วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎร 2475 ตอนที่ 4

 


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎร 2475

 

ตอนที่ 4 : สิ่งที่คณะราษฎรไม่ได้ปฏิรูปคือ “กองทัพและตุลาการ”

 

สัมภาษณ์ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวาระ 89 ปี 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรปฏิวัติสยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (สัมภาษณ์โดย The 101 world เมื่อ 24 มิ.ย. 63)

 

----------

 

ตอนชุมนุมที่ราชประสงค์ ณ ขณะนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์กุมอำนาจอยู่ อาจารย์มองว่ากลุ่มชนชั้นปกครองที่เป็นรัฐบาลกับทหาร เขาดีลอำนาจกันยังไง ภาวะอำนาจในการสั่งการทหารเป็นแบบไหน?

 

ในเวลานั้นทหารอยู่ในเครือข่ายของฝ่ายจารีตอยู่แล้ว นั่นก็คือ มีการตระเตรียมในการที่จะขึ้นมาสู่อำนาจ หมายความว่าทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้เข้ามามีการจัดการ จนกระทั่งมีความเห็นพ้องกันว่าคนที่ขึ้นมาเป็นผบ.ทบ.หรือคุมกำลังส่วนต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ว่าจะต้องไว้ใจได้ เชื่อถือได้ (อันนี้เป็นความคิดของอาจารย์นะ ซึ่งเป็นหรือไม่เป็น ไม่รู้) แต่เชื่อว่าจัดการได้

 

เพราะฉะนั้น หมายความว่าฝ่ายทหารก็อยู่ในเครือข่ายจารีต แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่มีความคิดของตัวเองอะไรเลย เพราะเขาก็ต้องรู้เหมือนกันว่าถ้าทำอะไรผิดพลาดไปนี่มันหัวขาดนะ แล้วก็ไม่มีอนาคตนะ มันไม่ใช่ง่าย ๆ เพราะมันมีรัฐธรรมนูญอยู่ สามารถถูกจัดการได้

 

อันที่สองก็คือ การจัดการมันมีทั้งรูปแบบของระบบและรูปแบบทางความคิด ทางความคิดของกลุ่มทหารที่ขึ้นมาคุมกำลังในยุคหลัง ๆ อาจารย์ว่ามันอยู่ในสายของจารีตนิยมหมด แน่นอนมีการจัดการ “วาง” จะเป็นกลุ่มไหน อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคอนเนคชั่นที่ว่าจะวางอยู่ที่ไหน เพราะว่าเวลาเขาจะให้ใครขึ้นมา มันก็ต้องมีการคุยกัน

 

แต่อีกอันก็คือในทางความคิดก็ถูกครอบงำด้วยความคิดแบบอนุรักษ์นิยมและจารีตนิยมด้วย มันจะมี 2 อย่างคือ 1) การให้คุณให้โทษด้วยตำแหน่ง 2) ความคิดที่ครอบงำ ในปัจจุบันที่มันเป็นเครือข่ายของชนชั้นนำมันจะมี 2 อย่างนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือน เพราะแน่นอนไม่ว่าจะให้คุณให้โทษที่ให้เขาขึ้นมาได้เป็นใคร เป็นประชาชน หรือเป็นชนชั้นนำสูงกว่า ถ้าเป็นประชาชนเขาต้องเดินเข้าหาประชาชน แต่ถ้าเป็นชนชั้นนำที่สูงกว่าเขาก็ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าหาประชาชนซิ

 

เพราะฉะนั้นสายงานอะไร หน่วยงานอะไรที่มันไม่ยึดโยงกับประชาชน หน่วยงานเหล่านั้นมันง่าย เพราะว่ามันถูกจัดการด้วยผลประโยชน์อยู่แล้ว นอกจากนั้นบางคนถึงแม้จะไม่ใช่ผลประโยชน์ซึ่งหน้าแต่ความคิดมันถูกครอบงำมา ถูกหล่อหลอมมาเป็นแบบนั้น

