วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ศาลให้ประกัน "ก้อง อุกฤษฎ์" นศ.ราม และ "สหรัฐ"คดี ม.112-พรบ.คอม ที่ ปอท. แต่ "ก้อง อุกฤษฏ์" ถูกตร.สภ.บางแก้ว เข้าแสดงหมายจับในอีกคดีหนึ่ง และได้นำตัวไปยัง สภ.บางแก้ว แล้ว

 


ศาลให้ประกัน "ก้อง อุกฤษฎ์" นศ.ราม และ "สหรัฐ"คดี ม.112-พรบ.คอม ที่ ปอท. แต่ "ก้อง อุกฤษฏ์" ถูกตร.สภ.บางแก้ว เข้าแสดงหมายจับในอีกคดีหนึ่ง และได้นำตัวไปยัง สภ.บางแก้ว แล้ว


เย็นวันนี้ (9 มิ.ย. 64) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยถึงความคืบหน้า จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.​) เข้าจับกุม นายอุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล นักศึกษาเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และนายสหรัฐ เจริญสิน ประชาชน อายุ 28 ปี ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยไม่มีทนายความและผู้ไว้ใจเข้าร่วมการสอบสวนในช่วงวานนี้ 


เช้าวันนี้ (9 มิ.ย. 64) พนักงานสอบสวนได้นำตัวอุกฤษฏ์และสหรัฐจาก สน.ทุ่งสองห้อง กลับไปที่ บก.ปอท. เพื่อจะขอฝากขังทั้งสองคนต่อศาลอาญา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์


ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม และ พ.ต.ท.พชร แสนชัยสกุลกิจ พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคน เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ของกลาง ผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา


คำร้องฝากขังยังระบุถึงพฤติการณ์ข้อกล่าวหา โดยคดีของอุกฤษฎ์ พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าเขาได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อนามสกุลจริงของเขา โพสต์ภาพและข้อความเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 64 รวมจำนวน 2 โพสต์ ในลักษณะใส่ความว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระประชวรด้วยโรคต่าง ๆ ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เสื่อมเสียชื่อ และถูกด้อยค่าต่อประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)


ขณะที่คดีของสหรัฐ ระบุว่า พ.ต.อ.พิเชษฐ์ คำภีรานนท์ ผกก.3 บก.ปอท. ได้ตรวจพบบัญชีทวิตเตอร์ที่ได้ทวิตข้อความเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาการประชวรด้วยโรคโควิด-19 ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ต่อมายังตรวจสอบพบข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวที่ทวิตเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 64 เข้าข่ายมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่นเดียวกัน จึงได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนทั้งหมด


พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะเป็นการยากในการติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง ในส่วนของสหรัฐ พนักงานสอบสวนยังระบุเหตุผลว่าเนื่องจากพยานหลักฐานในคดีเป็นพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ง่ายต่อการเข้าถึง ผู้ต้องหาอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน


ในกรณีของอุกฤษฏ์คำร้องยังระบุด้วยว่าในการสอบสวน ผู้ต้องหา “ไม่มีและไม่ต้องการ” ให้มีทนายความและผู้ไว้วางใจร่วมฟังการสอบปากคำ ขณะที่กรณีของสหรัฐ คำร้องไม่ได้ระบุข้อความในลักษณะดังกล่าว


ต่อมาเวลา 12.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำขอของพนักงานสอบสวนในทั้งสองคดี ทนายความที่ไปติดตามให้ช่วยเหลือในกระบวนการฝากขัง จึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคนในระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์จำนวนคนละ 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักทรัพย์ประกัน


จนเวลา 15.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 2 แสนบาท พร้อมกำหนดให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 


แต่ในเวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างที่ทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวจาก บก.ปอท. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจากสภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เข้าแสดงหมายจับของศาล ต่อนายอุกฤษฏ์ในอีกคดีหนึ่ง และได้นำตัวขึ้นรถเดินทางไปยัง สภ.บางแก้ว แล้ว


ทั้งนี้ การจับกุมทั้งสองคนเกิดขึ้นโดยพนักงานสอบสวนไม่ได้มีการออกหมายเรียกมาก่อน และเจ้าหน้าที่ไม่ให้ทั้งสองคนติดต่อทนายความ ญาติ หรือผู้ไว้วางใจ เข้าร่วมในการจับกุมและการสอบสวนอีกด้วย จนเริ่มมีการติดตามหาตัวอุกฤษฏ์ในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยไม่สามารถติดต่อเขาได้


จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับจากเริ่มมีการนำมาตรา 112 มาบังคับใช้ใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 99 ราย ใน 93 คดี โดยมีกรณีที่ศาลออกหมายจับจำนวนอย่างน้อย 17 หมายจับ


ข้อมูล : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ภาพ : นันทพงศ์ ปานมาศ (เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์