วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ฟื้นความทรงจำ รำลึกขบวนการประชาชน เมษา-พฤษภา 2553 ตอน 3

 


ฟื้นความทรงจำ รำลึกขบวนการประชาชน เมษา-พฤษภา 2553 ตอน 3


[ผลการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน ปี 2553]


แม้กระบวนการของการชุมนุมใหญ่ที่นำโดยนปช. จะใช้กระบวนการสันติวิธี ไม่มีกองกำลังอาวุธ ใช้การแรลลี่ การเชิญกองทหารออกจากที่ตั้ง เป็นวัด เป็นโรงเรียน เป็นสถานีดาวเทียม แต่การชุมนุมจาก 13 มีนาคม – 19 พฤษภาคม ปี 2553 ต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลหลายอย่าง มีทั้งด้านดีและด้านร้าย แต่ด้านร้ายเป็นหลัก ด้านดีเป็นรอง


ด้านดีคือ สุดท้ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 พรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย ก็ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอีก สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี  พูดง่าย ๆ คือ คนเสื้อแดง นปช. พ่ายแพ้ทางการทหาร แต่พรรคพันธมิตรทางการเมืองในการต่อสู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาล สามารถออกนโยบายเยียวยาผู้สูญเสียในการต่อสู้เป็นจำนวนเงินสูงสุดถึง 7 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นประชาชนฝ่ายไหน ได้ย้อนหลังไปด้วยซ้ำ และสามารถฟ้องร้องศาลเพื่อไต่สวนสาเหตุการตายของกรณีที่ถูกฆ่ากลางเมืองหลวง จนคดีคืบคลานไปสิบกว่าคดี และกำลังดำเนินไปเรื่อย ๆ แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรอดจากการถูกดำเนินคดี ผู้สั่งการที่เล็งเห็นผล

 

แต่ด้านร้ายที่เป็นด้านหลักคือ การถูกปราบปรามด้วยกระสุนจริง ผู้เสียชีวิตจำนวน 99 ราย บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 1,283 ราย ถูกฟ้องดำเนินคดี จับกุมคุมขัง ไม่ได้ประกันตัว การดำเนินคดีในพระนครและต่างจังหวัด มีทั้งก่อการร้าย, ชายชุดดำ, วางเพลิง มีทั้งคดีแพ่งและอาญา แกนนำนปช.ส่วนกลางเจอทั้งคดีก่อการร้ายและยุยงปลุกปั่น ไปจนทำให้เกิดการวางเพลิง จำนวนมากถูกฟ้องร้องจับกุมคุมขัง ไม่ได้ประกันตัว และในที่สุดศาลตัดสินไม่ผิดตามฟ้อง ก็ถูกขังฟรีเป็นจำนวนมาก ทั้ง 112, 116, การใช้อาวุธต่อสู้เจ้าหน้าที่ เช่น

 

คดีนางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือ “จ๋า ผู้หญิงยิง ฮ.” ยิงเฮลิคอปเตอร์ ก็ติดคุกฟรี ๆ 3 ปี เป็นต้น อ้างถึงข่าวผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 พาดหัวข่าว “3 นปช.รอดคุก ศาลไม่รับฎีกาคดียิง ฮ.ทหาร”

[ลิ้งค์ : https://mgronline.com/crime/detail/9590000026885]

 

แกนนำส่วนกลางติดคุกตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ไป 9 เดือน จึงได้ออกมา คดีตัดสินไม่ผิดในศาลชั้นต้น อ้างถึงข่าวจากประชาไท เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 พาดหัวข่าว “เปิดคำพิพากษา 24 นปช. ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่ใช้สิทธิชุมนุมไล่รัฐบาล(ปี 53) ตาม รธน.”

[ลิ้งค์ : https://prachatai.com/journal/2019/08/83861]


แต่คดีแพ่ง 2 คดี เรื่องวางเพลิง แพ้คดีต้องชดใช้ค่าเสียหาย คดีละกว่า 30 ล้านบาท เป็นต้น


การสลายการชุมนุม ครั้งแรกคือ 10 เมษายน 2553 แล้วพักไป 1 เดือน ก็เริ่มการสลายรอบใหม่ที่ราชประสงค์ จาก 13 พฤษภาคม ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ภาพต่าง ๆ และการบรรยายให้อ่านและชมได้จากวิดีทัศน์ 3 ชุด คือ

.

ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53 ตอนที่ 1

ลิ้งค์ : https://www.youtube.com/watch?v=j1i-HFGmG60&t=224s


ยุทธการขอคืนพื้นที่ เมษา 53 ตอนที่ 2

ลิ้งค์ : https://www.youtube.com/watch?v=gIavhPiiE8w&t=587s และ


ยุทธการ “ยิงนกในกรง” พฤษภา 53

ลิ้งค์ : https://www.youtube.com/watch?v=kMx3M80-CJ4&t=82s


ที่ดิฉันจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลานั้น สามารถชมวิดีทัศน์ได้ใน Youtube ตามลิ้งค์ข้างต้น และอ่านบทบรรยายได้ในเพจเฟซบุ๊ก “ยูดีดีนิวส์” ที่จะลงบทบรรยายเป็นตอน ๆ เพื่อให้เห็นภาพเหตุการณ์การปราบปราม การใช้กระสุนจริงยิงประชาชนเหมือนการรุมยิงนกในกรง  ดังที่ท่าน พลเอก อดุล อุบล กล่าวไว้ว่า “รู้สึกอับอายอย่างยิ่งที่ชายชาติทหารติดอาวุธ กระทำต่อประชาชนเยี่ยงนั้น”


ความจริง เหตุการณ์ที่เปรียบเทียบได้กับการปราบนิสิตนักศึกษา 6ตุลา19 นั้น ก็เป็นการรุมยิงเยาวชนในมหาวิทยาลัย แต่นี่เป็นการใช้กระสุนจริงยิงประชาชนมือเปล่า แถมใช้สไนเปอร์ ปืนติดลำกล้อง เล็งยิงประชาชนจากที่สูง ไม่ใช่เรื่องการป้องกันตัวใด ๆ ดังที่ดิฉันกล่าวไว้ว่า เราไม่มีกองกำลังอาวุธ ผลการไต่สวนคดี 10 กว่าศพ เกือบทั้งหมดระบุว่าถูกยิงจากเจ้าหน้าที่ (รู้สังกัดด้วย) ในแต่ละจุด ไม่มีการยิงโต้ตอบจากประชาชนในทุกจุด

.

นีถ้ามีกองกำลังอาวุธ 500 คนจริง คงตายทั้ง 2 ข้าง นับพัน ๆ คน กระมัง!


ผลต่อขบวนการประชาชน

- ขยายคนเสื้อแดง การตื่นตัวในวงกว้าง

- ขยายคนเสื้อแดง ทางการจัดตั้งได้ระดับหนึ่ง

- มีการจัดชุมนุมย่อย ชุมนุมใหญ่ ตั้งแต่หลังการปราบปรามเดือนพฤษภาคม ครบเดือน ครบปี ตลอด ไปจนก่อนเลือกตั้งใหญ่และหลังเลือกตั้ง

- มีการเปิดโรงเรียนการเมืองนปช. ต่อเนื่องมาเป็นลำดับ จนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กล่าวไว้ว่า เขาไม่ได้แพ้เพื่อไทย แต่แพ้โรงเรียนการเมืองนปช. (ก็เลยคิดทำโรงเรียนการเมืองบ้าง แต่ล้มเหลว อุตส่าห์ไปดูงานถึงประเทศจีน)


ดังนั้น หลังถูกปราบปราม การต่อสู้เพื่อให้ได้ประกันตัว การช่วยเหลือทางคดี และการจองจำ และการสร้างความเข้มแข็งใหม่ มีหลักการ มีการจัดตั้ง ก็เข้มแข็งขึ้นมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดิฉันต้องเดินสายทั่วประเทศในภารกิจการจัดตั้ง การเปิดโรงเรียนการเมืองนปช. การปราศรัยเวทีชุมนุมระดับตำบล-อำเภอ-จังหวัด และการจัดชุมนุมในกรุงเทพฯ ในวาระต่าง ๆ มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันและทำงานได้ดีเช่นกัน คือกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์


และแน่นอน ก็มีกลุ่มอิสระเกิดขึ้นหลายกลุ่มเช่นกัน บางกลุ่มก็อ้าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร อ้างพรรค มาทำกลุ่มใหม่ ซึ่งในฐานะประธานนปช. ดิฉันไม่เคยขัดข้องหรือห้ามปรามประชาชนไม่ให้ไปร่วมกลุ่มอิสระใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่คิดยังไม่เคยคิด เพราะเรามีหลักระบอบประชาธิปไตย แนวทางเสรีนิยม เราจะไปผูกขาดความถูกต้อง ผูกขาดการนำโดยองค์กรนปช. ทำไม่ได้! ดิฉันไม่เคยแม้แต่จะคิด แต่ก็ถูกอาจารย์ปัญญาชนที่พยายามทำกลุ่มอื่น ๆ ใส่ร้าย แม้กระทั่งหน้าจอทีวีเสื้อแดงทั้งหลายว่า ขัดขวางคนเสื้อแดงไม่ให้ไปร่วมการชุมนุมที่ผู้อื่นนำ ดิฉันพูดเพื่อเป็นประโยชน์กับขบวนการคนรุ่นใหม่ว่า มีบางอย่างที่เป็นบทเรียนไม่ดี ไม่ควรเอาอย่าง คือการนำพาการต่อสู้นั้น ไม่ควรนำโดยบุคคล ควรนำโดยหลักการและใช้นำรวมหมู่ เพราะบุคคลที่นำอาจมองไม่เห็นปัญหาทั่วถึง หรือใช้อารมณ์มากกว่าหลักการและเหตุผล โยนความผิดพลาดให้แก่ปัจจัยจากผู้อื่น แต่การนำรวมหมู่ อย่างน้อยหลายหัวก็ยังดีกว่าหัวเดียว หลายตา หลายหู หลายมือ หลายแขน หลายขา ก็ช่วยกันได้


อีกอย่างหนึ่งคือ ผลความสำเร็จการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยก็เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของขบวนการต่อสู้ของประชาชนคนเสื้อแดงและนปช.


