วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

องค์กร ARTICLE 19 เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กม.หมิ่นประมาทต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์นายกฯ และเรียกร้องให้ยกเลิกโทษทางอาญาของกม.นี้ หลังผู้แทนนายกฯ ระบุว่ามีการริเริ่มฟ้องคดีบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์นายกฯ และคดีต่าง ๆ ไปกว่า 100 คดีแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 63

 


องค์กร ARTICLE 19 เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์นายกฯ และเรียกร้องให้ยกเลิกโทษทางอาญาของกฎหมายนี้ หลังผู้แทนนายกฯ ระบุว่ามีการเริ่มฟ้องคดีต่าง ๆ ไปกว่า 100 คดีแล้วตั้งแต่แต่ ก.ย. 63


เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย. 64) องค์กรนานาชาติ อาร์ติเคิล 19 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดแจ้งความเอาผิดผู้วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีในคดีหมิ่นประมาท 


ARTICLE 19 กล่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐกำลังใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นอาวุธมุ่งเป้าไปยังบุคคลที่มีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนพื้นที่โซเชียลมีเดีย ประธานของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ปกป้องชื่อเสียงของนายกฯ อ้างว่ามีการริเริ่มฟ้องคดีบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ไปกว่า 100 คดีตั้งแต่เดือน ก.ย. 63 นายกฯ และตัวแทนของนายกฯ ควรหยุดการใช้กระบวนการหมิ่นประมาทในการโจมตีเสรีภาพในการแสดงออก และรัฐบาลไทยควรเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกโทษอาญาของกฎหมายหมิ่นประมาทอย่างเร็วที่สุด

 

“ปฏิริยาความหน้าบางนี้ต่อคำวิจารณ์ของสาธารณะนี้จะเป็นที่น่าตกใจอย่างมาก ถ้าไม่ได้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้อยู่แล้ว” ดาบิด ดิอาซ-ฮอร์เกซ์ ผู้อำนวยการโครงการอาวุโสของ ARTICLE 19 กล่าว “การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเพื่อผลประโยชน์ตัวเองของนายกรัฐมนตรีเป็นตัวอย่างล่าสุดของความพยายามในการปิดปากผู้เห็นต่างและคำวิจารณ์สาธารณะ”

 

เป้าหมายล่าสุดของความพยายามปิดปากผู้วิจารณ์นายกฯ คือ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง วิญญูถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 28 พ.ค. 64 ด้วยข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรา 328 (หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา) และมาตรา 393 (ดูหมิ่นซึ่งหน้า) ในกฎหมายอาญาของไทยหลังจากวิญญูโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ ในทวิตเตอร์ ข้อมูลจากหมายเรียกของวิญญูแสดงให้เห็นว่าการสอบสวนนี้ริเริ่มโดยอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี วิญญูปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

การสอบสวนต่อวิญญูเป็นกรณีล่าสุดที่ริเริ่มโดยอภิวัฒน์ ขันทอง ในนามของนายกรัฐมนตรี การฟ้องคดีของอภิวัฒน์ยังนำไปสู่การสอบสวน วีระชาติพงศ์

(ไม่เปิดเผยนามสกุล) จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์นายกฯ ในเฟซบุ๊ก วีระชาติพงศ์เข้ารายงานตัวต่อตำรวจในวันที่ 24 พ.ค. 64 ยอมรับข้อกล่าวหา จ่ายค่าปรับ เพื่อจบการสอบสวน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า คดีของวีระชาติพงศ์เป็นคดีหมิ่นประมาทคดีที่สี่ที่ริเริ่มโดยอภิวัฒน์ แต่รายละเอียดคดีอื่นไม่มีปรากฏเพิ่มเติม

 

หมายเรียกของวิญญูเปิดเผยว่าการฟ้องคดีนั้นเริ่มจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีหมายเลขที่ 32/2563 ลงวันที่ 21 ก.ย. 63 แม้ว่าตัวคำสั่งเองจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ หมายเรียกของวิญญูแสดงให้เห็นว่าคำสั่งนายกฯ นั้นเป็นคำสั่งในการตั้ง ‘คณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค’

 

ในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ The Matter ในวันที่ 1 มิ.ย. 64 อภิวัฒน์ ขันทอง กล่าวว่าคณะกรรมการที่อภิวัฒน์เป็นประธานถูกตั้งขึ้นเพราะนายกฯ ถูกโจมตีในโซเชียลมีเดียและไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกป้องนายกฯ อภิวัฒน์กล่าวต่อไปว่าคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยนักกฎหมายจำนวนหนึ่งพร้อมคณะกรรมการอีก 30 คนซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาหมิ่นประมาทบนโซเชียลมีเดีย และแม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่คดีที่ถูกรายงานต่อสาธารณะ อภิวัฒน์กล่าวอ้างในบทสัมภาษณ์ว่าคณะกรรมการชุดนี้ฟ้องคดีหมิ่นประมาท คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไปแล้วกว่า 100 คดีในนามของนายกรัฐมนตรี อภิวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่าคดีส่วนมากจะจบลงในชั้นสอบสวนหากผู้ต้องหายินยอมขอโทษ จ่ายค่าปรับ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่กระทำผิดซ้ำ

 

ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ‘บุคคลสาธารณะรวมถึงเจ้าหน้ารัฐที่มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงเช่นประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลนั้นเป็นหัวข้อที่ชอบธรรมของการถูกวิพากษ์วิจารณ์’ และเน้นย้ำว่าการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะนั้นไม่ใช่ความชอบธรรมสำหรับการลงโทษทางกฎหมาย

 

รายงานของ ARTICLE  19 ที่ออกมาในเดือน มี.ค. 64 ‘ความจริงที่ต้องพูดถึง : กรณีสนับสนุนการยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทย’ วิเคราะห์กฎหมายหมิ่นประมาทอาญาของไทยและพบว่ากฎหมายหมิ่นประมาทอาญาของไทยนั้นไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บ่อยครั้งที่กฎหมายหมิ่นประมาทอาญาของไทยถูกใช้เพื่อปิดปากความเห็นที่ชอบธรรม ถึงแม้ว่าจะมีการยอมรับว่ากฎหมายหมิ่นประมาทถูกใช้อย่างไม่สมเหตุสมผลอยู่บ่อยครั้งในแผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐบาลไทยกลับล้อมเหลวในการหยุดยั้งการฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่ไม่มีมูล รัฐบาลไทยควรยกเลิกโทษอาญาของกฎหมายหมิ่นประมาทและทำให้แน่ใจว่าโทษจำคุกจะไม่ถูกใช้ในคดีหมิ่นประมาท

 

“การใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียทำให้เสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทยยิ่งเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว” ดิอาซ-ฮอร์เกซ์ กล่าว “เจ้าหน้าที่รัฐไทยที่มีบทบาทในทางสาธารณะควรตระหนักถึงความสำคัญของการถกเถียงทางการเมืองอย่างเป็นสาธารณะและยอมรับการตรวจสอบมากกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม”