วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ธิดา ถาวรเศรษฐ : แง่คิดในการรำลึก “อากง” ปัญหาคดี 112 กับขบวนการประชาชน


ธิดา ถาวรเศรษฐ : แง่คิดในการรำลึก “อากง” ปัญหาคดี 112 กับขบวนการประชาชน


กรณีคดีอากงและคดี 112 ในปัจจุบัน พิสูจน์ระบอบกการเมืองการปกครองภายใต้โครงสร้างที่ปกครองโดยเครือข่ายจารีต-อำนาจนิยม หรือระบอบอำมาตยาธิปไตย คณาธิปไตยจารีตนิยม


คดีดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล (ดา ตอปิโด) ปีพ.ศ. 2551 จำคุก 18 ปี คดีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำคำพูดดารณีไปขยายผลไม่ผิด

คดีอากง อำพล ตั้งนพกุล ปีพ.ศ. 2553 คดีที่สะเทือนขวัญประชาชนมาก จำคุก 20 ปี


เปิดเผยความไม่ถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นจนปลาย สะเทือนใจผู้รักความยุติธรรมสูงสุด ช่วงนั้นมีการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและจากองค์กรมากมาย (องค์กรประชาธิปไตยอาจช้าหน่อย เพราะไม่ได้เป็นผู้กล้าคนเดียว เขาต้องทำงานโดยอาศัยมติและการประชุม) รายละเอียดคดีอากง ทุกคนคงทราบแล้ว ตั้งแต่การตั้งข้อกล่าวหาเป็นเท็จ ผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่เป็นผู้กระทำการ ไปจนกระบวนการสืบสวน ไต่สวน สอบพยาน ที่นำไปสู่คำพิพากษาที่มีผลต่อชีวิตและครอบครัวอากงผู้บริสุทธิ์ ไม่รู้จักเทคโนโลยีในการส่งข้อความใด ๆ


ดิฉันได้แสดงความคิดเห็นของตนเองในหลายเวลามานานแล้วในประเด็นที่ควรแก้ไขมาตรา 112 ในยุคนั้น ซึ่งผู้เสนอเข้มแข็งคือกลุ่มนิติราษฎร์ และการสนับสนุนของผู้รักความยุติธรรมและคนเสื้อแดง มีคณะปัญญาชนนำในชื่อ ครก. (คณะรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) แม้ นปช. จะไม่ใช่กองหน้าในเรื่องนี้ ก็มีความพยายามจะด่าทอ ทั้งนปช. พรรคเพื่อไทย และคุณทักษิณ และจับมามัดรวมกันในประเด็น 112 ซึ่งเป็นเรื่องของต่างความคิดกัน ต่างองค์กรกัน จริง ๆ แล้ว นี่เป็นการดูหมิ่นคนที่ทำงานเป็นกองหน้า คือ ครก.และนิติราษฎร์ และดูหมิ่นตนเอง (ผู้กล่าวโจมตี) ด้วย เพราะ


1. ไม่ใช่ทุกกลุ่มจะเป็นองหน้านำในทุกเครื่อง

2. แต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กร ต้องทำงานท่วงทำนองประชาธิปไตย การนำรวมหมู่ให้ได้มติในเรื่องสำคัญที่กระเทือนหลักนโยบาย ไม่ใช่ลัทธิฮีโร่คนเก่งคนเดียวที่เรียกว่า “วีรชนเอกชน” ถ้าเป็นเช่นนั้น องค์กรการต่อสู้จะแตกแยกจนถึงขั้นล่มสลายแบบองค์กรในอดีตและปัจจุบัน

3. ในกรณีวิกฤต แกนนำจึงต้องสามารถติดต่อกันได้ หรืออยู่ในสนามการต่อสู้ด้วยกัน เพื่อออกมติร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การกระทำที่เป็นเอกภาพ

4. เป้าหมายหลักการต้องอยู่ในความก้าวหน้าของประชาชน เช่นของนปช.คือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนแท้จริง ก็คือความก้าวหน้าที่นำไปสู่อำนาจของประชาชนโดยคำนึงถึงเสรีภาพ ความเท่าเทียม ภราดรภาพ


ขบวนการใด กระบวนการใด การกระทำใด ที่นำไปสู่เป้าหมายในทิศทางก้าวหน้านี้ เราต้องสนับสนุนทั้งสิ้น


ผู้ที่ไม่สามารถแยกแยะมิตร/ศัตรูได้ ก็จะเอาแต่ก่นด่ามิตร โดยลืมไปว่าผู้ก้าวหน้าจริงเขาจะไม่ทำเช่นนั้น!


ในยุคนั้น 10 ปีที่แล้ว เป็นการขับเคลื่อนเพื่อขอแก้ไขมาตรา 112 (ครก.) แต่มายุคนี้กลายเป็น ขอยกเลิกมาตรา 112 (ครย.) ไป ๆ มา ๆ ปัญหา 112 ยิ่งถูกเรียกร้องมากขึ้นทั้งเนื้อหาและจำนวนคนที่เห็นด้วย และท่าทีขององค์กรประชาธิปไตยและมวลชนผู้รักประชาธิปไตย ก็ปรับเปลี่ยนไปให้ยกเลิกมาตรา 112 แทน อย่างไรก็ตาม กรณีพรรคการเมืองเสนอขอแก้ไขมาตรา 112 แทนยกเลิก ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองนั้น ๆ หรือพวกไม่แตะต้องมาตรา 112 เลย ก็เป็นการแสดงจุดยืนให้สังคมพิจารณา แต่ละกลุ่ม แต่ละคน แต่ละพรรค กำลังถูกท้าทายด้วยสถานการณ์ใหม่ของมาตรา 112 ที่รุนแรงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ!


อำพล ตั้งนพกุล : วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%A5_%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5


#มาตรา112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์