 

คำถามที่ว่ารุ่นก่อนดูเหมือนแยกระหว่างกองทัพกับฝ่ายจารีตนิยมพลเรือน และรุ่นหลังดูเหมือนรวม อาจารย์ว่าในรุ่นก่อนก็มีทั้งแยก มีทั้งรวมนะ เป็นคราว ๆ แม้กระทั่งจอมพลถนอมก็ดูเหมือนถูกจัดการ แต่ในที่สุดจอมพลถนอมก็กลับมาได้ ที่กลับมาได้ก็แปลว่าต้องได้รับความร่วมมือความเห็นชอบของเครือข่ายฝ่ายจารีตและรัฐบาลขณะนั้นหรือเปล่า นี่ยกตัวอย่าง

 

เพราะฉะนั้น อันนี้มันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถ้าถามว่ามาถึงปัจจุบัน (ในความคิดของอาจารย์นะ อาจจะผิดก็ได้) ก็คือ เครือข่ายจารีตได้พยายามให้ อำนาจกองทัพ อำนาจตุลาการ หรือกระทั่งองค์กรอิสระ คือทั้งหลายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน มันกลายเป็นเข้ามาอยู่ในเครือข่ายนี้หมด แล้วบางทีเขาจัดการกันน่าเกลียด คืออะไรที่เพื่อนช่วยเพื่อนที่มาเป็นป.ป.ช.ตามข่าวที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ เป็น กกต. เป็น ป.ป.ช. ก็กลายเป็นในกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งมันเป็นเครือข่ายวงกว้างออกไปแล้วนะ ไม่ใช่วงในแล้วนะ ก็เป็นวงนอก เพราะว่ามันมีผลประโยชน์ที่คุณรอรับ คุณไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้น คนเหล่านี้เมื่อไม่ยึดโยงกับประชาชน เขาก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เขาอยู่ได้ พูดง่าย ๆ ว่าโหนนั่นแหละ ต้องเป็นการโหนนั่นแหละ มันไม่ใช่เป็นการขึ้นบันไดมาจากประชาชน

 

ในอดีตมันอาจจะดูเหมือนไม่ร่วมกันเท่าไหร่ แต่ในปัจจุบันกับในอดีตที่ผ่านมาใกล้ ๆ ดูเหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะอาจารย์มองว่าเขาได้ขยับเครือข่ายออกมา เพราะเขามองว่าตัวนี้เป็นตัวชี้ขาด คุณทำม็อบก็ไม่สำเร็จถ้าไม่มีการทำรัฐประหาร มันกลายเป็นอาวุธสำคัญ เพราะฉะนั้นอาวุธสำคัญอันนี้มันต้องอยู่ในมือ คำถามคืออยู่ในมือใคร? ถ้าคุณต้องการอำนาจ คุณก็ต้องมีอาวุธอันนี้ คือกองทัพอยู่ในมือของตัวเองให้ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามันไม่ใช่ ต้องทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าหัวคนนี้ไม่ใช่ก็ต้องจัดการไป เอาหัวใหม่มา ที่ให้อยู่ในมือเหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต

 

อาจารย์ว่าในอนาคตอันใกล้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่ในอนาคตอันไกล ถ้าประชาชนแข็งแกร่ง และทำให้กองทัพคิดว่าจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องค่อย ๆ ผ่อนไป แต่ว่าตรงนี้อำนาจประชาชนต้องแข็งแกร่งจริง ๆ ซึ่งพูดตรง ๆ ว่าต้องสร้างผลสะเทือนให้ยิ่งใหญ่กว่า 14 ตุลาด้วยซ้ำ ทำอย่างไรให้กองทัพเข้าใจว่าคุณต้องเป็นกองทัพของประชาชน คุณไม่ใช่เป็นกองทัพที่เป็นกองทัพของชนชั้นนำ พอถึงเวลาไม่พอใจคุณก็มาปราบประชาชน

 

