วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565

ศาลยกคำร้อง “เดียร์ รวิสรา” ครั้งที่ 6 ชี้คุณสมบัติผู้กำกับดูแลไม่เป็นไปตามระเบียบศาล ขณะมหาวิทยาลัยที่เยอรมันจะเปิดสอน 4 เม.ย. นี้แล้ว

 




ศาลยกคำร้อง “เดียร์ รวิสรา” ครั้งที่ 6 ชี้คุณสมบัติผู้กำกับดูแลไม่เป็นไปตามระเบียบศาล ขณะมหาวิทยาลัยที่เยอรมันจะเปิดสอน 4 เม.ย. นี้แล้ว


วานนี้ (29 มี.ค. 65) กรณี "เดียร์" รวิสรา เอกสกุล จำเลยคดี ม.112 จากการอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันฯ เมื่อ 26 มี.ค. 63 ยื่นคำร้องเป็นครั้งที่ 6 กรณีขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพื่อไปศึกษา ณ ประเทศเยอรมัน โดยศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านทางทวิตเตอร์ ความว่า


11.30 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของ #รวิสรา เสร็จสิ้นแล้ว โดยศาลทำการไต่สวนพยาน 3 ปาก ได้แก่ วริศรา, นายประกัน และพ่อของรวิสรา


ในเวลาต่อมา ศูนย์ทนายฯ ได้รายงานว่า ศาลยกคำร้องของ #รวิสรา เรื่องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยระบุว่า จำเลยไม่มีผู้กำกับดูแลที่เหมาะสมตามคุณสมบัติของระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ที่จะกำกับดูแลและป้องกันการหลบหนีของจำเลย ที่จะเดินทางไปพักอาศัย-เรียนต่อประเทศเยอรมนี ศาลจึงยกคำร้อง


ทั้งนี้ ผู้ลงนามคำสั่งคือ นายสันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้


ศูนย์ทนายฯ รายงานเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยที่เยอรมันที่ “เดียร์ รวิสรา” ได้ทุนการศึกษานั้น จะเปิดเรียนในวันที่ 4 เมษายน 2565 หรือในอีก 6 วันนี้แล้ว


สำหรับการยื่นคำร้องของ “เดียร์ รวิสรา” มีเป็นลำดับดังนี้

 

ครั้งที่ 1 เมื่อ 7 ก.พ. 65 และครั้งที่ 2 เมื่อ 2 มี.ค. 65 ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างว่า “ยังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่” ประกอบกับศาลมองว่า เงื่อนไขที่จำเลยเสนอว่าหากได้รับอนุญาต ยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่ประเทศเยอรมันทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนายประกัน และบิดาของจำเลยเป็นผู้กำกับดูแลตามเงื่อนไขดังกล่าว “เป็นการยากที่จะกำกับดูแล

 

ครั้งที่ 3 เมื่อ 10 มี.ค. 65 เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ศาลต้องการให้ยื่นเอกสารรับรองจากมหาวิทยาลัยที่ได้ทุนว่ารวิสราได้รับทุนจริง และในการตั้งผู้กำกับดูแลต้องมีคำรับรองให้ความยินยอมจากผู้นั้นมาด้วย โดยที่ศาลไม่มีอำนาจตั้งเอกอัครราชทูตให้เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยเองได้ รวิสาจึงขอคืนคำร้อง เพื่อเตรียมจัดหาเอกสารดังกล่าวมายื่นเพิ่มเติมใหม่ต่อไป

 

ครั้งที่ 4 เมื่อ 15 มี.ค. 65 รวิสราได้ยื่นคำร้องโดยยืนยันว่า ได้รับทุนดังกล่าวจริง พร้อมส่งเอกสารเพิ่มเติมแก่ศาล ซึ่งประกอบด้วย

·   หนังสือรับรองจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรึค (University of Applied Science Osnabrück) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 ฉบับภาษาเยอรมันและฉบับแปลเป็นภาษาไทย

·   จดหมายมอบทุนและเอกสารการมอบทุน

·   จดหมายจากตัวแทนผู้มอบทุนประจำประเทศไทย ซึ่งแจ้งรายละเอียดการมอบทุนและกำหนดการแผนการศึกษา ฉบับลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และจดหมายของเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานคร ถึงจำเลย ฉบับลงวันที่ 18 ก.พ. 2565

 

และศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งให้รวิสรานำหนังสือของมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้พักหรือหยุดการศึกษาไว้ชั่วคราวเพื่อเดินทางกลับมาร่วมการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษามายื่นต่อศาลก่อน แล้วศาลจึงจะพิจารณาคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อไป

 

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 65 ศาลเห็นว่าเอกสารของมหาวิทยาลัยที่ “เดียร์ รวิสรา” ได้รับทุนการศึกษานั้น ไม่ปรากฏว่าได้ผ่านการรับรองจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย จึงเห็นควรให้ไปดำเนินการในส่วนนี้ให้เรียบร้อยก่อน และให้เสนอชื่อผู้กำกับดูแลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ประเทศเยอรมัน เช่น อาจารย์ ญาติใกล้ชิด มาให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมก่อน แล้วจึงพิจารณาสั่งคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อไป


และล่าสุดยื่นคำร้องครั้งที่ 6 วานนี้ (29 มี.ค.) ศาลก็ยกคำร้อง โดยระบุว่า จำเลยไม่มีผู้กำกับดูแลที่เหมาะสมตามคุณสมบัติของระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม


#มาตรา112

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์