วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

บทความใหม่ ธิดา ถาวรเศรษฐ : เหตุการณ์ 10เมษา และการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

 


เหตุการณ์ 10เมษา และการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

 

เหตุการณ์ 10 เมษา 2553 เป็นความต่อเนื่องของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อทวงอำนาจของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2550 – 2552 หมายความว่า ผลพวงการทำรัฐประหาร 2549 ยังดำรงอยู่จนถึงปี 2553 เช่นเดียวกันกับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่ต่อต้านรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ (จากปี 2557) รวมทั้งขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แท้จริงที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (ที่อำนาจเป็นของประชาชน) คำขวัญของการต่อสู้ในปี 53 คือ “ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน” อันเนื่องมาจากมีการตั้งรัฐบาลใหม่ (จากงูเห่าย้ายรัง) ในค่ายทหาร

 

กล่าวโดยภาพรวมก็คือ การทวงคืนอำนาจประชาชนโดยใช้หนทางการต่อสู้สันติวิธี

 

ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่รัฐบาลที่มีที่มาไม่ชอบธรรม การต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีที่มาจากการทำรัฐประหารทั้งหลาย ปัจจุบันก็พ่วงโดยเฉพาะกฎหมายอาญามาตรา 112 และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ของประชาชน)

 

การขับเคลื่อนการต่อสู้บนถนนของคนรุ่นปี 2553 และเยาวชนในปัจจุบัน

 

ปัจจุบันเหนือกว่า เพราะ

1) พลังปัญญาชนหนุ่มสาวที่มีความชอบธรรมและผลสะเทือนสูงกว่ามวลชนพื้นฐานทั้งในชนบทและในเมือง แบบปี 2553

2) เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้การนัดหมาย ส่งข่าว ทำได้รวดเร็วตลอดเวลา

3) การขับเคลื่อนเป็น Flash Mob

4) การระดมทุนทำได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งนายทุน

5) มีแนวร่วมมากยิ่งขึ้น จากปัญญาชน ชนชั้นกลาง สลิ่มกลับใจ

6) ยังไม่ถูกปราบปรามโดยกระสุนจริง ใช้ทหารทำการเหมือนมีการสู้รบในเมืองแบบปี 53 ยังใช้ตำรวจซึ่งจะใช้ฉีดน้ำ, แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ใช้กระบวนการยุติธรรมจากตำรวจ สู่อัยการ สู่ศาล แต่ปี 2553 ใช้ทหาร – อาวุธ – กระสุนจริงก่อน จากนั้นจึงใช้ตำรวจ ดีเอสไอ อัยการ ศาล คุก เป็นเครื่องมือจัดการต่อมา

 

การปราบปรามปี 2553

 

เริ่มใช้กระสุนจริงกับ นายเกรียงไกร คำน้อย ตั้งแต่ตอนบ่าย จากนั้นใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระสุนจริง ตั้งแต่ตอนหัวค่ำ ใช้รถเกราะ ทหารกว่า 6 หมื่นนาย ขอคืนพื้นที่ราชดำเนินอย่างโหดเหี้ยม แม้เลยเวลากลางวันไปจนค่ำมืด เพราะต้องการเผด็จศึก

 

 

บทเรียนทั้ง 2 ฝั่ง (ผู้ปราบปราม VS ผู้ถูกปราบปราม)

 

กรณีการตายของทหาร ไม่ได้เกิดจากขบวนผู้ชุมนุมเด็ดขาด เพราะเป็นการขว้างระเบิดมือ M67 ซึ่งผู้ขว้างต้องอยู่ใกล้ ประมาณ 40-50 เมตร ที่อยู่ในระยะครองพื้นที่ของทหาร ไม่ใช่พื้นที่ที่มีคนเสื่อแดงยืนประจันหน้าห่างไปกว่า 150–300 เมตร

 

1) การพยายามปราบเวลากลางคืน ง่ายต่อการเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนจากผู้ไม่ประสงค์ดีก็ได้ หรือผู้ที่เป็น Lone Wolf  (หมาป่าเดียวดาย) คือทำการเองตามลำพัง

 

เพราะขบวนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธเช่นนั้น และไม่ประสงค์จะฆ่าเอาคืน เพราะเราไม่มีกองกำลังอาวุธ

 

2) การใช้กำลังทหารและกระสุนจริง หน่วยสไนเปอร์ เป็นเรื่องผิดพลาดที่เลวร้าย ถือผู้ชุมนุมเป็นข้าศึก อริราชศัตรู ต้องกำจัด ใช้แบบแผนการปราบปรามประหนึ่งการสู้รบในเมืองกับกองกำลังอาวุธของประชาชน ดังที่เขียนเป็นตำราที่ภาคภูมิใจ

 

3) ปฏิบัติการ IO

 

