วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ธิดา ถาวรเศรษฐ : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎร 2475 ตอนที่ 3

 


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มรดกคณะราษฎร 2475

 

ตอนที่ 3 : ภาพ 14 ตุลา 16 เป็นการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กองทัพนานเป็นสิบปี

 

สัมภาษณ์ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวาระ 89 ปี 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรปฏิวัติสยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (สัมภาษณ์โดย The 101 world เมื่อ 24 มิ.ย. 63)

----------

ถ้าเราพูดถึงในรูปแบบการชุมนุม เราชุมนุมเมื่อตอนปี 2551 เราใช้ “สนามหลวง” ไม่ใช่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”

 

ปี 2552 หน้าทำเนียบ ก็ไม่ได้ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเหมือนกัน คือพูดง่าย ๆ ว่า หน้าทำเนียบเพราะตอนนั้นต้องการไปกดดันรัฐบาล แต่ไม่ได้เข้าไปนะ ไม่มีการเข้าไป อยู่ข้างนอก ทั้ง ๆ ที่เรายุติการชุมนุมเอง เพราะว่าตอนนั้นเรามองว่าไม่อยากให้มีการสูญเสีย แล้วแกนนำเหลืออยู่ 3-4 คน (คุณณัฐวุฒิ, คุณวีระ, คุณหมอเหวง) อาจารย์มองแล้วว่ามันง่าย อาจารย์ก็คิดว่ามันควรจะยุติ เพราเขาใช้วิธีเป็นคีมหนีบเข้ามา หมายความว่าปี 2552 ก็ไม่ได้ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่เราเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่ต้องไปอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ถูกฟ้องร้องเช่นกัน

 

พอปี 2553 แต่ละที่มันก็มีการเคลื่อนจากต่างจังหวัด แต่ว่าของเราในกรุงเทพฯ เริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (ที่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว หายไปแล้ว) เขาเรียกว่ารวมพลกัน เวลามาตั้งเวที เราก็ต้องเวทีตรงวัดราชนัดดา เดิมมีการปรึกษากันว่าจะตั้งเวทีหันหลังให้สนามหลวงไหม แล้วหันหน้ามาราชดำเนิน รูปแบบอย่างหนึ่งซึ่งคนประทับใจและอาจารย์เชื่อว่ากปปส.หรือกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เข้าใจอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็คือภาพที่ยิ่งใหญ่ของ 14 ตุลา

 

แต่อาจารย์ว่า (ไม่รู้จะย้อนแย้งหรือเปล่านะ) ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวที่มักจะใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ดูประหนึ่งเป็นเวทีและศูนย์กลางนั้น ล้วนเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่มีอนุรักษ์นิยมเข้ามาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยเลย เช่น 14 ตุลา ที่ขบวนการฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้ามามีการจัดการเต็มที่ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พวกแกนนำเดินเข้าเดินออกบ้านคุณชายคึกฤทธิ์ รูปล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช เป็นคนวาด เราต้องยอมรับ 14 ตุลานั้น มันเป็นการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ดังนั้นมันจึงดูประหนึ่งว่ามันสอดคล้องกันกับสัญลักษณ์ และภาพคนเป็นแสน เป็นภาพที่สวยงามมากที่สุด และสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับกองทัพอยู่ยาวนานเป็นสิบ ๆ ปีเลยนะ อย่าง 2519 เขาทำรัฐประหารจริง แต่ว่าคนที่มาเข่นฆ่าไม่ใช่ทหารนะ เป็นตำรวจ ใช้ตำรวจตระเวนชายแดน ใช้ลูกเสือชาวบ้าน ภาพ 14 ตุลา อาจารย์มีญาติที่เป็นทหาร คือพวกเขาไม่เคยคิดว่าในชีวิตเขาจะเจออย่างนั้น และทหารรู้ว่าสู้ประชาชนไม่ได้ แต่เขาก็เริ่มเลียนแบบ เริ่มมีการแยกสลาย เอาเด็กอาชีวะออกมา เริ่มทำม็อบของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

 