คณะราษฎรไม่ได้ทำอะไรในเรื่องปฏิรูปตุลาการเลย และไม่ได้ทำอะไรในเรื่องปฏิรูปกองทัพ เพราะเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจอยู่แล้ว และเชื่อว่าตุลาการก็ไม่น่าจะมีปัญหา ตุลาการนั้นอาจารย์ปรีดีค่อนข้างจะมีความเชื่อมั่นว่าเขาเป็นคนสมัยใหม่มาจากสำนักอังกฤษ มาจากสำนักอะไร แต่จริง ๆ สำนักอะไรไม่เท่ากับความสำนึกในชนชั้น ต่อให้คุณมาจากสำนักทันสมัยที่ไปเรียน (แบบคุณอภิสิทธิ์) สำนักการเรียนที่ทันสมัยกับสำนึกทางชนชั้น คนละอย่างกันเลย

 

คุณเป็นชาวนาก็ก้าวหน้ากว่าคนที่เรียนอ๊อกซฟอร์ดได้ เพราะว่าสำนึกทางชนชั้นทำให้วิธีคิดวิธีทำงานเขาไปในทางที่ก้าวหน้า แต่ที่เรียนอ๊อกซฟอร์ด ไปเรียนเมืองนอกมา ในฐานะที่อยู่กับชนชั้นสูงก็กลายเป็นพวกล้าหลัง เพราะฉะนั้นการศึกษา สำนักศึกษานี้มันไม่ใช่เลย อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด

 

ถ้าเราจะสืบทอดคณะราษฎร สิ่งที่บกพร่องไป (ที่ไม่ได้ทำเลย) อย่างน้อยนะ 2 อย่าง  (ยังมีมากกว่านี้) คือคุณต้องทำให้กองทัพขึ้นกับรัฐบาลและประชาชน แล้วก็ต้องทำให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่มองเห็นคนเท่าเทียมกัน อาจารย์เคยพูดว่ามันไม่ใช่ Absolute คุณคิดว่าความยุติธรรมมันเป็นสิ่งที่ต้องให้คนเท่ากัน ไม่จริงเลย ความยุติธรรมในยุคศรีอยุธยาที่มีกฎหมายตราสามดวง เขาก็บอกความยุติธรรม หรือความยุติธรรมในสมัยทาสในยุโรปหรือในบ้านเราก็ตามที่นายจะสามารถโบยทาสได้ เขาก็บอกว่าความยุติธรรม

 

ดังนั้นความยุติธรรมมันขึ้นอยู่กับระบอบการปกครอง สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือทำให้ความยุติธรรมในประเทศนี้เป็นความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยให้ได้ นั่นก็คือคุณต้องปฏิรูปหรือตุลาการภิวัฒน์จริงนะ ไม่ใช่แบบที่เป็นมา ไม่ใช่ตุลาการภิวัฒน์ก็คือเอาตุลาการเป็นเครื่องมือของการเมือง แต่ว่าตุลาการมันต้องเป็นเครื่องมือของประชาชน ในความคิดของอาจารย์นะ

เพราะฉะนั้น จุดด้อย 2 อย่างที่คณะราษฎรไม่ได้ทำ ก็คือเรื่องของกองทัพกับเรื่องอำนาจตุลาการ มันจึงทำให้เกิดรัฐประหารซ้ำซาก พอทำรัฐประหารเสร็จ ตุลาการรับรองอำนาจ มันก็ทำรัฐประหารใหม่ แล้วก็นิรโทษ ไม่ผิด ปราบปรามประชาชนก็ไม่ผิด ฆ่าคนตายก็ไม่ผิด 2 อย่างนี้มันจึงเป็นตัวถ่วงที่ทำให้การเลือกตั้งและการมีรัฐธรรมนูญไปไม่รอด

 

ถ้าคุณเป็นกองทัพของระบอบประชาธิปไตย คุณมีตัวอย่างเต็มไปหมดเลยในโลกนี้

 

