1 เดือน ทุนให้เปล่าจากรัฐบาลเยอรมันเดียวกันที่ “เดียร์ รวิสรา” สอบได้เพื่อเรียน ป.ดท นาน 2 ปีครึ่ง


ทุนการศึกษานี้เป็นทุนการศึกษาด้านภาษาเยอรมัน ณ สถาบันภาษาเยอรมันและวัฒนธรรม ที่ มหาวิทยาลัยฮัลเลอ-วิทเทนเบิร์ก (Universität Halle-Wittenberg, MLU) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ผู้เรียนได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้านภาษาเยอรมันในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน โดยมีกำหนดการศึกษาตั้งแต่วันที่ 3-28 ก.ค. 2565 


ทุนดังกล่าวเป็นทุนการศึกษาให้เปล่าจาก “ศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) ของรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันที่มอบทุนการศึกษาให้กับ “เดียร์ รวิสรา” จำเลยในคดีเดียวกันนี้ โดย “เดียร์ รวิสรา” สามารถสอบชิงทุนการศึกษาจากองค์กรดังกล่าวได้และมีสิทธิ์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขา การจัดการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรึค (University of Applied Science Osnabrück) 


ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 2565 รวิสราต้องยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ถึง 7 ครั้ง โดยแต่ละครั้งศาลจะมีคำสั่งให้เพิ่มเติมตามเงื่อนไขและเอกสารที่ศาลได้ร้องขอ กระทั่งมีคำสั่งอนุญาตให้ไปศึกษาต่อได้ ก่อนมหาวิทยาลัยที่เยอรมันของรวิสราจะเปิดทำการเรียนการสอนเพียง 3 วัน ซึ่งขณะนี้รวิสรากำลังศึกษาในทุนดังกล่าวอยู่ที่ประเทศเยอรมนี


ทั้งนี้ ทุนการศึกษาที่ “ฟ้า สุธินี” ได้รับนั้นต่างจากทุนการศึกษาในโปรแกรมของ “เดียร์ รวิสรา” โดยทุนของ “ฟ้า สุธินี” เป็นทุนการศึกษาในโปรแกรมหลักสูตรภาคฤดูร้อนที่มอบให้กับนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้านภาษาเยอรมันในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ทุนที่ “เดียร์ รวิสรา” ได้รับเป็นทุนการศึกษาโปรแกรมเฮลมูท-ชมิดท์ที่มอบให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งมีกำหนดการศึกษารวมประมาณ 2 ปี


“ฟ่ส สุธินี” ยื่นคำร้องขอไปแลกเปลี่ยนภาษาที่เยอรมัน ระบุเหตุผล ไปเพียง 1 เดือนเรียนเสร็จต้องกลับไทยมาเรียนอักษรฯ จุฬาฯ อีก 24 หน่วยกิตให้จบเป็นทุนสำคัญต่อความสัมพันธ์ ไทย-เยอรมัน ครบ 160 ปี


เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอเดินทางนอกราชอาณาจักรเพื่อให้ “ฟ้า สุธินี” ได้ไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนีต่อศาล และได้ระบุเหตุผลสำคัญในคำร้องโดยสรุป ดังนี้


1. “ฟ้า สุธินี” เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ของคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาตะวันตก วิชาเอกภาษาเยอรมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตร 4 ปี เป็นผู้มีผลการเรียนดีและมีความประพฤติดี เคยได้รับรางวัลเรียนดีประจำปีการศึกษา 2564 จากสาขาภาษาเยอรมันด้วย โดยหากศาลอนุญาตให้เดินทางไปศึกษาตามหลักสูตรทุนศึกษาที่ได้รับยังประเทศเยอรมนีจนจบหลักสูตรแล้ว จะเดินทางกลับมายังประเทศไทยทันที เนื่องจากยังจะต้องเรียนต่อในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตให้จบหลักสูตร โดยยังจะต้องลงทะเบียนเรียนอีก 24 หน่วยกิต ใช้เวลาอีกประมาณ 2 ภาคการศึกษา หรือ 1 ปีการศึกษา


2. ทุนการศึกษานี้มีความหมายและมีคุณค่าอย่างมาก โดยหลังจาก “ฟ้า สุธินี” ได้รับการยืนยันว่าได้รับทุนการศึกษานี้ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายเพื่อแสดงความยินดีและยืนยันว่าการที่ได้รับทุนดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เพราะมีเพียงนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมและผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จเท่านั้นที่ถือเป็นผู้มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมสำหรับทุนการศึกษาระยะสั้นเช่นนี้ และยังได้แสดงความเชื่อมั่นว่าการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมนีในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์กับ “ฟ้า สุธินี” แล้ว ยังจะเป็นการนำประโยชน์กลับมาสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในปี 65 นี้ ซึ่งครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เยอรมัน


3. ทุนการศึกษานี้เป็นการไปศึกษาแลกเปลี่ยนในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งมีกำหนดการศึกษา 26 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 – 28 ก.ค. 65 โดยมีกำหนดการเดินทางไปในวันที่ 25 มิ.ย. 65 และเดินทางกลับในวันที่ 2 ส.ค. 65 นอกจากนี้ “ฟ้า สุธินี” ยังได้เสนออาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ศาลพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอีกด้วย


หลัง “ฟ้า สุธินี” ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปแลกเปลี่ยนด้านภาษาตามที่ได้รับทุนการศึกษา ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งระบุว่า

 

ให้จำเลยติดต่อหาบุคคลที่มีคุณสมบัติและมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้กำกับดูแลและยินยอมที่จะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยในระหว่างที่จำเลยศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนี เพื่อที่จะสามารถติดต่อประสานงานกับผู้กำกับดูแลที่อยู่ในประเทศไทยมาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป”


อย่างไรก็ตามการเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนภาษาเยอรมันที่ประเทศเยอรมนีตามที่สุธินีได้รับทุนการศึกษาไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมการพิจารณาคดีในคดีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากทุนการศึกษานี้มีกำหนดการเรียนวันสุดท้ายในวันที่ 28 ก.ค. 2565 และเธอจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 2 ส.ค. 2565 แต่ในคดีนี้ ศาลได้นัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2566


ที่มาข่าวและภาพ : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


UDDnews #ยูดีดีนิวส์