แลไปข้างหน้า กับ ธิดา ถาวรเศรษฐ EP.79
ตอน : เลือกตั้งซ่อมภาคใต้/หลักสี่
[ผลประโยชน์และแนวคิดทางการเมือง]
สวัสดีค่ะ
นี่ก็จะสิ้นเดือนมกราคมของปี 65 แล้วนะคะ เหตุการณ์ในปี 65 ที่เกิดขึ้นเพียงแค่เดือนเดียวก็ดูว่ามีเรื่องราวทางการเมืองและเรื่องต่าง
ๆ มากพอสมควร อย่างไรก็ตามดิฉันคิดว่าในขณะนี้ ทางฟากฝั่งของภาคประชาชนทั้งถูกคุกคาม
จับกุม ดำเนินคดี การไม่ให้ประกันตัว อันนี้เรียกว่าสุด ๆ แล้ว กระทั่งออกไปเรียกร้องในกรณีของปัญหาวันสิทธิมนุษยชนโลกก็ยังถูกจับ
วันนี้ดิฉันก็อยากจะคุยในเรื่องของด้านการต่อสู้ในเวทีรัฐสภาและปัญหาการเลือกตั้ง
ครั้งที่แล้วเราได้ประเมินเบื้องต้นจากการเลือกตั้งซ่อมภาคใต้
ซึ่งน่าสนใจมากและมันทำให้ดิฉันต้องมานั่งคิดทบทวน ดิฉันไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในเวทีรัฐสภา
ดิฉันยืนอยู่กับการต่อสู้ภาคประชาชนอย่างเดียว
แต่ว่าก็เอาใจช่วยและยินดีสนับสนุนพรรคการเมืองที่ยืนอยู่ข้างประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า
นี่คือจุดยืนของเราฝ่ายการต่อสู้ประชาชน ดิฉันคิดว่าทั้งหมดก็จะคิดเช่นนี้
ปรากฏการณ์ของผลการเลือกตั้งซ่อมภาคใต้
คือการเลือกตั้งซ่อมเที่ยวนี้มีทั้งภาคใต้ 2 ที่
และรวมทั้งหลักสี่ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งไม่กี่วันนี้
ดูประหนึ่งว่ามีการทุ่มเต็มที่ ในภาคใต้ก็เป็นการแข่งขันของค่ายความคิดเดียวกัน
ก็คือค่ายจารีตนิยมอำนาจนิยม เป็นการแข่งระหว่างพปชร.กับปชป.
ปชป.ก็ต้องทุ่มเต็มที่เพื่อรักษาเก้าอี้เดิม
ส่วนพปชร.ก็ต้องการที่จะหยั่งเชิงว่าถ้าจะมีการเลือกตั้งใหม่ พปชร.จะสามารถได้เสียงส่วนใหญ่ของภาคใต้เหมือนเดิมหรือเปล่า
นั่นก็คือหวังได้ชัยชนะใน 2 จังหวัดนี้ด้วย แม้นว่าครั้งที่แล้วไม่ชนะก็ตาม
อันนี้ก็เป็นการทะเยอทะยานของพรรคพปชร.
พรรคทหาร แล้วก็เราต้องถือว่าเป็นพรรคของฝ่ายอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมด้วย
ดังนั้นเมื่อเราดูค่ายความคิดเป็นค่ายความคิดเดียวกัน
แต่ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ปชป.เรียกว่าเสียพื้นที่ให้กับพปชร.เป็นจำนวนมาก
มันน่าคิดว่าทำไมคนภาคใต้เปลี่ยนใจ? หันมาเลือกพปชร.มากขึ้น
เราอาจจะไม่จำเป็นมาพูดว่าก็ซื้อเหมือนกัน แล้วใครซื้อเก่งกว่าแบบที่คุณปารีณาพูด
ดิฉันจะไม่พูดอย่างนั้น ดิฉันจะคิดว่าทำไมครั้งที่แล้วเขาไม่เอาปชป. แต่มาเอาพปชร.
