คสรท.
ร่วมกัน สรส. และเครือข่ายฯ จัดกิจกรรม #วันสตรีสากล ยื่น 9
ข้อเรียกร้องต่อนายกฯ วอนรัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิและบทบาทของสตรี
วันนี้
( 8 มี.ค. 65) เป็น #วันสตรีสากล เวลา 08.00 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ได้มีการนัดหมายของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รวมถึงเครือข่ายสตรีทุกภาคส่วน
ทุกสาขาอาชีพ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม เนื่องในวันสตรีสากล โดยมีการตั้งขบวนเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อ
ทั้งนี้
มีการปราศรัยบนรถเครื่องขยายเสียง พร้อมชูป้ายข้อความตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ รวมทั้งข้อเรียกร้องถึง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยจากการประสานงานจะมีตัวแทนรัฐบาลออกมารับหนังสือ
ซึ่งรายละเอียดข้อเสนอวันสตรีสากลของกลุ่มฯ มีดังต่อไปนี้
ข้อเสนอวันสตรีสากล
8
มีนาคม 2565
เรื่อง ข้อเสนอเนื่องในวันสตรีสากล
เรียน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นับศตวรรษที่มีการก่อกำเนิดวันที่
8 มีนาคม วันสตรีสากล
ซึ่งมาจากการต่อสู้ของแรงงานหญิงด้วยความกล้าหาญที่เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแรงงานหญิงมีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการสังคม
เศรษฐกิจ การเมือง ในประเทศและเศรษฐกิจโลก
แต่ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ซึ่งเป็นวิกฤตของโลกและเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในประทศที่ประชาชนต้องเผชิญกับชะตากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การแพร่ระบาดของโรคร้ายทำให้มีการเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ป้องกัน
ยารักษาโรค ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
สถานการณ์เลวร้ายเพิ่มขึ้นเมื่อมีการล็อกดาวน์ โรงงานอุตสาหกรรม งานก่อสร้าง
ห้างร้านปิดตัวลง ซึ่งผู้ใช้แรงงานทั้งที่เป็นแรงงานหญิง ชาย เพศสภาพ
รวมถึงแรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบกันอย่างทั่วถึง แม้รัฐบาลจะมีมาตรการต่าง ๆ
ออกมารองรับแต่ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
ความยากลำบากนี้กลับเพิ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาพลังงานได้
ปล่อยให้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าวปลาอาหาร
ค่าครองชีพสูง ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน คนยากจนลง
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบไปถึงครอบครัว เด็ก ๆ ลูก ๆ
ของผู้ใช้แรงงานที่ไม่สามารถไปเรียกแบบปกติได้ ขาดความรู้ ขาดทักษะ
ปัญหาครอบครัวแตกแยก เด็ก ๆ อ่อนแอในผลการเรียน
เหตุผลนี้เป็นเพียงหนึ่งส่วนของแรงงานหญิงที่ต้องเผชิญกับความยกลำบาก
และต้องการให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ
วันสตรีสากลในปีนี้
เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเพศสภาพ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้แรงงานหญิง
เร่งดำเนินการทางนโยบาย กฎหมาย
เพื่อปกป้องคุ้มครองและเยียวยาสิทธิของผู้หญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีตามหลักการกฎบัตรขององค์การระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะการประสานความร่วมมือกับนายจ้างผู้ประกอบการ การทำธุรกิจต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ไม่ฉกฉวยสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เลิกจ้าง ลอยแพท เอารัดเอาเปรียบคนงานหญิง
และเลือกปฏิบัติ กีดกันแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานหญิง
(การเลิกจ้างแรงงานหญิงตั้งครรภ์) ถือเป็นการละเมิดสิทธิทางเพศที่รุนแรง
นายจ้างบางส่วนได้ใช้ช่องว่างของกฎหมายทำให้คนงานสูญเสียสิทธิและขาดโอกาสในการทำงานที่มั่นคง
ยั่งยืน ไร้ความเป็นธรรม ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตตัวคนงานเอง ครอบครัว สังคม
และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
(คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
มีมติร่วมกันที่จะยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวันสตรีสากลประจำปี 2565
พร้อมกับติดตามข้อเสนอในหลายปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลยังมิได้ดำเนินการ
หรือบางข้อที่ดำเนินการบ้างแล้ว แต่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และล่าช้า
เพื่อให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังต่อไปนี้
1.
รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิความเป็นมารดา
2.
รัฐต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน
และให้ผู้ชายลาดไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100%
และให้เร่งรัดการจ่ายค่าจ้างวันลาคลอด 98 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ครบถ้วน
3.
รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน
โดยเฉพาะการเลิกจ้างหญิงตั้งครรภ์และการล่วงละเมิดทางเพศให้เป็นคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้
4.
รัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน
ให้ได้รรับสิทธิประโยชน์
อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและไม่ถูกละเมิดสิทธิคนทำงานทุกรูปแบบ และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยงานที่รับไปทำที่บ้าน
เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัดและค่าจ้างที่เป็นธรรม
5.
รัฐต้องกำหนดมาตรการเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิแรงงานทุกรูปแบบ
รวมถึงหามาตรการปกป้องคุ้มครอง และเยียวยา เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมให้เป็นไปตามหลักการ
การดำเนิน “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (UNGP) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบัน
แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ
6.
รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท
7.
รัฐต้องกำหนดสัดส่วนที่เท่ากันระหว่าง หญิง-ชาย
และเพศสภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติ ทุกระดับ
เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม
8.
รัฐต้องกำหนดให้ วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี
9.
รัฐต้องจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นไปตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ข้อเรียกร้องนี้
ได้ยื่นมาหลายปี แต่รัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมิได้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
และรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับสิทธิและบทบาทของสตรี ด้วยการดำเนินการตามข้อเสนอที่ “คณะทำงานวันสตรีสากล
2565” อันประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รวมถึงเครือข่ายสตรีทุกภาคส่วน
ทุกสาขาอาชีพ ได้นำเสนอในปีนี้ เพื่อให้ท่านดำเนินการโดยเร็ว
ซึ่งจะเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจของรัฐบาลในการยกระดับสิทธิและสวัสดิภาพของผู้หญิงให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีคนทำงานในสังคมต่อไป
ทั้งนี้
มีตัวแทนกลุ่มฯ อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องข้างต้น ก่อนที่จะมอบให้ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลที่ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวเพื่อดำเนินการต่อไป
ก่อนจบกิจกรรม
ผู้ชุมนุมเรียกร้องเนื่องใน #วันสตรีสากล ร่วมกันแสดงจุดยืนต่อ #สงครามรัสเซียยูเครน โดยส่งเสียงพร้อมกันว่า “ยุติสงคราม” 3 ครั้ง จากนั้นประกาศยุติกิจกรรมและแยกย้ายเดินทางกลับ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์