เพราะฉะนั้น ภาพ 14 ตุลา ดูเหมือนเป็นความสำเร็จของการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย แต่ในทัศนะอาจารย์คิดว่ามันเป็นการที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสามัคคีกับทุกฝ่ายเพื่อที่จะสู้กับเผด็จการทหารซึ่งมีท่าทีว่าจะยึดอำนาจอยู่ยาวนานแบบเดียวกับที่เขาเล่นงานจอมพล ป. ทั้งที่จอมพล ป. ก็ร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการทำรัฐประหาร 2490 แต่เนื้อแท้ของจอมพล ป. นั้นยังแยกส่วนกับฝ่ายจารีตนิยม ดังนั้นจอมพล ป. ต้องถูกจัดการ จอมพลถนอมกับจอมพลประภาสก็เหมือนกัน เพราะงั้นมันดูดีว่านี่ดูเหมือนเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่มันไม่ใช่ประชาธิปไตยจริง เพราะฉะนั้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงถูกเชิดชูให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ที่มันยิ่งใหญ่เพราะว่ามีฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้ามาร่วมด้วย ต่อมามันจึงเกิด 6 ตุลา ภายในเวลาฉับพลันเลย เพื่อที่จะยื้ออำนาจไม่ให้นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าเติบโต และเกิดการฆ่ากันตายมากมาย

 

ดังนั้น 14 ตุลา 16 มันจึงไม่ใช่ภาพชัยชนะที่แท้จริงของฝ่ายประชาธิปไตย (ในทัศนะอาจารย์) มันเป็นภาพลวงตา แต่ว่ามันยิ่งใหญ่ และมีผลสะเทือนในทางก้าวหน้าพอสมควร

 

ทีนี้ อย่างที่เราบอกแล้วว่าในฝ่ายนปช. เนื้อหาเราเหมือนกันกับคณะราษฎรแต่ว่าเราไม่ได้เอาอนุสาวรีย์เป็นฉากประจำ ปี 2553 เราไปชุมนุมตรงผ่านฟ้า (หน้าวัดราชนัดดา) เพราะว่าเราต้องการให้คนมากกว่า ด้านหนึ่งเป็นราชดำเนินนอก อีกด้านหนึ่งก็เป็นราชดำเนินกลางไปสู่ราชดำเนินใน เป็นสองส่วนคือให้กินแดนกัน ราชดำเนินนอกก็มีเต็นท์ของคนต่างจังหวัดเต็มไปหมด ราชดำเนินในไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงสนามหลวง แต่ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมันดันเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 10 เมษาอยู่บริเวณนั้น แต่จริง ๆ แกนนำใหญ่ เวทีใหญ่ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ว่ากลายเป็นจุดที่เกิดโศกนาฏกรรมเพราะว่าทหารมายึดพื้นที่ตรงถนนดินสอ ตรงสี่แยกคอกวัว กลายเป็นว่ามันเกิดขึ้นหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

จากนั้นเราก็มีการแยกส่วนไปอยู่ที่ราชประสงค์ จริง ๆ มันก็เป็นการต่อต้านความเหลื่อมล้ำและชี้ให้เห็นถึงระบบทุนนิยมที่มันขัดแย้งกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คุณลองคิดดูซิว่าห้างหรู ๆ โรงแรมหรู ๆ ชาวบ้านก็เขาผ้าขาวม้ามาตากและอยู่กันเต็มไปหมด มันก็เป็นภาพของความขัดแย้ง แต่จริง ๆ ถ้าเป็นนักวิชาการตอนนั้นทำวิจัยง่ายที่สุดแล้ว อาจารย์ยังนึกในใจเลยว่านี่ถ้าชั้นไม่มาอยู่อย่างนี้นะ ทำวิจัยแล้ว ต่อให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ตาม คุณจะไปหายังไงโอ้โหมีคนมาเต็มไปหมดเลย แล้วเราไม่เคยขัดนะ ในการชุมนุมของเราทั้งที่บริเวณราชดำเนินหรือราชประสงค์ เราไม่มีพื้นที่ลับ ใคร ๆ ก็เข้าไปได้ ใครจะไปทำวิจัย กอ.รมน. จะไปเดิน ทูตจะไปเดิน ผู้สื่อข่าวจะไปเดิน ได้หมด

