วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎร 2475 ตอนที่ 1

 


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎร 2475

 

ความเป็นมาของ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” และความหมายและส่วนประกอบ

 

“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เริ่มสร้างขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2485 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2486 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้งบประมาณก่อสร้าง 250,000 บาท ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย หลวงปุ่ม มาลากุล ควบคุมการก่อสร้างโดย อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และ สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ช่วยปั้นอนุสาวรีย์

 

“อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เป็นรูปหล่อลอยตัว ประกอบด้วย รูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทย ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า สร้างด้วยทองแดง มีความสูง 3 เมตร หนัก 4 ตัน ตั้งบนฐานรูปทรงกลม ด้านบนโค้งกลม ลานอนุสาวรีย์ยกสูง มีบันไดโดยรอบ รอบนอกลานอนุสาวรีย์มีครีบทรงแบนอยู่ 4 ทิศ ที่โคนครีบมีภาพแกะสลักลายปั้นนูนและมีรั้วเตี้ย ๆ กั้นโดยรอบลานอนุสาวรีย์ รั้วนี้ใช้ปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินโผล่ท้ายกระบอกขึ้นมาเป็นเสาคล้องโซ่เชื่อมต่อกัน

 

ความหมายและส่วนประกอบของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกอบด้วย

 

- ปีกทั้ง 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง


- พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือเดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) ตรงกับเดือนที่เปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยนั้น และหมายถึงอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ


- ปืนใหญ่ 75 กระบอก (ปากกระบอกปืนฝังลงดิน) โดยรอบฐานอนุสาวรีย์มีโซ่เหล็กร้อยไว้ หมายถึง ปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (เลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปีพ.ศ. 2475) ส่วนโซ่ที่ร้อยไว้ หมายถึง ความสามัคคีพร้อมเพรียงของคณะราษฎร

 

- ลายปั้นนูนที่ฐานปีกทั้ง 4 เน้นถึงเรื่องราวการดำเนินงานของคณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 

- พระขรรค์ 6 เล่ม ประกอบบานประตูรอบป้อมกลางอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการ  อันเป็นนโยบายของคณะราษฎร ได้แก่ หลักเอกราช, หลักความปลอดภัย, หลักเศรษฐกิจ, หลักเสมอภาค, หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา


ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นอกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ตั้งบนถนนราชดำเนินกลางแล้ว มีการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองกระจายตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน อาทิเช่น อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดขอนแก่น อนุสาวรีย์จังหวัดสุรินทร์ (บริเวณหน้าศาลากลาง) และจังหวัดร้อยเอ็ด (กลางบึงพลาญชัย) ทำพิธีเปิดในวันที่ 10 ธันวาคม 2479 หรืออนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม ที่ก่อสร้างใน พ.ศ. 2477

 

ต่อไปเป็นคำให้สัมภาษณ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวาระ 89 ปี 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรปฏิวัติสยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (สัมภาษณ์โดย The 101 world เมื่อ 24 มิ.ย. 63)

 

ตอนที่ 1 : การมีม็อบของ นปช. กับเรื่องของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

ถ้าจะตั้งคำถามเรื่องการมีม็อบของนปช. กับเรื่องของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีทั้งหนึ่งรูปแบบ อันที่สองคือเนื้อหา

 

รูปแบบก็คือคุณไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์หรือเปล่า?

 

เนื้อหาก็คือเนื้อหาของการทำม็อบของนปช.มันสัมพันธ์อะไรกับเนื้อหาของคณะราษฎร  เพราะว่าตัวอนุสาวรีย์ในทัศนะของอาจารย์นะ มันคือสัญลักษณ์ของคณะราษฎร เพราะว่าสัญลักษณ์ของคณะราษฎรเป็นองค์ประกอบของอนุสาวรีย์

 

อ.ธิดากล่าวว่า ในส่วนของเนื้อหา มันเป็นประหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าบ้านเมืองเรานี้มันเปลี่ยนแปลงแล้วนะ มาเป็นรูปแบบประชาธิปไตยแล้วนะ ก็นี่ไง! มีอนุสรณ์ของผู้ก่อการ มีพานรัฐธรรมนูญ ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคล้าย ๆ อนุสาวรีย์มันเหมือนสิ่งที่บอกกับคนรุ่นหลังว่า คณะผู้ก่อการเขาได้ทำเอาไว้

 

แล้วจริง ๆ อาจารย์ทราบมาว่า 2482 ที่เกิดขึ้นคือจริง ๆ เราแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้จบ ดังนั้นจึงเป็นการริเริ่มที่ว่าจะมาทำอนุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์ตัวนี้และพานรัฐธรรมนูญก็อาจจะหายไป กลายเป็นอนุสาวรีย์ของในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งชัดเจนว่าเคยมีการเรียกร้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันก็ยังเหลืออยู่ว่าเป็นอนุสรณ์ของผู้ก่อการคณะราษฎร และบอกประชาชนว่าบ้านเมืองนี้มันเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วนะ

 

ทีนี้ถ้าถามเรื่องของนปช.

