ธิดา
ถาวรเศรษฐ : ท่าทีพรรคการเมืองในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
วานนี้
(21 มิ.ย. 64) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ
ได้กลับมาพบกับทุกท่านผ่านการทำเฟซบุ๊กไลฟ์อีกครั้งหนึ่ง โดย อ.ธิดา ได้กล่าวว่า
สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ครั้งเดียว แต่ก็มีบทความที่ 101 world
มาสัมภาษณ์เอาไว้ยาวมาก แต่เขาเอาคลิปไปใช้เพียงนิดหน่อย ดิฉันก็เสียดายเนื้อหา
จึงอยากจะบอกแฟนเพจและพี่น้องประชาชนว่า ทีมงานได้นำบทสัมภาษณ์มาลงที่เพจ อ.ธิดา
ถาวรเศรษฐ และเพจยูดีดีนิวส์ ซึ่งมีทั้งหมด 6 ตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ 6
นี้ไม่ควรพลาดเลย
ดิฉันอยากให้ติดตามไปดูนะคะว่าเนื้อหาที่สัมภาษณ์และดิฉันตอบไปอย่างเป็นธรรมชาติน่าจะเป็นประโยชน์
เป็นการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นของปี 53 จนถึงปัจจุบัน
และโยงไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โยงไปถึงคณะราษฎร
ว่าประชาชนที่อยู่ในกระบวนการการต่อสู้เพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยนั้นยังเป็นฝ่ายถูกกระทำมาเป็นลำดับ
การได้เป็นรัฐบาลชั่วคราว
ไม่ว่าจะเป็นยุคหลังคณะราษฎร 2475 หรือยุคที่มีการเลือกตั้งเต็มที่ 100%
มีเวลาสั้นมาก พร้อมกันนั้นก็มียักษ์หลายตัวถือกระบองเอาไว้ตี
คืออย่าเผลอตรงไหนโดนเล่นงานตลอด มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน กลุ่มประชาชน ผู้คน
พรรคการเมือง ที่ยังอยู่ในกระบวนการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย
ยังอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายถูกกระทำจากชนชั้นนำเดิม อนุรักษ์นิยม ซึ่งสร้างเครือข่ายถักทออยู่ในองค์กร
อยู่ในระบบราชการ อยู่ในธุรกิจ
คือทั้งหมด
กระบวนการอะไรที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนก็จะอยู่ในเครือข่ายของระบอบอำมาตย์ หรือคณาธิปไตย
หรือชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเกือบทั้งหมดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ฝากให้ได้มีโอกาสได้ไปอ่านด้วยนะคะ
สำหรับเฟซบุ๊กไลฟ์ยอดการชมก็ลดลง
ด้านหนึ่งก็เป็นนโยบายของเฟซบุ๊กที่จะจำกัดวงของการมองเห็นให้อยู่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น
ไม่ใช่เป็นสาธารณะแบบเดิม ดิฉันก็ฝากให้กดแชร์ กดติดตามให้มากขึ้นนะคะ
เพื่อให้เพื่อนเราได้มองเห็นมากขึ้น รวมทั้งฝากยูดีดีนิวส์ด้วย
สำหรับวันนี้ประเด็นที่ดิฉันจะพูดคือ
“ท่าทีพรรคการเมืองในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”
เราจะเห็นวิวาทะของคนในฝ่ายพรรคการเมือง
ติ่งส้ม, ติ่งแดง รวมทั้งคนดูเป็นจำนวนมาก ดิฉันอยากจะเรียกรวม ๆ กันว่า
ในช่วงระยะเวลานี้มันเป็นช่วงเวลาของกระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
นับจาก 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งนี่เป็นวาระช่วงเดือนแห่งการรำลึกด้วย
กระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนจริงตามชื่อของระบอบประชาธิปไตยนั้น