สำหรับตัวดิฉันเอง
อาจจะผิดก็ได้นะคะ จากการวิเคราะห์ดิฉันมองว่า เขาแม้นจะอยู่ค่ายเดียวกัน
แต่เขาหวังจะให้ตัวแทนความคิดและตัวแทนอำนาจของเขานั้นได้รับชัยชนะ
จึงวางใจพปชร.มากกว่า ดิฉันจะไม่พูดว่าใครซื้อเก่งกว่าใครนะ เพราะว่ามันเกิดปรากฏการณ์ที่พรรคภูมิใจไทยและพปชร.แย่งพื้นที่ประชาธิปัตย์ไปได้เป็นจำนวนมาก
แต่มาครั้งนี้ประชาธิปัตย์สามารถรักษาเอาไว้ได้ด้วยคะแนนเสียงซึ่งก็ต้องถือว่าไม่ได้ห่างกันมาก
กล่าวได้ว่าการเลือกตั้งซ่อมภาคใต้เที่ยวนี้ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างค่ายความคิด
มันเป็นค่ายความคิดเดียวกัน พรรคพปชร.เป็นพรรคทหาร
น่าจะทำให้คนภาคใต้เชื่อมั่นว่าเขาต้องการให้ฝั่งข้างนี้เป็นฝ่ายชนะ
เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า ดิฉันคิดอย่างนั้นนะ เพราะว่าดิฉันเองก่อนหน้านี้ทายผิดนะ
นึกว่าประชาธิปัตย์จะรักษาที่นั่งไว้ได้ แล้วพปชร.จะไปเอามาจากไหน
ที่ไหนได้เราก็ประเมินคนภาคใต้ยังได้ไม่ดีพอ เขาต้องการชนะ
เพราะฉะนั้นในเมื่อเป็นค่ายเดียวกัน ก็สวิทซ์มาเลือกพปชร.
เพื่อหวังให้พปชร.เป็นรัฐบาล
เพราะว่าถ้าเลือกประชาธิปัตย์ก็อาจจะไม่ได้ตั้งรัฐบาลอีกเหมือนเดิม
น่าจะเป็นเช่นนี้
แต่ครั้งนี้ก็ปรากฏว่าสูสีกันเพราะว่าประชาธิปัตย์ก็พยายามทำแต้มคืน
เช่นเรื่องยาง ประกันราคายาง ปาล์ม
ทุกวันนี้ขนาดน้ำมันปาล์มแพงกว่าน้ำมันดีเซลก็ยังทู่ซี้เอาน้ำมันปาล์มมาผสม
ทำให้ราคาดีเซลที่ขายแล้วผสมน้ำมันปาล์ม และรวมทั้งดีเซลทั่วไปต้องยกราคาแพงขึ้น เพราะว่าน้ำมันปาล์มมันแพงกว่าน้ำมันดีเซลด้วยซ้ำ
ดังนั้น
การพยายามทำคะแนน การได้เป็นฝ่ายรัฐบาล และก็คุณชวน หลีกภัย
ขวัญใจของคนภาคใต้ก็สามารถกู้เกียรติภูมิในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร พูดง่าย ๆ
ก็คือตัวแทนของเขาอยู่ในฟากอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นคนภาคใต้ต้องการชนะ
แต่ว่าเที่ยวนี้มันจึงเสียงสูสีกันเพราะอยู่ในอำนาจรัฐด้วยกันทั้งคู่
ดิฉันก็คิดว่ามันก็เหลือแต่ผู้สมัครแล้วก็การช่วยเหลือสนับสนุนแบบไหนก็ได้
ถือว่าตกไป ไม่จำเป็นต้องพูดถึงแล้ว คือสรุปได้เลยว่าคนภาคใต้ส่วนใหญ่
อำนาจนิยมจารีตนิยมเป็นค่ายความคิดนี้ แล้วต้องการได้รับชัยชนะ ยกเว้นสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งมีปัญหาของชาติพันธุ์
มีปัญหาของการถูกกดขี่ ไม่พอใจผู้ปกครองจารีตนิยมอำนาจนิยม แต่ภาคใต้ตอนบน
กลายเป็นว่าผู้ปกครองคือตัวแทนเขา
ดังนั้นเขาก็พึงพอใจในการที่อำนาจนิยมจารีตนิยมได้มาเป็นผู้ปกครอง
เมื่อเป็นค่ายความคิดเดียวกันมันก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ว่าใครให้ผลประโยชน์มากกว่า
