ย่ำรุ่ง
24 มิถุนายน 2475 ล่วงเลยมา 89 ปี ประชาธิปไตยยังย่ำอยู่กับที่
โดย
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ : หัวใจไม่หยุดเต้น EP.47
ย่ำรุ่งวันที่
24 มิถุนายน 2475
เกิดการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย
หลายคนบอกว่า ณ วินาทีนั้นคือจุดสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แต่อีกนัยยะหนึ่งก็เป็นการเริ่มต้นการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยต่อเนื่องยาวนานจนถึงวันนี้
89 ปี
ตัวละครเปลี่ยนแปลงสถานการณ์เงื่อนไขบริบทอาจจะแตกต่าง
แต่แกนกลางของการต่อสู้ยังเป็นเรื่องนี้และยังคงหาข้อยุติไม่ได้
ปฐมบทของความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไม่ได้เริ่มต้นขึ้นโดย
“คณะราษฎร”
หากแต่เริ่มต้นขึ้นโดยคณะบุคคลที่ถูกเรียกในบรรทัดประวัติศาสตร์ว่าคณะร.ศ.130
คนกลุ่มนี้เป็นนายทหารเข้ารับราชการจากการสำเร็จการศึกษาในโรงเรียนนายร้อย
เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นแรกที่ลูกหลานสามัญชนสามารถเข้าเรียนได้
เมื่อลูกหลานสามัญชนเข้าถึงองค์ความรู้สำเร็จการศึกษาเดินหน้าในชีวิตราชการก็พบว่า
ภายใต้โครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่
ภายใต้กลไกราชการที่เต็มไปด้วยระบบลูกท่านหลานเธอเจ้าขุนมูลนาย
แทบไม่เหลือพื้นที่สำหรับอนาคตของตัวเอง ตลอดจนเห็นความไม่เป็นธรรมในหลายมิติ
จนถึงที่สุดก็เกิดความคิดในการเปลี่ยนแปลงขึ้น
แม้ว่าคณะร.ศ.130
ยังมิทันได้ก่อการก็ถูกจับกุมคุมขังเสียก่อน
แต่นั้นกลายเป็นสารตั้งต้นของอีกหลายปีต่อมาและการอภิวัฒน์สำเร็จลงโดย “คณะราษฎร”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ
89 ปีผ่านไป การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่
และเมื่อปีที่ผ่านมาปรากฎกลุ่มบุคคลประกาศตัวเองในนาม “คณะราษฎร” ขึ้นมาอีกครั้ง
เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังคมไทย
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือขบวนการขับเคลื่อนทางการเมืองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน
มีจุดร่วมอย่างสำคัญ 2-3 ข้อ
ประการแรก
เป็นพลังที่เกิดขึ้นจากคนหนุ่มสาว
ประการที่สอง
เป็นคนหนุ่มสาวที่เข้าถึงองค์ความรู้ เข้าถึงระบบการศึกษา และ
ประการที่สาม
คนหนุ่มสาวเหล่านี้มองไปข้างหน้าแล้วไม่เห็นอนาคตของตัวเองในสังคมที่ดำรงอยู่
“คณะร.ศ.130”
จากลูกชาวบ้านเข้าโรงเรียนนายร้อย
“คณะราษฎร2475”
ได้ทุนไปเรียนเมืองนอกเมืองนา
กำลังจะกลับมาบ้านเกิดแต่ไม่เห็นอนาคตของตัวเองที่นั่น
คณะราษฎรในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน
คนเหล่านี้เติบโตขึ้นบนซากปรักหักพังจากความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อสู้อย่างเข้มข้นแหลมคมตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา
พวกเขากวาดสายตามองไปรอบ ๆ ซากปรักหักพังเหล่านี้
แล้วพบว่าไม่มีอะไรหยิบฉวยได้เลยเพื่อเดินไปสู่อนาคต
จึงตัดสินใจที่จะเรียกร้องและสร้างอนาคตของตัวเอง
ตลอดระยะเวลา
89 ปี ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพยายามสร้างกระบวนการมัดย้อมทางความคิดให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยเกิดข้อสะดุดติดขัด
ให้บุคลากรในวิถีทางประชาธิปไตยกลายเป็นคนไร้คุณภาพ ฉ้อฉล ทุจริต
ให้ภาพการเมืองในระบบกลายเป็นเรื่องเหลวไหล ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้
ไม่สามารถจะหาทางออกให้กับความขัดแย้งในสังคมได้
พร้อม
ๆ กันนั้นก็ได้สร้างกลไกราชการขึ้นมาให้มีอิทธิพล มีความชอบธรรม สะอาดกว่า
ซื่อสัตย์กว่า
