แลไปข้างหน้ากับ
ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.106
ประเด็น
: เมื่อประยุทธ์ไม่ใช่จ๊อกกี้ขี่ม้า แต่เป็นคนขี่เสือ [ที่ไม่ยอมลง]
สวัสดีค่ะ
วันนี้เรามาพบกันในเวลาใกล้สิ้นปี
ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการสรุปทิ้งท้ายสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้
วันนี้ดิฉันก็อยากจะคุยเรื่องราวที่เกิดขึ้นลักษณะกึ่งสรุป ก็คือ
“เมื่อประยุทธ์ไม่ใช่จ๊อกกี้ขี่ม้า แต่เป็นคนขี่เสือ [ที่ไม่ยอมลง]”
เราเคยมีซีรีย์ที่พูดเรื่อง
“เมื่อประยุทธ์ไม่ยอมลงจากหลังเสือ” ซึ่งก็เป็นจริงจนถึงบัดนี้
ใครจะไปคาดคิดว่าแม้กระทั่งคนที่ พูดตรง ๆ นะ ทนที่สุด ประมาณว่าหน้าทนที่สุด
เราไม่คิดว่าจะมีใครที่จะทำได้ขนาดนี้ นั่นก็คือ ไปจี้นายกฯ
คนเก่าซึ่งเคยถูกเปรียบเทียบในยุคพล.อ.เปรม ในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณ ว่า “นายกฯ
เป็นแค่จ๊อกกี้ขี่ม้า ม้าไม่ใช่ของนายกฯ แล้วก็จ๊อกกี้ไม่ใช่เจ้าของคอกม้า”
โอเค!
คุณทักษิณเป็นจ๊อกกี้ขี่ม้า แต่มันมีปัญหาว่าใครเป็นเจ้าของคอก
ในมุมของพล.อ.เปรมอาจจะเป็นชนชั้นนำจารีตนิยมเป็นเจ้าของคอก แต่ในทัศนะของเรา
ประชาชนเป็นเจ้าของคอกและเขาจะต้องเป็นผู้เลือกจ๊อกกี้
แล้วเมื่อเลือกจ๊อกกี้ขี่ม้าก็ต้องเลือกทั้งม้าซึ่งอาจจะหมายถึงพรรคการเมืองก็ได้
และจ๊อกกี้ที่ขี่แล้วชนะกับม้าตัวอื่น ได้เงินรางวัล ใครจะไปเอาม้าเลว ๆ ห่วย ๆ
ก็ประมาณพรรคการเมืองห่วย ๆ เลว ๆ แล้วก็ตัวหัวหน้าพรรคมาเป็นนายกฯ
ก็คือมาเป็นจ๊อกกี้ขี่ม้าห่วย ๆ เลว ๆ แล้วแข่งแล้วแพ้กับประเทศอื่น
ไล่มาแพ้ตั้งแต่สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย จนกระทั่งเวียดนาม
มาจนกระทั่งตอนนี้ก็จะมาแข่งกับพม่า ลาว กัมพูชา อันนี้นี่ยกตัวอย่าง
ดังนั้น
นายกรัฐมนตรีที่เคยถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนจ๊อกกี้ขี่ม้า “ประชาชน” จริง ๆ
คือเจ้าของคอกม้า แล้วต้องส่งทั้งม้าตัวเก่งที่สุด
ก็ต้องเป็นพรรคการเมืองที่ล้ำเลิศหรือเก่งที่สุด
แล้วก็จ๊อกกี้ที่เก่งก็คือนายกรัฐมนตรีที่เก่งไปแข่งขันกับประเทศอื่น ไม่ใช่จมปลัก
นี่ไม่ใช่ขี่ควายแข่งในตำบลนะคะ แต่เป็นจ๊อกกี้ขี่ม้าแข่งระหว่างประเทศ
ก็คือทำให้ประเทศไทยนั้นสามารถที่จะได้รับชัยชนะในระดับที่น่าพอใจในการแข่งขันในเวทีโลก