มันไม่ใช่อยู่แต่ในนาม ไม่ใช่โรงลิเก ยังเป็นกระบวนการเดียวกันมาตลอด
ทีนี้เมื่อเกิดพรรคการเมืองขึ้น
ในยามมีรัฐประหารพรรคการเมืองเท่ากับถูกยุบไปโดยปริยาย
แล้วหลังรัฐประหารก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
พรรคการเมืองก็มาเข้าโรงเวทีรัฐสภากันเป็นลำดับ เมื่อมีรัฐประหารใหม่ก็ล้มไปใหม่
แล้วก็มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคการเมืองก็โดดเข้ามาใหม่ แต่ว่าทั้งพรรคการเมืองและประชาชนล้วนยังเป็นฝ่ายถูกกระทำดังเช่นปัจจุบันนี้
ส่วนคณะรัฐประหารบางทีก็ตั้งพรรคของตัวเอง
ไปรอดบ้าง ไม่รอดบ้าง บางทีก็ใช้พรรคเก่าแก่ พรรคที่อยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม แล้วก็อีกกระบวนการหนึ่งก็คือใช้วุฒิสมาชิก
ซึ่งผู้แต่งตั้งก็จะเป็นคณะรัฐประหาร ทำให้ดูเหมือนบ้านเมืองเงียบสงบไปพักหนึ่ง
แต่ทั้งหมดยังเป็นการต่อสู้ทั้งในเชิงความคิด, ทั้งในเชิงองค์กร,
ทั้งในส่วนของพรรคการเมืองและในส่วนของประชาชน
มา
ณ บัดนี้ก็ยังเป็นเพลงเดิม นั่นก็คือ มีการสืบทอดอำนาจ
มีรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุด มีวุฒิสมาชิกซึ่งที่มาและอำนาจแย่มาก ๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
คนที่มาเป็นสมาชิกแล้วยังมาตั้งคำถามได้ว่า ส.ว.ผิดตรงไหน เขาเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ
ดิฉันว่ามันสุด ๆ เลย ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็ต้องเรียกว่า ท่านทำเป็นไร้เดียงสาอยู่บนภาษีของประชาชน
แล้วก็ทำตามอำเภอใจเพื่อรักษาอำนาจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของท่านและกลุ่มท่านเองได้อย่างน่าอนาถใจที่สุดโดยไม่เกรงใจประชาชนเลย
อันนี้ในส่วนของวุฒิสมาชิกที่ออกมาตอบโต้ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกระบวนการของประชาชนที่พยายามให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ไม่ใช่มรดกจากคณะรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ
ดิฉันอยากจะมาพูดถึงเรื่องของพรรคการเมือง
เมื่อพรรคการเมืองถูกกำหนดจากคณะรัฐประหารว่า
โอเค ตีระฆังแล้ว ตอนนี้มาได้แล้ว แต่ต้องมาตามกติกาของฉันนะ ที่ฉันบังคับ
1-2-3-4-5 และรวมทั้งครั้งที่แล้วก็ปล้นเสียงเขาไปเฉย ๆ อย่างน่าอายมากสำหรับ
กกต.นะ (ดิฉันต้องขอพูดอย่างนั้นนะ) เพราะว่าวิทยาศาสตร์หนึ่ง คณิตศาสตร์หนึ่ง
คุณโกงไม่ได้ แต่ประเทศไทยทำได้ และก็รัฐธรรมนูญของคุณเองกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเองก็ผิดไม่ได้
แต่คุณทำได้ก็แล้วกัน
เมื่อเขาเคาะระฆังให้เข้ามา
พรรคการเมืองก็พากันวิ่งเข้ามา
มันเป็นเรื่องที่เราเคยพูดว่าในการต่อสู้เวทีรัฐสภากับเวทีประชาชนก็จำเป็นต้องใช้ทั้ง
2 เวที เพราะว่าเราสู้ “สันติวิธี” แต่ดังที่ดิฉันได้บอกว่าการสู้ “สันติวิธี”
ถ้าการต่อสู้สันติวิธีนั้นสร้างความเสียหาย ความพ่ายแพ้ให้กับประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก
เราไม่รู้อนาคตประชาชนจะคิดอย่างไร แต่ถ้าเวทีสันติวิธียังเป็นเวทีที่มีอนาคต
