ธิดา
ถาวรเศรษฐ : ปัญหาของปัญญาชนในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง
เมื่อวันอังคารที่
8 มิ.ย. 64 ที่เพจเฟซบุ๊ก อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ได้กลับมาสนทนาอีกครั้งผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยเริ่มต้น อ.ธิดา กล่าวว่า ในฐานะที่
“ยูดีดีนิวส์” และตัวดิฉันเองมีความมุ่งมั่นในการที่จะทำงานในฐานะสื่อ ตามคำขวัญ
“เผยแพร่ข่าวสาร ประสานการต่อสู้ของประชาชน” แล้ว
ส่วนตัวก็ต้องการจะถ่ายทอดบทเรียน ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด
คนอื่นอาจจะมีมุมมองที่ดีกว่า แต่อย่างน้อยก็เป็นมุมมองของดิฉันว่าอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับการต่อสู้ของประชาชนซึ่งยังดำรงอยู่และต่อไปข้างหน้าในอนาคต
อ.ธิดากล่าวว่า
วันนี้ดูประหนึ่งเรามีความขัดแย้งโต้เถียงกันอยู่ในสื่อออนไลน์
เมื่อมีแกนนำปัญญาชนบางส่วนเสนอความคิดเห็นบางเรื่องออกมา
ซึ่งคนจำนวนมากอาจจะไม่เห็นด้วย แล้วมีการโต้กัน ดูเหมือนอย่างรุนแรง
วันนี้ดิฉันจึงอยากจะมาพูดในประเด็น
*ปัญหาของปัญญาชนในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง*
อ.ธิดากล่าวว่า
เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ
ดิฉันคิดว่ามุมมองของดิฉันในวันนี้อาจจะเป็นประโยชน์จำนวนหนึ่ง บางท่านอาจจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือมีแง่มุมบางอย่างที่ต่างกัน
ซึ่งทั้งหมดที่พูดมันไม่มีอะไรที่ถูกต้อง 100% และเรื่องนี้ก็สำคัญสำหรับการต่อสู้ของประชาชน
ถ้าพูดถึงเรื่องของปัญญาชนในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง
ความหมายของเราก็คืออุดมการณ์ที่ก้าวหน้า แต่อุดมการณ์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันก็คือการต่อต้านการรัฐประหาร
ต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ
และต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน
และอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่อำนาจอยู่กับชนชั้นนำในอดีตที่ผ่านมา
ความจริงก็ไม่มีอะไร
ก็คือต่อสู้เพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะชื่อมันบอกอยู่แล้ว
แต่ในประเทศไทยต้องพูดให้ยาว เพราะมีคนทำให้ประเทศไทยเป็นโรงลิเก
ติดป้ายประชาธิปไตย แต่ข้างในมีทั้งขุนนาง ขุนศึก
มีตัวแทนของคนชั้นนำ/คนชั้นสูงฝ่ายจารีตนิยมเป็นตัวเอกอยู่เต็มเลย
ประชาชน/ไพร่นั้นไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง เราก็เลยต้องพูดยาวหน่อย
เพราะถูกหลอกมาตลอด
เรื่องของปัญญาชนกับการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่ก้าวหน้านั้น
ถามว่าปัญญาชนถ้าเป็นการปฏิวัติ ปัญญาชนจะไม่ใช่กองหน้า นักปฏิวัติเขาจึงใช้คำว่า
“ชนชั้นกรรมาชีพ” เป็นกองหน้า ถามว่ามีปัญญาชนอยู่ในกองหน้าของขบวนปฏิวัติมั้ย?