จุดแข็ง คือ เราขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ถูกอำนาจรัฐจัดการง่าย ๆ การช่วยเหลือผู้ถูกคุมขัง ดำเนินคดีและสร้างที่คุมขังเฉพาะนักโทษการเมืองก็เกิดขึ้นได้ โดยผ่านทางกระทรวงยุติธรรม ดิฉันก็ไปผลักดันให้เกิดคุกหลักสี่และการดูแลได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจดูแลทั่วถึงได้ตั้งแต่ต้น เราไม่ได้มีการรับบริจาคเงินจากสาธารณชน มีทีมที่ประสานพรรคการเมืองได้รับความช่วยเหลือมาจำนวนหนึ่งในตอนแรก แต่ก็ไม่พอ ดิฉันเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเงินส่วนนี้ จึงรับหน้าที่ประสานทางคดีความ, การประกันตัว, การขออภัยโทษ, การจัดคุกใหม่ ฯลฯ เป็นต้น แต่ภาระสำคัญคือการฟื้นฟูนปช.ทางการจัดตั้ง ทางการนำด้วยหลักการและการศึกษาทางการเมือง การตั้งคณะนำในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล แต่ไม่ได้ทำหมู่บ้านเสื้อแดง (กลายเป็นการจัดตั้งเพื่อหลอกนายทุกยุค)


พูดง่าย ๆ คือเราถูกสลายการชุมนุม บาดเจ็บ ล้มตายมากมาย แต่พลังที่ได้มาจากความเจ็บแค้นนี้แสดงออกโดยการที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และการฟื้นฟูนปช. เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ความใหญ่โต จำนวนคนมหาศาลของพี่น้องคนเสื้อแดง นปช. ก็ถูกบ่อนเซาะทำให้แตกแยก อันเนื่องจากความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักการเมือง พรรคการเมือง และการแข่งกันหาผลประโยชน์ หิวแสง หาแสง แสดงตัวว่าเป็นผู้นำกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ สร้างกลุ่มใหม่โดยไปแซะมาจากกลุ่มจัดตั้งเดิม สร้างภาพให้เข้าตาผู้นำพรรคการเมือง ตัวอย่างง่าย ๆ กลุ่มหมู่บ้านเสื้อแดงของนายอานนท์ แสนน่าน, กลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) ของแรมโบ้ อีสาน และกลุ่มอื่นๆ ที่ส.ส.และแกนนำพรรคการเมืองสนับสนุน อ้างเป็นฐานเสียง ซึ่งไม่มีจริง หรือมีจิ๊บจ๊อย วิ่งเข้าหาพรรคการเมือง นักการเมือง เพื่อสนับสนุนทำกิจกรรมอิสระ แบบที่สร้างปัญหาให้ขบวนการต่อสู้ประชาชนทั้งหมด ประเภทหวังดีแต่ผลร้าย เพราะ


“นักการเมือง” คิดถึงชัยชนะการเลือกตั้งเฉพาะหน้า ผลประโยชน์ของตนและของกลุ่มตน

แต่ “นักต่อสู้” คิดถึงชัยชนะของประชาชนทางการเมือง ผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนและประเทศชาติเท่านั้น!


เป้าหมายที่ต่างกัน ก็มีวิธีการ หนทางต่างกัน ก็ส่งผลความสำเร็จ ความล้มเหลว ความแตกแยกต่อขบวนการประชาชน เสื้อแดง และนปช. แต่ข้อดีคือ มวลชนเสื้อแดง ผู้รักประชาธิปไตย รักความยุติธรรมส่วนใหญ่ยังยืนหยัดอุดมการณ์ ไม่หนีหายไปไหน แต่ต้องขอให้ถูกทาง ใช้เวทีรัฐสภาช่วยสนับสนุนการต่อสู้ประชาชน ไม่ทำให้การต่อสู้ประชาชนเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นบันไดให้นักการเมือง เพราะพอได้เป็นส.ส. พรรคการเมืองที่สนับสนุนได้เป็นรัฐบาล ก็ถีบบันไดทิ้ง ไม่ได้สำนึกว่ารัฐบาลและเวทีรัฐสภานั้นจะถูกจัดการโดยจารีตอำนาจนิยมเมื่อไรก็ได้ ชัยชนะจะไม่ยั่งยืนถ้าไม่มีขบวนการประชาชนสนับสนุน!


ธิดา ถาวรเศรษฐ

22 มีนาคม 2565


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์