ไม่ใช่อนาคตของคนนะ แต่เป็นอนาคตของประเทศ ดิฉันอยากจะบอกว่าเราก็ต้องพยายามรักษาเวทีสันติวิธีนี้ให้มากที่สุด
นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ในทัศนะของดิฉัน เพราะเราไม่ต้องการการสูญเสีย แต่ว่าอนาคตดิฉันไม่รู้
อยากให้กลับไปอ่านตอนที่ 6
ที่ดิฉันพูดเรื่องของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับการต่อสู้ของประชาชน
ดิฉันพูดในเรื่องของ “สันติวิธี” มากสักหน่อย
แต่ในวันนี้ดิฉันจะพูดเรื่องของพรรคการเมือง
เขาเคาะระฆัง
แล้วกติกาเขาก็เขียนให้มา ดิฉันอยากจะพูดว่าพรรคการเมืองในเวทีรัฐสภาเข้ามาด้วยกติกาที่ไม่ใช่กติกาของระบอบประชาธิปไตย
คณะกรรมการก็ไม่ใช่คณะกรรมการในระบอบประชาธิปไตย เขาเคาะระฆังให้เข้ามา เมื่อเข้ามาก็ไม่ว่ากัน
ก็ต้องไปตามนั้น อย่างน้อยมีเวทีรัฐสภาก็ยังมีเสียงในการตรวจสอบรัฐบาล
ยังมีเสียงในการพูดที่เขาให้ความรู้กับประชาชน ในท่ามกลางที่ประชาชนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศโดยที่ให้กำจัดขบวนการของการสืบทอดอำนาจได้
การมีเวทีรัฐสภาและมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ อย่างไรก็เป็นคุณูปการของประชาชน
แต่ถามว่าประชาชนจะหวังว่าเวทีรัฐสภาเป็นเวทีเดียวในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ได้เป้าหมายระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ดิฉันอยากจะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้! แต่ว่าเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู้
และอยู่ที่จิตสำนึกของพรรคการเมืองนั้นด้วย
เป้าหมายของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นระบอบประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายของนักต่อสู้
แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าเป้าหมายนี้จะเป็นเป้าหมายอันเดียวกันของพรรคการเมืองหรือเปล่า?
พรรคการเมืองที่ยินดีเข้ามาอยู่ในเวทีรัฐสภาจำนวนมาก
เป้าหมายมีอย่างเดียวก็คือชนะเลือกตั้งแล้วได้มีบทบาทในเวทีรัฐสภา
พอเวลาเขาทำรัฐประหารก็หยุดไป เวลาเขาเคาะระฆัง (ไม่อยากจะใช้คำว่าเคาะจานข้าว) เคาะจานข้าวก็ได้
บอกโอเค มาได้แล้ว ก็พากันมา
แล้วพากันเข้ามาแย่งชิงเพื่อที่จะให้ได้เสียงส.ส.มากที่สุด
หรือได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล (อันนี้ไม่ได้เป็นความผิดนะ)
ดังนั้น
ไม่ใช่พรรคการเมืองในเวทีรัฐสภานี้ที่จะมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศนี้เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย
แต่ว่าพรรคการเมืองที่บอกว่าอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยมันต้องตระหนักว่าตราบเท่าที่ประเทศนี้ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้มีระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้
ต่อให้คุณชนะ คุณก็อยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นบทเรียนที่น่าจะต้องจำได้
เพราะทุกครั้งที่ได้รับชัยชนะคุณก็โดนรัฐประหารได้!
ดิฉันจึงขอเชิญชวนตั้งแต่ต้นมานานแล้วว่า
พรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย ผลประโยชน์ของพรรค ผลประโยชน์ประเทศชาติ
ผลประโยชน์ของส.ส. ในระบอบประชาธิปไตยมันควรจะเป็นอันเดียวกัน
และควรจะชัดเจนว่าถ้าคุณอยู่ในขบวนการที่เป้าหมายเพื่อให้ได้ระบอบประชาธิปไตยจริงแบบอารยประเทศ
พรรคของคุณก็จะแข็งแรงมั่นคง จะมีการต่อสู้แบบแฟร์เพล ตรงไปตรงมา
ขึ้นอยู่กับความนิยมของประชาชนแบบอารยประเทศ ถ้าเข้าใจตรงนี้
เราจะเอามาตรฐานของอารยประเทศ หรือจะเอามาตรฐานของ อนารยประเทศ คุณจะเอามาตรฐานของพม่า
หรือคุณจะเอามาตรฐานของประเทศตะวันตก หรือคุณอาจจะบอกว่าเราคล้ายกับพม่า
งั้นก็เอามาตรฐานแบบพม่าซิ ยังไงมันก็ยังดีกว่าพม่า? อะไรประมาณนั้น
อันนี้ก็แล้วแต่จะคิด
แต่ว่าในฝ่ายของประชาชนที่ผ่านมาต่อสู้มายาวนานตั้งแต่
ร.ศ.130 ก็นับเป็นร้อยปีแล้ว มาจนกระทั่งถึง ณ บัดนี้
ทุกคนรู้ว่าเป้าหมายของประเทศในการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น
มันผ่านการต่อสู้ยาวนาน และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศแบบนี้
ล้วนเป็นฝ่ายถูกกระทำมาเป็นลำดับ ถูกฆ่า ถูกคุมขัง ถูกอุ้มหาย ถูกจับกุมคุมขังข้อหาอะไรต่าง
ๆ ถูกข่มขู่คุกคามมาเป็นลำดับจนกระทั่ง ณ บัดนี้
ดังนั้น
ถ้าพรรคการเมืองมีเป้าหมายเพียงเพื่อที่ว่าตัวเองได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
ไม่สนใจว่าจะมีเป้าหมายในการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจริง ก็จะเน้นการแข่งขัน เน้นการเอาชนะของพรรคตัวเองเป็นหลัก
ยกตัวอย่างเช่น
มาในขณะนี้ทำไมจะต้องมาทะเลากันด้วยเรื่องบัตรเลือกตั้งในพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน
เพราะว่าถ้าคุณมีท่าทีต่อเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีระบอบประชาธิปไตย สามารถที่จะเดินไปให้ถึงเป้าหมายได้จริง
ๆ คุณเดินคนเดียวไม่ได้ คุณต้องเดินด้วยกันกับคนที่อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่าง
พรรคการเมืองก็ไม่ใช่พรรคเดียว กลุ่มประชาชนอีก
ถ้าสวมหัวใจของการร่วมขบวนการ
กระบวนการในการต่อสู้ ใจมันจะใหญ่ ใจมันจะกว้าง
ถ้าใช้ภาษาของนักต่อสู้รุ่นเก่าก็คือ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”
การแข่งขันเพื่อให้ได้รับชัยชนะของพรรคตัวเองไม่ควรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าเป้าหมายในการที่ทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย
ให้ได้ระบอบประชาธิปไตย ในทัศนะของอาจารย์นะ ซึ่งอาจจะบอกว่า คุณไม่ใช่นักการเมือง
คุณไม่ใช่พรรคการเมือง แต่ดิฉันถือว่าทุกคนเป็นมิตร
ดิฉันไม่เคยโจมตีพรรคการเมืองอย่างสาดเสียเทเสีย เราอาจจะไม่เห็นด้วย
เราก็แสดงความคิดเห็นของเราในส่วนที่เราไม่เห็นด้วย แต่เราก็ “แสวงจุดร่วม
สงวนจุดต่าง” ก็คือ ขบวนนี้มันต้องเดินไปด้วยกันให้มาก ลำพังพรรคเดียว
ลำพังคณะบุคคลไม่กี่คน คุณจะสู้กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้หรือ มันเป็นไปไม่ได้
แต่แน่นอน
เป้าหมายต้องชัด ก็คือ เปลี่ยนระบอบปัจจุบันให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน
ไม่ใช่คน ๆ เดียว ไม่ใช่คณะบุคคล ไม่ใช่กลุ่มบุคคล
แต่ต้องเป็นอำนาจเป็นของประชาชนทั้งประเทศ
ดิฉันมีการพูดถึงประวัติศาสตร์ของแต่ละคน
ทุกคนมีประวัติศาสตร์ ดิฉันไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าใครถึงแม้จะผ่านเวทีการต่อสู้มามาก
อาจจะเป็นการต่อสู้ที่ไม่ฉลาดเลยก็ได้
แต่การแน่วแน่ของการเดินอยู่บนถนนสายนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนก็จะต้องเข้าใจกันและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
เราผ่านเวทีนปช. เราเจอมาเยอะ และคนของนปช.ก็ไปอยู่พรรคการเมือง
บางคนอยู่นปช.แต่ไม่ได้คิดแบบนักต่อสู้ คิดแบบนักการเมือง
ตอนนี้เราจะบอกนักการเมืองทั้งหลายให้มาคิดแบบนักต่อสู้ ดิฉันรู้ว่ามันยาก!
ดิฉันบอกได้เลยว่าชัยชนะของพรรคการเมืองในการแข่งขันกันนั้นไม่มีหลักประกันอะไร
แม้กระทั่งกับพรรคการเมืองนั้นที่จะได้เติบโต
และมันไม่มีหลักประกันสำหรับประเทศชาติด้วย
ดังนั้น
ขอร้อง วิงวอน ให้พรรคการเมืองทั้งหลายหันมามองว่า การเติบโตของพรรคการเมืองของตัวเองนั้น
คุณจะเติบโตในระบอบแบบนี้ไม่ได้ คุณต้องออกจากระบอบนี้ แล้วคุณจะออกจากระบอบนี้คนเดียวก็ไม่ได้
มันต้องอาศัยนกฝูงใหญ่บินขึ้นไปพร้อมกันทั้งหมด
เพราะฉะนั้น
“ท่าที” ประชาชนก็ต้องดูว่าเป้าหมายของพรรคการเมืองที่ทำนั้น ทำเพื่อให้พรรคใหญ่
หรือทำเพื่อให้กระบวนการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ
พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลขณะนี้ดิฉันบอกได้เลยว่าเขาต้องการให้พรรคเขาใหญ่อย่างเดียว
อย่างพปชร. พอตอนนี้เขาก็ต้องปรับเปลี่ยนแล้ว
เพราะเขารู้สึกว่าเขาสามารถล่าส.ส.เขตเข้ามารวมอยู่ได้มากมาย
อันนี้เขาก็เปลี่ยนจากระบบบัตรสองใบมาเป็นใบเดียว คือเดิมคิดว่าจะมาทำลายพรรคเพื่อไทย
แต่พอมาตอนนี้รู้สึกว่าจะมาเป็นอุปสรรค เพราะพรรคตัวเองก็จะใหญ่ขึ้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นระบบแบบไหนก็ตาม
มันมีข้อดีและข้ออ่อนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นท่าทีของพรรคการเมืองนั้น
จะสร้างพรรคให้เข้มแข็งเติบใหญ่ต้องทำด้านบวก ถ้าจะทำด้านลบต้องทำด้านลบกับฝ่ายปฏิปักษ์
ไม่ควรจะใช้ท่วงทำนองของการเล่นงานพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันแบบที่กระทำต่อปฏิปักษ์
ท่าทีของพรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน
ประการแรก ต้องคำนึงถึงเป้าหมายของการต่อสู้ว่า
ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้นจึงจะเป็นหลักประกันให้พรรคของฝ่ายประชาธิปไตยเติบใหญ่ได้
ต้องร่วมกันต่อสู้
ประการที่สอง ในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงนั้น
ในความเป็นจริงคุณต้องรักษากระบวนและทำให้กระบวนทั้งหมดเติบใหญ่
ประการที่สาม
การแข่งขันต้องเป็นการแข่งขันในกลุ่มพวกเดียวกันในเชิงบวก คุณจะไปใช้ท่าทีท่วงทำนองในการประณามหยามเหยียดคนในฝ่ายเดียวกัน
คุณอาจจะคิดว่าดีสำหรับคุณ แต่มันไม่แน่นะ แล้วถ้าถามว่าสำหรับส่วนรวมทั้งหมดดีมั้ย?