เหมือนประเด็นที่เราตั้งไว้ว่า เลือกตั้งซ่อมภาคใต้/หลักสี่ [ผลประโยชน์และแนวคิดทางการเมือง]
เพราะฉะนั้นเมื่อแนวคิดทางการเมืองพปชร.กับปชป.แบบเดียวกัน
ก็คือเรื่องผลประโยชน์เท่านั้น ว่าใครให้ผลประโยชน์ทั้งท้องถิ่นและผลประโยชน์ในระดับชาติ
ผลประโยชน์เรื่องปาล์ม เรื่องประกันราคาปาล์ม ราคายาง
หรือว่าผลประโยชน์ได้รับเงินแจก คนละครึ่ง หรือว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
หรือเป๋าตัง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้สุดแล้วแต่ มันจึงเหลือแต่เรื่องผลประโยชน์
แต่พอมาถึงหลักสี่
เราจะเห็นว่าคู่แข่งขันอยู่คนละค่ายความคิด
ก็คือฟากหนึ่งคือพปชร.ซึ่งเป็นผู้ชนะเดิมซึ่งเคยได้คะแนนสูสีกับคนละค่ายก็คือเพื่อไทย
แล้วก็นินทากันมากกับเรื่องการนับคะแนน ใบคะแนนมากกว่าผู้ใช้สิทธิบ้าง อะไรต่าง ๆ
เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะต้องเข้าไปตรวจสอบการนับคะแนนแต่ละหน่วยและรวมทั้งที่เขตด้วยให้ดี
เพราะฉะนั้นมาถึงตรงนี้ก็คือคนละค่ายความคิด
คนละค่ายทางการเมือง มันก็คือผลประโยชน์ที่แตกต่างกันด้วย
เป็นผลประโยชน์ในลักษณะระดับชาติ นั่นคือใครเป็นผู้ครองอำนาจ
ถ้าเป็นค่ายเสรีประชาธิปไตย ค่ายแนวคิดเสรีนิยม ประชาชนควรจะเป็นเจ้าของอำนาจ
แต่ถ้าเป็นค่ายอำนาจนิยมจารีตนิยม
ก็คือกลุ่มคนจารีตนิยมและผู้สืบทอดเผด็จการทหารต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นผู้มีอำนาจ
มันอยู่ที่พึงพอใจอะไร อันนี้มันก็เกี่ยวกับปัญหาทางชนชั้นและเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
นั่นก็คือถ้ากลุ่มไหน สมมุติในกรุงเทพฯ
เป็นบ้านมีรั้วกับบ้านที่เป็นสลัมที่เป็นคนยากคนจน แนวคิดก็ต่างกัน
เราต้องยอมรับความจริงว่าชนชั้นกลางบนบางคนเขาเรียกว่าบ้านมีรั้ว ก็จะมีแนวคิดไปในทางอนุรักษ์นิยม
นั่นก็คือต้องการให้ผู้ปกครองยังอยู่ในเครือข่ายของจารีตนิยมอนุรักษ์นิยมเพราะไม่กระเทือนผลประโยชน์
แต่ถ้าหากว่าผู้ปกครองมาจากมวลชนพื้นฐานและคนชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่
มันก็เป็นไปได้ที่เขาจะรู้สึกว่าอำนาจของกลุ่มเขาถูกแย่งไปให้มวลชนพื้นฐาน ดังนั้น
นี่จึงเป็นที่มาของการที่มีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน นั่นก็คือส่วนหนึ่งเขาด้วยความสมัครใจ
แต่หมายความว่าคือเขายินดีและเห็นชอบกับฝั่งสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร เห็นดีและเห็นชอบกับฝ่ายจารีตนิยมเพราะผลประโยชน์ของกลุ่มและของชนชั้นตัวเองนั้นมันสอดคล้องกัน
แต่ส่วนแนวคิดเสรีนิยมกับแนวคิดการเมืองการปกครองเสรีประชาธิปไตย
อำนาจต้องเป็นของประชาชน และประชาชนส่วนใหญ่ถามว่าเป็นคนมั่งคั่งมั้ย ไม่ใช่!