แต่ถ้าคุณจะเป็นกองทัพในระบอบของเผด็จการ มันก็มีอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งมีน้อยมากในโลกนี้  หรือคุณจะเป็นกองทัพแบบของประเทศจีนมั้ย? สังคมนิยม มันก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น แบบอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว อาจารย์ก็คิดว่ามันก็จะเป็นตัวช่วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ แม้นมันจะช้าที่เราจะทำให้มีการปฏิรูปกองทัพ เพราะเราดูขณะนี้ปลายหอกของประชาชนพุ่งมาที่การจัดการกองทัพ

 

และขณะนี้การพูดถึงความยุติธรรมก็มากขึ้น ที่อาจารย์พูดไปว่าความยุติธรรมมันขึ้นอยู่กับระบอบ คุณอยู่ในระบอบอะไร ถ้าเป็นความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย คนต้องเท่ากัน ถูกไหม? แต่ที่มันไม่มีทุกวันนี้เพราะมันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แล้วคนมันไม่เท่ากัน

 

การเรียกร้องความยุติธรรม จริง ๆ เป็นการรักษาระบอบนะ ถ้าคุณอยู่ในระบอบนี้แล้วคุณให้ความยุติธรรมกับคน ระบอบนี้จะอยู่ได้นาน แต่ถ้าระบอบนี้มันทำให้เกิดความอยุติธรรม ระบอบนี้มันก็จะถูกทำลายด้วยตัวเอง มันอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความยุติธรรมมันรักษาระบอบ มันไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความอยุติธรรมมันจะทำลายระบอบและมันจะเปลี่ยนแปลงได้ เรื่องเหล่านี้มันจึงเป็นเรื่องที่เรียกว่ามันต้องสืบต่อ

 

แต่สำหรับอาจารย์ บางคนอาจจะบอกว่าพวกนี้มันพวกเสื้อแดง นปช. มันหมดไปแล้ว ความจริงมันไม่ใช่คนหนึ่งคน มันไม่ใช่จตุพร ณัฐวุฒิ อาจารย์ธิดานะ แต่อาจารย์คิดว่าความคิดที่ก้าวหน้าและถูกต้องมันลงสู่คนทั่วประเทศ แล้วคุณมีผู้นำใหม่ได้เสมอ แล้วพอมีประเด็นขึ้นมาเหมือนเมืองนอก พอมีประเด็นที่เขาทำไม่ถูกนะ ก็ไม่เห็นมีผู้นำเลย ออกมาหมดเลย คือขอให้เป็นประเด็นที่ถูกต้อง

 

อาจารย์ว่าประเด็นปฏิรูปกองทัพกับประเด็นความยุติธรรมในประเทศไทย น่าจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับฝ่ายประชาชนในอนาคตอันใกล้นี้ แล้วมันจะเป็นอยู่อย่างนี้นานไหม?

 

บางคนอาจจะมองว่า น่าเป็นห่วงว่าประเทศไทยมันจะอยู่อย่างนี้อีกนาน  แต่อาจารย์ว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส ในเรื่องร้ายมีเรื่องดี ก็มันอยากจะร้าย ร้ายสุด ๆ ร้ายไปเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้เอาไว้ว่ามันไม่ใช่ว่าใครจะเป็นแกนนำแล้วจองนะ พรรคการเมืองก็เหมือนกัน มันก็ต้องเปลี่ยน เพราะฉะนั้น ในฝ่ายประชาชนอาจารย์ยังมองว่ามีอนาคต แล้วที่อาจารย์เคยพูดไว้ว่ามันจะไม่ใช่องค์กรเดียว มันก็จะต้องมีสองปีก ฝ่ายประชาชนที่ไปสนับสนุนพวกจารีตแล้วการสืบทอดอำนาจ กับฝ่ายประชาชนที่ไม่เอา

 