และควรค่าแก่การเชื่อถือมากกว่ากลไกการเมืองซึ่งมาจากอำนาจของประชาชน
เครือข่ายอนุรักษ์นิยมใช้เวลาถึง
25 ปีจาก 2475 ในการสร้างกลไกอำนาจและโค่นล้มทำลายรากฐานของ “คณะราษฎร” แล้วก็ใช้เวลาอีกหลายสิบปีต่อจากนั้นสร้างอำนาจซ้อนรัฐให้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง
ถือกำเนิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง
ทำให้การรัฐประหารกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง
ทำให้คำว่าประชาธิปไตยอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้
ต้องใช้กลไกอำนาจนอกระบบนำพาประเทศตลอดมา
ยิ่งนานวันเครือข่ายที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ก่อร่างสร้างขึ้นก็มีอิทธิพลและมีความแข็งแรงมากขึ้นทุกที
ๆ จนยากแก่การเปลี่ยนแปลง ยากแก่การเผชิญหน้าขึ้นท้าทาย กลุ่มชนชั้นนำ
กลุ่มทุนกลไกราชการและองคาพยพที่เป็นผลผลิตของฝ่ายประชาชนที่ยอมตัวรับใช้เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
ยกระดับของตัวเองเข้าไปอยู่ในชนชั้นนำโดยใช้ความรู้ความสามารถเป็นปฏิปักษ์ต่อวิถีทางประชาธิปไตย
เราจึงเห็นปัญญาชน
เราจึงเห็นนักวิชาการ
เราจึงเห็นนักการเมืองบางกลุ่มบางประเภทเป็นเครื่องมือของอำนาจนอกระบบเหล่านี้
เราเห็นเนติบริกร เราเห็นสื่อสารมวลชน
และเราเห็นคนอีกหลายชนิดเดินเรียงแถวตามไปด้วยกัน
เครือข่ายอำนาจที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ถูกจับตามองจากฝ่ายเสรีนิยมมาโดยตลอด
และเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา
นักวิชาการกลุ่มหนึ่งก็พร้อมใจกันเรียกขานวิถีอำนาจนี้ว่า “รัฐพันลึก” หมายความว่า
อำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในประเทศไทยถูกกดทับด้วยอำนาจพิเศษอีกแบบหนึ่งซึ่งแฝงตัวอยู่ในกลไกราชการ
กลุ่มทุน ชนชั้นนำ และองค์ประกอบอย่างที่ผมได้ชี้ให้เห็นแล้ว
“รัฐพันลึก”
ที่ว่ามีอิทธิพลมากกว่า แข็งแรงกว่า สร้างความชอบธรรมในความรู้สึกของประชาชนได้มากกว่าอำนาจรัฐจากประชาชน
เมื่อใดก็ตามที่ “รัฐพันลึก” หรือ “อำนาจซ้อนรัฐ”
ไม่ต้องการหรือไม่ยอมรับอำนาจรัฐจากประชาชน
ก็จะเกิดขบวนการโค่นล้มทำลายและฉากสุดท้ายคือการรัฐประหาร
พูดได้ตรงไปตรงมาเลยว่ารัฐประหารแต่ละครั้งรวมกระทั่งรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ในปัจจุบัน คือผลผลิตของ “รัฐพันลึก” ที่ว่านั่นเอง
แต่ในท่ามกลางอำนาจผลประโยชน์และอิทธิพลที่บีบเพิ่มขึ้น
ทุกอย่างก็เกิดขึ้นพร้อม ๆ
กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการปะทะกันระหว่าง “รัฐพันลึก” กับพลังของฝ่ายเสรีนิยม
ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างเงื่อนไขมาโดยตลอด
มาจนถึงขวบปีปัจจุบันซึ่งในทัศนะผมเห็นว่านี่คือสถานการณ์ที่แหลมคมที่สุดนับตั้งแต่ปี
2475 ที่พลังของฝ่ายประชาชน พลังของฝ่ายเสรีนิยม ลุกขึ้นมาแล้วก็เผชิญหน้ากับ
“รัฐพันลึก”
ยังไม่มีใครสรุปได้ว่าปลายทางของสถานการณ์นี้จะไปสู่จุดใด
แต่ความเชื่อมั่นของผมเชื่อว่าถึงที่สุดบ้านเมืองนี้จะเดินหน้าไปสู่วิถีทางประชาธิปไตย
เพราะกลุ่มพลังที่เกิดใหม่
หมายถึงคนหนุ่มสาวในปัจจุบันคือกลุ่มพลังที่แหวกฝ่าวงล้อมจารีตของสังคมไทยออกมายืนเรียกร้องอนาคตของตัวเอง
คนกลุ่มนี้ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการมัดย้อมทางความคิดใด ๆ
คนกลุ่มนี้ตั้งคำถามและท้าทายกับทุกขนบที่ไม่ได้ประกอบชอบด้วยเหตุผล
ถ้าคณะร.ศ.130
คณะราษฎร2475 คือคนหนุ่มสาวที่เข้าถึงองค์ความรู้ มองเห็นความจริง
แต่ไม่เห็นอนาคตของตัวเอง คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน!
ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ
การปรากฎขึ้นของพลังคนหนุ่มสาวได้มาบรรจบกับการขับเคลื่อนพลังของฝ่ายเสรีนิยมซึ่งแม้จะถูกกระทำและล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเวลาก่อนหน้านี้
แต่ยังคงมีพลังและดำรงความมุ่งหมายในการต่อสู้อยู่
ในท่ามกลางสังคมที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยเทคโนโลยีสารพัดรูปแบบ
กลไกอำนาจรัฐใด ๆ ไม่สามารถจะปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลและความจริงของประชาชนได้
อำนาจ “รัฐพันลึก” ซึ่งเคยอยู่ลึกเกินสายตาของคนจำนวนมาก กำลังกลายเป็น
“รัฐพันตื้น” ที่ผู้คนเห็นชัดเจนต่อเนื่องกันมาแล้วหลายปี
ถ้าใครคิดว่าถึงเวลานี้
“รัฐพันลึก” ยังคงซ่อนตัวอยู่อย่างมิดชิดในโครงสร้างสังคมไทยก็กำลังคิดผิดอย่างมหันต์
เพราะแท้ที่จริงแล้วกลไกอำนาจและโครงสร้างเหล่านี้ได้ปรากฎแสดงตัวต่อสายตาประชาชนทั้งในประเทศและทั่วโลกขึ้นแล้วทั่วกัน
ดอกผลจากการอภิวัฒน์
2475 ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยมากมาย แม้ว่ายังมีรอยบาดแผล
แม้ว่ายังมีข้อถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก
แต่คุณูปการสำคัญที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือการประกาศหลักการให้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน
ผมจึงเห็นว่าการเดินทางระหว่างอุดมการณ์ของ
“คณะราษฎร2475” ส่งต่อถึง “คณะราษฎร2563” จึงเป็นเรื่องเดียวกัน
พลังของคนหนุ่มสาวคือพลังบริสุทธิ์
และการเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าของตัวเองเป็นความชอบธรรมที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องรับฟัง
พยายามทำความเข้าใจ
ผมปรารถนาให้ปีที่
90 ของการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสังคมไทย แต่ถ้ามันไม่เกิดขึ้นผมก็เชื่อว่าการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจก็คืออำนาจรัฐพันลึกจะยังคงยืนต้านทานกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน
จะเกิดกระบวนคิดใหม่ในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงทำให้โครงสร้างอำนาจอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
ทำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกองค์กร ทุกสถาบัน
อยู่ร่วมกันและเดินหน้าไปในวิถีทางที่อนาคตเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
หรือยังคงเดินหน้าใช้อำนาจรัฐพันลึกกดทับขัดขวางโค่นล้มทำลายพลังของการเปลี่ยนแปลงอยู่ต่อไป
ถ้าเป็นเช่นนั้นมีข้อควรระวังอย่างสำคัญก็คือ “รัฐพันลึก” ที่พูดถึงจะกลายเป็น
“รัฐพังลึก” ในที่สุด ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ผมห่วงใยมาก ๆ
ก็คือมันจะต้องแลกมาพร้อมกับความสูญเสียอย่างร้ายแรงขึ้นอีกครั้งของประเทศไทย
การอภิวัฒน์
2475 เกิดขึ้นตอนย่ำรุ่ง ไม่น่าเชื่อว่า 89
ปีผ่านไปสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยก็ยังย่ำอยู่กับที่
สังคมนี้ไม่เคยมีโอกาสให้กลไกประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาของตัวเอง
สังคมนี้ไม่เคยมีพื้นที่ให้อำนาจอธิปไตยของประชาชนพยายามที่จะกำหนดอนาคตของตัวเองได้อย่างแท้จริง
แต่สังคมนี้กลับมีพื้นที่อันแน่นอนให้กับอำนาจนอกระบบ
มีพื้นที่ที่ชัดเจนให้กับการรัฐประหาร มีพื้นที่ที่มั่นคงให้กับนักการเมืองนอกระบบการเลือกตั้งเข้ามามีสถานะ
เข้ามามีบทบาท และอ้างความชอบธรรมในการเบียดบังอำนาจอธิปไตยของประชาชน
เราจึงต้องแบกรับการเมืองฉ้อฉลโดยการป้ายความผิดทั้งหมดให้กับนักการเมืองจากการเลือกตั้ง
แต่อำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกติกาบิดเบี้ยว หักหัวคิวอำนาจอธิปไตยของประชาชน
กลับได้รับสถานะที่สูงกว่า เหนือกว่า เป็นคนดีกว่าตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง
สิ่งที่ผมพูดมาคือการสะท้อนสภาพปัญหา
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทั้งหมดต้องสิ้นหวัง
เมื่อใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นปัญหาพร้อม ๆ กัน เข้าใจปัญหาตรงกัน
เมื่อนั้นแสงสว่างกำลังจะเกิดขึ้น ผมไม่ได้มีประสงค์ร้ายต่อบุคคล องค์กร
หรืออำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่ผมคิดว่าเราต้องแสดงความปรารถนาอย่างตรงไปตรงมาที่จะเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าท่ามกลางความแตกต่างที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ
ผมไม่ได้อยากเห็น
“รัฐพันลึก” กลายเป็น “รัฐพังลึก” แต่ผมอยากจะให้กลุ่มคนที่ถืออำนาจรัฐอยู่คิดลึก
ๆ ก่อนที่มันจะสายเกินไปแล้วอะไรต่ออะไรมันจะเสียหายมากไปกว่านี้
ถ้าเราทำลายความชอบธรรมของการอภิวัฒน์ 2475 ได้จริง สังคมไทยจะไม่ยืนอยู่ ณ
จุดปัจจุบัน ถ้าเราต้านทานปฏิเสธ กระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้จริง
ประเทศไทยก็จะไม่เดินมาจนถึงวันปัจจุบัน ถ้าหากยังคงรักษาอำนาจอิทธิพลของ
“รัฐพันลึก” ได้จริง ก็จะไม่กลายเป็น “รัฐพันตื้น”
ที่ใครต่อใครเห็นกันไปทั่วเหมือนในปัจจุบัน
แนวทางเสรีนิยมตั้งแต่
2475 ไม่ได้หมายความว่าจะถูกทุกอย่าง รูปการณ์ความคิดของ “รัฐพันลึก”
ตลอดมาก็ไม่ใช่ว่าจะผิดเสียทุกเรื่อง แต่ถ้าทุกฝ่ายปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง
ไม่พยายามเข้าใจหรือยอมรับมัน ผิดแน่ ๆ สู้กันมา 89 ปี
ควรได้ข้อสรุปเสียทีนะครับว่าไม่มีทางที่ฝ่ายไหนจะได้รับชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ไม่มีทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะโค่นล้มและกวาดล้างอีกฝ่ายให้สูญสลายไปจากประเทศไทยได้เลย
ถึงที่สุดก็ต้องอยู่ร่วมกันอยู่ดี
แต่เมื่อคนยุคนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสังคมที่เขาต้องการ
ผมเห็นว่าไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ความคิดแบบใดก็ต้องรับฟัง
เริ่มต้นสร้างอนาคตด้วยกันตั้งแต่วันนี้ดีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร.จากประชาชนคือการนับหนึ่งของสันติภาพอย่างแท้จริง.
#89ปีอภิวัฒน์สยาม #89ปี2475
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์