 

เวทีของเราก็จะเป็นเวทีที่สื่อมวลชนกับแกนนำอยู่ในเต็นท์เดียวกัน มีเชือกกั้นแค่นั้นเองแยกฝั่ง เผื่อเวลาแถลงข่าวหันหน้ามาก็เจอกันพอดี ดังนั้นไม่มีความลับ เพราะว่าเป้าหมายเราต่อเนื่องจากคณะราษฎรแท้ ๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น ก็คือต้องการระบอบประชาธิปไตย แต่ว่าเราต้องการระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แบบไทย ๆ ที่ไม่ใช่แบบอำมาตยาธิปไตย แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้ 100% แต่มันไม่ควรจะ 20% หรือ 10% แบบที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ มันได้สัก 70% ก็ยังดี

 

อย่างรัฐธรรมนูญ 2540 เราก็ได้มาสัก 80% แต่มันก็อยู่ได้ไม่นาน หรือว่า 2489 ของอาจารย์ปรีดี เราก็ได้มาสัก 70% ตอนนี้ก็กลับไปเหลือ 10% 20% เหมือนเดิมอีก มันถอยหลังยิ่งกว่า 2475 (ฉบับแรกเลยนะ) ด้วยซ้ำ ในทัศนะอาจารย์

 

ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยของเราที่เราต้องการ มันจึงทำให้เราไม่จำเป็นต้องปิดบังซ่อนเร้น เพราะเราเพียงแต่สืบทอดเจตนารมณ์ ทำต่อจาก 2475 จริง ๆ คณะราษฎร 2475 ทำแล้วก็ทำได้ระดับหนึ่ง เขาไม่แตะเลยคือ “กองทัพ” เพราะพอดีคณะราษฎรคุมกองทัพได้ ไม่ได้แตะอีกอันก็คือ “อำนาจตุลาการ” อำนาจนิติบัญญัติก็พยายามทำให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง 2489 รัฐธรรมนูญนั้นโดนเลย เพราะฉะนั้นนิติบัญญัติกับบริหาร เขาพยายามทำ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ อย่าไปพูดถึงอำนาจตุลาการหรือว่ากองทัพ และตอนนี้มีอำนาจใหม่คือ “องค์กรอิสระ” ขึ้นมาอีก มันก็กลายเป็นอำนาจ ไม่ใช่นิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ อาจารย์ว่ามันก็เป็นอำนาจองค์กรอิสระกับอำนาจกองทัพ บอกตรง ๆ ก็คือ 5 อำนาจ มันไม่ใช่ 3 อำนาจแบบเดิม เพราะว่าเขาไม่ขึ้นกับรัฐบาล ก็แปลว่าเขาก็เป็นอีกอำนาจหนึ่ง

 

ถามว่าเมื่อก่อนที่มันไม่ได้เป็นอันเดียวกันเพราะว่าคณะราษฎรคุมทหารได้ และคุมทหารได้ยาวนาน อย่าลืมว่าจากเจ้าคุณพหลฯ มาจนถึงจอมพล ป. ก็ยังอยู่สายเดียวกัน จอมพล ป. มาถึง จอมพล ถนอม กิตติขจร เขาก็ยังเป็นรุ่นน้อง จอมพล ป. นะว่าไป ดังนั้นมันยังเป็นสายงานของคณะราษฎร แต่เป็นสายทหาร มันจึงยังไม่ใช่เป็นเนื้อเดียวกัน สนิทกับอนุรักษ์นิยมเสียทีเดียว

 

จุดเปลี่ยนก็มาตรงจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งค่อนข้างเป็นเนื้อเดียวกันกับฝ่ายจารีตนิยมและทำให้ประเทศเป็นจารีตนิยมมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ก็หมายความว่าฝ่ายจารีตนิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เป็นกลุ่มเครือข่ายต้องการให้กำลังทหารเข้ามาเป็นอันเดียวกัน อย่างเครือข่ายจะเรียกว่าเป็นเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ก็ตาม ก็แปลว่าจะเอากองทัพมาอยู่ในเครือข่ายนี้ด้วย นั่นจึงจะทำให้พละกำลังมีมาก แต่ก่อนหน้านี้มาจนถึงจอมพลถนอม พูดก็พูดเถอะนะ ไม่ว่าเขาจะเป็นเผด็จการก็ตาม แต่เขาก็ยังเป็นสายที่มาจากสายยุคคณะราษฎรอยู่นะ จอมพลประภาสเป็นคนที่ใช้อาวุธเล่นงานกับคุณตาของท่านประธานองคมนตรีปัจจุบันด้วยซ้ำ ก็คือเป็นสายคณะราษฎร

 

แล้วพอมาหลัง 14 ตุลานะ ทหารก็เริ่มไม่เป็นเอกภาพ มันก็เลยมีการรัฐประหารบ่อยมาก บางครั้งก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพลเรือน กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือเครือข่ายระบอบอำมาตย์ แต่ว่าความพยายามของเครือข่ายสถาบันและเครือข่ายระบอบอำมาตย์ก็พยายามที่จะสร้างให้เป็นกองทัพที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ก็จะมีการทำนายได้ว่าใครจะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. หน่วยไหนจะคุมกำลัง ใครจะมาคุมกำลัง คือพูดง่าย ๆ ว่าอาจจะมีการเตรียมไว้เลยเป็น 3-4 รุ่นเลย มันกลายเป็นของจำเป็นในการที่จะได้มาซึ่งอำนาจอย่างถาวร

 

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจารย์คิดว่าเมื่อก่อนในอดีตสมัยคณะราษฎรนั้นยังไม่ได้ลงสู่ประชาชนเต็มที่ ดังนั้น ตราบเท่าที่กองทัพยังอยู่ในมือคณะราษฎร คุณลองคิดดู พอเจ้าคุณพหลฯ ตาย ถัดมามีรัฐประหารทันที ปี 2490 เพราะพระยาพหลฯ ท่านเป็นนายทหารประชาธิปไตย ท่านไม่ยอมหรอกที่จะให้มีการทำรัฐประหารและทหารก็ยอมรับท่านมาก

 

เพราะฉะนั้นการชิงในการควบคุมทหารก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และนี่คือปัญหาของประเทศไทยที่ทหารไม่ขึ้นกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทหารจะต้องเป็นผู้จัดการรัฐบาล แล้วถามว่าในบางประเทศทหารอาจจะอยู่เหนือกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ในประเทศไทยนั้นอาจารย์ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้พยายามผนึกกำลัง แล้วก็พยายามจัดการ

 

มันไม่ใช่ว่าจะได้ทุกครั้งนะ ถ้าเราดูในยุคหลัง 14 ตุลา ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา, คุณทวีป หรืออะไรต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วกระทั่งมียังเติร์ก มันเพิ่งมาเป็นเอกภาพตอนพล.อ.เปรม มีการชิงอำนาจกันโดยตลอด แล้วหลังจากนั้นก็คือความพยายามของฝ่ายจารีตนิยมที่พยายามจะดึงทหารก็คงเลือกคนที่เด่น ๆ สมัยก่อนก็เป็นจอมพลสฤษดิ์ ถัดมาก็เป็นพล.อ.เปรม

 

ดังนั้นมันจึงเกิดความเป็นเอกภาพของกลุ่มจารีตกับทหาร ในทัศนะของอาจารย์นะ แต่ว่าในบางเวลา (เฉพาะตอน 14 ตุลา) เนื่องจากทหารยังไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายจารีตนิยม 100% ยังมีความแตกต่างไม่ลงตัวกันอย่างมาก ซึ่งมีเรื่องรายละเอียดมากมาย เป็นเรื่องที่เรียกว่ามันจะค่อย ๆ เปิดเผยมาเรื่อย ๆ

 

#89ปีปฏิวัติสยาม

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์