ตอบว่า “มี” แต่คุณจะเป็นกองหน้าได้คือคุณต้องดัดแปลงตัวเองจากปัญญาชน ชนชั้นกลาง
หรือเป็นนายทุนน้อย มาเป็นชนชั้นของมวลชนพื้นฐาน ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ
หรือชนชั้นกรรมาชีพ คือต้องสวมจิตใจ วิญญาณ ของผู้ไร้สมบัติ ของชนชั้นล่างที่สุดในการต่อสู้
อันนี้ในส่วนของพรรคปฏิวัติหรือการปฏิวัติ
แต่ในขั้นตอนของการต่อสู้ในสังคมไทยตอนนี้
เรายังเป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ที่ประชาชนมีอำนาจจริง นั่นหมายถึงเป็นการพัฒนามาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ยังไม่ใช่เป็นการปฏิวัติเป็นสาธารณรัฐ ยังไม่ใช่การปฏิวัติแบบสังคมนิยม
(เท่าที่ดิฉันดู) แม้กระทั่งสิ่งที่เยาวชนเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ก็ยังอยู่ในปริมณฑลนี้ เขาไม่ได้เสนอสาธารณรัฐ
เขายังเสนอสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่อำนาจเป็นของประชาชน
(อันนี้ อ.ธิดาเติม) อันนี้ก็อันเดียวกันกับนปช.ที่เราทำองค์กรที่ผ่านมา
ก็แปลว่ามันก้าวหน้าขึ้น
คือไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ถอยหลังแบบพวกจารีตนิยมซึ่งมีปัญญาชนอยู่เป็นจำนวนมาก
ถามว่าแล้วเราอาจจะไม่จำเป็นที่ต้องเรียกร้องให้ถึงกับว่าปัญญาชนนั้นต้องทรยศต่อชนชั้นตัวเอง
ต้องดัดแปลงตัวเองจนกระทั่งเป็นคนไร้สมบัติหรือกรรมาชีพ
มันไม่จำเป็นต้องถึงขนาดนั้น ยังคงเป็นปัญญาชน ชนชั้นกลาง หรือนายทุนน้อย
ดำรงอยู่ได้
ข้อดีของปัญญาชน
:-
ประการแรก
คือรับรู้เร็ว รับรู้เรื่องราวปัญหาได้เร็ว และสามารถถ่ายทอดสู่คนอื่นได้ในรูปแบบต่าง
ๆ บางคนอาจจะมีความสันทัดในการเขียน
ในการทำงานวิจัย ในการเสวนา ในการสอนในฐานะนักวิชาการ หรือเขียนหนังสือ
ประการที่สอง
เข้าถึงเทคโนโลยี
การเข้าถึงเทคโนโลยียิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการรับรู้และการถ่ายทอดนั้นทำได้ดี
ยิ่งกว่ามวลชนพื้นฐาน ยิ่งกว่าชนชั้นไร้สมบัติ
ประการที่สาม
การยอมรับ ก็คือเสียงที่เปล่งออกไปจากของปัญญาชนนั้น
ยิ่งเป็นฐานะนักวิชาการก็ยิ่งได้รับการยอมรับอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นก็คือสังคมโลก
นานาประเทศ สังคมไทย รวมทั้งมวลชนพื้นฐาน จะให้การยอมรับ ยกตัวอย่างเช่น
ในช่วงที่มีการนำเสนอโดยกลุ่มนิติราษฎร์ (ขออภัยในคลิปอ.ธิดาพูดว่านิติรัฐ)
หรือว่างานเขียนของปัญญาชนกลุ่มคณาจารย์และกลุ่มต่าง ๆ ที่ปัญญาชนตั้งขึ้น
ได้รับการยอมรับทั้งจากมวลชนพื้นฐาน ทั้งจากชนชั้นกลางด้วยกัน ตรงนี้สำคัญมาก
เพราะในโลกสมัยใหม่สังคมโลกส่วนมากเป็นชนชั้นกลางมีพลัง
หมายความว่าสิ่งที่เขาพูดออกไป
ยกตัวอย่างเช่น เขาต่อต้านเผด็จการ ปัญญาชน 3-4 คน เสียงดังกว่าไพร่หลายร้อยคน
หลายพันคน หรือหลายหมื่นคนเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นนี่คือข้อดี ทั้งรับรู้เร็ว
ถ่ายทอดได้เร็ว เข้าถึงเทคโนโลยี ได้รับการยอมรับ
ประการที่สี่
เขาสามารถรวมกลุ่ม จัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ได้ แต่อาจจะไม่มีสมาชิกมวลชนพื้นฐานมาก