คนส่วนใหญ่เป็นคนยากจน คนที่รายได้ไม่ถึง 5,000 บาท/ต่อคนต่อเดือน จริง ๆ
มันก็เกือบ 50% ดังนั้น
กลายเป็นว่าอำนาจไม่ได้อยู่ในมือของคนชั้นกลางบน ไม่ได้อยู่ในมือของชนชั้นสูง
ไม่ได้อยู่ในมือของฝั่งจารีตนิยมแล้ว แต่กลายเป็นอำนาจกลับไปสำคัญอยู่ที่ว่าเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางล่างและของมวลชนพื้นฐานขึ้นมามีอำนาจ
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจว่าคนที่เขาชอบเผด็จการทหาร
หรือเขาชอบพรรคจารีตนิยมก็มีจริง เพราะเป็นปัญหาผลประโยชน์
จึงนำไปสู่แนวคิดทางการเมือง ผลประโยชน์ของตัวเอง ผลประโยชน์ของชนชั้น
ก็นำไปสู่แนวคิดทางการเมืองว่าแนวคิดทางการเมืองแบบไหนจะให้ผลประโยชน์ต่อเขาได้มากกว่า
แต่ถ้าในค่ายเสรีนิยมและฝั่งเสรีประชาธิปไตย
ก็มีความเชื่อว่าการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย คนเท่าเทียมกันจะทำความรุ่งเรือง
จะทำความเจริญ นำความผาสุกมาให้กับประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งเขาได้มากกว่า
มันไม่ถึงกับต้องทรยศต่อชนชั้น แต่มันเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน มันขึ้นอยู่กับว่าจะมีทัศนะ
มีโลกทัศน์ มองโลก มองประเทศอย่างไร
ดังนั้น
ในหลักสี่ก็จะมีต่างความคิดต่างผลประโยชน์ ที่แล้วมาเสียงมันใกล้เคียงกัน
ปัญหาอันหนึ่งของคนกรุงเทพฯ ก็คือว่าประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ นั้น
ถ้าเป็นมวลชนพื้นฐาน เป็นคนชั้นกลางล่าง เป็นลูกจ้าง เป็นผู้ใช้แรงงาน
คนเหล่านี้ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นคนกรุงเทพฯ ในส่วนอนุรักษ์นิยมจึงมีอยู่สูง
เพราะฉะนั้นฝ่ายเสรีนิยมฝ่ายประชาธิปไตยก็ประมาทไม่ได้ มีคนจนอยู่เยอะ
แต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง คนที่มีสิทธิเลือกตั้งก็คือต้องมีบ้าน สลัมบางที่ก็ไม่มีบ้านเลขที่
เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่มีบ้านเป็นหลักเป็นฐานก็อาจจะเป็นเสียงส่วนใหญ่
เพราะฉะนั้นผลประโยชน์จึงนำมาสู่แนวคิดทางการเมือง จึงนำมาสู่การเลือกตั้ง
ถ้าดูจากรอบที่แล้วเสียงใกล้เคียงกัน
พปชร.ก็ต้องทุ่มเต็มที่ หัวหน้าพรรคยังลงไปเดินช่วยด้วย โดยเฉพาะนายสิระ
เพราะถ้าไม่เก่งจริงก็ครั้งที่แล้วเพิ่งมาเลือกตั้งครั้งแรกก็สามารถได้รับชัยชนะได้
แม้จะเป็นชัยชนะที่หืดขึ้นคอก็ตาม
การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ก็ทำให้ฝ่ายเพื่อไทย
ซึ่งเคยได้รับชัยชนะเมื่อก่อนนี้เสียเปรียบ
เขตเลือกตั้งใหม่ก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ เพราะฉะนั้นปัญหาของผู้ว่ากทม.