ถามว่าเด็กรุ่นใหม่ ต่อให้ไม่รู้จักเหลือง/แดงนะ อาจารย์เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่เขาไม่เอาจารีตหรอก ยังไงเขาก็ต้องเอาเสรีนิยม ยังไงเขาก็ต้องเอาระบอบประชาธิปไตย ยังไงเขาก็ต้องการให้ทหารขึ้นกับรัฐบาล แล้วยังไงเขาก็ต้องการให้มีความยุติธรรม เห็นคนเท่าเทียมกัน ไม่ต้องไปสอน เขาก็รู้ของเขาเอง ยังไงฝ่ายประชาชนก็ต้องมีอนาคต เพราะคุณฆ่าคนไม่ได้ทั้งหมด

 

แต่ตัวที่ทำให้การต่อสู้ประชาชนช้ามากที่อาจารย์เสียดายมากก็คือ กลุ่มคนที่เคยเติบโต 14 ตุลา กลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยม เอ็นจีโอจำนวนมากไม่ใช่น้อยก็ไปอยู่กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม แล้วอย่าว่าแต่เอ็นจีโอ คอมมิวนิสต์ด้วย มีพวกพคท.ด้วยนะ หมายถึงว่าเอาล่ะจะเป็นใครก็ตาม เป็นเอ็นจีโออะไรก็ตาม แต่เป็นปัญญาชนที่น่าจะมีอุดมการณ์ ไฉนไปหลงอยู่กับด้านนั้น ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่หลายคนก็พยายามที่ดูว่าทำไมหัวหอกประชาธิปไตยไม่ใช่ปัญญาชน ชนชั้นกลาง

 

แต่อาจารย์ก็คิดว่า 1) ฐานะทางชนชั้นเปลี่ยน 2) สำนึกทางชนชั้นไม่ได้มั่นคงอยู่กับประชาชน ยังยืนอยู่ที่ตัวเอง เพราะตัวเองขึ้นมาอยู่ที่ชนชั้นนำแล้ว แล้วก็เป็นปัญหาเรื่องราวของผลประโยชน์ที่ขัดกัน แต่มีจำนวนหนึ่งที่ได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ได้ข้อมูลเฉพาะบางส่วน พูดตรง ๆ ว่า เช่น คุณสนธิ (ลิ้ม) เขาเป็นคนเก่ง คนเชื่อเยอะ เพราะเขามีความสามารถ มีข้อมูลเยอะ เขาจะเปลี่ยนพูดยังไงก็ได้ มันก็มีบ้างบางส่วนที่ว่าพอได้ข้อมูลใหม่ ขณะนี้ก็เข้าใจและมากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อาจารย์รอมานานมาก นิก นอสติทซ์ (นักข่าวชาวเยอรมัน) เวลาเห็นปัญญาชนขึ้นมาพูด เขาบอกว่าเขาจำได้เสมอว่า อาจารย์บอกว่า “เรารออย่างเดียว รอปัญญาชนกับชนชั้นกลาง เพราะมวลชนพื้นฐานเขาตื่นตัวขึ้นมาแล้ว” เวลาเขาเห็นช่วงก่อนหน้าโควิด มีนักศึกษาขึ้นมา เขาก็นึกถึงคำพูดของอาจารย์

 

เพราะฉะนั้น อาจารย์ก็ยังพูดเหมือนเดิมว่า ปัญญาชน ชนชั้นกลาง อาจจะมีเป็นผู้สูงอายุหน่อยก็ควรจะเข้าใจและหันกลับมา หาข้อมูลให้มากขึ้น เพราะอาจารย์ยังเชื่อธาตุดี แต่เด็กรุ่นใหม่และคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องพูดอะไรเลย อาจารย์เชื่อ ถ้าให้เขาเติบโตเขาเองนะ อาจารย์เชื่อว่าเขาต้องยืนอยู่ในจุดที่เป็นพวกเสรีนิยม เป็นพวกรักประชาธิปไตย แล้วก็ไม่ต้องการรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ อาจารย์เชื่อว่าเราจะไปกันได้ ไม่น่าห่วง.

 

#89ปีปฏิวัติสยาม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์