วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2565

“หมอหวาย” โพสต์เตือน การรับมือ “โอมิครอน” ที่กำลังจะระบาด และสิ่งที่รัฐบาลควรทำขณะนี้

 


“หมอหวาย” โพสต์เตือน การรับมือ “โอมิครอน” ที่กำลังจะระบาด และสิ่งที่รัฐบาลควรทำ!

 

วันนี้ (5 ม.ค. 65) นพ.สลักธรรม โตจิราการ หรือคุณหมอหวาย ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กถึงการรับมือกับ “โอมิครอน” ที่กำลังจะระบาดและเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดของผู้เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนทั่วโลก โดยมีความว่า

 

เรื่องการรับมือ “โอมิครอน” ที่กำลังจะระบาด

 

แม้ว่าการติดเชื้อโอมิครอนจะทำให้มีสัดส่วนผู้ป่วยอาการหนักน้อยกว่าเดลตาก็ตาม แต่เรายังคงต้องควบคุมการระบาดและระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ปล่อยให้ระบาดแล้วไปคิดว่าโอมิครอนเป็นวัคซีนเชื้อเป็น เพราะ

 

- ความที่โอมิครอนระบาดเร็วกว่าเดลตา สมมติว่าอัตราส่วนการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 0.3% เทียบกับเดลตาที่อัตราส่วนการเสียชีวิตอยู่ที่ 1% แต่ถ้าโอมิครอนระบาดมากกว่าเดลตา 3 เท่า สุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตก็จะไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก

 

- ผู้ติดเชื้อโควิด19 ทุกชนิดมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากโควิดระยะยาว (long COVID-19) ได้ถึงร้อยละ 37 และในเด็กมีโอกาสเป็นโรคอักเสบทั่วตัวหลายระบบ (MIS-C) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิต 1.8-9%

 

- การชะลอการติดเชื้อของคนทุกวิธี ไม่ว่าจะด้วยการฉีดวัคซีน การใส่หน้ากากอนามัย จะทำให้การกลายพันธุ์ช้าลง คนที่ได้รับวัคซีนต่อให้ติดเชื้อการแบ่งตัวของเชื้อในร่างกายก็จะช้าลงทำให้การกลายพันธุ์เกิดได้น้อยลง เราคงไม่อยากให้เกิดเชื้อ ไพ โร ซิกมา ไปจนถึงโอเมกา ที่อาจร้ายแรงกว่าเดลตาขึ้นมาในไทย

ถ้าเรารู้ว่าโอมิครอนจะทำให้มีผู้ป่วยอาการไม่มากเป็นส่วนใหญ่แต่ระบาดรวดเร็ว สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ

 

- รีบแจก ATK ยี่ห้อที่ตรวจโอมิครอนได้ดีให้ทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนสามารถคัดกรองคนทำงานทุกคนได้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานรัฐและเอกชนให้คนที่มีอาการคล้ายหวัดทุกคนหยุดงานได้โดยไม่ถือเป็นวันลา แต่ต้องตรวจ ATK วันเว้นวันจนกว่าอาการหวัดจะไม่มีและผล ATK เป็นลบ 2 ครั้งรวดจึงจะกลับมาทำงานได้

 

- รีบฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นให้ประชาชนโดยเร็วโดยใช้วัคซีนที่มีคุณภาพทั้งกลุ่ม mRNA (Pfizer, Moderna) และ Protein

Subunit (Novavax) ในระยะยาวควรรีบให้เงินอุดหนุนวัคซีนไทยให้ตอบโจทย์สายพันธุ์โอมิครอนและการปรับชนิดเชื้ออย่างรวดเร็ว

 

- เตรียมระบบกักตัวที่บ้านและโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้กักตัวที่บ้านไม่ได้ ซักซ้อมไว้ก่อนการระบาดหนัก สะสมอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยทั้งเบาและหนัก เช่นเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ระบบให้ออกซิเจนที่บ้าน เวชภัณฑ์สำหรับรักษาผู้ป่วยหนัก สะสมไว้เสียตอนนี้ดีกว่าระบาดหนักแล้วไม่มีใช้นะครับ

 

- ช่วยให้งบประมาณ ให้ความรู้ และให้การสนับสนุนในการปรับปรุงสถานที่ของรัฐและเอกชนให้ปลอดภัยจากการระบาดของโควิด19 มากขึ้น เช่น การปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศให้มีอากาศเข้าออกอาคารหรือพื้นที่มากขึ้น การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศที่เหมาะกับขนาดห้อง การติดตั้งก๊อกน้ำและชักโครกที่ไม่ต้องใช้มือกด การติดตั้งประตูและปุ่มกดลิฟต์อัตโนมัติ สิ่งเหล่านี้ถ้าหน่วยงานใตติดควรจะเอามาลดภาษีได้ทั้งหมด ถ้าใครผลิตรัฐควรจะให้เงินอุดหนุนเป็นระบบ ถ้าใครจะเปิดสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงต้องติดตั้งให้ครบครับ

 

#โอมิครอน #โควิด19

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์