คนเดือนตุลาเปิดตัวกลุ่ม OCTDEM ร่วมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องกระบวนการยุติธรรมยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม ให้แกนนำราษฎรได้รับสิทธิ์การประกันตัวมาต่อสู้คดีด้วยความเป็นธรรม ก่อนที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อศาลฎีกา
วันนี้ (2 เม.ย. 64) เวลา 13.00 น. ที่ ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่ม "OCTDEM" นำโดยอดีตคนเดือนตุลา อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายสมศักดิ์ ปริศนานันนทกุล นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี และนพ.ทศพร เสรีรักษ์ ร่วมกันจัดกิจกรรมแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่ม โดยมีนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ.ได้เป็นตัวแทนวางช่อดอกไม้บนประติมากรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วย จากนั้นได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ พร้อมทั้งตอบคำถามผู้สื่อข่าว ก่อนเคลื่อนขบวนเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา
ซึ่งก่อนเริ่มอ่านแถลงการณ์ ผู้จัดงานได้เชิญทุกคนยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที
โดยนายสุเทพ สุริยะมงคล ประธานโดมรวมใจ กล่าวว่า เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วมีนักศึกษาที่อยากให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีประชาธิปไตย คนเหล่านี้ได้ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมเพียงเพราะคิดต่างจากผู้มีอำนาจ มาปัจจุบันนี้เรายังได้ยินเสียงเพลงหนักแผ่นดินอีกครั้งที่เมื่อ 40 กว่าปีก่อนเคยมีและหายไป เขามองว่า คนคิดต่างไม่ผิด แต่ควรให้ที่ยืนกับเขา วันนี้คณะทำงานเห็นว่า เราควรจะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรม เราจึงทำหนังสือถึงผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย
จากนั้น ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้เป็นตัวแทนกลุ่มอ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า จากกรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ถูกรัฐใช้อำนาจจับกุม คุมขัง และควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ ซึ่งขณะนี้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว บรรดาแกนนำราษฎรผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ถือเป็นสิ่งที่ทางกลุ่มไม่สามารถยอมรับได้ เพราะมองว่า การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคดี ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเหล่านั้นยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่และจะปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนเป็นผู้ถูกพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดแล้วไม่ได้ ทางกลุ่มจึงต้องการเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาต่อศาลยุติธรรม เพื่อให้โอกาสบรรดาแกนนำราษฎรได้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ โดยเปิดเผยและให้พวกเขาได้มีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี เพื่อมีโอกาสในการแสวงหาหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ความบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ต่อไป
.
ด้านพนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า ผมเอง อันที่จริงเป็นคนรุ่นก่อนคนเดือนตุลา เมื่อเกิดเหตุ 14 ตุลาคม 2516 เรียนจบแล้วไล่ ๆกับอาจารย์ชาญวิทย์ ผมได้เห็นเหตุการณ์ 14 ตุลา ปลื้มปีติยินดีกับชัยชนะในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่...คราวนั้นเรามีความรู้สึกว่า เราได้มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ 6 ตุลา นำความเศร้าโศกเสียใจและสลดใจ ไม่สามารถที่จะตอบเพื่อนๆต่างชาติว่า มันเกิดขึ้นอะไรในการเมืองไทย...ตั้งแต่นั้นมาผมมีความรู้สึกว่า เราต้องมี Commitment บางอย่างเพื่อประเทศชาติและสังคมที่ดีกว่าที่เป็นในปัจจจุบัน สิ่งนั้นคือสิ่งที่ผมเชื่อถือและศรัทธามาตลอดคือ เสรีภาพ การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ...ส่วนที่จะทำได้พยายามจะกระทำอย่างดีที่สุดที่จะทำได้ มาจนถึงทุกวันนี้มันมีความรู้สึกที่น่าสลดใจ ที่เหตุการณ์ 45 ปีที่แล้วเหมือนจะเวียนกลับมาอีก หวังว่า ในที่สุดแล้วจะมีการทบทวนความคิด ท่าทีต่าง ๆ ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างในส่วนที่เกี่ยวกับศาลยุติธรรม ผมคิดว่า ศาลยุติธรรมต้องมีบทบาทในการคุ้มครองและส่งเสริมรักษาเสรีภาพของประชาชน ต้องปกป้องคุ้มครองการที่ประชาชนจะถูกย่ำยีจากฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรม!