 

เป้าหมายการต่อสู้ของเราจากเริ่มต้นเลย บางคนก็คิดว่าเกิดขึ้นเพราะว่าต้องการจะไปช่วยคุณทักษิณ อาจารย์ว่าเป็นวาทกรรมเริ่มต้นเลย ที่มันเป็นวาทกรรมที่โจมตีคนเสื้อแดง (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ใช่เสื้อแดง) หรือโจมตีนปช. โจมตีประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร อันนี้เป็นวาทกรรมชุดแรกที่ได้ผลมาก และเป็นวาทกรรมที่ทำให้เกิดปัญญาชนพวก 2 ไม่ คือไม่เอาทักษิณ/ไม่เอารัฐประหาร ดังนั้นก็จะไปร่วมกับพวกนี้ไม่ได้ เพราะพวกนี้เป็นควายแดง เป็นควายของทักษิณ อะไรประมาณนี้

 

นี่เป็นวาทกรรม ทั้ง ๆ ที่การก่อตัวของคนกลุ่มต่าง ๆ ในการที่มาร่วมเป็น นปก. และเป็น นปช. ตั้งแต่ชุดแรกนั้น ต่อต้านรัฐประหารล้วน ๆ เลย แล้วหลาย ๆ คนเป็นคนที่มาจากการเคลื่อนไหวรุ่นก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ หรือกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย เช่น คุณหมอเหวง คุณหมอสันต์ ครูประทีป รวมทั้งอาจารย์ กลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหาร รวมทั้งคนอื่น ๆ ด้วยทั้งสิ้น ในส่วนคนรุ่นใหม่ก็มี กลุ่ม 19 กันยาต่อต้านรัฐประหาร เป็นกลุ่มปัญญาชน ร่วมกับ คุณสมบัติ บุญงามอนงค์

 

เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของ นปก.และนปช. ก็คือการต่อต้านรัฐประหาร ความหมายก็คือต้องการระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริง นี่ก็คือเราจะเห็นความเชื่อมโยงกันกับสิ่งที่คณะผู้ก่อการและคณะราษฎรได้ทำไว้ ซึ่งคณะราษฎรมีอำนาจอยู่เพียง 15 ปี จากนั้นก็ถูกคณะรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าทำลาย จนกระทั่งสิ่งที่คณะราษฎรและอาจารย์ปรีดีสร้างไว้ถูกทำลายจนหมด เดี๋ยวนี้ก็เหมือนเดิม กลับมามีวุฒิสมาชิกแต่งตั้งเหมือนเดิม ซึ่งอาจารย์ปรีดีเคยบอกไว้ว่า

 

“ถ้ามีวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง นั่นแปลว่าคือระบอบอำมาตยาธิปไตยชัดเจน”

 

เราบอกได้เลยว่า นปก. นปช. โดยเนื้อหา เราถือว่าเราสืบทอดเจตนารมณ์ บทบาท และการทำงานในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่หยุดอยู่ที่ระบอบอำมาตยาธิปไตยมาคั่นกลาง เพราะฉะนั้นโดยเนื้อหาเราถือว่าเราเชื่อมโยงกันกับคณะราษฎร มันอาจจะมีเวลาผ่านไปนาน แน่นอนก็เพราะมันเกิดขึ้นจากการทำรัฐประหาร เราจะมองการทำรัฐประหารของทหารเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่ง แบบที่หลายคนบอกว่า “วงจรอุบาทว์” ถ้ากล่าวโดยเนื้อหา มันชัดเจนว่าเราถือว่าคณะราษฎรเป็นต้นทาง

 

ดังนั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ของผู้ก่อการและแสดงถึงเป้าหมายของผู้ก่อการด้วย มันก็เหมือนกับมีความสำคัญทั้งในแง่เชิงสัญลักษณ์ ทั้งในรูปแบบเนื้อหา เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวของเราซึ่งเราอาจจะได้พูดต่อไปว่า เราไม่ได้จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับตัวอนุสาวรีย์ แต่เป้าหมายเราเหมือนกัน และมันเป็นเรื่องที่น่าประหลาดที่คนที่ไม่เอาระบอบประชาธิปไตยกลับไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ แต่ของเราไม่ได้ไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ แต่อาจจะใช้ถนนราชดำเนิน ซึ่งตัวอาจารย์เองเข้าใจได้ว่าทำไมฝ่ายต่อต้านระบอบประชาธิปไตยหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้าไปใช้อนุสาวรีย์ และมันเป็นเรื่องที่ตลกร้ายที่สุดเลยสำหรับคนที่สนับสนุนรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไปยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วบอกตัวเองเป็นประชาธิปไตย มันเป็นตลกร้ายมาก แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วในประเทศนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าน้ำใสใจจริงกับความเป็นจริงนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นกับการกระทำ อ.ธิดากล่าว

 

#89ปีปฏิวัติสยาม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์