แต่มีลักษณะเป็นกลุ่มโดยธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นตอน 14 ตุลา 16
ก็สามารถเคลื่อนไหวเป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีอยู่
เคลื่อนไหวเป็นองค์กรสโมสรนักศึกษาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
(ศนท.) ก็เริ่มมีบทบาทมา คือมีลักษณะการจัดตั้งอยู่ระดับหนึ่ง
แต่เมื่อมีการต่อสู้ยืดเยื้อ พลังของการจัดตั้งก็จะย่อยสลายไป จะดีตอนขาขึ้น
แต่ถ้าต่อสู้ยืดเยื้อยาวและขาลง การจัดตั้งก็จะลดระดับ ไม่มีประโยชน์ไป
นี่คือข้อดี
ดังนั้น
ปัญญาชน จำเป็นมั้ย? อ.ธิดาตอบว่า จำเป็นมาก
เหมือนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา อ.ธิดาบอกใคร ๆ ว่า
สิ่งที่เราขาดก็คือกลุ่มปัญญาชน ชนชั้นกลางทั้งหลายเลือกที่จะไปอยู่
เลือกที่จะสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนฝ่ายจารีต
โดยที่มีความชิงชังในสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ และมองว่านปช.และคนเสื้อแดงเป็นลูกสมุนบริวาร
เป็นส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ ดังนั้นเขาต้องจัดการทำลายและไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย
พลังของคนเสื้อแดงซึ่งมีมวลชนพื้นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก
เรียกว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่และต่อสู้ยืดเยื้อตั้ง 10 กว่าปี เขายังอยู่
แต่ว่าความเข้มแข็งอันเนื่องมาจากขาดความร่วมมือจากปัญญาชน
อันนั้นก็มีส่วนที่ทำให้เสียงของเราในฐานะผู้ถูกกระทำ
ในฐานะนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้นอ่อนพลังมาก
ต่อทั้งสังคมโลกและต่อทั้งภายในประเทศในการที่จะดึงคนชั้นกลางและปัญญาชนเข้ามาร่วม
นี่คือข้อดีที่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศที่มีอุดมการณ์ก้าวไปข้างหน้านั้น
พลังของปัญญาชนนั้นจำเป็น!
ในขณะเดียวกัน
เมื่อมีด้านบวกก็ต้องมีด้านลบ และด้านลบนั้นมีมาก
เหมือนดังที่เรามีปัญหาความขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ส่วนหนึ่งในเวลานี้
มันก็เคยเกิดขึ้นมาในอดีต หลัง 14 ตุลา 16 ก็มีความขัดแย้ง พลังนักศึกษาด้วยกันก็แตกแยก
พลังอาชีวะก็แตกแยกออกไปจากกลุ่มนักศึกษา แล้วก็เกิดกลุ่มย่อยต่าง ๆ
ขององค์กรนักศึกษาเต็มไปหมดเลย เวลาเซ็นชื่อ 30-40 องค์กร
แต่ไม่ได้มีพลังที่แท้จริงเหมือนตอนที่ทำชุด 14 ตุลา 16 อาจจะมีกรรมกรจำนวนหนึ่ง
กรรมกรก็ถูกทำให้แตกแยก มีชาวนาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ถูกทำให้แตกแยก
ใช้วิธีมีหัวมาจำนวนหนึ่งแล้วก็มาร่วมขบวนเซ็นชื่อ ทั้ง ๆ ที่การเปลี่ยนแปลง 14
ตุลา 16 ทำให้ผู้ใช้แรงงานและกรรมกรนั้นมีค่าแรง มีการต่อสู้เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ
แต่ก็ยังไม่มากเพียงพอ เราจะเห็นว่าหลังจากนั้น 6 ตุลา 19 ก็ถูกปราบเรียบ และคนที่ถูกปราบก็เป็นปัญญาชน
เป็นนักศึกษาที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเกือบ 100% ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อยมาก
แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งถูกจูงให้ไปเป็นลูกเสือชาวบ้าน ไปร่วมกับกลุ่มอาชีวะ
แล้วเข้ามาจัดการนิสิตนักศึกษา ส่วนหนึ่งก็เฉย ๆ อีกส่วนหนึ่งก็เห็นใจ สงสาร แต่ว่าไม่ได้เข้ามาร่วมในการต่อสู้
สำหรับด้านลบก็คือ
:-
ประการแรก
ถ้าใช้ทัศนะชนชั้นมาพิจารณา ปัญญาชนเป็นชนชั้นกลาง เป็นนายทุนน้อย
มีลักษณะคือตัวเองมีทรัพย์สิน มีทรัพย์สมบัติ มีอะไรอยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถจะต่อสู้ถึงที่สุดได้
อันนี้ว่าโดยทฤษฎีนะ แต่บางคนยอมทิ้ง ยอมสละทุกอย่างเพื่อการต่อสู้อย่างเดียว
ใช้คำว่า ทรยศต่อชนชั้นตัวเองก็ได้ ในประเทศจีนเขาจะยกตัวอย่าง “โจวเอินไหล”
ในประเทศไทยอาจารย์จะยกตัวอย่างคือ “จิตร ภูมิศักดิ์” ก็แล้วกัน
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า
เมื่อมีผลประโยชน์ มีชื่อเสียง มีฐานะอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่ต้องการการสูญเสีย
พอกระแสการต่อสู้ ถ้ายืดเยื้อจะมีผลกระทบ ก็จะโลเลล้มเลิกได้ง่ายมาก
และนอกจากนั้นยังเป็นปัญหาส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เขาไม่ร่วมการต่อสู้กับมวลชนพื้นฐานได้ด้วย
เหตุผลเพราะว่าเขาเกรงว่าสิ่งที่มีอยู่จะต้องถูกแบ่งไป พูดง่าย ๆ ว่าผลประโยชน์ที่ได้รับอยู่ก็จะถูกแบ่งไป
เอาไปแจก เอาไปเข้าโครงการจำนำข้าว เอาไปทำโน่น ทำนี่ ให้มวลชนพื้นฐาน
แล้วจะกระทบกระเทือนตัวเอง อันนี้ก็มีส่วนจำนวนหนึ่ง เพราะฉะนั้น โลเล ล้มเลิก
หรือถอย อันเนื่องมาจากปัญหาผลประโยชน์ทางชนชั้น ซึ่งยังสละไม่ได้
อย่าว่าแต่จะทรยศต่อชนชั้นตัวเอง ถ้าเป็นนักปฏิวัติเขาต้องใช้คำนี้
“ทรยศต่อชนชั้นตัวเอง” ไม่ต้องถึงขั้นนั้น เอาว่ายังไม่พร้อมที่จะเสี่ยง บางคนก็บอกว่าลูกยังเล็ก เพิ่งแต่งงาน
กำลังดูอยู่ว่าจะไปเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้
อันนี้ก็คือทัศนะชนชั้น
ประการที่สองก็คือ
ปัญหาความคิดแบบเสรีชนที่เป็นเสรีนิยมสุดขั้ว
คือความคิดเสรีนิยมกับอุดมการณ์ในการต่อสู้ ปกติอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ความคิดเสรีนิยม จะไปด้วยกันได้ คือยอมรับความหลากหลาย อยู่กับความหลากหลาย
และคัดสิ่งที่ดีมาเพื่อเป็นผลประโยชน์กับคนส่วนใหญ่
แต่ในท่ามกลางการเดินทางนั้น
ความคิดเสรีนิยมกับความเป็นเสรีชน
บางครั้งในการเดินทางก็อาจจะไม่ได้แน่วแน่ในทิศทาง
บางครั้งพูดและทำสิ่งที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์โดยที่ตัวเองอาจจะไม่รู้ตัว
หรือว่าตัวเองไม่ได้ใส่ใจ
ไม่ได้ยึดมั่นอุดมการณ์การเมืองการปกครองของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจต้องเป็นของคนส่วนใหญ่
จะไม่สามารถเผลอไผลไปอยู่กับอภิสิทธิ์ชนหรือชนชั้นนำที่แย่งอำนาจประชาชนไป
เพราะฉะนั้น
การยึดมั่นในอุดมการณ์นั้นจึงเป็นตัวหลัก
แต่ไม่ได้หมายความว่าการยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะทำให้ไม่มีแนวคิดเสรีนิยม
ตรงข้าม แนวคิดเสรีนิยมกับอุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตยมันไปกันได้