ขณะที่ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวว่า ผมอยู่ที่นี่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ 5 ตุลา 2519 ผมทำงานกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ชื่อว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรามาที่นี่เราเคารพสักการะ อนุสรณ์สถานคนเดือนตุลา แต่หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า เหยื่อรายแรกคือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผมอยากจะเห็นกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยดำเนินการไปตามตัวบทกฎหมายที่แท้จริง ผมอยากจะบอกบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์..."
ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า เราเป็นผู้ที่ถูกกระทำในอดีตและมีประสบการณ์ในการปราบปรามเข่นฆ่า เราควรจะใช้ประสบการณ์ในการบอกสังคมว่า การปราบ คุกคาม ทำร้ายต่อผู้เห็นต่างไม่เป็นประโยชน์ มีแต่จะเกิดความสูญเสีย สิ่งที่เราทำได้คือ ช่วยนำประสบการณ์มาเสนอ ให้ผู้เห็นต่างที่หลากหลายสามารถอยู่ร่วมสังคมเดียวกันและร่วมสร้างสังคมไปด้วยกัน วันนี้เห็นชัดเจนว่า มีการคุกคามทำร้าย เราต้องการเสนอคือต้องการให้หยุดคุกคามและการใช้หลักนิติธรรมกับผู้เห็นต่าง ระยะเฉพาะหน้านี้มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อนักศึกษาและเยาวชนที่เห็นต่างกับรัฐ เราจึงทำหนังสือขอพิจารณาในการปล่อยตัวผู้ต้องหา เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่นี่ไม่ใช่เป็นการไปเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพราะคิดว่า ทำแบบนั้นก็เพิ่มคนให้ได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์คือ การเสนอความรู้และนำข้อคิดเห็นไปเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อสังคม ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่าง การยื่นจดหมายเป็นกิจกรรมเริ่มต้น แต่จากนี้ไปก็จะต้องคิดต่อไปว่า จะร่วมแก้ไขความขัดแย้งอย่างไรต่อไป แต่ไม่ใช่การร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษา "เราเห็นเขาในฐานะที่เป็นผู้ที่แสดงความเห็นต่าง มีความปรารถนาดีต่อสังคม แต่กำลังถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน...ทำให้เขาได้รับความเป็นธรรม สามารถต่อสู้คดีได้อย่างไม่มีอะไรขัดขวาง"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามเรื่องจุดยืนต่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นายจาตุรนต์ตอบว่า ถ้าถามเป็นรายคนก็คงมีจำนวนมากที่เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลแต่การทำงานในลักษณะเป็นกลุ่มยังไม่ได้พิจารณาร่วมกัน เขากล่าวย้ำว่า จุดยืนของกลุ่มคือ "หาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างสันติและหลักนิติธรรมและหลักนิติธรรมที่ว่านี่เฉพาะหน้ามันรวมถึงเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีคดีเกี่ยวกับมาตรา 112
แต่หลักรัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ข้อตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีกับองค์กรระหว่างประเทศให้ความคุ้มครองผู้ต้องหาไม่ว่าข้อหาใด ข้อหาอะไรจึงไม่ใช่ประเด็น ประเด็นของเราคือว่า ไม่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกคุมขังอยู่ด้วยข้อหาอะไร ถ้ายังไม่มีการพิพากษาถึงที่สุดและไม่มีเหตุว่าจะหลบหนี ต้องได้สิทธิ์ในการประกันตัวและเน้นย้ำว่า ทางกลุ่มไม่ได้มาเข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา แต่จะขอเสนอประสบการณ์เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งของสังคม ส่วนสิ่งที่อยากนำเสนอนักศึกษานั้น เวลานี้คงยังไม่มีอะไรแนะนำ เป็นเพราะเห็นว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องการให้เขาได้ต่อสู้คดีโดยอิสระ
ต่อมาในเวลาประมาณ 14.25 น กลุ่ม OCTDEM ได้ตั้งขบวนและเดินเท้าไปหน้าศาลฎีกาเพื่อยื่นหนังสือถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม โดยมีตัวแทนศาลฎีกาออกมารับมอบหนังสือ
#OctDem #UDDnews #ยูดีดีนิวส์
ประมวลภาพ