วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565

พม่าพิพากษาประหารนักศึกษา 7 คน จำคุกนักข่าวฟรีแลนซ์ - ผู้นำนักศึกษา 15 ปี

 


พม่าพิพากษาประหารนักศึกษา 7 คน จำคุกนักข่าวฟรีแลนซ์ - ผู้นำนักศึกษา​ 15 ปี

 

สำนักข่าวอิรวดีรายงานเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 ว่าศาลทหารพม่าพิพากษาประหารชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยดากอง 7 คน เมื่อวันพุธ (30 พ.ย.) ที่ผ่านมา สหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยดากองให้การยืนยันว่าผู้ที่ถูกพิพากษาโทษดังกล่าวโดยกระบวนการพิจารณาลับ ได้แก่ โค คาน ซิน วิน, โค ตูรา มอง, โค ซอ ลิน นาย, โค ติฮา เท็ต ซอว์, โค เฮน เท็ต, โค เท็ต พาย อู, โค คัน ลิน มอง มอง

 

ในอดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเมืองย่างกุ้งกลุ่มนี้เคยเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านคณะรัฐประหาร ต่อมาถูกจับเมื่อ เม.ย. 2565 โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าตั้งข้อหาว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยิงซอ โม วิน อดีตเจ้าหน้าที่ทหารและผู้จัดการสาขาของธนาคาร Global Treasure 

 

โค นาน ลิน ตัวแทนของศิษย์เก่าสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยดากอง ประณามการพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า "เรารู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อมิตรสหาย 7 คนของเรา" เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการแขวนคอนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยไปแล้ว 4 ราย แม้ว่าจะมีการแสดงความไม่เห็นด้วยจากประชาคมโลกและมติมหาชนในพม่าก็ตาม

 

เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการประหาร โกจิมมี หรือจ่อมินยู นักกิจกรรมวัย 53 ปี และเพียวเซยาต่อ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ในข้อหาก่อการร้าย ขณะที่หล่ะเมียวอ่อง อายุ 41 ปี และอ่องทุระซอ อายุ 27 ปี ถูกประหาร ในข้อหาฆาตกรรมผู้ให้ข้อมูลแก่ทหาร นับเป็นการกลับมาใช้โทษประหารในรอบ 30 ปี

 

อิรวดีตั้งข้อสังเกตุว่ารัฐบาลทหารพม่าพยายามใช้โทษประหารในการข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ยังคงดิ้นรนในการควบคุมประเทศให้ได้ หลังการประหาร 4 นักกิจกรรม มีผู้เห็นต่างถูกพิพากษาประหารชีวิตไปแล้ว 128 คน รวมถึง นักศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และทีมแพทย์ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการแล้วหรือไม่และเมื่อใด นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 มีผู้เสียชีวิตจากรัฐบาลทหารพม่าไปแล้วกว่า 2,500 ราย

 

จำคุกนักข่าวฟรีแลนซ์ 15 ปี

 

เมียว ซาน โซ นักข่าวฟรีแลนซ์สัญชาติพม่า ถูกศาลจังหวัดพยาบอน แคว้นอิรวดี ตัดสินจำคุก 15 ปี หลังถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดข้อหาก่อการร้าย 2 ข้อหาด้วยกัน สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียรายงานข้อมูลจากครอบครัวของจำเลยว่าเขาถูกนำตัวเข้าเรือนจำพะสิมทันที หลังการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทั้งที่ปกติแล้วเรือนจำดังกล่าวจะมีไว้สำหรับจำคุกผู้ที่ถูกพิพากษาน้อยกว่า 10 ปีเท่านั้น

 

สมาชิกครอบครัวของจำเลยให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีกับนักข่าวฟรีแลนซ์ ได้แก่ มาตรา 50 (j) ของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย โทษจำคุก 10 ปี และมาตรา 52 (a) ของกฎหมายเดียวกันโทษจำคุก 5 ปี หลังจากที่เขาให้เงินจำนวน 30 จัตแก่เยาวชน เพื่อให้พวกเขาหลบหนีไปยังที่ปลอดภัย หลังจากมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เขาถูกจับกุมเมื่อ 30 ต.ค. 2565 โดยถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาติดต่อกับสมาชิกของกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF)

 

"เรารู้สึกว่าเรามีลูกน้อยกว่าคนอื่น" สมาชิกครอบครัวที่ไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกล่าว "มีลูกแค่ 2 คน เขาใช้ชีวิตที่บ้านกับเรา และเราไม่มีใครให้พึ่งพาเลยเวลาที่เขาไม่อยู่ แม่เขากำลังร้องไห้อยู่ตรงนี้"

 

เมียว ซาน โซ เป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ที่เคยรายงานข้อมูลให้กับสำนักข่าวอิรวดีทามส์ บีเอ็นไอนิวส์ และสำนักข่าวเดลตานิวส์ ซึ่งถูกสั่งระงับโดยรัฐบาลทหารพม่า ส่งผลให้เขากลายเป็นคนไม่มีงานทำ จากฐานข้อมูลของเรดิโอฟรีเอเชีย เขาเป็นหนึ่งในนักข่าว 143 คนที่ถูกจับกุมในช่วง 22 เดือนนับตั้งแต่การรัฐประหารพม่า ปัจจุบันยังอยู่ในเรือนจำ 47 คน

 

จำคุกผู้นำนักศึกษา 15 ปี

 

ในรายงานอีกฉบับหนึ่งของเรดิโอฟรีเอเชียพบว่า กอง เสต งาย อายุ 23 ปี ถูกศาลรัฐกะยินพิพากษาจำคุก 15 ปี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กลุ่มเพื่อนของเขาให้ข้อมูลว่าศาลใช้มาตรา 49 (a) ของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายในการดำเนินคดี ก่อนหน้านี้ เขาเคยเข้าไปมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ในฐานะผู้นำนักศึกษามหาวิทยาลัยแพทย์ในแคว้นมะเกว

 

เขาพยายามหลบหนีหลังจากรัฐบาลทหารพม่าปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ต่อมาเขาถูกจับกุมในวันที่ 6 ธ.ค. 64 ที่ด่านตรวจของทหาร ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเมียวดีและเมืองเลเกกอ สมาชิกของกลุ่มเพื่อนของเขาคนหนึ่งบอกเล่าอีกว่าเขาถูกทารุณกรรมขณะการสอบปากคำเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนถูกนำตัวเข้าไปเรือนจำแคว้นเมียวดีเป็นเวลาประมาณ 1 ปี หลังการจับกุม กลุ่มเพื่อนก็ไม่ได้รับการติดต่อจากกอง เสต งาย อีก

 

"เขาถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในข้อหาสนับสนุนคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (อดีตรัฐสภาของพม่า) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และกองกำลังปกป้องประชาชน" เพื่อนของ กอง เสต งาย กล่าว กลุ่มเพื่อนของเขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าครอบครัวของเขาเพิ่งเดินทางจากมะเกวไปยังเมียวดี เพื่อร้องขอให้เจ้าหน้าที่ย้ายตัวเขามายังเรือนจำที่อยู่ใกล้บ้านขึ้น

 

จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ปัจจุบันมีผู้เคยถูกจับกุมทั่วประเทศแล้วกว่า 16,472 คน ในจำนวนนี้ยังอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวน 13,002 คน นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 2564 เป็นต้นมา กินระยะเวลาแล้วกว่า 22 เดือน

 

ที่มา : ประชาไท

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์