ดังนั้นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน
เราจึงเห็นพรรคการเมืองตั้งแต่ขวาจนถึงซ้ายสุด ซ้ายก็ซอยเป็นเฉดเลย ขวาก็ซอย
กลางยังซอยเลย นั่นแปลว่าอนุญาตให้มีความหลากหลายได้
แต่เป้าหมายก็คืออำนาจเป็นของประชาชนส่วนใหญ่
และเมื่อคนส่วนใหญ่ตัดสินอย่างไรก็ยอมรับ
จะไม่สามารถเดินในเส้นทางที่อภิสิทธิ์ชนมาปล้นอำนาจประชาชนแล้วเราจะเออออห่อหมกไปกับเขาด้วย
ถ้ามันยืดเยื้อยาวนาน ก็เป็นไปได้ที่บางคนไม่ได้ยึดมั่นแล้วก็เผลอไผล
อันนี้ก็คือข้อด้อย
คือ เป็นเสรีชนสุดขั้ว นึกจะพูดอะไรก็พูด ลืมคิดไปว่าที่พูดนั้นมันเข้าทางไหน? อันนี้ก็คือข้อด้อย
เพราะฉะนั้นการพูดการปฏิบัติก็เป็นเสรีชน ไม่ขึ้นต่ออุดมการณ์
ไม่ขึ้นต่อทิศทางของการต่อสู้ ถ้ามีองค์กรก็ไม่ขึ้นต่อองค์กรหรือกลุ่มของตัวเอง
คือมีกลุ่มมีองค์กรแต่ก็พูดตามใจชอบ อาจจะคิดไม่ถึง เป็นลักษณะเสรีชนที่คิดว่านาทีนี้ฉันคิดอย่างนี้ฉันจะพูดอย่างนี้
อ.ธิดาเน้นย้ำว่า
ในฝ่ายก้าวหน้านั้น การพูดต้องระมัดระวังมากว่าเรายังยึดมั่นในอุดมการณ์
ยึดมั่นในผลประโยชน์ประชาชน ไม่ใช่ว่านึกจะพูดอะไรก็พูดไปตามใจชอบ
ถ้าเรามีสปอตไลต์ เราอยู่ในแถวหน้าการต่อสู้ สปอตไลต์มันก็จะจับเรา
ตัวนี้ก็คือที่เรียกว่า “เสรีชนที่สุดขั้ว ไม่ขึ้นต่อองค์กร และไร้ระเบียบวินัย”
ซึ่งปัญหานี้ไม่ค่อยเกิดกับขบวนการคนเสื้อแดง เพราะพูดตรง ๆ ว่าเรามีปัญญาชนน้อย
เราจะไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมากกว่า ซึ่งพรรคการเมืองก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง
อันนั้นในนามองค์กร นักการเมืองก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง
ซึ่งบางครั้งก็ไปกันได้ด้วยดีกับการต่อสู้ บางครั้งก็อาจจะไม่ตรงกัน (แต่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะปัญญาชน/ชนชั้นกลางเท่านั้น
เพราะลักษณะเสรีไม่ขึ้นต่ออุดมการณ์ เป้าหมายการต่อสู้ ไม่ขึ้นต่อองค์กร ก็เกิดขึ้นได้กับทุกชนชั้น
เพียงแต่ว่าปัญญาชน ชนชั้นกลาง จะมีมากสักหน่อย)
แต่ลักษณะการต่อสู้โดยเฉพาะปัจจุบันและอนาคตซึ่งบทบาทปัญญาชนจะมีมากขึ้น
อยากให้เข้าใจทั้งข้อดี ข้ออ่อน ข้อดีที่ปัญญาชนมีอยู่ให้ขยายข้อดี แก้ไขข้ออ่อน
การแก้ไขคือ
ประการแรก
เจ้าตัวต้องแก้ไขปัญหาเอง คือทบทวนด้วยตัวเอง ศึกษา ยอมรับฟัง
ชี้แจงในสิ่งที่ตัวเองคิด ถ้าเป็นฝั่งที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง (ในทัศนะอาจารย์)
ก็ไม่เป็นไร ก็ฟัง เพราะยังไงก็เป็นปฏิปักษ์กันอยู่แล้ว
แต่ถ้าอยู่ในฝั่งเดียวกันก็ควรจะรับฟัง
ประการที่สอง
เพื่อนฝูงร่วมอุดมการณ์ก็มีส่วนที่จะช่วยเหลือได้ ถ้าเป็นภาษาเก่าก็เรียกว่า
“รักษาโรคเพื่อช่วยคน” เพราะเขาไม่ได้เป็นปฏิปักษ์
ท่าทีของคนที่เป็นปัญญาชนด้วยกันที่มีต่อคนในฝั่งเดียวกันกับฝั่งที่เป็นปฏิปักษ์มันควรจะแตกต่างกัน
ก็คืออนุญาตให้มีความคิดแตกต่างกัน
แต่ต้องดูว่าเหตุผลความแตกต่างนั้นดูแล้วเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่จริงมั้ย?
หรือว่าเป็นประโยชน์หรือความคิดคับแคบเช่น ความคิดชาตินิยม ความคิดที่ปกปิดข้อมูล
ความคิดที่ไปรักษาฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง พูดง่าย ๆ
ว่าไปปกป้องฝ่ายจารีตหรือเปล่า? อันนี้ก็ต้องทบทวน ดังนั้น ทั้งตัวเอง
ทั้งเพื่อนฝูง ก็ต้องเข้ามาช่วย
ประการที่สาม
องค์กร ถ้ามีองค์กรหรือกลุ่ม ปกติถ้ามีองค์กรจัดตั้งและอยู่ในสังกัดองค์กร
คนในกลุ่ม คนในองค์กร หรือผู้ที่ช่วยดูแลกันอยู่ก็ควรจะทำหน้าที่นี้
อยู่บนพื้นฐานของคำว่า “รักษาโรคเพื่อช่วยคน” จนกว่าชัดเจนว่าเขาละทิ้งอุดมการณ์
จนกว่าชัดเจนว่าเขาไปยืนข้างฝ่ายปฏิปักษ์เต็มที่ อันนั้นก็จะเป็นเส้นแบ่ง
แต่ถ้าอยู่ในฝั่งเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่าเรามีความหลากหลายได้
แต่ทำอย่างไรให้ปักหลักอุดมการณ์ทางการเมืองให้หนักแน่น
เมื่อเราเดินไปแล้ว เราสงสัยว่ามันผิดทิศผิดทางหรือเปล่า
เราต้องกลับมาดูหลักว่าตรงกับอุดมการณ์ ตรงกับแนวทาง ทิศทาง หรือเปล่า?
ไม่ใช่ไปเผลอไผลเดินชมดอกไม้ เพื่อนฝูงต้องเรียกกลับมาอยู่ในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น
ปัญญาชนมีทั้งข้ออ่อนและข้อดี
ในทัศนะอาจารย์
ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยข้อดีมากกว่าข้ออ่อน ดังนั้นความพยายามที่จะเดินไปด้วยกัน
ใช้ข้อดีให้เป็นประโยชน์ ให้ขยายข้อดี
แต่ส่วนที่จะมีข้อเสียก็คือให้มีลักษณะช่วยเหลือ และเมื่อช่วยไม่ได้หรือพบว่าเป็นเรื่องของการเข้ามาหาผลประโยชน์
เวลา ระยะทาง และปัญหาที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ จัดการคน
เหมือนที่นปช.และคนเสื้อแดงเราก็เคยพบมา และบางครั้งเขาก็ไปเอง เช่น กลุ่ม 19
กันยา ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งอาจารย์เสียดายมาก เมื่อตอนปี 49
สุดท้ายก็หายไป เพราะเขาพยายามไปดึงปัญญาชนที่เป็นผู้ใหญ่มาร่วม
แล้วสุดท้ายเขาก็เข้าสู่กระแส 2 ไม่ (ไม่เอาทักษิณ, ไม่เอารัฐประหาร)
ก็ต้องหยุดและเลิกไป ดังนั้นเลยเหลือปัญญาชนที่ผ่านการต่อสู้มาแล้วจาก 14 ตุลา 16
และเข้ามาร่วมขบวนอย่างจริงจังในฐานะผู้ปฏิบัติงานน้อยมาก ๆ นี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้น!
ดิฉันก็มองว่าต่อไปข้างหน้านี้บทบาทปัญญาชน ซึ่งเป็นกองหน้า (อยู่หน้าเวที) ก็จะต้องถูกตรวจสอบจากมวลชนด้วย เพราะมวลชนผ่านการศึกษา ถอดบทเรียนมาเป็นสิบ ๆ ปี ดังนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่าความเป็นเสรีชน ความเป็นปัญญาชน มีข้อดี แต่สิ่งสำคัญคือสามารถยึดมั่นในอุดมการณ์การเมืองการปกครองได้แน่วแน่หรือเปล่า? และเดินในทิศทางที่เป็นแนวทางของการต่อสู้อย่างมั่นคงหรือเปล่า? สำคัญกว่าแนวคิดแบบเสรีสุดขั้ว เพราะการเชิดชูเสรีสุดขั้วไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นเสรีนิยม แล้วทุกอย่างโอเค อุดมการณ์นั้นสำคัญที่สุด อ.ธิดากล่าว.