‘ณัฐวุฒิ’ ขึ้นศาลตามนัดพร้อมในคดีชุมนุมหน้าทำเนียบปี
52 / ความเห็นการชุมนุมเมื่อ 4 เม.ย. โดย ‘จตุพรและคณะ’ / มองจุดร่วมในการเรียกร้องอิสรภาพให้กับเยาวชนที่ถูกขังอยู่เป็นสิ่งสำคัญที่ควรพูดถึงทุกเวที
/ งานครบรอบ 10เมษา 19พฤษภา
5 เม.ย. 64 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา
รัชดาภิเษก ศาลนัดพร้อมคดีนปช.ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2552 คดีหมายเลขดำ
อ.968/61 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำนปช.กับพวกรวม 13 คน
เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมชุมนุมฯ บริเวณสะพานชมัยมยุรเชฐ
ซึ่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
หนึ่งในจำเลยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า “วันนี้เป็นการนัดพร้อมระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี
2552 ที่จริงก็มีการสืบพยานโจทก์กันมาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ช่วงที่ผมอยู่ในเรือนจำ
แต่เนื่องจากว่านัดหมายเดิมได้ถูกยกเลิกไปจากสถานการณ์โควิด-19
วันนี้ศาลท่านก็เลยนัดคู่ความมาพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดหมายใหม่”
นายณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า “ก็จะมีจำเลยหลายท่านซึ่งได้ทำคำร้องขออนุญาตศาลในการพิจารณาคดีลับหลัง
วันนี้จำเลยเหล่านั้นก็เลยไม่ต้องมาศาล
แต่ผมมาทุกนัดเพราะว่าถูกเบิกออกมาจากเรือนจำ ไม่ได้ขออนุญาตพิจารณาลับหลังไว้
วันนี้ก็มาเข้ากระบวนการ หลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการมาสืบพยานโจทก์ สืบพยานจำเลย
กันตามกำหนดนัด ซึ่งจะได้ข้อสรุปในบ่ายวันนี้ครับ”
ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีการชุมนุมเมื่อวานนี้
(4 เม.ย.) นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ผมเคารพในทุกการเคลื่อนไหว ในทุกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนะครับ
เมื่อเวทีเมื่อคืนนี้ประกาศเป้าหมายที่จะขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ให้พ้นจากอำนาจ
ผมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายเขาก็เรียกร้องกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว
และถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะพ้นจากอำนาจก็ถือว่าเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติและประชาชน
จึงบอกว่าก็เคารพต่อความเคลื่อนไหวเมื่อวาน และก็ทราบจากสื่อมวลชนว่าจะมีการประกาศชุมนุมต่อเนื่อง
ก็ต้องติดตามกันต่อไป
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนเวที
และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมก็คือ การรวมตัวกันของแกนนำทุกฝ่ายทุกข้าง
รวมกระทั่งผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายที่มาแสดงตัว
น่าจะเป็นการรวมตัวกันภายใต้เป้าหมายเฉพาะหน้าทางการเมือง คือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา ยังไม่เห็นรูปธรรมของการรวมตัวกันในเชิงอุดมการณ์
ทั้งนี้ทั้งในระดับแกนนำผู้ปราศรัยและในระดับประชาชนผู้ร่วมชุมนุม
ซึ่งอันนี้ก็คงจะไปคาดหวังรวบรัดเอาเร็วก็คงลำบาก เพราะเขาเพิ่งเริ่มกันวันแรก
แล้วก็ยังมีนัดหมายวันต่อ ๆ ไป
ก็ต้องดูพัฒนาการในจุดตรงนี้ว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการหลอมรวมกันทางอุดมการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน?
อย่างไร?
ผมมองปรากฏการณ์นี้เป็นไปได้ 2 แบบ
เนื่องจากเป็นการรวมพลังกันภายใต้เป้าหมายเฉพาะหน้าทางการเมือง
มันก็อาจจะเติบโตขยายตัวเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
เพราะว่าเป้าหมายมันสอดคล้องกับความต้องการของผู้คน นี่ก็อาจจะเป็นไปได้
หรือไม่เช่นนั้น เมื่อเดินไปข้างหน้าแล้วก็อาจจะมีความแตกต่างกันทางอุดมการณ์
มีความแตกต่างกันในเชิงเนื้อหาสาระทางการเมือง
จนทำให้ความเคลื่อนไหวอาจจะก้าวเดินได้ไม่เร็วนัก เกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี
ก็ต้องติดตามกันต่อไปอย่างที่เรียนเมื่อสักครู่นะครับ เขาเพิ่งเริ่มกันวันแรก
ผมไม่ได้ไปร่วม จะมาฟันธงเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ผมก็ว่าเกินไป
ผู้สื่อข่าวถึงการตัดสินใจไปร่วมชุมนุม
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ผมยังไม่ได้ตัดสินใจไปถึงตรงนั้น เพียงแต่ว่าสถานการณ์การเมืองวันนี้มันมีความแหลมคมและมีความซับซ้อน
ดังนั้นเมื่อปรากฏความเคลื่อนไหว คนแบบผมต้องติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
และก็คงดูสถานการณ์ด้านอื่น ๆ รวมไปด้วย เพราะว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่ปรากฎขึ้นใหม่
ในขณะเดียวกันการต่อสู้ของกล่มเดิมก็คือนิสิต นักศึกษา เยาวชน
แกนนำหรือมวลชนที่เขาขับเคลื่อนเขาก็ยังทำหน้าที่อยู่ เท่าที่ทราบก็ยังมีการนัดหมายชุมนุม
นัดหมายเคลื่อนไหวกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องดูว่าปรากฏการณ์ 2 ส่วนนี้
ถึงที่สุดจะมีพัฒนาการอย่างไร?
