“ณัฐวุฒิ”
ขอศาลใช้ดุลยพินิจช่วยประคับประคองสังคม เหตุยกคำร้อง “เดียร์ รวิสรา” ให้โอกาสเด็กเรียนต่อเยอรมนีหลังได้ทุน!
วันนี้
(30 มี.ค. 65) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็น กรณี “เดียร์” รวิสรา
เอกสกุล จำเลยคดี ม.112 จากการอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันฯ
เมื่อ 26 มี.ค. 63 ได้ยื่นคำร้องถึง 6 ครั้ง กรณีขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
เพื่อไปศึกษา ณ ประเทศเยอรมัน และล่าสุด ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้อง โดย “ณัฐวุฒิ”
ได้โพสต์ข้อความว่า
ผมไม่รู้จัก
รวิสรา เอกสกุล “เดียร์” จำเลยจากการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานฑูตเยอรมันเป็นการส่วนตัว
กิจกรรมที่เธอไปทำเป็นช่วงผมอยู่ในเรือนจำ ทราบแต่ข่าวจากเพื่อนมิตรที่ไปเยี่ยม
มาอ่านเรื่องของเธอที่พยายามยื่นคำร้องต่อศาล
ขอเดินทางไปศึกษาต่อเพราะได้ทุนที่เยอรมัน แต่ละครั้งศาลมีเงื่อนไขขอเอกสารหลักฐาน
หนังสือรับรองต่างๆ “เดียร์” กับครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องเพียรหามายื่น
จนล่าสุดเป็นครั้งที่ 6
ศาลยังคงไม่อนุญาต
ระบุเหตุผลว่าคุณสมบัติผู้กำกับดูแลไม่เป็นไปตามระเบียบศาล
ไม่ทราบว่าศาลมีเหตุอื่นในการพิจารณาหรือไม่
แต่ส่วนตัวผมไม่มีเจตนาอื่น
เพียงสงสารเด็กที่โอกาสซึ่งยากจะได้รับกำลังจะหลุดลอยไป
ถึงจะไม่ทราบรายละเอียดหลักสูตรหรือหลักการของทุนนี้
แต่นึกภาพแม่ดีใจตอนผมได้ไปแข่งโต้คารมมัธยมศึกษา
แล้วน้ำตาคลอเมื่อรู้ว่าชนะโรงเรียนดัง ๆ ในกรุงเทพฯ กลับมา
ผมว่าหัวอกคนเป็นพ่อแม่ของ “เดียร์” กับโอกาสของลูกคงไม่ต่างกัน
แม้การพิจารณาจะเป็นอำนาจศาล
แต่ในสถานการณ์แหลมคมของยุคสมัย
การใช้ดุลยพินิจของศาลจะมีส่วนช่วยประคับประคองสังคมได้
ตัวอย่างการกำหนดเงื่อนไขของแกนนำนักศึกษาหลายคน
ทั้งติดกำไล ระบุเวลาห้ามออกจากบ้าน ฯลฯ คือเรื่องใหม่ที่คนเคยคุกเคยศาลอย่างผมไม่เคยเห็น
แม้อยากให้น้อง ๆ ได้อิสรภาพเต็มใบ แต่ยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมของกระบวนการยุติธรรม
ลดแรงเสียดทานระหว่างเรี่ยวแรงแห่งอดีตกับพลังแห่งอนาคตอย่างน่าสนใจ
กรณีของ
“เดียร์” ถ้ามีแนวพิจารณาที่รักษาโอกาสเรียนต่อของเด็ก เช่น
กำหนดพื้นที่กำหนดเวลาการใช้ชีวิต รายงานตัวออนไลน์ หรืออื่น ๆ
เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะยอมรับได้ ผู้พิพากษาลูกชาวบ้านหลานชาวนาก็มีมาก
คำว่าโอกาสมีคุณค่าสำหรับชีวิตอย่างไรท่านย่อมทราบ
มิพักต้องกล่าวเรื่องคนรุ่นเราจะส่งต่ออนาคตให้เด็กรุ่นนี้อย่างไร
เพียงรักษาปัจจุบันที่งดงามให้พวกเขาได้บ้าง ทำได้ก็ควรทำนะครับ
ที่มา
: fb. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
#มาตรา112 #UDDnews #ยูดีดีนิวส์