        3.1 โจมตีทำลาย ทำร้ายผู้ชุมนุมโดยปฏิบัติการข่าวเท็จ เช่น ผู้ชุมนุมมีกองกำลังอาวุธไม่ต่ำกว่า 500 คน มีเสธ.แดงเป็นผู้บัญชาการ โดยเริ่มต้นจากชายชุดดำ วันที่ 10 เมษายน และการใช้ M79 ยิงใส่ทหารจนบาดเจ็บล้มตาย

 

        3.2 โจมตีว่าเป็นพวกล้มเจ้า มุ่งร้ายสถาบันกษัตริย์ ในคืนวันที่ 10 เมษา ณ ถนนดินสอมีการเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ระหว่างการขอคืนพื้นที่ ยิงประชาชนด้วยอาวุธจริง

 

        จากนั้น วันที่ 19 พฤษภาคม ก็มี IO เผาบ้านเผาเมือง ทั้งที่เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากแกนนำเข้ามอบตัวเพื่อไม่ให้มีการยิงประชาชนตายอีกต่อไป

 

        ประชาชนและทหารสูญเสียไปร่วม 100 ศพ ในฝ่ายประชาชนเสียชีวิตในเวลาต่อมาอันเกี่ยวข้องกับการได้รับแก๊สน้ำตาเต็มที่ในหมู่ผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงอีกนับร้อยศพ

 

4) ปฏิบัติการจับกุมคุมขัง ไม่ให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.

 

        4.1 แกนนำ ร่วม 9 เดือน จึงได้ประกันตัว

       

        4.2 มวลชนและแกนนำภูมิภาคนับพันคน และหลายร้อยคนไม่ได้ประกันตัว บ้างก็ถูกหลอกให้เซ็นรับสารภาพ บ้างก็ใช้พยานเท็จ หรือทำให้คำให้การเปลี่ยนแปลงทั้งผู้ต้องหาและพยาน หลายคนไม่ได้ประกันตัวเป็นปี ๆ ต้องต่อสู้จนคดีถึงที่สุด ได้ออกมาหลังจากติดคุก 6-7 ปี เป็นต้น หลายคนมาติดคุกตามคำพิพากษาสุดท้ายจากศาลฎีกาเป็นจำคุกตลอดชีวิต

 

5) มีการเปรียบเทียบคดีกับกลุ่มสนับสนุนรัฐประหาร พบว่า มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่มูลเหตุการชุมนุม เป็นเรื่องดีและเรื่องไม่ดีต่อประเทศ ไปจนพฤติกรรมแห่งคดีและน้ำหนักพยานหลักฐาน พูดง่าย ๆ ว่า คนดีทำผิดกฎหมายบางข้อ กับคนเลวทำผิดกฎหมาย แม้พฤติกรรมคนดีร้ายแรงกว่า แต่ด้วยเหตุกรรมดี จึงมีผลต่อคดีแตกต่างกับคนเลวที่ทำผิดกฎหมายน้อยกว่า

 

ทั้งหมดนี้เป็นผลให้การต่อสู้ปี 2553 การปราบปรามรุนแรง ทั้ง 10 เมษา และ 14–19 พ.ค. ทำให้ผู้คนล้มตายกว่า 100 คน บาดเจ็บนับพัน และถูกจับกุมคุมขังกว่า 2,000 คนทั่วประเทศ

 

มีการเลือกตั้งในปี 2554 ผลคือพรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลายอีก เท่ากับประชาชนหันมาใช้การเลือกตั้งในการต่อสู้ตามวิถีทางรัฐสภาและได้รับชัยชนะ (แต่แพ้ในการถูกปราบด้วยอาวุธ)

 

ที่เป็นบทเรียนคือ หนทางการต่อสู้สันติวิธีนั้น ผู้ถูกกระทำจะยากลำบาก แพ้ทางการทหาร แต่ชนะทางการเมือง แต่ถ้าต่อสู้ด้วยอาวุธ ก็อาจแพ้ทั้งทางการทหารและแพ้ทางการเมืองด้วย เพราะขาดการเข้าร่วมของประชาชนส่วนอื่น ๆ ขาดความชอบธรรมในการประณามผู้ปราบปราม ขาดความชอบธรรมในการฟ้องร้องชาวโลก อาจแพ้ทั้งสนามรบ แพ้ทั้งเวทีรัฐสภา และแพ้ทั้งในเวทีโลก

 

การสู้สันติวิธี จะพ่ายแพ้ได้เฉพาะในสนามรบอย่างเดียวเท่านั้น!!!

 

ดังนั้น อย่าหลวมตัวลงไปสู้ในกับดักของการต่อสู้ด้วยอาวุธ เมื่อรู้อยู่ว่าจะไม่มีทางเอาชนะได้ในสนามนี้

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ

5 เม.ย. 64