กระนั้นก็ตาม
ผมเห็นว่าแม้เวทีเมื่อคืนนี้จะมีเป้าหมายชัดเรื่องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา ซึ่งส่วนตัวผมก็ไม่ขัดข้องอยู่แล้ว
แต่ว่าสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นจุดร่วมกันได้
แล้วก็น่าจะปรากฏร่วมกันในทุกมุมความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็คือ
การเรียกร้องอิสรภาพให้กับเยาวชน ให้กับคนหนุ่มสาวที่ถูกจองจำอยู่เวลานี้
แล้วก็ที่กำลังจะถูกจองจำอยู่ในอนาคตอันใกล้จากกระบวนการของคดีความที่แต่ละคนแบกรับกันหลายสิบคดี
ผมว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นจุดร่วมของทุกความเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในวันนี้ได้
และก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึง
ถูกผลักเน้นขึ้นมาให้ชัดในทุกเวทีที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ครับ
ตอบคำถามกรณีเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มเยาวชน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ก็ยังคงติดตามสถานการณ์อยู่
อย่างที่เรียนนะครับว่าผมเพิ่งออกมาได้ก็ไม่กี่วัน
แล้วก็ช่วงเวลาที่เราต่อสู้อย่างเข้มข้นก็ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปีแล้ว
ดังนั้นแต่ละก้าวเดินก็คงจะต้องรอบคอบ รัดกุม
เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
“จุดยืน” ผมยืนยันชัดไปแล้ว
ส่วนที่จะก้าวเดินก็ให้เวลา ให้สถานการณ์เป็นตัวกำหนดก็แล้วกันครับ
กรณีที่นายจตุพรพูดว่าถ้านายณัฐวุฒิตัดสินใจเข้าร่วมกับคนรุ่นใหม่จะมอบตำแหน่งประธานนปช.ให้นั้น
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อันนั้นก็เป็นความคิดเห็น เป็นท่าทีการแสดงออกของคุณจตุพร
ตัวผมเองก็รับทราบ
เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของผมหรือการแสดงจุดยืนทางการเมืองของผมมันคงไม่ได้เกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ในองค์กรไหนนะครับ
ไม่ได้สัมพันธ์กับการที่จะต้องมีหรือไม่มีตำแหน่งใด ๆ เอาเข้าจริงในการต่อสู้ทางการเมืองมันคงไม่ได้อยู่ที่ใครมีตำแหน่งไหนแล้วถึงจะขับเคลื่อนได้มากได้น้อย
มันอยู่ที่เราจะเดินไปทิศทางใด แล้วประชาชนจะให้ความเชื่อมั่นอย่างไร
ซึ่งอันนี้มันก็ต้องพิสูจน์ทราบโดยรูปธรรมของการกระทำ
พิสูจน์ทราบโดยบทพิสูจน์ของกาลเวลา
ระบอบประชาธิปไตยมันงดงามตรงนี้
ตรงที่ว่ามันมีเวลา มันมีสถานการณ์ให้พิสูจน์ตัวตนของแต่ละคนได้ตลอดทางจนกว่าแตกดับกันไป
หรือยุติการต่อสู้ อย่างที่เราเห็นนะครับ ครั้งหนึ่งที่เมียนมาร์ก็ยกย่อง “อองซาน
ซูจี” เป็นจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
เมื่อชนะเลือกตั้งก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน จนกระทั่งรางวัลสำคัญ
ๆ ระดับโลกที่ได้รับต้องถูกยกเลิกเพิกถอน ขณะที่วันหนึ่งมีการรัฐประหาร “อองซาน
ซูจี” ก็กลับมาเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเมียนมาร์อีกครั้ง
ดังนั้น ทุกคนทุกฝ่าย
ผมว่าก็เดินหน้าไปในฐานะประชาชน
เดินหน้าไปในฐานะคนที่มีหลักการเดียวกันมันทำได้หมด เราดูน้อง ๆ เยาวชน
คนหนุ่มคนสาวที่เขาสู้ นำพาการต่อสู้มาถึงขนาดนี้ ไม่มีใครมีตำแหน่งอะไร ก็ยังมีพลังในตัวเอง
ตอบคำถามกรณีวันครบรอบ 10เมษา 19 พฤษภา นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เราทำกันมาทุกปีนะครับ ทำได้มากได้น้อย ทำในรูปแบบไหน? อย่างไร? เราก็ทำของเรามา ปีนี้ก็กำลังหารือกำหนดรูปแบบอยู่ เราไม่สามารถจะลืมเหตุการณ์นี้ได้ แล้วเราก็ต้องการให้คนทั้งประเทศและคนทั่วโลกได้ทราบ จดจำ และพูดถึงเหตุการณ์นี้ เพราะคนที่บาดเจ็บล้มตายจากเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้รับความยุติธรรม คดียังไม่ถึงศาล ส่วนรายละเอียดความชัดเจนก็จะแจ้งให้ทราบกันอีกครั้งครับ ขอบคุณครับ นายณัฐวุฒิ กล่าวในที่สุด.