"สหภาพคนทำงาน" บุกสภาฯ ร้องกมธ.งบประมาณปี 65 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ วอนลดงบกองทัพ นำเงินมาช่วยประชาชนและผู้ใช้แรงงาน
วันนี้ (22 มิ.ย. 64) เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย กลุ่ม "สหภาพคนทำงาน-Workers' Union" พร้อมตัวแทนกลุ่มองค์กรแนวร่วม นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเลขาฯกมธ.งบฯ เป็นผู้รับเรื่อง
ภายหลังจากช่วงเช้าที่ทำเนียบรัฐบาลทางกลุ่มสหภาพคนทำงานได้เรียกร้องรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาโควิดให้ประชาชนถ้วนหน้า จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเสนอให้รัฐเก็บภาษีเจ้าสัวด้วย นั้น
จากนั้น 13.10 น. สหภาพคนทำงานเดินทางจากทำเนียบรัฐบาลถึงรัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทน กมธ.งบประมาณ แต่ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถนำป้ายข้อเรียกร้องหรือธงสัญลักษณ์ของสหภาพฯ เข้าสู่อาคารรัฐสภาได้ และแม้จะถือป้ายหรือธงนอกอาคารได้ คณะผู้เกี่ยวข้องก็ปฏิเสธที่จะเดินทางออกมารับหนังสือด้านนอก
ต่อมา เวลา 13.25 น. ภายหลังการเจรจากับเจ้าหน้าที่มากกว่า 15 นาที สหภาพคนทำงานยอมรับเงื่อนไข และเข้ายื่นหนังสือภายในรัฐสภาโดยฝากธงและป้ายกระดาษแข็งไว้ด้านนอก
ต่อมา น.ส.ธนพร เป็นตัวแทนสหภาพคนทำงานอ่านข้อเรียกร้องทั้ง 11 ข้อ เพื่อพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. งบประมาณ พ.ศ. 2565 ช่วยลดภาระความเดือดร้อนของประชาชนและกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้ คือ
1. ชดเชยรายได้พื้นฐานแก่แรงงานทุกคนในประเทศ ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป และยกเลิกมาตรการตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
2. ชดเชยรายได้ของคนที่ต้องหยุดกิจการ-หยุดงานชั่วคราวตามคำสั่งรัฐ รวมถึงเพิ่มการชดเชยรายได้จากการถูกเลิกจ้าง
3. ชดเชยรายได้ให้ผู้ประกันตน ม.33 กรณีนายจ้างสั่งหยุดงานชั่วคราวตาม ม.75 โดยให้นายจ้างจ่ายเงิน 75% และรัฐจ่าย 25%
4. ชดเชยเงินสมทบให้ผู้ประกันตน ม.39 และ 40 โดยให้รัฐจ่ายสมทบแทนผู้ประกันตน 100%
5. ชดเชยเงินสมทบในกลุ่มแรงงานภาคการเกษตร กลุ่มคนทำงานอิสระ กลุ่มคนทำงานกลางคืน และกลุ่มอื่นที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้เข้าสู่หลักประกันสังคม
6. ชดเชยเงินสมทบให้กลุ่มแรงงานในธุรกิจส่งอาหาร-พัสดุ พนักงานทำความสะอาด พนักงานนวด ฯลฯ ในธุรกิจแพลตฟอร์มที่ถูกเรียกอย่างผิด ๆ ว่า 'พาร์ทเนอร์' ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยให้แพลตฟอร์มเป็นผู้จ่ายเงินสมทบในฐานะนายจ้าง
7. ชดเชยค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาต หรือต่อใบอนุญาตทำงาน วีซ่า การตรวจสุขภาพ และค่าธรรมเนียมอื่นของแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด
8. ชดเชยการพักหนี้ กยศ. แก่นักเรียน ผู้กำลังจะจบการศึกษา และคนทำงานที่เป็นหนี้ กยศ.
9.ชดเชยการพักหนี้ให้ประชาชนอย่างน้อย 1 ปี เช่น หนี้สินส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้ธนาคาร ฯลฯ
10. ชดเชยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก และการศึกษาของเด็กแบบถ้วนหน้า และมีมาตรการพิเศษเพื่อบิดา มารดาที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลานหรือดูแลผู้สูงอายุโดยลำพัง
11. ชดเชยและควบคุมราคาสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ฯลฯ ที่ราคาสูงมากในปัจจุบัน
ก่อนมอบหมายให้นายฉัตรชัย พุ่มพวง เป็นตัวแทนกลุ่มฯ ยื่นหนังสือถึงนายอรรถกร ศิริลัทยากร เลขา กมธ. งบประมาณวิสามัญ
อย่างไรก็ตาม น.ส. ธนพรได้ถามว่า หากตัดงบประมาณส่วนอื่น เช่น งบกลาโหม จะสามารถนำไปจัดสรรให้ประชาชนได้หรือไม่ ซึ่งนายอรรถกร ตัวแทนผู้รับหนังสือกล่าวว่า ภายใน กมธ. จะมี "ห้องอนุ" ในการช่วยตัดงบประมาณรวม 8 ห้อง โดยไม่สัญญาว่าจะสามารถตัดงบกองทัพมาให้ประชาชนได้หรือไม่ แต่อาจนำงบอื่น ๆ มาช่วยเหลือประชาชนแทนได้ เช่น งบกลาง พร้อมทั้งสัญญาว่าสมาชิก กมธ. ทุกคนจะรับทราบความเดือดร้อนของประชาชนผู้ยื่นหนังสืออย่างแน่นอน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนที่ทางกลุ่มสหภาพแรงงานจะเข้าไปยื่นหนังสือภายในรัฐสภา นั้น นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ ได้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจทางกลุ่มฯด้วย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สหภาพคนทำงาน
ประมวลภาพ