ยิ่งไม่ดีใหญ่เลย
ดิฉันก็คิดว่าท่าทีของพรรคการเมืองในกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้น
ควรจะเป็นท่าทีของพรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตยที่ขณะนี้รู้ว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำทั้งหมด
เพราะฉะนั้นการกระทำต่อกันจึงเป็นการกระทำที่จะต้องให้เกียรติในความแตกต่าง
แล้วใช้ท่าทีท่วงทำนองซึ่งสามารถรักษาขบวนใหญ่นี้ได้
สำหรับบัตรสองใบแบบ
40 หรือบัตรสองใบแบบของเยอรมัน บัตรสองใบแบบเยอรมันก็มีข้อดี
แต่ก็มีข้ออ่อนอยู่เยอะ ดิฉันก็เคยคำนวณแล้วว่ามันมีปัญหา ของเยอรมัน 1) เขาเป็นสหพันธรัฐ
2) เขาตัดพรรคเล็กเลยนะถ้าเสียงไม่ถึง 5% เขาไม่เอามาคิด ซึ่งมันก็ไม่ได้
แล้วในบ้านเราดิฉันเคยคำนวณแล้วว่าเมื่อครั้งที่พรรคพลังชลได้คะแนนความนิยม 0.55%
แต่ได้ส.ส.เขต 6 คน ก็ได้ส.ส.เข้ามาทั้งหมด ถ้าคิดแบบ 0.55% ยังได้ ส.ส. 6 คน แล้วถ้า 100% จะได้เท่าไหร่
มันก็เป็นประมาณพันกว่าคน อย่างนี้เป็นต้น คือมันมีสิ่งที่เรียกว่า Overhang
Mandate แต่ที่พูดทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าแบบเยอรมันแบบนี้ไม่ดีนะคะ
มันก็มีจุดอ่อนซึ่งยังต้องใช้เวลา
เพราะฉะนั้นยังไม่จำเป็นที่จะต้องมาทะเลาะกันด้วยเรื่องนี้
สิ่งที่จำเป็นมากกว่าก็คือ
ทำอย่างไรเราจะสามารถกำจัดบทบาทส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
คือตอนในสภา ให้มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในสภา อาจจะเว้น หมวด 1 หมวด 2 แต่ถ้าให้
สสร. ร่างทั้งฉบับ (ในทัศนะอาจารย์นะ) ก็คือร่างฉบับใหม่ ร่างได้ทั้งหมด
เพราะแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญของพวกรัฐประหารเขาก็ยังแก้ทั้งหมวด 1 หมวด 2
ก็ยังมีการปรับปรุงได้ ดังนั้น เมื่อให้มีสสร. ก็ต้องยกใช้เขาทั้งฉบับ
ไม่จำเป็นต้องไปกีดกั้นเอาไว้ก่อนว่าแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้ แต่ในสภา
เพื่อต้องการความร่วมมืออาจจะเขียนอย่างนั้นได้
อันนี้ก็เป็นทัศนะของดิฉันนะคะ ก็คือ หวังว่าไม่ต้องรีบทะเลากัน เพราะยังไม่ถึงเวลา ยังไม่ทันเห็นชิ้นเนื้ออะไรเลย มาทะเลาะกันว่าจะแบ่งชิ้นเนื้ออย่างไร สิ่งที่คุณได้อาจจะไม่ใช่ชิ้นเนื้อ อาจจะเป็นระเบิดหรืออะไรตายหมดเลยก็ได้ อ.ธิดากล่าวในที่สุด.