วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2565

"แอมเนสตี้" ร่วมกับประชาชนจุดเทียนรำลึกผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน วาระครบรอบ 1 เดือนการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย จี้ รัสเซียยุติสงครามการรุกรานและคุ้มครองพลเรือนยูเครน

 


"แอมเนสตี้" ร่วมกับประชาชนจุดเทียนรำลึกผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน วาระครบรอบ 1 เดือนการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย จี้ รัสเซียยุติสงครามการรุกรานและคุ้มครองพลเรือนยูเครน


วันนี้ (23 มี.ค. 65) เวลา 18.00 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย เขตบางรัก กรุงเทพฯ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลพร้อมด้วยประชาชน รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานในยูเครน รวมถึงการคุ้มครองพลเรือนยูเครน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ยืนถือป้ายข้อความยุติสงคราม และภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งจุดเทียนและยืนสงบนิ่งเพื่อรำลึกถึงผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยวันนี้ถือเป็นการครบ 1 เดือนที่รัสเซียบุกยูเครน


ด้านนางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งเดือนการบุกรุกยูเครนของรัสเซีย โดยนักกิจกรรมในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้รัสเซียยุติการบุกรุกยูเครน ซึ่งเป็นการกระทำรุกรานที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และยังคงทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในทุกระดับต่อประชาชนในยูเครน รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกในรัสเซีย และกระทบต่อกรอบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย


นางสาวปิยนุช กล่าวต่อไปว่า ปฏิบัติการของรัสเซียส่งผลให้เกิดหายนะด้านสิทธิมนุษยชนในยูเครน ในช่วงแค่สี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชีวิต ความเป็นอยู่ บ้านเรือน และโครงสร้างพื้นฐานได้ถูกทำลาย ครอบครัวต้องพลัดพรากจากกัน และอีกหลายล้านคนต้องพลัดถิ่นฐาน ส่วนที่รัสเซียเอง ทางการได้เริ่มการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้มีการรุมซ้อมและคุมขังผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านสงคราม สื่ออิสระที่ยังมีเหลืออยู่ไม่มากนักถูกบังคับให้ต้องปิดตัวลง การขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นอย่างรุนแรงหรือเฉียบพลันอันเนื่องมาจากการบุกครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมในวงกว้างขึ้นทั่วโลก 


"หนึ่งเดือนนับแต่เริ่มการบุกครั้งนี้ นักกิจกรรมจากทุกมุมโลกต่างเปล่งเสียงเดียวกัน เรียกร้องให้ทางการรัสเซียยุติการทำลายล้างที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยยุติการรุกรานที่ผิดกฎหมาย คุ้มครองพลเรือน และเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ" ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว


นางสาวปิยนุช ยังเปิดเผยว่า นับแต่เริ่มการบุกครั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการโจมตีไม่เลือกเป้าหมายที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ เป็นการโจมตีที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งได้ทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน รวมทั้งการยิงระเบิดใส่โรงพยาบาลและโรงเรียน และการใช้ระเบิดลูกปรายซึ่งเป็นอาวุธต้องห้าม อันอาจถือเป็นอาชญากรรมสงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เกิดความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมเหล่านี้ และจะมีการนำเสนอพยานหลักฐานที่จำเป็น ที่สามารถใช้เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ  


"การบุกยูเครนโดยรัสเซีย เป็นการละเมิดอย่างชัดแจ้งต่อธรรมนูญแห่งสหประชาชาติ และเป็นการกระทำรุกรานซึ่งถือเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนการที่รัสเซียตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีแห่งยุโรป และจากการเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป เป็นการถอดเกราะป้องกันการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอันสุดท้ายที่เหลืออยู่ ทั้งที่ประชาชนในรัสเซียทุกวันนี้ต้องการมันมากที่สุด" 


"สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในลักษณะนี้จะมีขึ้นด้านนอกของสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย และสถานที่เชิงสัญลักษณ์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ อัลจีเรีย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย แคนาดา สาธารณรัฐเช็ก ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สเปน เกาหลีใต้ สวีเดน ไต้หวัน สหรัฐฯ และประเทศไทย นอกจากนั้นทางแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้ทำข้อเรียกร้องออนไลน์เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้ทางการรัสเซียยุติการกระทำรุกรานและคุ้มครองพลเรือน ซึ่งได้มีผู้ร่วมลงนามแล้วกว่า 340,000 คน" ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย


ขณะที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมชาวไทยร่วมกิจกรรมด้วย และกล่าวว่า การที่รัสเซียนำกำลังทหารมาบุกยูเครน ถือว่าผิดกติกาสากลของสหประชาชาติ หากปล่อยสถานการณ์เช่นนี้ต่อไป ไม่เพียงแต่คนยูเครนจะเสียชีวิต แต่จะมีความเสียหายต่อมนุษยชาติ ประเทศไทยจึงปฏิเสธความรับผิดชอบทางศีลธรรมไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของเราเพราะสงครามจะนำมาซึ่งความตายและหายนะ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัสเซียยูเครน