วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2565

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เดินเท้าจากสะพานชมัยฯ รายงานตัวกรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สน.นางเลิ้ง อ่านแถลงการณ์ทวงสิทธิ 16 นักเคลื่อนไหว เบื้องต้นให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 


ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เดินเท้าจากสะพานชมัยฯ รายงานตัวกรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สน.นางเลิ้ง อ่านแถลงการณ์ทวงสิทธิ 16 นักเคลื่อนไหว เบื้องต้นให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

วันนี้ (1 มี.ค. 65) ตามที่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ นัดหมายรวมตัวกันที่หน้าสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) บริเวณ ถ.พิษณุโลก ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เพื่อเดินเท้าไปรายงานตัวที่ สน.นางเลิ้ง

 

ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปิด ถ.พิษณุโลก บริเวณแยกพาณิชยการ ฝั่งศาลกรมหลวงชุมพรฯ และบนสะพานชมัยมรุเชฐจนถึงแยกสวนมิสกวันตั้งแต่เวลา 07.30 น. ทำให้ขบวนผู้ชุมนุมเดินทางไปยัง สน.นางเลิ้ง โดยใช้เส้นทาง ถ.พิษณุโลกมุ่งหน้าแยกนางเลิ้ง เลี้ยวขวาเข้า ถ.นครสวรรค์ผ่านแยกเทวกรรมเข้าสู่ ถ.กรุงเกษม มุ่งหน้าสะพานมัฆวานรังสรรค์ และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถ.ราชดำเนินนอก ผ่านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมีม็อบเกษตรกรปักหลักชุมนุมอยู่ และผ่านหน้ากระทรวงคมนาคมซึ่งมีม็อบเครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการรถไฟ(ชมฟ)ปักหลักชุมนุมอยู่เช่นเดียวกัน โดยระหว่างนั้นมีผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ยืนให้กำลังใจ บ้างเดินต่อแถวร่วมขบวนมาด้วยนั้น

 

กระทั่งเวลา 10.00 น.ที่ ขบวนได้เดินทางมาถึงสน.นางเลิ้ง กลุ่มแนวรวมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ P-Move (พีมูฟ) นำโดยนายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ พร้อมพวก เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รอง ผกก.(สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา "ร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 

โดยตัวแทนได้อ่านแถลงการณ์ระบุว่า

 

"​ที่ผ่านมาพีมูฟได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิอันพึงมี ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ พวกเราถูกกระทำผ่านกฎหมายและนโยบายของภาครัฐที่ทิ้งเราไว้ข้างหลัง กดทับ ละเมิดสิทธิของพวกเราที่เป็นคนจนเมือง กลุ่มคนไร้บ้าน ประชาชนในเขตป่า และกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งที่พวกเราทำได้จึงมีเพียงการลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมเท่านั้น เพราะหากไม่สู้ เราคงถูกกดทับไปชั่วลูกชั่วหลาน ไม่มีทางได้ลืมตาอ้าปากและปลดพันธนาการทางชนชั้นได้

 

​ราคาที่เราต้องจ่ายจากการออกมาเรียกร้องสิทธิ คือการถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ” จำนวน 2 หมาย รวมทั้งสิ้น 16 คน ที่ประกอบด้วยพวกเราชาวบ้านพีมูฟ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพีมูฟ พวกเราเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้สะท้อนภาพบ้านเมืองของเราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการใช้กฎหมายปิดปากประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม วันนี้เราต้องเดินทางมาจากต่างที่ต่างถิ่น บางคนต้องเดินทางอย่างยากลำบาก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลและตำรวจไม่สมควรกระทำกับเราเช่นนี้ เราจึงขอประกาศย้ำข้อเรียกร้องเดิมของเรา คือการต้องเร่งยุติกระบวนการทางกฎหมายกับพวกเราทั้ง 16 คน รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยเร็วที่สุด

 

พวกเรายืนยันว่า การลุกขึ้นมาส่งเสียง การลุกขึ้นมาใช้สิทธิปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนและเรียกร้องสิทธิที่ประชาชนพึงมีนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาระหว่างประเทศ แม้วันนี้พวกเราจะถูกกระทำ แต่ก็จะขอลุกขึ้นสู้ จนกว่าสิทธิในการกำหนดชีวิตของประชาชน จะเป็นของประชาชนโดยแท้จริง"

 

ด้านนายจำนงค์ กล่าวว่า เรากำลังต่อสู้ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นการขัดขวางประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ขณะนี้รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาของตนเอง โดยไม่สนใจข้อเรียกร้องของประชาชน จึงอาจจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนการยุติคดีนั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อออกหมายเรียกก็ต้องมารายงานตัวส่วนขั้นตอนการเรียกร้องต่าง ๆ จะว่ากันต่อว่าจะทำอย่างไรให้ยุติคดี ซึ่งได้ประชุมกับทาง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นกรณีนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนโยบายของรัฐบาล โดยนายสมศักดิ์รับปากว่าจะทำให้เสร็จภายใน 3 เดือนซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะทำได้จริงหรือไม่

 

ขณะที่ น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะทนายความกลุ่มพีมูฟ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นทนายความ ตนมองว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ควรถูกดำเนินคดี เนื่องจากเป็นการมาติดตามประเด็นที่เคยเรียกร้องกับรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา หากรัฐบาลยังใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาแก้ไขปัญหา ด้วยการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่มาชุมนุม ตนมองว่าเป็นการใช้กฎหมายมาปิดปากประชาชน ดังนั้นควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้แล้ว เพราะไม่ได้ใช้แก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด แต่ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับประชาชนที่มาเรียกร้องสิทธิต่างๆ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการแก้ปัญหาที่เรียกร้อง ไม่ใช่การดำเนินคดี โดยในวันนี้มีผู้ที่มารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมด 12 คน เนื่องจากมี 3 คนมีความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด และอีก 1 คน อยู่ไกลมาก และต้องดูแลผู้ป่วย หลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ก็จะทำเรื่องเรียกร้องให้มีการงดเว้นการดำเนินคดีต่อไป

 

คืบหน้าล่าสุด 13.20 น. ผู้ถูกออกหมายเรียกได้เดินออกจากสน. โดยชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

 

โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

 

#ทวงสิทธิต้องไม่ผิดกฎหมาย

#ม็อบ1มีนา65

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์