จึงมีบทบาทต่อการเลือกตั้ง
เพราะสามารถบังคับบัญชาเขตแล้วก็ลูกน้องเจ้าหน้าที่ได้มาก
เรามีประสบการณ์ว่าการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครนั้น ดิฉันใช้คำว่า “สกปรก”
เลยก็ได้
แต่ว่าที่แล้วมาโดยทั่วไป
การฟ้องร้องไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าพอพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ
แน่นอน ผู้ที่มีปัญหาก็คือฝ่ายอำนาจนิยม ฝ่ายที่มีเครือข่ายกับผู้ว่ากทม.
จะมีวิธีจัดการอย่างไรก็ตาม ทำให้คะแนนเสียงเบี่ยงเบนได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น
การฟ้องร้องก็จะถูกบอกว่าหยุดเถอะ มิฉะนั้นแล้วจะเสียเวลา สรุปไม่ได้ จบไม่ได้
นี่ก็เป็นอุปสรรคอันหนึ่ง แต่ว่าเราผ่านมาเยอะเรารู้ว่ามีปัญหาไม่ใช่น้อย ดังนั้น
ถ้าจะค้านให้ค้านตั้งแต่วันเลือกตั้งเลย นับตรงนั้น นับใหม่เลย
แต่ถ้ารอจนจบแล้วยากค่ะ
เพราะฉะนั้นดิฉันก็อยากจะเรียนว่า
การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาสำหรับภาคใต้มันได้ข้อสรุปเลย
ชัดเจนว่าแนวคิดของคนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นแบบไหน
ต้องการตัวแทนของตัวเองมีอำนาจทางการเมืองการปกครอง
ไม่ใช่พรรคการเมืองซึ่งได้รับความนิยมจากภาคเหนือตอนบน จากภาคอีสาน
หรือจากคนมวลชนพื้นฐาน อันนี้ไม่ใช่เป็นความผิดนะคะ ดิฉันบอกอีกที
มิฉะนั้นจะมาโจมตีว่าดิฉันไปว่าคนภาคใต้ ดิฉันเป็นคนภาคใต้
แต่ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่จะต้องมีเรื่องของผลประโยชน์
ถ้าผลประโยชน์ของกลุ่ม
ก็จำเป็นจะต้องเลือกพรรคการเมืองและแนวคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกันกับผลประโยชน์
ซึ่งกลุ่มฝ่ายจารีตกับอำนาจนิยมนั้นครองใจประชาชนภาคใต้ได้
เพราะฉะนั้นที่เหลือแต่ละภูมิภาค ดิฉันก็อยากจะฝากไว้เป็นปัญหาทางหลักการว่า
เขาก็จะเลือก เพราะว่าตอนนี้บัตร 2 ใบ ต่อไปข้างหน้านะ เที่ยวหน้า
เลือกคนและเลือกพรรค เลือกคนที่สามารถให้ผลประโยชน์ในพื้นที่เขาได้ แล้วก็เลือกพรรคที่ให้ผลประโยชน์ในระดับชาติที่สอดคล้องกับแนวคิดทางการเมือง
เขาก็อยากให้ตัวแทนของเขาได้เป็นรัฐบาลเพื่อที่จะได้ทำนโยบายที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มของเขา
เพราะฉะนั้นก็ไม่ว่ากัน อยู่ที่ว่าเราจะรู้ไหมว่าคนส่วนไหน ภูมิภาคใด
เขาต้องการแบบไหน นี่คือโจทย์ที่พรรคการเมืองก็จะต้องจัดการให้ได้