เป็นจ๊อกกี้ขี่ม้าในเวทีโลก ไม่ใช่คนขี่ควายในตำบล ไม่ใช่เป็นการแข่งขันในตำบลนะคะ
ถ้าในมุมของคำว่าจ๊อกกี้ขี่ม้า
คือม้า อาจจะเป็นพรรคการเมือง เรียกว่าร่วงโรย ไม่ได้ความ จ๊อกกี้ก็ไม่ไหว
เจ้าของคอกม้าก็เปลี่ยน
คือประชาชนต้องเป็นผู้เปลี่ยนจ๊อกกี้แล้วก็เปลี่ยนม้าที่เข้าแข่งขัน
เพื่อให้ประเทศได้รับชัยชนะในเวทีโลกและประชาชนมีความเป็นสุข
อันนี้ก็คือตีความความเป็นจ๊อกกี้ขี่ม้าถ้าใช้วาทะกรรมของพล.อ.เปรม
แต่สิ่งทีเกิดขึ้นในประเทศไทย
ประชาชนไม่ได้เป็นคนเปลี่ยนจ๊อกกี้ ไม่ได้เป็นคนเปลี่ยนม้า แต่มีมือปืนมาจี้
ดังนั้น “ม้า” ซึ่งหมายถึงพรรคการเมือง เอาว่าคุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์
ก็ถูกเอาปืนจี้ โดยเฉพาะคุณยิ่งลักษณ์ จ๊อกกี้เป็นสาวสวย มีความสามารถ ใครล่ะจี้?
ก็คนทำรัฐประหารที่ยกมือในรัฐสภา ยอมรับแล้ว เขาเองเป็นคนทำ
พล.อ.ประวิตรบอกผมไม่เกี่ยว ยอมรับเองนะไม่ใช่ดิฉันกล่าวหา ว่าเป็นทั้งหมด
เป็นทั้งผู้ริเริ่ม เป็นผู้ดำเนินการ เป็นผู้วางแผนทั้งหมด
ก็คือพล.อ.ประยุทธ์เอาปืนไปจี้ ตัวเองไม่ได้แข่งขันให้ประชาชนเลือก แต่เอาปืนไปจี้บอกให้จ๊อกกี้ลง
แล้วตัวเองขึ้นขี่แทน
แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในเวทีระหว่างประเทศเราล้มเหลวมาตลอด
ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ที่มากขึ้น คนยากจนที่เพิ่มขึ้น เวทีการแข่งขันในระดับโลก
เราอยู่ในสภาพที่แย่มาก ความยากจนข้นแค้น แล้วก็ความเสียหายของประเทศชาติมีนานัปการ
ซึ่งดิฉันไม่พูด ณ ที่นี้ ถือว่าเป็นที่รู้กัน วัดได้จากโพล วัดได้จากความนิยม
และกำลังจะวัดในระยะต่อไป
นี่คือสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ได้เอาปืนไปจี้คนขี่ม้า
แล้วตัวเองขึ้นมาเป็นคนขี่ แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นบริบทของจ๊อกกี้ขี่ม้าแล้ว
แต่กลายเป็นว่าไม่ยอมลงจากอำนาจ มันกลายเป็นประหนึ่งวาทกรรมใหม่ ก็คือ
เป็นคนขี่เสือที่ไม่ยอมลงจากหลังเสือ
“ไม่ยอมลงจากหลังเสือ”
ไม่ใช่คำพูดที่เกินความเป็นจริง ใครจะไปคิดว่าเป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร
แล้วก็หลังมีรัฐธรรมนูญ คือพูดตรง ๆ ว่าไม่แยแสเหมือนกับที่พรรคการเมืองเขาบอก
“คนเขียนกติกา คนคุมกติกา ลงมาเล่นการเมืองเอง” แน่นอน!
พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เสียหายอย่างยับเยินจากการทำรัฐประหารครั้งนี้
เมื่อไปจี้มาแล้วไม่ได้มอบอำนาจให้กับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม
แต่ตัวเองมาทำพรรคการเมืองเอง
การไม่ยอมลงจากอำนาจนั้นเห็นได้จากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ
ซึ่งทุกคนก็รู้ว่ามีบทเฉพาะกาลที่มี ส.ว. 250 คน คือเตรียมการไว้หมด
ที่มีบทบาทกระทั่งเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า
พูดกันภาษาชาวบ้านนะ หน้าด้านอย่างสุด ๆ แต่ก็ยังทำได้ ทำได้เพราะอะไร?
เราต้องยอมรับความจริงว่ามีประชาชนไทยจำนวนหนึ่ง นอกจากกลุ่มของชนชั้นนำแล้ว
มีประชาชนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม กระทั่งเป็นจารีตนิยม
คือเป็นกลุ่มขวาจัดว่างั้นเถอะ แล้วก็ยังมีความคิดแบบคนดั้งเดิมในสมัยยุคโบราณ
แล้วก็ที่ส่วนมากก็คือมีความพึงพอใจในสถานะปัจจุบัน ไม่ต้องการมีการเปลี่ยนแปลง
เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจจะทำให้ตัวเองนั้นเสียหายลงไป มันจึงมีชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง
และแม้กระทั่งคนพื้นฐานจำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดจารีตนิยมที่ยังสนับสนุนอยู่
อันนี้คือความจริงที่เราต้องยอมรับ
และเมื่อคนกลุ่มนี้มีทั้งอำนาจ
มีทั้งปืน และยังสามารถใช้กลไกรัฐและรัฐธรรมนูญเข้ามาเพื่อให้การยึดอำนาจนั้นให้ยาวนานที่สุด
มาจนถึงปัจจุบัน 8 ปี ยังไม่พอ โดยทั่วไปก่อนหน้านี้คนส่วนหนึ่งที่ยึดอำนาจซึ่งอาจจะเป็นบทเรียนแล้วก็ได้สำหรับทหารที่มาทำรัฐประหาร
ก็คือยอมถอยไป ไม่ว่าจะเป็นยุค คุณสุจินดา คราประยูร ถอยให้คุณอานันท์ ปันยารชุน
หรือว่าในยุคของสนธิ (บัง) ก็ไม่ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ
แต่ประยุทธ์นี่ไม่ใช่นะ
ขึ้นมาเป็นนายกฯ เอง 4 ปีไม่พอ 8 ปียังไม่พอ ตอนนี้ถึงขนาดต้องตั้งพรรคใหม่
เพราะพูดกันตรง ๆ ว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่เสนอตัวเองให้เป็นนายกฯ แต่เสนอพี่ชายที่แสนรักนะ
แปลว่าพี่ชายมาเป็นก็ไม่ยอม แปลว่าไม่ถอยเลย เหลือแค่ 2 ปี จะเป็นนายกฯ
คนละครึ่งก็เอา แปลว่าใน 4 ปีที่จะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือ
ประยุทธ์ยังไม่ยอมลงจากอำนาจ อันนี้นี่หมายถึงใน 4 ปี ใครจะไปรู้
ถ้าคนทำได้ถึงขนาดนี้ 8 ปียังไม่พอ จะต่อให้เห็นชัดเลยว่า มันไม่ใช่แค่ 2 ปี 2
ปีตามกฎหมาย แต่อาจจะมีวิธีการทำให้ยังอยู่ในอำนาจ 4 ปี ดังนั้น 10 กว่าปีไม่พอ
แปลว่าอาจจะถึง 20 ปี อย่างที่ตั้งใจจะเขียนยุทธศาสตร์ 20 ปี เช่นนั้น ใช่หรือไม่?
อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้น
ที่มันบ่งชี้ให้เห็นว่าประยุทธ์ไม่ใช่จ๊อกกี้ขี่ม้าธรรมดา แม้จะมาตามรัฐธรรมนูญ
แต่เป็นคนขี่เสือที่ไม่ยอมลงจากหลังเสือจริง ๆ เอาอะไรมาฉุดก็ไม่ยอม
มันก็มีคำถามว่าทำไม?
ถ้าเราคิดว่า
ความคิดแรกอันที่หนึ่งก็คือว่า หลงอำนาจ นี่พูดถึงประโยชน์ส่วนตน
ต้องการอำนาจยาวนานเพื่อที่จะทำอะไรก็ได้ มาในลำดับต่อมาก็คือ
การกลัวว่าอำนาจที่ตนถืออยู่นั้นจะไปตกอยู่ในมือของคนอื่นซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
พูดง่าย ๆ ว่ากลัวว่าประชาชนจะได้อำนาจ แล้วประชาชนจะทวงคืน
นั่นก็แปลว่าไม่ใช่แต่เพียงหวังจะได้อำนาจต่อไปยาวนาน
แต่กลัวว่าถ้าอำนาจหลุดลอยไปจากมือ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการทวงคืนนั้นมันคงจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่
เป็นเรื่องที่น่ากลัว และเป็นเรื่องที่จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นได้ สำหรับพล.อ.ประยุทธ์
หรือเปล่า? กลัวถึงขนาดนั้นหรือ? อันนี้เป็นประการที่สอง
ส่วนประการที่สาม
คือไม่ใช่กลัวสำหรับตัวเองอย่างเดียว
แต่เป็นความกลัวว่าระบอบและคนซึ่งอยู่ในระบอบของฝ่ายจารีตอำนาจนิยมจะล่มสลาย
ตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็หลงคิดว่าเป็นอัศวินผู้พิทักษ์ระบอบ จริง
ๆ พิทักษ์ตัวเองนั่นแหละ แล้วก็พิทักษ์ระบอบและเครือข่าย จะสูญเสียอำนาจ
ซึ่งที่สุดแล้วมันสรุปได้เป็นอันเดียวก็คือ เกรงว่าประชาชนจะได้อำนาจ
แล้วเป็นความล่มสลายและเสียหายสำหรับทั้งตัวเองและระบอบของฝ่ายจารีต
เราจะเห็นได้จากว่า
ดิฉันอยากจะพูดถึงคดีความ ในปีที่ผ่านมา ในปีนี้แหละ
แต่ว่าถ้ามาดูการดำเนินคดีซึ่งอันนี้เป็นการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานได้ดีมาก
เป็นการรายงานในวันที่ 3 ธันวาคม 2565
แต่ว่ามีการรวบรวมเมื่อเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี รวบรวมก็คือว่า
ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563
จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 แต่ดิฉันก็ได้มีการรวบรวมคดีอีกส่วนหนึ่งหลังพฤศจิกายน
แต่ว่าอันนี้เป็นเอกสารในวันที่ 3 ธันวาคม
นั่นก็แปลว่าในเดือนสุดท้ายของปีเราก็จะมีการสรุปตัวเลข ก็คือ
ผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองอย่างน้อย
1,886 คน ในจำนวน 1,159 คดี ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน
283 ราย ใน 210 คดี
นี่แปลว่ากลัวมาก
กลัวเยาวชน และเยาวชนที่ถูกจับดิฉันเชื่อว่านอกจากที่บอกว่าต่ำกว่า 18 ปี คนที่ถูกตั้งข้อหาก็ไม่ได้สูงอายุมาก
มีกระเส็นกระสายคนเสื้อแดงอยู่บ้างจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ก็คงเป็นคน Gen Z อายุประมาณ
20, 20 กว่า และจำนวนมากยังอยู่ในวัยเรียน เรียนตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย
นี่คือส่วนของประชาชนที่ถูกดำเนินคดี
ดิฉันไม่เคยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้
ตัวดิฉันเองอายุมากแล้ว ต้องถือว่าเป็นคนรุ่นเก่าจริง ๆ ตั้งแต่ 14ตุลา16
มาจนถึงบัดนี้ ปีหน้าก็ 2566 รวม 50 ปีแห่งการต่อสู้ของประชาชน ไม่เคยมีรัฐบาลไหน
ไม่เคยมีคณะรัฐประหารไหนที่กระทำต่อประชาชน
ดำเนินคดีประชาชนและเยาวชนมากมายขนาดนี้ (ยกเว้นกรณีปี 2553 ที่มีนับพันคน)
ในรายงานของศูนย์ทนายฯ
ก็บอกว่า หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก
แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,753
ครั้ง ไหน ๆ ดิฉันก็แจกแจงไปเลยเป็นการสรุปทิ้งท้าย ก็คือ
- ข้อหา มาตรา 112 มีอย่างน้อย 221 คน ใน 239 คดี แต่เมื่อเรามาหา
ข้อมูลเพิ่มในเดือนธันวาคมเฉพาะคดี มาตรา 112 ตอนนี้มีเพิ่มขึ้นมา
ถึง 243 คดี
- ข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ใน
จำนวน 40 คดี
- ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ใน
จำนวน 663 คดี
-
ข้อหา การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี
-
ข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 176 คดี
- ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่น
ศาล อย่างน้อย 27 คน
ใน 8 คดี
ดิฉันไม่เคยพบ
ไม่เคยเห็น ว่าเยาวชนจะถูกดำเนินคดีมากมายเช่นนี้ อาจจะมีประชาชนบ้างจำนวนหนึ่ง
ในช่วงเวลาของคนเสื้อแดง ยอมรับว่ามีคดีค่อนข้างมาก คนถูกจับก็ในระดับเป็นพัน
บาดเจ็บ ล้มตาย และนี่ก็จะเป็นส่วนหนึ่ง
คือถ้าคิดว่าอำนาจประชาชนและประชาชนเป็นเสือ การไม่ยอมลงจากหลังเสือ
นอกจากจะเป็นการใช้อำนาจในทางการเมืองในคดีความต่าง ๆ อย่างอื่นแล้ว
แต่ว่าเหตุการณ์ในอดีตตั้งแต่ปี 2553 ก็คนชุดนี้ไม่ใช่หรือ? ชุด 3ป นี่แหละ
เป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นทั้งผบ.ทบ. รองผบ.ทบ.
จนกระทั่งเลื่อนมาเป็นผบ.ทบ.เอง ก็คือชุดนี้ 3ป คดียังไม่หมดอายุความนะคะ
ยังเหลืออีก 7 ปี แล้วคดีที่ ICC ไม่มีวันหมดอายุ
นี่ก็จะเป็นเสืออย่างหนึ่งด้วย
แล้วคดีความของปัจจุบันนี้
อันนี้ก็คือเป็นเสือตัวใหม่ ซึ่งมีทั้งพรรคการเมืองใหม่ มีทั้งขบวนการเยาวชนใหม่
เสือตัวเดิมมีทั้งพรรคการเมืองเดิมที่เรียกว่าทุนสามานย์ และมีทั้งขบวนการประชาชนตั้งแต่ปี
2550 เสือเก่าก็ยังอยู่ เป็นทั้งพรรค เป็นทั้งนักการเมือง เป็นทั้งประชาชน
เสือใหม่ก็มีทั้งพรรค นักการเมือง ประชาชน ดิฉันกำลังจะมองว่า มันจะมีเสือพลานุภาพ
