วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2565

เวทีวิพากษ์ "การใช้ความรุนแรงของรัฐบาล บนสิทธิพื้นฐานของประชาชน" กรณีสลายชุมนุม 18 ธ.ค. ที่รุนแรงเกิน "มายด์" ชี้ ผู้บังคับบัญชาคุมลูกน้องตัวเองไม่ได้ คฝ.ไร้ความเป็นมนุษย์ จี้ ปฏิรูปตำรวจ ยันเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมต่อไป

 


เวทีวิพากษ์ "การใช้ความรุนแรงของรัฐบาล บนสิทธิพื้นฐานของประชาชน" กรณีสลายชุมนุม 18 ธ.ค. ที่รุนแรงเกิน "มายด์" ชี้ ผู้บังคับบัญชาคุมลูกน้องตัวเองไม่ได้ คฝ.ไร้ความเป็นมนุษย์ จี้ ปฏิรูปตำรวจ ยันเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมต่อไป


วันนี้ (12 ธ.ค. 65) เวลา 13.30 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน เครือข่ายประชาชน 'ราษฎรหยุด APEC 2022 จัดเวทีวิพากษ์ "Bloody APEC 2022" การใช้ความรุนแรงของรัฐบาล บนสิทธิพื้นฐานของประชาชน เพื่อตีแผ่และบอกเล่าสภาพเหตุการณ์และผลกระทบจากเหตุสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อ 18 พ.ย. 2565 ที่บริเวณ ถ.ดินสอ ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย จำนงค์ หนูพันธ์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่, บารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนสมัชชาคนจน, ธนพร วิจันทร์ หรือไหม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, สมบูรณ์ คำแหง ประธานประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ระดับชาติ (กป.อพช), บุศรินทร์ แปแนะ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)ในฐานะผู้รับหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทีมผู้สังเกตการณ์ รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์การชุมนุมและการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้นำภาพและคลิปจากเหตุการณ์วันนั้นมาเปิดพร้อมทั้งอธิบายว่าสิ่งที่สังเกตการณ์ในวันนั้นมีอะไรบ้าง และดำเนินรายการโดย ธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย 


ภัสราวลี กล่าวว่า เหตุสลายการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เจ็บปวดเมื่อพูดถึง เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และโหดร้าย ทั้งที่เป็นเพียงการร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชน ทั้งในการเคลื่อนไหวประเด็นเชิงโครงสร้างอำนาจ และประเด็นของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากเห็นความสำคัญ ว่าต้องขับเคลื่อนทั้งประเด็นเชิงโครงสร้างและประเด็นเฉพาะไปพร้อมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมให้ได้


ภัสราวลี ตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการเอ่ยถึงสถาบันฯ อย่างชัดเจนเลย ไม่มีป้ายหรือการอาศัยตัวแทนที่เปราะบางอย่างที่เคยมีมาในปี 2563 หรือ 2564 แต่กลับถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงมากกว่าทุกครั้งด้วยซ้ำ ถือว่าไร้หลักการ ไร้เหตุผล ผู้ปฏิบัติการแทบจะไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว


"เราสงสัยอยู่ในใจว่า หรือจริงๆ แล้ว เรื่องของเอเป คเรื่องของกลุ่มทุน ผู้ผูกขาดทรัพยากร อาจจะเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวก็ได้ เขาถึงปฏิบัติขนาดนี้" ภัสราวลี กล่าว


ภัสราวลี ได้กล่าวอีกว่า ใน 3 ระลอกของเหตุสลายการชุมนุม มีเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนใช้โล่ห์ดำทึบ ไม่ติดป้ายชื่อ พยายามปกปิดตัวตน ระหว่างการปฏิบัติกับมวลชนอย่างขาดมนุษยธรรม สะท้อนการขาดความโปร่งใส ไม่จริงใจกับประชาชน การบุกเข้าทุบตี ไม่เหมือนความพยายามยุติเหตุวุ่นวาย แต่เหมือนเป็นการพยายามเอาคืนมวลชนด้วยความรุนแรงมากกว่า การยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีระยะห่างไม่ถึง 2 เมตร เล็งตรงไปที่ส่วนบนของร่างกาย ต้องเน้นย้ำว่าไม่เป็นไปตามคู่มือและหลักสากล


ทำให้เชื่อว่า ผู้บังคับบัญชาอาจขาดความสามารถในการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชน ทำให้เกิดมาตรการที่ขาดวินัย แต่สุดท้ายกลับมีการมอบรางวัล


เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่แบ่งแยกระหว่างผู้ชุมนุม สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ไม่ควบคุมอารมณ์ตนเอง มองทุกคนเป็นศัตรู เป็นผู้ร้ายที่ต้องกำจัดทิ้งโดยไม่เลือก ทั้งที่ประชาชนมีสิทธิใช้พื้นที่ถนนเพื่อพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างได้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ การสลายการชุมนุมยังเป็นเหตุให้สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการตอบโต้ดังกล่าว


"ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาตนเอง ว่าทำไมจึงควบคุมลูกน้องตนเองไม่ได้ และควรต้องพิจารณาการปฏิรูปองค์กรของตนเอง ไม่เช่นนั้นจะยิ่งสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน เมื่อใดที่เขาเห็นตำรวจ เขาจะมองพวกคุณเป็นศัตรูเหมือนที่พวกคุณมองเราไหม เราจะฝากความปลอดภัยไว้กับใครได้บ้างหากตำรวจยังทำตัวแบบนี้"


ในช่วงท้าย ภัสราวลี ได้เรียกร้องให้ตำรวจ ต้องทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยได้ หากทำตัวทรยศประชาชนแบบนี้ ก็ควรเปลี่ยนคำว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นคำอื่น ขอสั่งในฐานะประชาชนเจ้าของภาษีว่าให้ปรับปรุง ก่อนที่ประชาชนจะหมดศรัทธาจนต้องสร้างเกราะป้องกันมาคัดคานอำนาจ พร้อมยืนยันเดินหน้าทวงถามความยุติธรรมต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ราษฎรหยุดAPEC2022 #BLOODYAPEC2022 #คฝยิงพายุ #ปฏิรูปคฝ