ดิฉันพูดในฐานะที่ว่าเป็นส่วนอิสระที่มองมาเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมประชาชนภาคใต้ถึงเลือกอย่างนี้
แล้วเราจะพอทำนายได้ไหมว่า “หลักสี่” จะเป็นอย่างไร จะคู่คี่กันหรือเปล่า
แบบครั้งที่แล้ว แน่นอนพรรคเพื่อไทยครั้งนี้อาจจะเสียเปรียบหน่อย
เพราะว่าผู้ที่เลือกแนวคิดนี้อาจจะแบ่งคะแนนกัน
เพราะว่าในแนวคิดของฝ่ายเสรีนิยมและเสรีประชาธิปไตยก็มีทั้งก้าวไกล มีทั้งเพื่อไทย
แต่ว่าในส่วนของบุคคล
พรรคเพื่อไทยก็อาจจะได้เปรียบเพราะว่าได้อยู่กับพื้นที่ ครองพื้นที่มานาน
ในส่วนของคนเสื้อแดง ก็อาจจะเลือกทั้งสองพรรค อาจจะแบ่งกัน
แต่ดิฉันมองว่ามันก็จะอยู่ที่เยนเนอเรชั่นด้วย
คนรุ่นใหม่อาจจะถือว่าพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทนของเขาก็ได้
หรือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ที่ดีกับส.ส.และตัวแทนพรรคเพื่อไทยก็อาจจะเลือกพรรคเพื่อไทยก็ได้
ก็ไม่จำเป็นจะต้องทะเลาะและโกรธกัน เพราะว่าพรรคการเมืองทุกพรรคต้องการเติบโต
แต่ละพรรคก็มีแนวคิดไม่เหมือนกัน
ต้องพยายามเอาชนะใจและปรับนโยบายของตัวเองให้สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประชาชน
และสอดคล้องกับอุดมการณ์ในการที่จะก้าวไปของพรรคตัวเอง
แต่ดิฉันขอทิ้งท้ายว่า
พรรคที่บอกว่าอยู่ตรงกลางนั้น มีบางพรรคบอกว่าอยู่ตรงกลาง ไม่ซ้าย ไม่ขวา
ดิฉันว่าตรงกลางจะโดนกระแทกทั้งสองฝั่งซะแบนเลย ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องถูกต้อง
ไม่ว่าจะเป็นไทยสร้างไทย จะเป็นพรรคกล้า ก็ลองพิสูจน์ตัวเองดู
แต่ว่าในต่างประเทศนั้น ถ้าพัฒนาประเทศมาระดับหนึ่งมันก็จะมีเฉดของพรรคการเมืองทั้งซ้ายทั้งขวา
มีเฉดที่ไม่เหมือนกัน
เวทีรัฐสภาอาจจะเดินต่อไปด้วยดีก็ได้
หรือถ้ามันเกิดทางตันสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ นะ ดิฉันยังไม่คิดว่า พล.อ.ประวิตร
จะมีทางตัน ถ้าเกิดทางตันของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วก็เกิดแบบที่มีข่าวลือว่าทำรัฐประหาร
ไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี่ก็จบ แต่ดิฉันก็ยังอยากจะเชื่อว่าไม่น่าจะถึงขนาดนั้น
เพราะว่าคณะนี้ได้พยายามเอาชนะมาเป็นขั้น ๆ จนได้พรรคการเมืองที่เสียงมากขนาดนี้
ก็ถือว่าได้ชัยชนะไปเกินครึ่งแล้วอย่างไม่น่าเชื่อเลย
เพราะฉะนั้นก็หวังว่าจะไม่มีรัฐประหารนะคะ
เวทีรัฐสภาจะได้เดินต่อไปค่ะ
#ธิดาถาวรเศรษฐ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์