มันจะไม่ใช่เสือตัวเดียว มันจะเป็นฝูงเสือ เพราะว่าเมื่อประชาชนไม่ได้อำนาจ
ไม่สามารถเปลี่ยนจ๊อกกี้ได้
ซึ่งเป็นจ๊อกกี้ที่ขึ้นมาตามความสามารถและทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน
ประชาชนก็จะกลายเป็นเสือ นี่จะเป็นในทัศนะดิฉัน คนอื่นอาจจะมีบางส่วนไม่เห็นด้วยนะ
ว่าประยุทธ์ไม่ยอมลงจากหลังเสือ (เพราะกลัวเสือกัด)
เมื่อกี้ที่ดิฉันพูดมี
3 ส่วน หลงอำนาจ อยากได้อำนาจ
แต่ดิฉันก็ไม่ได้คิดว่าอำนาจที่คุณประยุทธ์อยากได้จะเป็นเงินทองสักเท่าไหร่
ก็มีเงินอยู่แล้ว ขายที่ดินแปลงเดียวให้เจ้าสัวน้ำเมาก็ได้เงินมากมาย
ดิฉันไม่ได้พูดถึงเรื่องไม่ชอบมาพากลอื่น ๆ นะที่มีการนินทากัน ว่ารวยแล้วคงไม่ได้ต้องการ
แต่ว่าอำนาจต่างหาก ซึ่งสามารถสั่งอะไรก็ได้
นี่จะเป็นการหลงอำนาจแบบหนึ่งในทางส่วนตัว
แล้วก็ในประเด็นที่
2 ก็คือ ด้วยความกลัวว่าตัวเองได้ดำเนินความผิดมามากมาย กลัวโดนเสือขย้ำ
กลัวโดนเสือกัด มีทั้งเสือเก่าและเสือใหม่ และในส่วนที่ 3 ซึ่งมันก็สัมพันธ์กับทั้งข้อ
1 ข้อ 2 ก็คือว่า
กลัวระบอบที่ค้ำจุนเครือข่ายของตัวเองอยู่จะล่มสลายถ้าประชาชนได้อำนาจ
เพราะว่าถึงที่สุดนี่ไม่ใช่เรื่องบุคคลต่อบุคคล ดังที่ดิฉันเคยบอก
ถ้าสมัยพล.อ.เปรม คิดว่าเป็นตัวแทนของระบอบอำมาตย์ พล.อ.เปรมตายไป ระบอบก็ยังอยู่
อันนี้ก็เหมือนกัน
ประยุทธ์คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าของหรือเป็นตัวแทนระบอบเหรอ?
แล้วถ้าคุณถูกกำจัดไป หรือคุณตายไป ระบอบก็ยังอยู่ คุณไม่ใช่ตัวแทนผู้พิทักษ์
ไม่ใช่อัศวินม้าขาวที่พิทักษ์ระบอบ
การเมืองของประเทศและประชาชนมันยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ประยุทธ์จะหลงตัวเอง ว่าตัวเองเป็นอัศวินผู้พิทักษ์ระบอบและความชอบธรรม
ไม่ใช่เลย!
คุณตายไปวันนี้ อำนาจประชาชนยังจะได้หรือเปล่า? อันนี้ยังไม่รู้
นี่ไม่ใช่เรื่องของบุคคล แต่ความหลงตนของ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
จึงไม่ยอมลงจากหลังเสือ
ใน
3 ข้อนี้ ท่านผู้ชมก็ลองคิดดูว่าข้อใดมีความสำคัญที่สุด หรือว่ามันใช่ด้วยกันทั้ง
3 ข้อ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พล.อ.ประยุทธ์
หลงตนและไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน
ในปีหน้า
ในตอนต้นปีเราจะมาคุยกันว่า เมื่อประยุทธ์หลงตัวเองและไม่ยอมลงจากหลังเสือ
ประชาชนควรทำอย่างไร รวมทั้งการทวงความยุติธรรมที่เราได้เปิดตัว คปช.53
เราไม่สามารถดำเนินการได้สะดวกในปลายปี
เราจึงหวังว่าปีหน้าจะเป็นปีของการทวงความยุติธรรมของประชาชน
เราจะดำเนินการทั้งเรื่องของความยุติธรรมที่เกิดกับประชาชนทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ทวงความยุติธรรมและทวงอำนาจประชาชนด้วยค่ะ พบกันอีกทีปีหน้าค่ะ