วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

"เพนกวิน-รุ้ง-ไมค์-โตโต้" เข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.ป.ป.ช. ปมราชทัณฑ์เคลื่อนย้ายผู้ต้องหายามวิกาล อ้างนำมาตรวจโควิด-19

 


"เพนกวิน-รุ้ง-ไมค์-โตโต้" เข้าให้ข้อมูลต่อ กมธ.ป.ป.ช. ปมราชทัณฑ์เคลื่อนย้ายผู้ต้องหายามวิกาล อ้างนำมาตรวจโควิด-19


วันนี้ (16 มิ.ย. 64) เมื่อเวลา 11.45 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทยเป็นประธานกมธ.ได้มีการเชิญ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำราษฎร และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ วีโว่ เข้าชี้แจงกรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทางการเมือง 7 คนจากเรือนจำธนบุรีสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และมีความพยายามจะเคลื่อนย้ายตัวผู้ต้องหาในยามวิกาลโดยไม่ได้รับความยินยอมโดยอ้างว่าจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 ครั้ง  ทำให้ผู้ต้องหามีความวิตกว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย


ทั้งนี้เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ปัญหาการควบคุมตัวในเรือนจำ หลังมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ ได้ให้ทั้ง 4 คนเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้กรรมาธิการฟัง


โดยนายภาณุพงศ์ เล่าเหตุการณ์ว่า ในวันดังกล่าว ตนเอง พร้อมด้วย โตโต้ ปิยรัฐ และ ไผ่ ดาวดิน ได้ถูกย้ายมาจากเรือนจำธนบุรี มายัง เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อมาราว 3 ทุ่มเศษ มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3 คน มาแจ้งว่าจะนำตัว ตนเอง โตโต้ ปิยรัฐ และ ไผ่ ดาวดิน ออกจากเรือนนอน โดยอ้างว่า เป็นผู้ที่มาจากสถานที่เสี่ยง ทั้งที่เป็นยามวิกาล ทุกคนจึงไม่ยินยอมที่จะออกจากเรือนนอน เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย


ด้านนายพริษฐ์  กล่าวว่าในส่วนตนเองถูกคุมขังอยู่ก่อน เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 112 แต่ถูกแยกมาคุมขังที่แดนของผู้คุมขังที่เป็นนักโทษเด็ดขาด ทั้งที่ตนเองยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจโควิดในยามวิกาล ในช่วงที่ กลุ่มของไมค์ ภาณุพงศ์ เข้ามาใหม่ ตนได้ถามไปยังเจ้าหน้าที่ตรง ๆ ว่ามีเจตนาต้องการ ขังแยกใช่หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับ ว่าใช่ เพราะตนทราบอยู่แล้วว่ามีผิดวิสัยที่จะมาตรวจโควิด-19 กันในยามวิกาล เหตุใดไม่ตรวจหรือไม่แยกตัวตั้งแต่แรกในช่วงกลางวันที่ผู้ต้องขังเข้ามาตอนแรก อีกทั้งยังมีการไล่นักโทษคนอื่น ๆ ออกไปจากห้องเพื่อพยายามเอาตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองออกไป ซึ่งเราก็ปฏิเสธกระบวนการนี้ตลอด หากจะบอกว่าเร่งรีบก็ต้องตรวจตั้งแต่หน้าประตูแล้วไม่ใช่เวลานอน ถ้าในวันนั้นเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวเราออกไปได้ มีใครรับประกันความปลอดภัยที่เกิดขึ้นยามวิกาลได้บ้าง 


ขณะที่ น.ส.ปนัสยา กล่าวว่ากรณีของตนเองนั้น เป็นเรื่องที่ถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นำตัวไปฝากขังที่เรือนจำทั้งที่ศาลยังไม่มีคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่และไม่มีความชัดเจนว่าจะนำใครไปฝากขังที่เรือนจำใดบ้าง และที่น่าสังเกต คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ของผู้ต้องขังชาย ในส่วนของไมค์ ภาณุพงศ์, โตโต้ ปิยรัฐ นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในเรือนจำหญิงกลาง ด้วยมีการตรวจโควิดเฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น และไม่เคยมีการมาแยกตัวในช่วงยามวิกาล ใด ๆ


น.ส.ปนัสยา กล่าวต่อไปอีกว่า การต่อสู้คดีจากข้างในเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับทุกคนการคุยกับทนายผ่านห้องกระจกที่ใช้โทรศัพท์คุยกัน ถูกดักฟัง ตนสังเกตได้เลยว่าจะมีเสียงซ่าแทรกขึ้นตลอดและการคุยกับทนายบางครั้ง ผู้คุมรู้ได้อย่างไรก็ไม่ทราบเรื่องเอกสารที่เข้าออกเรือนจำก็ถูกตรวจสอบทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งตนเขียนแถลงต่อศาลตั้งแต่ข้างในและนำออกไปข้างนอก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องผ่านคนอื่น แต่เจ้าหน้าที่มีแถลงการณ์ฉบับคัดลอกได้อย่างไรก็ไม่ทราบ


ด้านนายพริษฐ์ กล่าวเสริม เรื่องการตรวจสอบเอกสาร เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คล้ายกับทัณฑสถานหญิงกลาง ตนจึงอยากเรียกร้องให้กรรมาธิการเข้าไปตรวจสอบว่ามีการดักฟังจริงหรือไม่ เป็นมาตรฐานสากลหรือไม่ ถือเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างมากเพราะตนเองต้องต่อสู้คดีอยู่กับรัฐแต่ถูกรัฐมาละเมิดสิทธิมาล่วงรู้ข้อมูลในการต่อสู้


ทั้งนี้ ภายหลังการสอบถามข้อเท็จจริง นายธีรัจชัย พันธุมาศ  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ เผยว่าการตรวจสอบเรื่องนี้ใกล้เสร็จสิ้นแล้วเพราะมีการเรียกทั้งฝ่ายราชทัณฑ์ และผู้ต้องขังอื่น ๆ มาให้ข้อมูล ซึ่งก็มีข้อมูลที่สอดคล้องกัน คือมีความพยายามเข้าตรวจโควิดผู้ต้องขังยามวิกาลหลายช่วง ทั้งช่วง 3 ทุ่ม, 5 ทุ่ม จนกระทั้งตี 2 ทั้งที่แดนอื่น ๆ ก็ปกติมีการตรวจโรคในตอนกลางวัน อีกทั้งเมื่อผู้ต้องหาปฏิเสธ ก็มีการใช้เจ้าหน้าที่ที่แต่งกายด้วยชุดสีดำ ทำให้วิตกว่าจะถูกทำให้เสียชีวิต จึงรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งข้อเท็จจริงค่อนข้างยุติพอสมควร ที่จะชี้ได้ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่


พร้อมทั้งกล่าวว่า ตนขอฝากไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ตรวจสอบเรื่องการปฏิบัติตนต่อผู้ต้องหาให้สามารถแยกควบคุมตัวได้หรือไม่ และขอฝากไปที่กระบวนการยุติธรรมโดยรวมให้พิจารณาหลักกฎหมายในเรื่องนี้ และกรรมาธิการจะส่งหนังสือไปยังกระทรวงยุติธรรมในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #COVID19 #โควิด19 #โควิดในเรือนจำ


ประมวลภาพ